ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | มองอนาคตประเทศ สู่สถานการณ์ใหม่ในปี 2564

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ปี2563 เป็นปีที่เลวร้ายสำหรับคนไทยทั้งประเทศเช่นเดียวกับมนุษยชาติในระดับสากล

แต่ขณะที่มนุษยชาติเผชิญปัญหาโควิดและปัญหาเศรษฐกิจตลอดปีที่ผ่านมา ประเทศไทยในปี 2563 กลับเผชิญปัญหาอื่นยิ่งขึ้นไปอีก

นั่นคือปัญหาความขัดแย้งการเมืองจากระบบการเมืองที่ไม่ดี

ปี 2563 คือปีที่ประชาชนประท้วงและต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีในประเทศไทย

เรากลายเป็นประเทศซึ่งมีการชุมนุมรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมจนถึงสัปดาห์สุดท้ายของปีนี้

จะมียกเว้นบ้างก็แค่ช่วงโควิดระบาดระหว่างมีนาคมถึงต้นกรกฎาคม

ถ้าคำนึงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจในปี 2557 แล้วข่มขู่และปราบปรามประชาชนด้วยวิธีต่างๆ ตั้งแต่การยัดคดี, ส่งทหารไปอุ้ม, จับเข้าค่ายทหาร, ปรับทัศนคติ ฯลฯ

การประท้วงตลอดปี 2563 ก็คือหลักฐานว่าการกดขี่และประทุษร้ายที่รัฐทำมาตลอดหกปีไม่มีผลต่อการปิดปากประชาชนเลย

การประท้วงแบบที่เกิดขึ้นในปี 2563 เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีหลังปี 2557

แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ การประท้วงที่ยาวนานขนาดนี้อาจไม่มีคนไทยคนไหนพบเห็นมาก่อนด้วยซ้ำ

เพราะแม้กระทั่งในช่วง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 ก็ไม่มีหลักฐานปรากฏว่ามีช่วงที่เกิดการประท้วงแทบทุกวันเกือบหนึ่งปี

ไม่ว่าจะเป็นสังคมไหน การประท้วงที่ยาวนานขนาดนี้คือสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงในสังคม

ยิ่งในสังคมไทยที่ผู้ประท้วงถูกรัฐยัดคดีกบฏ, ฉีดน้ำผสมสารอันตราย, เด็กอายุ 16 จ่อคุก 3 ปี เพราะคดี 112 หลังใส่เสื้อเอวลอย ฯลฯ

การประท้วงยิ่งเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในสังคม

ด้วยปริมาณการประท้วงที่ใหญ่โตและกว้างขวางอย่างปีที่ผ่านมา

ประเทศไทยในปี 2564 คือประเทศที่จะเจอการประท้วงลักษณะนี้ต่อไปแน่ๆ และมีความเป็นไปได้อย่างสูงที่การประท้วงจะยกระดับความเข้มข้นกว่าที่เคยเป็นอย่างแน่นอน

สื่อและคนไม่น้อยมองการประท้วงปี 2563 แบบเดียวกับที่มองการชุมนุมของพันธมิตรฯ, กปปส. และ นปช.

แต่ที่จริงการประท้วงปี 2563 เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในอนาคตที่เป็นภาพสะท้อนของความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในสังคมไทยอีกมาก

กล่าวคือ

1)แม้การชุมนุมในปี 2563 จะพูดถึงการเปลี่ยนตัวนายกฯ และกติกาทางการเมือง

แต่สาเหตุที่ทำให้คนหลายกลุ่มชุมนุมบนท้องถนนนั้นมีมากกว่าเรื่อง “การเมือง” แน่ๆ

เพราะผู้ชุมนุมและจัดชุมนุมหลายกลุ่มมาด้วยเรื่องที่คนทั่วไปไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่อง “การเมือง” อย่างตัวผู้นำและกติกาการเมือง

ไม่ใช่ความลับอีกต่อไปว่าการชุมนุมปี 2563 เกิดคู่ขนานกับการแสดงออกของนักเรียนมัธยม, พระ, คนรักเพศเดียวกัน, กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ

การชุมนุมจึงเป็น “เวที” หรือ “Platform” ให้คนจำนวนมากได้พูดเรื่องที่ตัวเองอยากพูดซึ่งไม่เกี่ยวโดยตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือรัฐธรรมนูญ

2)สื่อและคนจำนวนมากที่มักมองการชุมนุมโดยดูแค่ผู้ปราศรัยและ “แกนนำ” พูดอะไรบนเวที การชุมนุมในปี 2563 เป็นการชุมนุมที่ “ผู้ชุมนุม” ไปใช้พื้นที่การชุมนุมเพื่อผลักดันวาระของตัวเองอย่างกว้างขวาง

การทำความเข้าใจการชุมนุมจึงต้องฟังเสียงผู้ชุมนุมเท่าๆ กับผู้ปราศรัยและ “แกนนำ”

