นพมาส แววหงส์ /ภาพยนตร์ : THE PROM ‘เดอะมิวสิเคิล’

นพมาส แววหงส์

THE PROM
‘เดอะมิวสิเคิล’

กำกับการแสดง
Ryan Murphy

นำแสดง                                                                                                           Meryl Streep
James Corden
Nicole Kidman
Kerry Washington
Jo Ellen Pellman
Keegan-Michael Key

มิวสิเคิลเรื่องใหม่ในรูปแบบภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากละครเวทีชื่อเดียวกันเมื่อสี่ปีก่อนหน้า

เนื่องจากปัญหาที่กระหน่ำซ้ำเป็นระลอกตลอดทั้งปีและโดยเฉพาะช่วงปลายปี จึงออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์เป็นหนังร่าเริงบันเทิงใจสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาส

โดยมีดาราระดับแนวหน้านำแสดง

The Prom เป็นเรื่องของนักแสดงละครเวทีสองคนคือดีดี อัลเลน (เมอริล สตรีป) และแบร์รี่ กลิกแมน (เจมส์ คอร์เดน) ที่เพิ่งเปิดการแสดงละครมิวสิเคิลรอบปฐมทัศน์ที่บรอดเวย์ เรื่อง “เอลินอร์” ซึ่งเป็นเรื่องของเอลินอร์ โรสเวลต์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้อยู่เบื้องหลังประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี โรสเวลต์

และโดนนักวิจารณ์สับเละไม่มีชิ้นดี โดยเฉพาะนักแสดงในบทนำสองคนคือ เอลินอร์และแฟรงกลินซึ่งรับตำแหน่งประธานาธิบดีโดยต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา โดนวิจารณ์ว่าหลงตัวเองอย่างหนักจนไม่สามารถสวมบทบาทของตัวละครได้ ทั้งๆ ที่ดีดีเป็นนักแสดงอาวุโสที่ได้รับรางวัลเอ็มมี่สำหรับละครเวทีมาแล้วถึงสองรางวัล

เมื่อโดนสื่อวิจารณ์กราดเกรี้ยวแบบไม่ไว้หน้า ไม่เหลือไมตรีต่อกันแบบนี้ การแสดงละครที่จะจัดขึ้นต้องเกี่ยวข้องกับรายได้จากการขายบัตรก็ต้องปิดตัวไปเพราะแรงวิจารณ์

ดีดีและแบร์รี่จึงต้องหาวิธีปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อลบล้างภาพลักษณ์ของความหลงตัว และสร้างภาพลักษณ์ของการทำประโยชน์เพื่อคนอื่นบ้าง

สิ่งที่พวกเขาเห็นว่าอยู่ในวิสัยที่พอทำได้ เมื่อได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ว่า โรงเรียนมัธยมในอินเดียนาเพิ่งปฏิเสธไม่ยอมจัดงาน “พรอม” เนื่องจากไม่ยอมให้นักเรียนพาคู่เดตเพศเดียวกันมาในงาน

ถ้าเราดูหนังอเมริกันมากพอ จะเห็นว่าวัฒนธรรมของงาน “พรอม” ในโรงเรียนมัธยมตอนปลายนั้นเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของนักเรียนที่กำลังจะจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย เหมือนกับชีวิตนักเรียนนั้นจะจบลงอย่างสวยงามเหมือนความฝันด้วยการแต่งตัวสวยไปงานเต้นรำ ควงคู่ไปกับคู่เดตเพศตรงข้าม ด้วยชุดราตรีและทักซิโด้ และฝ่ายชายจะจัดหารถลิมูซีนคันยาวเฟื้อยมารับฝ่ายหญิงหน้าบ้านให้ชาวบ้านรับรู้กันทั่วว่าจะไปงานพรอมแบบเชิดหน้าชูตา

ดังนั้น การที่โรงเรียนปฏิเสธจะไม่จัดงานพรอมให้นักเรียนที่จบการศึกษา จึงนับเป็นเรื่องใหญ่ ที่ตกเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ไปทั่วประเทศ

โดยเฉพาะสาเหตุที่ไม่ยอมจัดงานนั้นเนื่องมาจากอคติในเรื่อง “หญิงรักหญิง” ซึ่งต้องการเลิกการหลบซ่อนและประกาศให้ผู้คนรู้กันทั่วแบบเป็นทางการ

