นิธิ เอียวศรีวงศ์ : พม่าเมื่อชำเลืองมอง (ท่องพุกาม-ข้ามกลับมาดูไทยในการเลือกตั้ง ? )

นิธิ เอียวศรีวงศ์

พุกามเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวขาดไม่ได้ แต่โบราณสถานของพุกามต่างจากนครวัดในกัมพูชา, โบโรบุดูร์และพรัหมานันในชวากลาง ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคคลาสสิคในความคิดของคนทั่วโลก พุกามไม่มีอาคารมโหฬารพันลึกที่ทำให้นักท่องเที่ยวตะลึง แม้ว่าแต่ละวัดมีพระเจดีย์องค์มหึมากว่าพระเจดีย์ส่วนใหญ่ในวัดไทย, เขมร หรือลาว บ้างปิดทองอร่ามทั้งองค์, บ้างมีลายปูนปั้นวิจิตร, บ้างมีคูหาหรือวิหารขนาดใหญ่ที่นักท่องเที่ยวอาจเข้าไปชมพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ตั้งไว้ภายในได้ แต่พุกามไม่ชวนตื่นตะลึงอย่างนครวัดหรือโบโรบุดูร์

เราจะตื่นตะลึงกับความมโหฬารพันลึกของพุกามได้ ก็ต้องไต่บรรไดของเจดีย์ชเวสันดอ ซึ่งสูงมากขึ้นไปมองทิวทัศน์โดยรอบ แล้วจะเห็นเจดีย์นับเป็นร้อยเป็นพันรอบตัว จากระยะใกล้ๆ ไปสู่สุดขอบฟ้า จนอาจเรียกได้ว่าพุกามคือทะเลของเจดีย์ นั่นแหละครับถึงรู้สึกระย่อกับความยิ่งใหญ่ของพุกาม

ผมมีโอกาสได้เห็นทิวทัศน์ที่ชวนตื่นตะลึงนั้นเมื่อ 16 ปีมาแล้ว เมื่อพม่าเริ่มเปิดประเทศไม่นานนัก จึงยังไม่ได้ทำอะไรกับพุกามมากกว่าเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม แต่ครั้งนี้พุกามเปลี่ยนไปมาก เพราะนายพลตานฉ่วยพัฒนาพุกามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดมหึมาเลยทีเดียว

ชาวบ้านซึ่งเคยตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่ในดงเจดีย์และวัดทั้งหมด ถูกย้ายออกไปจากเมืองเก่า รัฐบาลตั้งเมืองพุกามใหม่ขึ้นไม่ห่างจากเมืองเก่านัก กลายเป็นเมืองใหม่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากประชาชนที่ถูกย้ายออกจากเมืองเก่าแล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวก็นำผู้คนเข้ามายังพุกามใหม่อีกหลายเท่าตัว เช่น พนักงานโรงแรมซึ่งมีแทบจะทั่วหัวระแหง, คนขับรถบริการ, พนักงานร้านอาหารและร้านกาแฟ, พนักงานธนาคาร และร้านค้าของที่ระลึก ฯลฯ

จะว่าดีก็ดีนะครับ เพราะเปิดโอกาสให้รัฐบาลจัดการกับเมืองเก่าอย่างไรก็ได้ รวมทั้งไม่มีรถขนาดใหญ่เช่นรถบรรทุกวิ่งผ่าน ถึงมีรถทัวร์ขนาดใหญ่เหมือนกัน เขาก็ระวังไม่ให้เข้าใกล้โบราณสถาน นักท่องเที่ยวต้องลงเดิน นอกจากการจัดการกับคนและรถที่จะเข้ามาเยี่ยมชมเมืองพุกามเก่าแล้ว ถนนหนทาง โดยเฉพาะสายหลักๆ กลายเป็นถนนลาดยางหมด ทำให้ฝุ่นละอองซึ่งเป็นความประทับใจอีกอย่างหนึ่งของผมเกี่ยวกับพุกามหายไป เพราะเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ถนนทุกสายยังเป็นถนนฝุ่นทั้งนั้น