หลายครั้งที่ “ผู้ชุมนุม” ในปี 2563 ใช้การชุมนุมเป็นการแสดงออกหรือรณรงค์ปัญหาทำแท้งไม่ปลอดภัย

อำนาจรัฐครอบงำคณะสงฆ์ผ่านมหาเถรสมาคม

ครูล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน

สิทธิเหนือร่างกายตัวเองของคนหลากหลายทางเพศ

เล่นสเก๊ตบอร์ด

แดนซ์เกาหลีในที่สาธารณะ ฯลฯ

มองแบบภาพกว้างที่สุด กิจกรรมของผู้ชุมนุมแสดงถึง “สำนึก” เรื่องสิทธิในการเลือกชีวิตตัวเองและแสดงออกซึ่งตัวตนของตัวเองอย่างแรงกล้า

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การตระหนักว่า “ตัวตน” ถูกกดทับ, ควบคุม หรือจัดระเบียบจากอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน, มหาเถรสมาคม หรือ กทม.

3)ตรงข้ามกับการชุมนุมในอดีตที่ “ผู้ชุมนุม” ไปเพราะอยากฟัง “แกนนำ” หรือ “ดาวปราศรัย”

การชุมนุมในปี 2563 เป็นการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมมี “วาระ” ของตัวเองทั้งที่เป็นเรื่อง “การเมือง” อย่างเปลี่ยนนายกฯ และแก้รัฐธรรมนูญ

รวมทั้งเรื่องที่ดู “ไม่การเมือง” อย่างเรื่องการทำแท้งหรือการแต่งกาย

การชุมนุมปี 2563 ดูทวีความดุเดือดหลังจาก “แกนนำ” หรือ “ดาวปราศรัย” พูดเรื่องปฏิรูปสถาบัน

แต่ที่จริง “ผู้ชุมนุม” แสดงออกเรื่องประเด็นสถาบันด้วยวิธีต่างๆ ก่อนที่ “แกนนำ” หรือ “ผู้ปราศรัย” จะพูดเรื่องนี้ต่อจนกล่าวได้ว่าเรื่องนี้เป็น “กระแส” ในสังคมก่อนจะมีคนพูดตรงๆ ในที่ชุมนุม

ในการชุมนุมรอบนี้ ผู้ชุมนุมไม่ได้ไปเพราะอยากฟังเพนกวิน, รุ้ง, อานนท์, ไมค์ ฯลฯ พูดเหมือนพันธมิตรฯ, นปช. และ กปปส.ไปเพราะอยากฟังสนธิลิ้ม, จตุพร, วีระ, ณัฐวุฒิ, สุเทพ ฯลฯ

แต่ผู้ชุมนุมไปเพราะอยากรู้ว่า “แกนนำ” หรือ “ผู้ปราศรัย” จะพูดบนเวทีอย่างไรให้ตรงกับ “สำนึก” ของผู้ชุมนุม

4)ด้วยเหตุผลอย่างที่กล่าวมา การชุมนุมในปี 2563 เป็นภาพสะท้อนของ “เครือข่ายทางสังคม” ที่คนแต่ละกลุ่มมี “วาระ” ของตัวเอง แต่เกาะเกี่ยวกันด้วยการมีสำนึกร่วมกันบางอย่าง คนกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็น “แกนนำ” หรือ “ผู้ปราศรัย” เป็นแค่สัญลักษณ์ที่สะท้อนว่าผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่มมีบางอย่างร่วมกัน

ยิ่งเข้าใกล้ช่วงปลายปี ยิ่งเห็นได้ชัดว่า “แกนนำ” หรือ “ผู้ปราศรัย” อภิปรายบนเวทีอย่างเข้มข้นถึงเรื่อง “สถาบัน”

คำถามที่ต้องคิดคือ อะไรทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งมีที่มาและ “วาระ” ที่หลากหลายเห็นว่าการพูดเรื่อง “สถาบัน” คือทางออกของปัญหาอื่นๆ

หรืออย่างน้อยคือมีจุดเกาะเกี่ยวปัญหาอื่นๆ ในสังคม

5)หกปีของรัฐบาลประยุทธ์คือหกปีที่คนจำนวนมากอึดอัดกับนายกฯ และผลงานของรัฐบาล และไม่ว่าความอึดอัดจะมาจากความไม่ชอบหน้าหรือความตระหนักว่านายกฯ ห่วย ผลก็คือการเอ่อท่วมของความรู้สึกว่าประเทศมีปัญหาต่างๆ ซึ่งโยงใยไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตาม

ภายใต้ความรู้สึกว่าคุณประยุทธ์เป็นต้นตอของปัญหาการเมืองห่วย สังคมวิกฤต เศรษฐกิจเจ๊ง ระบบราชการหัวอนุรักษนิยม ฯลฯ การไม่ยอมปรับตัวของคุณประยุทธ์จนสื่อทำเนียบให้ฉายาว่า “ตู่ไม่รู้ล้ม” ทำให้ความรู้สึกปฏิปักษ์ต่อใครก็ตามที่สังคมเชื่อว่าเป็น “พวกประยุทธ์” ลุกลามไปทั้งสังคม