นี่คือโปรเจ็กต์การช่วยเหลือสังคมของดีดีและแบร์รี่

โดยเพื่อนเข้ามาร่วมสมทบอีกสองคน

คนหนึ่งเป็นบาร์เทนเดอร์ที่อยากเป็นนักแสดง เทรนต์ โอลิเวอร์ (แอนดรู แรนเนลส์)…นี่เป็นอีกเรื่องที่ได้ยินมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ให้ไปถามบาร์เทนเดอร์หรือบริกรชายหญิงในฮอลลีวู้ดหรือนิวยอร์กดูเถอะ ทุกคนจะต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามาทำงานนี้ชั่วคราวเท่านั้น อาชีพจริงๆ คือนักแสดงที่รอจะได้รับการว่าจ้าง ซึ่งแปลกันง่ายๆ แบบตรงๆ ก็คือ ถ้าไม่ใช่นักแสดงตกงาน ก็เป็นพวกตะเกียกตะกายอยากเป็นนักแสดงนั่นเอง

อีกคนคือนักแสดงสาวที่เป็น “คอรัสเกิร์ล” ในคณะละคร เธอกำลังรอเข้าเสียบในบทสำคัญ หากนักแสดงประจำเกิดเจ็บป่วยหรือเล่นไม่ได้ขึ้นมา เธอคนนี้ชื่อ แอนจี้ ดิกกินสัน (นิโคล คิดแมน)

ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมมิวสิเคิลเรื่องนี้จึงเลือกใช้ชื่อแอนจี้ ดิกกินสัน สำหรับบทนี้ เนื่องจากมีดาราหนังที่มีชื่อเสียงพอดูในวงการในชื่อเดียวกันนี้ แฟนหนังรุ่นก่อนๆ คงจะยังพอจำหน้าแอนจี้ ดิกกินสัน กันได้นะคะ

นักแสดงจากบรอดเวย์สี่คนจึงมุ่งหน้าสู่อินเดียนาเพื่อไปรณรงค์ช่วยสาวน้อยนาม “เอ็มมา” (โจ เอลเลน เพลแมน) ที่อยากประกาศให้โลกรู้ว่าเธอมีแฟนเป็นผู้หญิงและไม่อยากหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป

ที่สำคัญแฟนสาวของเธอคืออลิสสา กรีน (อาเรียนา เดอโบส) มีแม่เป็นนายกสมาคมครูและผู้ปกครอง ที่ต่อต้านการจัดงานที่เปิดโอกาสให้คนเพศเดียวกันไปงานกันเป็นคู่ๆ

แม่ผู้มีทัศนะอนุรักษนิยมสุดขั้วคนนี้ เล่นโดยเคอร์รี่ วอชิงตัน ซึ่งดูขัดกับบุคลิกและภาพลักษณ์ของเธอเหลือเกิน

เรื่องราวจะลงเอยอย่างไร คงเดากันได้ไม่ยาก แต่ที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่ตอนจบ แต่อยู่ที่รายละเอียดในการดำเนินเรื่อง รวมทั้งเพลงและการเต้นที่แทรกอยู่ตลอดเรื่องในลักษณะของมิวสิเคิล

มีพล็อตแตกแขนงออกมาเป็นเรื่องราวของดีดีและแฟนพันธุ์แท้ที่ชื่นชมและติดตามผลงานของเธอมาตลอด ซึ่งกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยลงตัวระหว่างตัวละครที่มาจากภูมิหลังต่างกันคนละโลก

เพลงยังไม่ติดหูนัก แต่มีเนื้อร้องชวนขันและชวนติดตาม มีอยู่เพลงเดียวที่จำได้ คือเพลงที่เอ็มมาร้องเพื่อกลบความตื่นเต้นความกลัวทั้งหลายทั้งปวง ชื่อเพลง Just Breathe ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ดีสำหรับทุกคนที่น่าจะจำมาใช้ในชีวิต

โดยรวมแล้วผู้เขียนออกจะรู้สึกว่าประเด็นของเรื่องออกจะเชยไปแล้วสำหรับผู้คนยุคนี้สมัยนี้ ซึ่งเพศสภาพและรสนิยมทางเพศเป็นเรื่องที่ทำกันได้อย่างโจ่งแจ้ง และไม่มีใครแคร์จะปิดบังกันอีกแล้ว

ตอนแรกก็นึกว่าหนังคงสร้างจากละครเวทีที่เปิดแสดงเมื่อสักสี่สิบปีมาแล้วกระมัง แต่ค้นดูก็พบว่าเป็นละครเวทีที่เพิ่งลงโรงไปเมื่อสี่ปีที่แล้วนี้เอง

เลยได้ข้อสรุปว่านี่เป็นเรื่องราวย้อนยุคที่สะท้อนให้เห็นภาพของค่านิยมและอคติของสังคมในรุ่นอายุเมื่อไม่นานมานี้เอง และได้ข้อคิดว่า

สังคมไม่เคยหยุดอยู่กับที่จริงๆ…บางสิ่งบางอย่างที่เคยทำไม่ได้ในอดีต เดี๋ยวนี้ก็ทำกันอยู่จนกลายเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว