สุจิตต์ วงษ์เทศ : สามัญชน เป็น ‘ราชา’ สมัยก่อนอยุธยา

บ้านเลน (บางขดาน) อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา พื้นที่บรรพชนของพระเจ้าปราสาททอง (ซ้าย) ศาลพระเจ้าปราสาททองในวัดชุมพลนิกายาราม (ขวา) สะพานข้ามคลองบ้านเลน หน้าวัดชุมพลนิกายาราม

สามัญชน เป็น ‘ราชา’
สมัยก่อนอยุธยา

สามัญชนมีช่องทางเติบโตในอำนาจได้เป็น “ราชา” หรือ “กษัตริย์” พบอุดมการณ์การเมืองและสังคมในคำสอนศาสนาพุทธจากลังกา เป็นเหตุดึงดูดให้มีความเคลื่อนไหวนับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจากคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มค้าสำเภากับจีน ราวหลัง พ.ศ.1600

เมื่อได้อำนาจตามต้องการ จึงมีพิธีกรรมตามจารีตในลัทธิเทวราชเพื่อเสวยราชย์เป็น “ราชา” หรือ “กษัตริย์”

ศาสนาเพื่อการเมือง

ศาสนามิได้แยกอยู่อย่างลอยๆ หรือโดดเดี่ยวจากสังคมและการเมือง แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและการเมืองหลายพันปีมาแล้วตั้งแต่ก่อนรับจากอินเดียและลังกา (คือศาสนาผีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) สืบเนื่องถึงหลังรับจากอินเดียและลังกา ตราบจนปัจจุบัน (อินเดียและลังกาใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อขยายการค้าทางทะเลสู่อุษาคเนย์ ซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วไปในหมู่นักปราชญ์และนักวิชาการในสากลโลก)

ศาสนาจากอินเดียมีพลังอำนาจยกฐานะของหัวหน้าเผ่าพื้นเมือง (นักวิชาการบอกว่าตรงกับศัพท์สากลว่า chiefdom) ขึ้นเป็น “ราชา” หรือ “กษัตริย์” โดยมีศาสนาจากอินเดียทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ผ่านพิธีกรรมและภาษากับวรรณกรรม

อุษาคเนย์ประกอบด้วยคนพื้นเมืองหลายเผ่าพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ซึ่งแต่ละเผ่าพันธุ์มี “ผี” ของตนเสมือนมี “ร้อยเผ่าพันผี” ต่างขัดแย้งกันเมื่อยกย่อง “ผี” กลุ่มของตนอยู่เหนือ “ผี” กลุ่มอื่น ดังนั้นคนชั้นนำพื้นเมืองเลือกรับศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาใช้งานการเมืองการปกครองเพื่อหลอมคน “ร้อยเผ่าพันผี” มาร่วมนับถือศาสนาและ “ศาสดา” เดียวกัน ซึ่งเป็นศาสนาใหม่ประสมกลมกลืนระหว่างผี, พุทธ, พราหมณ์-ฮินดู

นับแต่นั้นในอุษาคเนย์ ศาสนาผี, พุทธ, พราหมณ์-ฮินดู ถูกใช้งานการเมืองของหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (เพศชาย) ในการปกครองคนพื้นเมืองหลายเผ่าพันธุ์นับไม่ถ้วน ตั้งแต่ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1000

ศาสนาพุทธเพื่อการเมืองยกฐานะหัวหน้าเผ่าขึ้นเป็น “ราชา” หรือ “กษัตริย์” พบร่องรอยในอัคคัญสูตร มีเนื้อหาโดยสรุปแสดงความเป็นมาของโลกมีเทวดาและมนุษย์ แม้คนในวรรณะทั้งสี่ตามคำสอนของพราหมณ์ก็มาจากคนพวกเดียวกัน หรือคนเสมอกัน (“มิใช่คนไม่เสมอกัน”) ต่อมามีปัญหาขัดแย้งกันบรรดากลุ่มคนทั้งหลายจึงเลือกคนหนึ่งเป็นหัวหน้า เรียก “มหาสมมติ” ว่า “ราชา” หรือ “กษัตริย์” มีในพระสูตรตอนหนึ่ง ดังนี้