พุกามตั้งอยู่ในเขตแห้งแล้งของพม่าตอนกลาง เมื่อมีผู้อาศัยอยู่ไม่มากนัก จึงมีต้นไม้น้อยเป็นธรรมดา ความประทับใจของผมอีกอย่างหนึ่งสำหรับพุกามนอกจากฝุ่นแล้วคือแดด ร้อนเปรี้ยงตลอดวันที่ท่องเที่ยวเลยทีเดียว

ดังนั้น นอกจากย้ายคนออกแล้ว ตานฉ่วยยังสนับสนุนให้ปลูกต้นไม้ ทั้งรัฐและเอกชนร่วมกันปลูกต้นไม้จำนวนมาก จนทุกวันนี้พุกามกลายเป็นเมืองที่มีต้นไม้เขียวขจีเต็มเมือง ก็ดีอย่างยิ่งเมื่อเที่ยวพุกามอยู่บนพื้นดิน แต่เมื่อขึ้นที่สูงเช่นพระเจดีย์แล้ว กลับมองไม่เห็นทะเลเจดีย์ที่ผมเคยเห็น เพราะถูกต้นไม้บังจนไม่อาจมองทะลุไปสุดขอบฟ้าได้ ยกเว้นเจดีย์ชเวสันดอดังกล่าว

ตกเย็นพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน มีนักท่องเที่ยวคลาคล่ำเพื่อปีนบรรไดเจดีย์ขึ้นไปถ่ายรูปกันเต็ม แทบไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนยอมพลาดเจดีย์องค์นี้ เจ้าหน้าที่ศิลปากรพม่าจึงไปตั้งโต๊ะเก็บเงินบำรุงพุกามแก่นักท่องเที่ยว (ต่างชาติ) ที่นั่น ตามกฎแล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเสียเงินบำรุงพุกามก่อนเข้าเมือง แต่เขามีเจ้าหน้าที่ไม่พอจะจัดการเก็บได้ทั่วถึง รถบางคัน (เช่นรถของเรา) ก็แล่นเข้ามาในตอนเย็นใกล้ค่ำแล้ว จึงไม่ได้ถูกเรียกเก็บเงิน แต่ไม่เป็นไร เจ้าหน้าที่ศิลปากรพม่ารู้ว่ามีวัดหรือเจดีย์อะไรในพุกามบ้างที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มีวันพลาด เขาจึงไปตั้งโต๊ะเก็บเงินที่นั่น ใครไม่มีบัตรที่แสดงว่าได้เสียเงินแล้ว ก็ต้องเสียเงินแก่เจ้าหน้าที่ก่อนเข้าวัดหรือขึ้นเจดีย์

คิดจากแง่มุมของรัฐพม่าแล้วก็น่ายกย่องนะครับ เจ้าหน้าที่ไม่พอ ก็ยังพอทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ทำไม่ได้เสียเลย และถ้าคิดวางแผนใช้กำลังคนที่มีจำกัดเสียหน่อย ที่พอทำได้บ้างนั้น ก็สำเร็จงานไปไม่น้อยทีเดียว

พุกามในบัดนี้จึงเป็นเมืองโบราณที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวไม่ต่างจากเมืองโบราณอีกหลายแห่งของภูมิภาคนี้ นั่นคือเป็นเมืองที่ตายสนิท ทั้งเมืองมีแต่อิฐและหิน ถ้าไม่นับต้นไม้แล้ว ก็ไม่มีอะไรหายใจได้อีก

ในประวัติศาสตร์พม่า พุกามไม่เคยตายมาก่อน หลังจากที่ไทยใหญ่ยกกำลังเข้ามายึดอำนาจไปได้ ไทยใหญ่เหล่านั้น ทั้งเจ้าทั้งไพร่ ต่างรีบกลืนตัวเองเป็นพม่าในทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ ด้วยการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์กันเป็นปรกติ ก็จะมีอำนาจในดินแดนของชาวพม่าอยู่ได้อย่างไร หากไม่กลายเป็นพม่าเสียให้สนิท จนกษัตริย์รุ่นหลังๆ พูดภาษาไทยใหญ่ไม่ได้แล้ว

