ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 มกราคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
“พญาโศกพิโยคค่ำ” (The Edge of Daybreak)
ผลงานกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกโดย “ไทกิ ศักดิ์พิศิษฐ์”
ได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในสายประกวด “ไทเกอร์ คอมเพติชัน”
ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันสำหรับนักทำหนังดาวรุ่งรุ่นใหม่จากทั่วโลก ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์
โดยในปี 2021 เทศกาลดังกล่าวจะแบ่งการจัดงานออกเป็นสองช่วง ระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ และ 2-6 มิถุนายน
“พญาโศกพิโยคค่ำ” จะบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์อันเต็มไปด้วยปัญหาของประเทศไทย ผ่านสภาวะจิตใจและความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวหนึ่ง
เมื่อการปราบปรามขบวนการนักศึกษาคนรุ่นใหม่ในทศวรรษ 2510 และการรัฐประหารปี 2549 ดำเนินคู่ขนานไปกับเรื่องราวในครอบครัวของตัวละคร ที่มีปมซับซ้อนว่าด้วยบาดแผลทางจิตวิทยา ความรุนแรง และความรู้สึกผิดบาป
เรื่องราวของหนังเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกนำตัวไปยังเซฟเฮาส์ เพื่อรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายกับสามีของเธอ ก่อนที่เขาจะถูกลักลอบนำตัวออกนอกประเทศ ในห้วงเวลาที่การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองกำลังก่อตัวขึ้น
30 ปีก่อนหน้านั้น “พลอย” คือเด็กหญิงผู้มีอาการโคม่าหลังประสบเหตุจมน้ำ ขณะเดียวกัน พ่อของเธอที่เป็นทหารก็หายตัวออกไปจากบ้านนานสามปี ส่วนแม่ของเธอก็กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ
หลายทศวรรษต่อมา พลอยและคนรัก (ซึ่งเป็นน้องชายของสามีเธอ) ได้ร่วมกันย้อนรำลึกถึงบาดแผลในวัยเยาว์ของพวกตน
ท่ามกลางการบันทึกภาพในระบบขาวดำที่แลดูเศร้าสร้อย แสงเงาในสถานที่อันน่าเกรงขาม ดนตรี-เสียงประกอบภาพยนตร์ที่มืดหม่น ผนวกด้วยการแสดงแบบน้อยๆ และจังหวะของเรื่องราวที่เนิบช้า
ตัวละครจากภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของไทกิจะเสมือนถูกคุมขังอยู่ในอาการอัมพาตทางด้านอารมณ์ความรู้สึก เมื่ออดีตกับปัจจุบันหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในฝันร้ายมิรู้จบ
และเมื่อเงาดำทาบผ่านดวงอาทิตย์ นั่นคือสัญญาณบอกเหตุอะไรบางอย่างหรือเป็นการปลุกกระตุ้นให้ทุกคนลืมตาตื่นขึ้น?!
“พญาโศกพิโยคค่ำ” นำแสดงโดย “โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล” “ชลัฏ ณ สงขลา” และ “สุนิดา รัตนากร”
นอกจากนี้ หนังยังได้ทีมงานเบื้องหลังฝีมือดีมาร่วมสนับสนุนมากมาย อาทิ “คัทลียา เผ่าศรีเจริญ” และ “โสฬส สุขุม” ในฐานะโปรดิวเซอร์ “ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์” (ที่เคยมีชื่อเข้าชิง “อินดีเพนเดนต์ สปิริต อวอร์ดส์” เวทีมอบรางวัลหนังอินดี้ที่ใหญ่สุดของสหรัฐ) ในตำแหน่งผู้กำกับภาพ
“ลี ชาตะเมธีกุล” และ “หรินทร์ แพทรงไทย” สองมือตัดต่ออันดับต้นๆ ของวงการภาพยนตร์ไทยยุคปัจจุบัน รวมถึง “อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร” นักออกแบบเสียงที่ทำงานร่วมกับ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” มายาวนาน
“ไทกิ ศักดิ์พิศิษฐ์” จบการศึกษาด้านภาพยนตร์จากซานฟรานซิสโก สเตต ยูนิเวอร์ซิตี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกจากจะเคยทำหนังสั้นและวิดีโออาร์ตแนวทดลอง ที่ใส่ใจในประเด็นความขัดแย้งของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย มาเป็นจำนวนมาก
เขายังมีความสนใจในด้านทฤษฎี และทำงานเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาจนถึงปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ ไทกิมีผลงานภาพยนตร์สั้นเรื่องสำคัญคือ “ภูเขาไฟพิโรธ” (A Ripe Volcano) เมื่อ ค.ศ.2011/พ.ศ.2554 ซึ่งได้รับรางวัลรัตน์ เปสตันยี จากเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 15 และได้เข้าฉายในเทศกาลหนังนานาชาติ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั่วโลกอีกหลายสิบแห่ง