จัตวา กลิ่นสุนทร : รถไฟฟ้าสาย (สีทอง) ที่สั้นที่สุด เพียงแค่ 2 สถานี

ผมมีโอกาสได้ไปใช้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารของรถไฟฟ้า “สายสีทอง” หลังเปิดทดลองวิ่งให้บริการประชาชนโดยไม่คิดค่าโดยสารได้เพียง 3-4 วัน

รถไฟฟ้าสายสีทองลงมือก่อสร้างประมาณต้นปี พ.ศ.2562 จนกระทั่งถึงวันเปิดให้บริการใช้เวลาประมาณใกล้ๆ 2 ปี เป็น 2 ปีที่ผู้คนในย่านเขตคลองสาน ธนบุรี ค่อนข้างไม่สะดวกสบายกับการจราจร รวมทั้งท่านที่ใช้เส้นทางรถยนต์ข้ามสะพานตากสิน เดินทางข้ามไป-มาระหว่างฝั่งกรุงเทพฯ-ธนบุรี

จะว่าไปมันต้องกระทบกระเทือนเป็นลูกโซ่ทั้งสะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานกรุงเทพฯ เป็นรัศมีตามแบบฉบับการจราจรในเมืองหลวงของประเทศ

ในที่สุดมันค่อยๆ ชินชากลายเป็นชีวิตประจำวันไปโดยไม่ต้องไปตำหนิติเตียนใคร

ได้แต่หวังว่าหลังการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเส้นทางระยะสั้นๆ เสร็จสิ้นผ่านพ้นไป การจราจรในละแวกคลองสาน-ธนบุรี-วงเวียนใหญ่ มันควรจะคล่องตัวขึ้นบ้าง ซึ่งยังไม่ได้ทำการตรวจสอบ หรือพานพบด้วยตัวเอง

แต่คาดว่าอย่างน้อยควรจะลื่นไหลมากกว่าในระหว่างเวลาการก่อสร้างเพราะต้องปิดช่องทางการจราจร

 

ผมจำได้ว่าเคยบอกกล่าวหลายครั้งทีเดียวว่าได้โยกย้ายถิ่นฐานมาเป็นชาวกรุงเทพฯ ในเขตคลองสานนี้นับได้ถึง 40 ปีเต็ม กลายเป็นคนพื้นถิ่นทดแทนคนดั้งเดิมที่แก่เฒ่าไปตามเวลาได้เดินทางไปสู่อีกภพหนึ่ง ในขณะที่ลูกหลานของคนพื้นเพเดิมได้เปลี่ยนถิ่นที่อยู่ขยับขยายห่างออกไปนอกเมือง

เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงจนทนความยั่วยวนของราคาที่ดินซึ่งพุ่งสูงขึ้นมากเป็นร้อยเท่าพันเท่าหลังการก่อสร้างสะพานตากสิน ต่อมากรุงเทพมหานครทำการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเชื่อมกับสายสีเขียวบีทีเอส (BTS) เดิม ยาวไปถึงสถานีบางหว้า ราคาที่ดินสองข้างทางรถไฟฟ้าจึงจับต้องไม่ได้อีกเลยนอกจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่

บนถนนเส้นสั้นๆ จากเชิงสะพานตากสินไปเชื่อมต่อกับถนนตากสิน เรียกว่าถนน “กรุงธนบุรี” หลังจากกรุงเทพมหานคร สร้างรถไฟฟ้าข้ามแม่น้ำมาเชื่อมต่อกับบีทีเอส (BTS) ของเดิมยังริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งกรุงเทพฯ คือ สถานีสะพานตากสิน บนถนนกรุงธนบุรี จึงเกิดสถานีรถไฟฟ้า (2 สถานี) ชื่อสถานีกรุงธนบุรี และวงเวียนใหญ่

ผมอาศัยอยู่ไม่ห่างกับสถานีกรุงธนบุรี เดินตามเส้นทางลัดจากบ้านถึงสถานีในเวลาประมาณ 15 นาที

ฉะนั้น เวลาจะเข้ากลางเมืองจึงเลือกจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ส่วนสถานที่นัดหมายกันสำหรับกลุ่มก้อนผู้สูงวัยจึงได้กลายเป็นร้านกาแฟตามห้างสรรพสินค้า อย่างบริเวณสยามสแควร์ สยามพารากอน ตามเส้นทางรถไฟฟ้า และ ฯลฯ

 

เมื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเสร็จเรียบร้อยเปิดให้บริการ ผมจึงไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปนาน เพราะรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ได้เชื่อมต่อกับสายสีเขียวบีทีเอส (BTS) ที่สถานีกรุงธนบุรี ก่อนจะวิ่งเลี้ยวโค้งไปตามเส้นทางเหนือถนนเจริญนครขนานแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศหัวถนนสู่ “สถานีเจริญนคร” (เชื่อมต่อไอคอนสยาม) และไปสิ้นสุดยัง “สถานีคลองสาน” ใกล้กับโรงพยาบาลตากสิน กับโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา รวมระยะทางทั้งสิ้น 1.8 กิโลเมตร

รถไฟฟ้าสายสีทองเป็นรถโมโนเรล (Monorel) แบบไร้คนขับโดยใช้รางนำทางมีผิวสัมผัสระหว่างล้อ และทางวิ่งยาง ซึ่งจะทำให้เกิดความนุ่มนวล และว่ากันว่าจะเกิดเสียงรบกวนต่ำขณะเดียวกันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โมเดลที่ใช้เป็นรุ่น Bombardier Innovia APM/ขบวนละ 2 ตู้/เป็นปรากฏการณ์ที่เอกชนลงทุนเอง 100 เปอร์เซ็นต์

ไหนๆ ก็บอกรายละเอียดมามากแล้ว ไม่ได้ฟื้นฝอยหาอะไร ได้แต่ชื่นชมในความกล้าหาญกับการลงทุนแบบมีวิสัยทัศน์ และได้ทำสำเร็จลุล่วงไปแล้ว

ซึ่งจริงๆ บริเวณเส้นทางดังกล่าว มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2537 “กำหนดให้โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต้องสร้างเป็นระบอบใต้ดินในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางในบริเวณ 25 ตารางกิโลเมตร และควรเป็นระบบใต้ดินในพื้นที่ 87 ตารางกิโลเมตร”

แต่คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “มีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ให้ยกเว้นรถไฟฟ้าสายสีทองให้สร้างเป็นรถไฟฟ้ายกระดับได้–“

 

รถไฟฟ้าสายสีทองใช้เงินทุนในการก่อสร้างจำนวนกว่า 3,000 ล้านบาท โดยบริษัท อิตาเลียน-ไทย (ITD) เป็นการลงทุนของบริษัท “สยามพิวรรธน์” ซึ่งเกี่ยวพันกับสยามพารากอน ถึงไอคอนสยาม โดยผู้หญิงเก่งอย่างคุณ “ชฎาทิพย์ จูตระกูล” ผู้ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจขนาดใหญ่เป็นห้างสรรพสินราคาหลักหมื่นล้านบาท ทายาทอดีตผู้ก่อตั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และโรงแรมเอราวัณ

ชื่นชมความเก่งกล้าสามารถของท่านที่มองเห็นการณ์ไกล กล้าใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาทเพียงเพื่อให้ผู้คนเดินทางสะดวกเข้าสู่ “ไอคอนสยาม” เพราะรถไฟฟ้าสายสีทองหลังจากทดลองวิ่งรับส่งผู้โดยสารฟรีเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว จะทำการเก็บค่าโดยสารตลอดสายราคา 15 บาท เป็นของกรุงเทพมหานคร

ส่วนไอคอนสยาม ได้สัมปทานใช้พื้นที่สถานีขบวนรถของรถไฟฟ้าทั้งหมดสำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นเวลานาน 20 ปี

 

ในช่วงระยะเวลาการเมืองการปกครองดำเนินไปอย่างราบเรียบปกติธรรมดา หรือการเมืองมั่นคง ผู้นำรัฐบาลมีวิสัยทัศน์ คณะรัฐมนตรีมีความสามารถซื่อสัตย์สุจริต เศรษฐกิจประเทศนี้ย่อมจะต้องดำเนินไปในท่วงทำนองของการเติบโตมั่นคง พื้นที่โฆษณา และระยะเวลาดังที่กล่าวย่อมทำให้เกิดรายก้อนใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว

แต่วันนี้โลกมันเปลี่ยนชีวิตผู้คนจึงเปลี่ยนตามไปสู่ความทุกข์ยาก ทุกสิ่งอย่างก้าวเข้ามาชนิดไม่เคยมีใครคาดคิดกันมาก่อนแบบไม่มีทางล่วงรู้ได้ เช่น การระบาดของไวรัสร้ายโควิด-19 ย่อมเป็นตัวการทำให้เกิดการพลิกผัน และทำให้เศรษฐกิจถดถอยต้องใช้ความรู้ความสามารถของผู้บริหารในระดับเอกชน พร้อมคณะรัฐบาลที่เฉียบคมในการแก้ปัญหา

