วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จากแผ่นดินใหญ่สู่โลกกว้าง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
Bystanders raise their hands to be selected as participants of a kissing contest held in celebration of Valentine's Day at the Happy Valley amusement park in Beijing February 14, 2014. About 100 couples competed by kissing in various poses during the competition and an iPhone 5S was presented to the winning couple. REUTERS/Kim Kyung-Hoon (CHINA - Tags: SOCIETY) - RTX18STU

จีนอพยพใหม่ในไทย (12)
ชีวิตที่ต้นทาง (ต่อ)

จากข้อเท็จจริงที่ส่งผลต่อภาพรวมของชาวจีนอพยพใหม่ทั้งสามประการ จากที่กล่าวไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

ในที่นี้จะแยกอธิบายชีวิตของชาวจีนอพยพใหม่เมื่อครั้งที่ยังอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ว่าเขาและเธอเหล่านี้มีความรู้สึกนึกคิดต่อแผ่นดินเกิด ต่อสังคมจีนที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ หรือต่อโลกภายนอก เป็นต้น อย่างไรก่อนที่จะอพยพมายังประเทศไทย

โดยแยกเป็นประเด็น ดังนี้

 

ชีวิตความเป็นอยู่โดยทั่วไป

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ชาวจีนที่งานศึกษานี้ได้สัมภาษณ์มีหลายช่วงวัยนั้น ช่วงวัยที่ต่างกันจึงเป็นเงื่อนปมแรกที่พึงกล่าวถึงในหัวข้อนี้ นั่นคือ กลุ่มหนึ่ง เป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาหลังจีนเปิดประเทศใน ค.ศ.1978 ไปจนถึงทศวรรษ 1990 นั่นแสดงว่าจีนกลุ่มนี้ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวเมื่อครั้งยังอยู่ที่จีน

เหตุดังนั้น จีนกลุ่มนี้ย่อมผ่านชีวิตในยุคที่จีนยังถือเคร่งในแนวทางการพัฒนาตามลัทธิสังคมนิยม และผ่านเหตุการณ์การปฏิวัติวัฒนธรรมหรืออาจมีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้ไม่มากก็น้อย

ส่วนชาวจีนที่อพยพออกจากจีนในช่วงทศวรรษ 1990 แม้จะผ่านการพัฒนาและเหตุการณ์ที่ว่ามาน้อยกว่าก็ตาม แต่ช่วงทศวรรษดังกล่าวชีวิตความเป็นอยู่ในจีนก็มิได้แตกต่างจากกลุ่มที่เข้ามาก่อนมากนัก

อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาหลัง ค.ศ.2000 หรือหลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกไปแล้ว จีนกลุ่มนี้หากอยู่ในวัยกลางคนขึ้นไปแล้วจะมีประสบการณ์ที่ไม่ต่างจากจีนกลุ่มแรก

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นชาวจีนที่ได้เห็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการพัฒนาที่กลุ่มแรกไม่เห็น แต่หากอยู่ในวัยหนุ่ม-สาวแล้วจะมีประสบการณ์ที่ต่างจากกลุ่มแรกโดยสิ้นเชิง

กล่าวโดยสรุปแล้วจีนกลุ่มหลังนี้จะเป็นชาวจีนที่ได้ผ่านช่วงที่เศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงรุ่งเรืองเมื่อทศวรรษ 1990 อยู่ด้วย

ซึ่งจีนกลุ่มแรกจะไม่มีประสบการณ์ในช่วงนี้

 

จากช่วงวัยที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาของการอพยพข้างต้น ชาวจีนทั้งสองกลุ่มจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ในจีนที่ต่างกันในภาพรวม โดยจีนกลุ่มแรกจะมีชีวิตที่แร้นแค้นและขมขื่นกว่ากลุ่มหลัง

เพราะเป็นจีนที่ยังใช้บัตรปันส่วนเพื่อแลกสินค้าอุปโภคและบริโภคในทศวรรษ 1980 ถึงแม้เวลานั้นจีนจะเปิดประเทศไปหลายปีแล้วก็ตาม จนเมื่อบัตรปันส่วนเลิกใช้ไปแล้วก็มิได้หมายความว่าการกินการอยู่จะดีขึ้นในทันที