“ควรจะแต่งตั้งคนขึ้นให้ทำหน้าที่ติคนที่ควรติ ขับไล่คนที่ควรขับไล่ โดยพวกเราจะแบ่งส่วนข้าวสาลีให้ จึงเลือกคนที่งดงามมีศักดิ์ใหญ่แต่งตั้งเป็นหัวหน้า เพื่อปกครองคน (ติและขับไล่คนที่ทำผิด) คำว่า “มหาสมมต” (ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง) กษัตริย์ (ผู้เป็นใหญ่แห่งนา) ราชา (ผู้ที่ทำความอิ่มใจ สุขใจแก่ผู้อื่น) จึงเกิดขึ้น. กษัตริย์ก็เกิดขึ้นจากคนพวกนั้น มิใช่พวกอื่น จากคนเสมอกัน มิใช่คนไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม. ธรรมจึงเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

[จากหนังสือ พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน (ย่อความจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี 45 เล่ม) จัดทำโดย สุชีพ ปุญญานุภาพ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์ครั้งที่ 17 พ.ศ.2550 หน้า 352-355]

ต่อมามีการดัดแปลงอัคคัญสูตร แต่งเป็นโคลงลาวอยู่ในโองการแช่งน้ำ ว่า

เลือกผู้เพ็ญ ยิ่งยศ
เป็นราชา อะคร้าว
เรียกนามสมมุติ ราชเจ้า
จึ่งตั้งท้าวเจ้า แผ่นดิน ฯ

ศาสนาพุทธเถรวาทมีอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มแรกรับจากลังกา แต่บทบาทไม่สูงเท่ามหายาน, พราหมณ์ ต่อมาเมื่อการค้ามากขึ้น พ่อค้ามีบทบาทกว้างขึ้น มั่งคั่งขึ้น ก็ยึดเถรวาทเป็นสำคัญกว่าอย่างอื่น เพราะเปิดช่องให้พ่อค้าเป็นราชาหรือกษัตริย์ ในนามของผู้มีบุญ เพราะทำบุญมากอันเนื่องเพราะเป็นผู้มั่งคั่งจากการค้า (จึงมีทรัพย์ทำบุญมากกว่าสามัญชนทั่วไป)

แต่ที่สำคัญมากคือ เถรวาทขัดเกลาให้คนนอบน้อมยอมจำนนต่อความมั่งคั่งและเข้มแข็งของผู้มีบุญ (คือพ่อค้า)

อุดมการณ์นี้แสดงออกในตำนานจำนวนไม่น้อย แต่ที่พบมากและชัดเจนในพงศาวดารเหนือ เช่น พระร่วง (แพร่หลายมากบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ที่เคยเป็นรัฐสุโขทัย), พระยาแกรก (แพร่หลายมากบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ถึงโตนเลสาบในกัมพูชา), ท้าวอู่ทอง (แพร่หลายมากบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ทั้งตอนบนและตอนล่าง) ฯลฯ และนิทานประจำถิ่น เช่น ท้าวแสนปม (แพร่หลายบริเวณลุ่มน้ำปิงตอนล่าง พื้นที่เมืองกำแพงเพชร)

ท้าวอู่ทอง

ท้าวอู่ทองเป็นพยานสำคัญเรื่องสามัญชน “ผู้มีบุญ” เป็น “ราชา” หรือ “กษัตริย์” ได้
ตำนานท้าวอู่ทองมีหลายสำนวน ส่วนมากบอกกำเนิดกรุงศรีอยุธยาจากการค้าทางไกลของท้าวอู่ทอง ซึ่งถือกำเนิดเป็น “ลูกเศรษฐี” มีเครือข่ายการค้าตั้งแต่ทางใต้ของจีนบริเวณลุ่มน้ำโขง-สาละวิน ถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง แล้วทอดยาวลงไปตลอดคาบสมุทรภาคใต้

พระเจ้าปราสาททอง “ลูกขุนนาง” อยุธยา

ข้อมูลประวัติศาสตร์ (บางตอน) สนับสนุนเรื่องสามัญชนเป็น “ราชา” มีดังนี้

พระเจ้าปราสาททองเป็นบุตรขุนนางใหญ่ (ไม่มีเชื้อสายพระราชาสมัยอยุธยา) มีหลักแหล่งเดิมอยู่บ้านเลน (บางขดาน) ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

บรรพชนพระเจ้าปราสาททองเป็นขุนนางใหญ่ มีอำนาจกว้างขวางและมีเครือข่ายการค้าทั้งภายในและภายนอก ซึ่งผลักดันให้ใกล้ชิดราชสำนัก กระทั่งได้เข้ารับราชการมีตำแหน่งและอำนาจมาก จากนั้นสั่งสมความเป็น “ผู้มีบุญ” กระทั่งเป็น “ราชา” เสวยราชย์กรุงศรีอยุธยา

ใต้ภาพ