เป้าหมายของการลงทุนทั้งไอคอนสยาม การลงทุนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีทองต่างๆ นานาย่อมต้องประคับประคองตัวด้วยความรู้ความสามารถของผู้บริหารด้วยระยะเวลาเพื่อรอวิกฤตผ่านพ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คุณชฎาทิพย์ จูตระกูล กล่าวไว้หลังจากตัดสินใจทุ่มทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสั้นที่สุดในกรุงเทพฯ ว่า “เราเห็นปัญหาการจราจรบนถนนเจริญนคร จึงทุ่มทุน 4,000 ล้านบาท (สี่พันล้านบาท) ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองให้กรุงเทพมหานคร เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวบีทีเอส (BTS) สีแดง และสีม่วงเข้าด้วยกันในอนาคต”

เวลานี้เป็นไปอย่างที่เธอกล่าวแล้วโดยได้เชื่อมต่อกับสายสีเขียว (BTS) ส่วนสีอื่นๆ นั้นจะเชื่อมต่อเมื่อไรยังบอกไม่ได้ เธอไม่ได้พูดอะไรผิดเพราะเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งจะว่าไปแล้วยังมองไม่เห็นอนาคตสักเท่าไรเนื่องจากมันคงต้องยาวไกลเป็นอย่างยิ่ง

 

ผู้นำรัฐบาลซึ่งดูเหมือนจะทำหน้าที่เป็นประธานเปิดการเดินรถไฟฟ้าสายต่างๆ (ที่เปิดให้บริการแล้ว สีเขียว (BTS)+สีน้ำเงิน+สีม่วง+สีทอง+แอร์พอร์ตลิงก์/รวม 168 ก.ม.) รวมทั้งสายสีทองด้วยเช่นเดียวกัน ท่านมีความภูมิใจกับผลงานเรื่องรถไฟฟ้าเป็นอย่างยิ่ง แต่ในความเป็นจริงเป็นนโยบาย หรือโครงการที่เกิดต่อเนื่องมากจากรัฐบาลก่อนๆ ที่มาเสร็จสิ้นเอาในรัฐบาลนี้

แต่เท่าที่ได้พูดคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายคิดคำนวณ วิเคราะห์เกี่ยวกับฐานรายได้ของประชาชนผู้ต้องพึ่งพาการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเฉพาะในกรุงเทพฯ และชานเมืองเข้าสู่ตัวเมืองชั้นในไปกลับเพื่อปฏิบัติภารกิจ ทำงานประจำคิดกันแล้วว่าราคาค่าโดยสารน่าจะสร้างความหนักใจ และหนักพอสมควรจนแทบไม่พอเพียง รัฐบาลจะต้องหาทางช่วยเหลือประชาชนด้วยการคิดราคาให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ และฐานะของประชาชน

ชีวิตประจำวันในการเดินทางทุกวันนี้ไม่ว่าจะไปในทิศทางไหนจะต้องจ่ายแต่ค่าทางพิเศษ ทางด่วนต่างๆ มีความรู้สึกว่าเวลารัฐมีโครงการสร้างถนนเส้นต่างๆ ก็ไม่พ้นงบประมาณเป็นเงินภาษีประชาชน สร้างเสร็จเรียบร้อยก็เก็บค่าผ่านทางจากประชาชนแทบทุกเส้นทาง

ฝากประชาชนทั้งหลายให้ช่วยกันพิจารณาดูด้วย

 

รถไฟฟ้าสายสีเขียวบีทีเอส (BTS) ก่อนที่กรุงเทพมหานครจะมาสร้างส่วนต่อขยาย เส้นทางเดิมด้านทิศเหนือสุดสายที่สถานีหมอชิต ส่วนทิศตะวันออกสถานีอ่อนนุช กับเส้นทางทิศใต้ระหว่างสนามกีฬา สิ้นสุดที่สถานีสะพานตากสิน

ปรากฏว่าในส่วนต่อขยายกรุงเทพมหานครได้ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก กระทั่งเกิดตัวเลขหนี้หลายพันล้านบาท

ขณะนี้กำลังมีความพยายามเจรจาเรื่องต่อสัญญาเพื่อจะยกหนี้ให้กับบริษัทผู้ได้สัมปทานสายสีเขียวบีทีเอส (BTS) เดิมไปดำเนินการ เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า “กระทรวงมหาดไทย+กรุงเทพมหานคร” น่าจะรู้รายละเอียดเท่าๆ กับผู้บริหารบีทีเอส (BTS) รวมทั้งผู้แทนราษฎรของฝ่ายค้านที่เกาะติด กัดติดแบบไม่ละสายตาเรื่องการต่อสัญญาหนนี้

จากรถไฟฟ้า “สายสีทอง” มาเชื่อมต่อกับ “สายสีเขียว” (BTS) สลับซับซ้อนทีเดียว