เจ้าไทยใหญ่พากันยกกำลังตามลงมาแย่งอำนาจกันเองในดินแดนแถบนี้สืบมาอีกสองศตวรรษ แล้วก็กลืนตัวเองเป็นพม่าไปหมด ตั้งเมืองหลวงในพม่าตอนกลางขึ้นอีกสามเมืองคืออังวะ, สะกาย และพินยา ซึ่งล้วนอยู่ในพม่าตอนกลาง ส่วนใหญ่ก็ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ หรือเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพราะไม่เห็นความสำคัญของพุกาม (เช่น ถ้าเห็นด้วยกับ Michael Aung Thwin, A History of Myanmar Since Ancient Times พุกามมีแต่ข้าพระและที่ดินกัลปนาวัด ไม่เป็นฐานเศรษฐกิจให้แก่รัฐได้อีก)

ดังนั้น แม้ว่าพุกามไม่ได้เป็นราชธานีของพม่าอีกแล้ว แต่ก็มีคนอยู่อีกไม่น้อย ฐานะที่เคยเป็นศูนย์กลางสำคัญของการศึกษาด้านพุทธศาสนาก็น่าจะดำรงอยู่ต่อมา ที่จริงแล้วพุกามไม่เคยเสื่อมจากความเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์พม่า จนเมื่อพระเจ้ามินดงสร้างเมืองมัณฑะเลย์ อันเป็นราชธานีสุดท้ายของพม่า ก็ยังทรงสร้างพระพุทธรูปยืนชี้พระหัตถ์ไปยังเมืองพุกาม เพื่อเชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์ของพุกามมาสู่มัณฑะเลย์ในทางพิธีกรรม

เมืองโบราณที่เคยเป็นราชธานีของรัฐในอุษาคเนย์อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อกษัตริย์ย้ายออกไปจากเมืองนั้นแล้ว ถึงจะกวาดต้อนผู้คนจำนวนมากไปสู่ราชธานีใหม่ ก็ใช่ว่าราชธานีเดิมจะกลายเป็นเมืองร้างไปในทันทีไม่ ส่วนใหญ่มักยังมี “หน้าที่” สำคัญบางอย่างที่ต้องกระทำต่อไป ทั้งแก่รัฐและแก่สังคม กษัตริย์กัมพูชายังคงไปประกอบพิธีกรรมบางอย่างในเมืองพระนครสืบมา (จนแม้แต่คิดจะไปรื้อฟื้นเมืองพระนครกลับเป็นราชธานีใหม่ก็มี) เมืองพระนครมีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างที่ราชธานีเขมรและไทยลอกเลียนมาใช้ในบริบทใหม่ คือพุทธเถรวาท (เช่น พระสถูปสำคัญกลางเมือง)

ปราสาทนครวัดและนครธมถูกนักบวชที่เรียกกันว่า “ฤษี” ใช้เป็นที่บำเพ็ญสมาธิสืบต่อมาจนไม่นานมานี้เอง ไม่ใช่เพราะมันเงียบดีนะครับ ผมเข้าใจว่า เพราะมันมีบรรยากาศใกล้ชิดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือโลก

กรุงศรีอยุธยาก็เช่นกัน ตั้งอยู่ในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง อันเป็นทำเลที่ประชากรหนาแน่นที่สุด (ทั้งเกิดเอง ทั้งถูกกวาดต้อนและอพยพเข้ามา) จะร้างไปเมื่อพระเจ้าตากสินและราชวงศ์จักรีตั้ง “พระนคร” ขึ้นใหม่ได้อย่างไร ผู้คนมากหน้าหลายตากลับมาตั้งภูมิลำเนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ในเขตที่เป็นเกาะเมือง หลักฐานของชาวตะวันตกในต้นรัตนโกสินทร์ชวนให้เข้าใจว่า กรุงเก่าเป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากกรุงเทพฯ อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการค้าข้าว (ซึ่งแม้ยังมีปริมาณไม่มากเท่าหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง) ที่ใหญ่รองลงมาจากกรุงเทพฯ ในทำนองเดียวกัน สุโขทัยเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในละแวกนั้นสืบมาจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา แม้เมื่อย้ายเมืองไปอยู่บ้านกงธานีในสมัย ร.1 แล้ว สุโขทัยเก่าก็ยังเป็นแหล่งซ่องสุมของโจร ซึ่งก้ำกึ่งอยู่กับข้าหนีเจ้า ไพร่หนีนายสืบมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง

แต่น่าแปลกที่ผู้คนจำนวนมากที่อยู่และใช้เมืองโบราณเหล่านั้นสืบมา ไม่ถูกนับรวมเป็น “มรดก” ร่วมไปกับก้อนอิฐก้อนหิน ลูกหลานของเขายังมักถูกรังเกียจ ทั้งจากรัฐและจากยูเนสโกซึ่งเป็นผู้สั่งให้โลกมีมรดกประเภทต่างๆ กระจายอยู่ทั่วไป หากมีอำนาจเท่าธันฉ่วย ก็ไล่ตะเพิดออกไปอยู่เมืองใหม่ หากมีไม่มากเท่านั้น ก็ “จัดระเบียบ” ใหม่ให้เหลือคนอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

เที่ยวเมืองโบราณคือเที่ยวดูอิฐดูหิน จะเห็นหน้าคนบ้างก็ที่เขาสลักบนหินหรือปั้นปูนไว้เท่านั้น เมืองโบราณของอุษาคเนย์จึงมักเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยว เพราะล้วนเป็นเมืองที่ตายแล้วสนิท ถึงยังไม่ตาย ก็ต้องถูกฆ่าให้ตายจนได้

ตานฉ่วยยังสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขนาดมหึมาขึ้นที่พุกามด้วย แต่คล้ายๆ พิพิธภัณฑ์ของกรมศิลปากรในประเทศไทย คือบอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมโบราณน้อยมาก มีแต่พระพุทธรูปและโบราณวัตถุซึ่งเป็นเครื่องใช้ไม้สอยของคนชั้นสูง (และคงถวายวัดไว้กระมัง) เปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์ในฮานอยแล้วต่างกันไกล เพราะแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของคนประเภทต่างๆ ทั้งสังคมไว้อย่างน่าดู แม้แต่ที่ไม่มีความรู้ประวัติศาสตร์เวียดนามนักก็ยังดูเพลิน แต่จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องลงทุนกับการ “ขุดค้น” ไปด้วย

ผมเข้าใจเอาเองว่า ยังไม่เคยมีการขุดค้นอย่างจริงจังในพุกาม มีแต่การขุดแต่งโบราณสถานต่างๆ อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะที่พังทลายลงเพราะแผ่นดินไหว ฉะนั้น จะเชื่อแผนผังหุ่นจำลองของพุกามที่พิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นได้แค่ไหน ผมก็ไม่แน่ใจ เช่นวัดในแผนผังหุ่นจำลอง ดูจะอยู่แทบติดกับบ้านเรือนประชาชน แต่จนถึงทุกวันนี้ ถือเป็นธรรมเนียมในพม่าว่า วัดต้องอยู่ห่างออกไป เช่นหากเป็นหมู่บ้าน “จอง” หรือวัดของหมู่บ้านมักตั้งอยู่บริเวณชายขอบ แต่ว่ากันว่านี่เป็นประเพณีของ “วงศ์” พระสงฆ์ลังกา พุทธศาสนาในพุกามเป็นของพระสงฆ์อีก “วงศ์” หนึ่ง ซึ่งแพร่หลายมาก่อนที่ “วงศ์” ของลังกาจะเผยแพร่เข้ามา

คล้ายกับในเมืองไทยซึ่งถูกรายได้จากการท่องเที่ยวสะกดให้สิ้นสมปฤดี เราลงทุนกับการขุดค้นน้อยเกินไป แต่ใช้เงินทั้งหมดไปกับการขุดแต่ง ยกเว้นแหล่งโบราณคดีที่เพิ่งเจอ เพราะหวังว่าจะทำเงินได้อีก