ปัญหาที่ไม่มีใครรู้ก็คือคำว่า “พวกประยุทธ์” ในจินตนาการของประชาชนนั้นมีใครบ้าง เพราะอะไรที่เป็นจินตนาการล้วนเป็นเรื่องที่แต่ละคนคิดไปได้เรื่อยๆ

และในเมื่อเรื่องนี้อาจมีขอบเขตซึ่งใหญ่เกินกว่าจะพูดตรงๆ มุมมองเรื่อง “พวกประยุทธ์” อาจลุกลามเป็นความไม่ยอมรับใครก็ได้ไปเลย

6)แม้คุณประยุทธ์จะอ้างว่าตัวเองมีผู้สนับสนุนทางการเมือง แต่ตัวเลขที่พิสูจน์ได้จริงๆ คือพรรคที่หนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ มีผู้ลงคะแนนในการเลือกตั้ง 2562 น้อยกว่าพรรคที่ไม่หนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ เกือบหนึ่งเท่า

ไม่ต้องพูดถึงการเลือกนายกและสภา อบจ.ที่ผู้ชนะไม่อิงคุณประยุทธ์เลย

ด้วยต้นทุนด้านความยอมรับสังคมที่ตกต่ำตั้งแต่ปี 2557 จนเห็นได้ชัดในการเลือกตั้ง ส.ส. 2562 และนายก อบจ.ในปี 2563 คุณประยุทธ์เป็นสัญลักษณ์ของระบอบที่บังคับให้ประชาชนจำนนกับผู้นำซึ่งไม่มีใครเลือก ทุกวินาทีที่คุณประยุทธ์มีอำนาจคือทุกวินาทีที่ความคับแค้นพร้อมจะปะทุตลอดเวลา

คุณประยุทธ์อาจปีติที่ได้อยู่ในอำนาจโดยประชาชนไม่ยอมรับไปไม่รู้จบ

แต่การอยู่ในอำนาจแบบนี้คือการตอกย้ำว่าคุณประยุทธ์มีแบ๊ก มีพวกพ้อง มีเครือข่ายให้คุณประยุทธ์ทำอะไรไม่เคยผิด

หรือถึงที่สุดคือการออกใบเสร็จว่าประเทศไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์คือการปกครองแบบอภิชนาธิปไตย

7)ในแง่อารมณ์การเมืองหรือจิตวิทยามวลชน การจรรโลงอำนาจคุณประยุทธ์ด้วยเครือข่ายทำให้คุณประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งด้วยอำนาจและกำลัง ไม่ใช่เหตุผลสาธารณะ (Public Reason) เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคม ภาพลักษณ์คุณประยุทธ์จึงมีแต่การลุแก่อำนาจและการปกครองตามอำเภอใจ (Autocracy)

ในสังคมเผด็จการที่ประชาชนไม่มีปากเสียง ความเป็นผู้นำที่ปราศจากเหตุผลของคุณประยุทธ์อาจผ่านไปอย่างเงียบๆ โดยไม่มีใครสังเกตอะไร แต่ในสังคมที่สื่อและสภาพอจะทำงานได้ ทุกคำพูดของคุณประยุทธ์กลายเป็นการแสดงความเป็นผู้นำที่ไม่มีเหตุผลของระบอบที่ไม่มีเหตุผลอะไรเลย

คนเรียนรัฐศาสตร์ทุกคนรู้ว่าอำนาจที่มั่นคงต้องมาจากการยอมรับและศรัทธา

แต่การเมืองไทยในปี 2563 บ่งชี้ว่าคุณประยุทธ์คือผู้นำที่ล้มเหลวด้านการสร้างความยอมรับ

ซ้ำยังยกระดับความศรัทธาไม่ได้ ทำได้แค่การใช้อำนาจบาตรใหญ่และเครือข่ายเพื่อปกครองประชาชน

ถ้าถามว่าการเมืองปี 2564 จะเป็นอย่างไร

คำตอบคือ เรากำลังเข้าสู่สังคมที่ประชาชนกล้าแสดงออกว่าหมดความยอมรับนับถือใน “พวกประยุทธ์” อย่างที่สุด

การล้อเลียนผู้มีอำนาจแบบที่ไม่เคยพบเห็นช่วงปลายปีเป็นร่องรอยของการเผชิญหน้าที่จะทำให้ปี 2563 เป็นการประท้วงระดับ 101 เท่านั้นเอง

ปี 2564 จะเป็นปีที่หนักมากของประเทศไทย

และไม่เคยมียุคไหนที่การประนีประนอมและการโอนอ่อนผ่อนตามประชาชนจะจำเป็นสำหรับความมั่นคงของประเทศจริงๆ อย่างห้วงเวลาที่กำลังจะมาถึงเลย