เทศมองไทย : ชะตากรรมดิบ ของ “ผีน้อย” ที่เกาหลีใต้

เรื่องราวของ “ผีน้อย” คำที่ใช้เรียกแรงงานไทยผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ เป็นที่รับรู้กันดีมากขึ้นในไทยในปีนี้ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นจนกลายเป็น “ดราม่า” เรื่องผีน้อยที่ต้องการเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนท่ามกลางการระบาดหนักที่นั่น

ดูเหมือนทอมป์สัน รอยเตอร์ส ฟาวเดชั่น องค์กรเพื่อการกุศลของสำนักข่าวรอยเตอร์สยังคงคาใจในเรื่องนี้ มอบหมายให้นันท์ชนก วงษ์สมุทร กับเกรซ มูน ติดตามเรื่องราวต่อเนื่อง

ผลลัพธ์ก็คือ รายงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา

ไม่ได้เน้นไปที่ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่นั่น

แต่เน้นให้เห็นถึงสภาวการณ์แวดล้อมบรรดาผีน้อยทั้งหลาย ที่ส่งผลให้ชะตากรรมของพวกเขาเลวร้าย ลำเค็ญ และเป็นปัญหาตั้งแต่แรกเริ่มลงนามในสัญญาจ่ายค่าจ้างเรือนแสนให้กับนายหน้าเถื่อน เพื่อให้สามารถลักลอบเข้าไปทำงานได้

 

รายงานของทอมป์สันรอยเตอร์ส ปูพื้นให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ด้วยการหยิบยกตัวเลขคนไทยที่ไปเสียชีวิตในเกาหลีใต้ระหว่างช่วงปี 2015 เรื่อยมาจนถึงบัดนี้ของสถานทูตไทยประจำกรุงโซลไว้ว่า มีอย่างน้อย 522 คน

ตัวเลขที่ว่า ไม่น่าตื่นเต้นตกใจเท่าใดนัก ที่น่าตระหนกมากกว่าคือ สาเหตุและสภาพของการเสียชีวิต

84 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เสียชีวิตเหล่านั้น เป็นแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย

4 ในทุกๆ 10 คนที่เสียชีวิต ตายโดยไม่รู้สาเหตุ ส่วนที่เหลือ เสียชีวิตจากเหตุที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความเป็นอยู่ทั้งสิ้น ตั้งแต่ตายจากอุบัติเหตุ เรื่อยไปจนถึงการฆ่าตัวตาย

ข้อมูลของสถานทูตไทยประจำเกาหลีใต้บอกด้วยว่า ปีนี้ยอดคนไทยที่เสียชีวิตที่นั่นจนถึงกลางเดือนธันวาคมนี้พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือ 122 ราย

สาเหตุสำคัญมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่สร้างความกังวลว่าจะส่งผลให้สถานการณ์ของแรงงานไทยที่นั่นหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นไปอีก

ที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าจะฟังจากปากของ “ผีน้อย” ที่นั่นในเวลานี้ หรือผู้ที่เคยเป็นผีน้อยมาในอดีต หรือฟังจากเจ้าหน้าที่ขององค์กรรณรงค์ด้านสิทธิ์ เรื่อยไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทางการไทยเอง ทั้งหมดบอกตรงกันว่า แรงงานผิดกฎหมายชาวไทยที่นั่นนับเป็นหมื่นๆ รายถูกบังคับให้ทำงานหนักเกินตัว

ในเวลาเดียวกันก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด ส่วนใหญ่ของคนที่อยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ยอมมาร้องเรียนการเอารัดเอาเปรียบ เพราะกลัวจะถูกรายงาน ลงโทษและถูกส่งกลับ

 