ปราศจากการขุดค้น ความรู้ใหม่ก็ย่อมไม่อาจสร้างขึ้นได้ วนเวียนกันไปแต่กับเรื่องของชนชั้นสูง และอุดมการณ์ที่ชนชั้นสูงผลิตขึ้นเพื่อรองรับอำนาจของตนเอง เข้าชมพิพิธภัณฑ์กับนั่งดูทีวีภายใต้การกำกับควบคุมของ กสทช. ปัจจุบัน ก็ไม่ต่างอะไรกันนะครับ

นักท่องเที่ยวอีกกลุ่มหนึ่งของพุกาม ซึ่งถ้านับรายหัวแล้วต้องถือว่ามีจำนวนมากที่สุด คือชาวพม่าเอง ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวบ้าน เพราะมักมากันเป็นกลุ่ม นั่งๆ นอนๆ มาบนกระบะท้ายรถ มีอาหารเตรียมมาเสร็จสรรพ ดูจากเครื่องเคราในท้ายกระบะของรถบางคันแล้ว ทำให้เข้าใจว่าคงมาไกลพอสมควร ขนาดต้องค้างระหว่างทางกันทีเดียว แสดงว่าเสน่ห์ของพุกามดึงดูดชาวพม่าได้กว้างไกลทีเดียว

ภาพอย่างนี้ไม่มีให้เห็นเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งคงเพราะเศรษฐกิจของชาวพม่าดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็เพราะถนนหนทางดีขึ้นด้วย แต่ส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดขึ้นได้ก็เพราะการเลือกตั้ง ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นจะพูดถึงข้างหน้า

ผมไม่สามารถไปพูดคุยกับชาวบ้านที่มาเที่ยวพุกามได้ เพราะไม่มีใครพูดอังกฤษได้เลย ผมจึงไม่ทราบว่าเขามาพุกามด้วยสำนึกชาตินิยมสักแค่ไหน แต่เท่าที่สังเกตเห็นก็คือ เขาพากันเดินทางไปพุทธเจดีย์สำคัญมากกว่าตระเวนไปดูเมืองพุกามทั่วไป เช่นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ หรือวัดที่มีพระพุทธรูปสำคัญซึ่งเป็นที่สักการะกันทั่วพม่า พูดง่ายๆ ก็คือการมาพุกามของชาวบ้านคือการจาริกแสวงบุญ (เช่นเดียวกับที่มัณฑะเลย์ ชาวบ้านไปเพื่อได้กราบสักการะพระมหามัยมุนี ไม่ใช่ไปเที่ยววังหลวง ซึ่งเป็นของนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น)

คุณซาน คนขับรถของเราอธิบายว่า คนรวยในหมู่บ้านมักอุปการะการเดินทางให้แก่ชาวบ้าน บางครั้งก็อาจเป็นเจ้าอาวาสของวัดในหมู่บ้านที่ช่วยอุปการะ เพราะชาวบ้านอยากมาไหว้พระในพุกามกันมาก

ย้อนกลับไปดูข้อมูลเกี่ยวกับหมู่บ้านในพม่า คนซึ่งจะเป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้านต้องมีคุณสมบัติสามอย่าง หนึ่งคือมีปน (Pon) หรือกำลัง จะเป็นกำลังทางศาสนาหรือกำลังทางโลกย์ก็ได้ เช่น พระภิกษุได้ชื่อว่า Pongyi (ปนจี แต่เป็น จ.โฆษะ แปลว่าใหญ่) คนมีทรัพย์ในหมู่บ้านก็ถือว่ามีกำลังเหมือนกัน

แต่เท่านี้ไม่พอยังต้องมี gon หรือบุญด้วย คือได้ทำการกุศลมามาก มิฉะนั้นก็เป็นคนใจบุญใจกุศลเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป คนที่มีคุณสมบัติสองอย่างนี้พอจะหาได้ในทุกหมู่บ้าน แต่จะเป็นคนใหญ่คนโตที่มีคนนับถือทั้งหมู่บ้าน หรือเลยหนึ่งหมู่บ้านออกไปได้ ต้องมีอีกอย่างหนึ่งคือ awza ซึ่งผมเข้าใจว่าคือ “บารมี” ในภาษาไทย ทั้งกิริยาวาจา ท่าทางบุคลิกเป็นที่น่ายำเกรง ทั้งยังมีกำลังและบุญไปพร้อมกัน คนอย่างนี้อาจไม่มีในทุกหมู่บ้าน แต่หากมีก็จะเป็นที่นับหน้าถือตามากเสียยิ่งกว่า thugyi (หรือที่ไทยเรียกสุกี้พระนายกอง) คือนายบ้าน บางคนอาจได้รับเลือกเป็นนายบ้านเสียเอง บางคนก็ไม่รับแต่ให้ญาติหรือลูกน้องเป็นแทน ถึงอย่างไร หมู่บ้านใดมีคนอย่างนี้อยู่ นายบ้านก็ต้องจ๋องๆ เหมือนกัน