ตราบจนทศวรรษ 1990 ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตขึ้นทุกขณะนั้น แม้อาหารการกินจะดีขึ้นกว่าทศวรรษก่อนหน้าก็จริง แต่ที่จะถึงขั้นเข้าถึงอาหารระดับภัตตาคารยังคงมีน้อย ซึ่งจะมีก็แต่ชาวจีนฐานะดีเท่านั้นที่มีโอกาสเช่นนั้น

จากประสบการณ์ตรงทำให้พบว่า โอกาสที่จะเข้าถึงอาหารระดับที่ว่าจะมีในสองทาง

ทางหนึ่ง เมื่อหน่วยงานในสังกัดมีงานหรือกิจกรรมพิเศษ

ในทางนี้จะมีอย่างน้อยหนึ่งมื้อที่ชาวจีนเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมจะได้สัมผัสอาหารระดับที่ว่า

อีกทางหนึ่ง เมื่อหน่วยงานมีโอกาสได้ต้อนรับหรือร่วมงานกับชาวต่างชาติที่เดินทางมาเยือน เพราะการดูแลแขกผู้มาเยือนด้วยอาหารระดับภัตตาคารถือเป็นหน้าตาของหน่วยงาน

แต่กระนั้น ในสองทางนี้ก็ใช่ว่าชาวจีนจะมีโอกาสเข้าถึงทุกคน และหากไม่นับตัวอย่างอาหารดังที่กล่าวไปแล้ว การเข้าถึงสินค้าอุปโภคก็เป็นไปตามเหตุผลที่ว่าเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม นับแต่ทศวรรษ 2000 ที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องและชาวจีนมีฐานะที่ดีขึ้นนั้น ภาพความขัดสนที่ได้กล่าวมาก็ค่อยๆ ลดน้อยลง การเข้าถึงอาหารหรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่ดีของชาวจีนได้ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งชาวจีนอพยพที่เข้ามายังไทยในระยะหลังๆ จะมีฐานะดีอยู่จำนวนหนึ่ง

และเมื่อเข้ามาแล้วก็หาลู่ทางในการทำการค้าหรือไม่ก็ลงทุนในกิจการขนาดกลางหรือเล็ก

ถึงกระนั้น ชาวจีนที่มีฐานะดีจนสามารถเข้ามายังไทยแล้วดำเนินชีวิตอย่างที่ว่าได้ก็ยังมีไม่มาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับชาวจีนทั้งประเทศ ทั้งนี้ รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนได้บอกให้รู้ว่า จนถึง ค.ศ.2019 พบว่าร้อยละ 38 ของประชากรจีนมีรายได้ต่ำกว่า 2,000 หยวนต่อเดือน

ร้อยละ 46 มีรายได้ระหว่าง 2,000-2,500 หยวนต่อเดือน ร้อยละ 13 มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 หยวนต่อเดือน และมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่มีรายได้มากกว่า 10,000 หยวนต่อเดือน

จากเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่บริษัทท่องเที่ยวขนาดใหญ่ของจีนจะรายงานในเว็บไซต์ Ctrip.com ของตนว่า ปัจจุบัน (ค.ศ.2020) มีชาวจีนเพียง 120 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้นที่มีพาสปอร์ตเป็นของตนเอง

จากตัวเลขนี้ทำให้เห็นว่า ชาวจีนอพยพก็ดี หรือนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวในไทยนับสิบล้านคนต่อปีก็ดี ต่างก็เป็นชาวจีนส่วนน้อยทั้งสิ้น และกล่าวเฉพาะนักท่องเที่ยวแล้วจะพบว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามายังไทยมีสูงถึงเกือบร้อยละ 10 เลยทีเดียว

เหตุดังนั้น หากไม่นับจำนวนชาวจีนอพยพที่มีฐานะดีจนสามารถลงทุนในไทยได้แล้ว ที่เหลือนอกนั้นล้วนมิใช่ชาวจีนที่มีฐานะดี และถือเป็นชาวจีนส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามายังไทย

 

การศึกษาและอาชีพ

อาชีพในจีนก่อนที่จะเข้ามายังไทยเป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับการศึกษาของตัวผู้อพยพเอง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า หากเป็นผู้ที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนขึ้นไปแล้วมักจะจบระดับมัธยมศึกษา ระดับนี้รวมทั้งที่จบมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย และหากอยู่ในวัยหนุ่มสาวมักจะจบระดับปริญญาตรี