ที่เกาหลีใต้มีแรงงานไทยทำงานอยู่ราว 185,000 คน เพียง 1 ใน 10 ของจำนวนดังกล่าวเท่านั้นที่เป็นแรงงานถูกกฎหมาย ตามโครงการ “ระบบอนุญาตให้การจ้างงาน” หรือ “อีพีเอส” ของทางการเกาหลี ที่เหลือเป็นแรงงานไร้เอกสาร ที่จำเป็นต้องจ่ายเงินจำนวนไม่น้อยซึ่งมักรวมถึงค่าเครื่องบินและค่าที่พักให้กับนายหน้า เพื่อให้ได้ไปทำงานที่ว่ากันว่า ทำรายได้ราวเดือนละ 1.2 ล้านวอน หรือราว 33,000 บาท เกินกว่า 3 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย

บัญชา ยืนยงจงเจริญ เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยบอกว่า แรงงานไทยหลายคนไปเสียชีวิตที่นั่นด้วยอาการใหลตาย ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากการทำงานหนักเกินกำลัง ในขณะที่มีปัญหาสุขภาพอยู่กับตัวและไม่เคยได้รับการตรวจรักษาที่เหมาะสม

“แรงงานเหล่านี้ทำงานหนัก งานสกปรกทั้งหลาย และไม่เคยได้รับสิทธิดูแลรักษาพยาบาลจากทางการ”

 

ศูนย์เพื่อแรงงานย้ายถิ่นอาซัน (เอเอ็มดับเบิลยูซี) องค์กรประชาสังคมของเกาหลีบอกว่า ไม่ใช่แรงงานไทยเท่านั้นที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ยังมีแรงงานเนปาล, อินโดนีเซีย และเวียดนาม ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกันแต่อย่างใด

อูซัมยอล ผู้จัดการเอเอ็มดับเบิลยูซี บอกว่า ถ้าไม่มีเอกสาร สิทธิ์รักษาพยาบาลก็จะถูกตัด และถ้าจะเข้าโรงพยาบาลแล้วผ่าตัดด้วยเงินตัวเอง ก็ต้องใช้เงินสูงถึง 10 ล้านวอน หรือราว 280,000 บาทเลยทีเดียว

“แรงงานจำนวนมากที่ไม่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายเลยต้องกล้ำกลืนอาการเจ็บป่วยเอาไว้ แล้วก็กลายเป็นผลกระทบต่อสุขภาพถึงตายได้ในที่สุด” อูซัมยอลระบุ

ที่ผ่านมาแรงงานอพยพจากไทยเหล่านี้เคยพึ่งพาบริการของหน่วยงานการกุศลอย่างศูนย์สวัสดิการแรงงานอพยพแห่งเมืองนัมยันจู เป็นต้น แต่เมื่อเกิดการระบาด ทางศูนย์ก็ไม่สามารถให้บริการตามปกติ

 

ข้อมูลของรอยเตอร์สแสดงให้เห็นว่าสภาพจ้างงานแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้นั้นโหดขนาดไหน เช่น รายหนึ่งต้องทำงานหนักต่อเนื่อง 15 ชั่วโมงต่อกะ ทำทุกวัน มีวันหยุดเพียงวันเดียวเท่านั้นในหนึ่งเดือน

อีกรายทำงานในฟาร์มหมูในเมืองแตกู โดยไม่ได้รับอนุญาตให้หยุดพักเลยแม้แต่วันเดียว ทำได้ 3 เดือน นายจ้างก็เลิกจ่ายเงินจนต้องตัดสินใจหลบหนี เป็นต้น

หลายคนทนสภาพเช่นนั้นไม่ไหว ตัดสินใจติดต่อสถานทูตเพื่อให้ช่วยเหลือให้เดินทางกลับบ้าน สถานทูตไทยในเกาหลีใต้บอกว่า ปีนี้ได้ช่วยส่ง “ผีน้อย” กลับประเทศแล้วกว่า 10,000 ราย และยังมีที่เข้าคิวรอกันอีกยาวเหยียด

เรื่องเล่าซ้ำๆ อย่างนี้ ยังคงต้องนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป ตราบใดที่การเบียดเบียนบีฑาเอารัดเอาเปรียบกันเช่นนี้ ยังคงมีให้เห็นอยู่ต่อไป