ผมเข้าใจว่าคนเหล่านี้แหละครับที่เป็นผู้อุปการะให้ชาวบ้านได้มาแสวงบุญที่พุกาม หลังมีรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มีการเลือกตั้งหลายระดับด้วยกัน ฉะนั้น เหตุผลแรกที่คนเหล่านี้ให้ความอุปการะแก่ชาวบ้าน ก็คงหวังคะแนนเสียง แต่ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งด้วย นั่นคือคนเช่นนี้เป็นประธานของเครือข่ายอุปถัมภ์ที่ใหญ่มากในหมู่บ้าน อย่างไรเสียเขาก็มีภาระต้องอุดหนุนจุนเจือชาวบ้านเท่าที่กำลังของเขาจะอำนวยอยู่แล้ว เมื่อการอุดหนุนให้มาแสวงบุญที่พุกามไม่เกินกำลังของเขา จะแปลกอะไรที่จะออกค่าเช่ารถหรือค่าน้ำมันให้ชาวบ้านได้มาเที่ยว

ผมควรกล่าวด้วยว่า เมื่อการผลิตเข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เข้มข้นขึ้น ความสัมพันธ์ในการผลิตแบบเก่าที่ผู้อุปถัมภ์ต้องพึ่งผู้รับการอุปถัมภ์ในหมู่บ้านด้วย ก็มีน้อยลง (เช่น ใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน) ความจำเป็นจะต้องใช้จ่ายทรัพย์ของตนเองเพื่ออุปถัมภ์ชาวบ้านก็ย่อมน้อยลงไปด้วย แต่ผู้อุปถัมภ์ยังรักษาสถานะของตนเองต่อไปได้ ก็โดยการเชื่อมต่อกับรัฐ ดึงเอาทรัพยากรในมือของรัฐมาจุนเจือเครือข่ายอุปถัมภ์ในท้องถิ่นของตน ปรากฏการณ์อย่างนี้พบได้ทั่วไปในหลายสังคมของอุษาคเณย์ รวมทั้งไทยด้วย

จะเชื่อมต่อกับรัฐอย่างไร หากมีการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ก็เชื่อมต่อผ่านการเลือกตั้งหรือเป็นหัวคะแนนให้พรรคการเมือง หรือเป็นสมาชิกนำของพรรคในท้องถิ่น หากไม่มีการเลือกตั้ง ก็เชื่อมต่อผ่านข้าราชการประจำซึ่งมีเจ้าพนักงานในท้องถิ่น นับตั้งแต่ฝ่ายปกครอง, ฝ่ายป่าไม้, ฝ่ายอุทยาน, กรมเจ้าท่า, กรมประมง ฯลฯ

ที่เรียกกันว่า “การซื้อเสียง” ในการเลือกตั้ง ที่จริงแล้วเป็นระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์ที่สลับซับซ้อนมาก เชื่อมโยงกับเครือข่ายความสัมพันธ์ตามประเพณีซึ่งมีมาแต่เดิม อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย การเลือกตั้งที่ทุกคนเป็นปัจเจกบุคคลล้วนๆ ตัดสินใจเองโดยไม่สัมพันธ์กับเครือข่ายใดๆ เลย มันมีจริงในโลกนี้ด้วยหรือครับ?

คนชั้นกลางไทยนึกว่าตัวทำอย่างนั้นได้ แต่การเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า เครือข่ายมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจทางการเมืองของคนชั้นกลางไทย

(ยังมีต่อ)