กล่าวสำหรับผู้ที่จบในระดับมัธยมศึกษาแล้วหากไม่มีธุรกิจเป็นของตนเอง ก็จะเป็นพนักงานในบริษัทเอกชน โดยผู้ที่มีธุรกิจเป็นของตนเองส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีส่วนน้อยมากที่เป็นธุรกิจขนาดกลาง

ส่วนผู้ที่จบในระดับปริญญาตรีมักจะเป็นพนักงานในบริษัทเอกชน มีเป็นส่วนน้อยที่สานต่อธุรกิจในครอบครัว หรือมีธุรกิจขนาดเล็กเป็นของตนเอง ที่น่าสนใจคือ มีไม่กี่คนที่มีอาชีพนักศึกษาเมื่อครอบครัวส่งมาเรียนที่ไทยจนจบ แต่ไม่คิดกลับไปจีนและตั้งใจปักหลักอยู่ในไทย

กรณีนี้จึงไม่นับเป็นอาชีพในทางวิชาชีพขณะที่อยู่ที่จีน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ว่าจะจบการศึกษาระดับใดก็ตาม ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีผู้อพยพคนใดที่รับราชการหรือรับราชการแล้วลาออกมามีอาชีพอื่น ที่เป็นเช่นนี้ในเบื้องต้นเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะอาชีพดังกล่าวมีการแข่งขันสูงมาก

และที่น่าสังเกตในประการต่อมาคือ ในบรรดาผู้ที่จบระดับปริญญาตรีนั้นไม่มีคนใดที่จบมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างเช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงฮว๋า หรือมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนมีการแข่งขันสูงเช่นกัน ผู้ที่สอบเข้าได้มักเป็นผู้ที่มีผลการเรียนดี

และเมื่อจบการศึกษาแล้วจะมีโอกาสได้งานที่ดีมากกว่าผู้จบจากมหาวิทยาลัยทั่วไป ซึ่งรวมถึงการรับราชการด้วย

 

ในกรณีอาชีพรับราชการนี้มีประเด็นที่ควรกล่าวด้วยว่า แม้ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจจีนเป็นเสรีนิยมแทบจะเต็มตัวแล้วนั้น อาชีพรับราชการก็ยังคงอยู่ในค่านิยมของชาวจีนจำนวนมาก ทั้งนี้ มิใช่เพราะเป็นอาชีพที่เป็นหน้าเป็นตาแก่วงศ์ตระกูลดังในอดีต

แต่เป็นเพราะอาชีพนี้มีโอกาสที่จะได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มากกว่าอาชีพอื่น

ซึ่งสำหรับชาวจีนแล้วเป็นที่รู้กันว่า การเป็นสมาชิกพรรคเป็นเสมือนใบเบิกทางไปสู่ฐานะทางสังคมที่สูงขึ้น คือสูงทั้งตำแหน่งหน้าที่การงานและสวัสดิการต่างๆ ที่จะสูงตามตำแหน่งไปด้วย ในขณะที่ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกพรรคจะไม่มีโอกาสเช่นว่า

ถึงแม้คนผู้นั้นจะจบการศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรี หรือมีความรู้ความสามารถมากกว่าคนที่เป็นสมาชิกพรรคก็ตาม

กรณีนี้ทำให้เห็นว่า การศึกษาที่ควบคู่กับอาชีพของชาวจีนอพยพขณะที่อยู่ในจีนนั้น คือภาพสะท้อนข้อจำกัดในเรื่องของโอกาสที่จะเข้าถึงงานที่ดี งานที่ตนรัก และงานที่สร้างหน้าสร้างตาให้แก่ตนและครอบครัว

ที่สำคัญ การเข้าถึงงานที่ดีมีเงินเดือนสูงส่วนหนึ่งก็เพื่อจะได้เป็นเจ้าของที่พักอาศัย

แต่ปัญหามีอยู่ว่า ที่พักอาศัยในจีนมีราคาสูง จะสูงมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับค่าครองชีพของเมืองนั้นๆ ยิ่งเป็นเมืองใหญ่ที่เจริญด้วยแล้วราคาก็ยิ่งสูงเป็นเงาตามตัว

คือสูงถึงตารางเมตรละหลายแสนบาทเลยทีเดียว

 

—————————————————————-

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป