ต่างประเทศอินโดจีน : วัคซีน “ฮาลาล” หรือ “ฮารอม”?

ในขณะที่หลายประเทศมีปัญหาเรื่องวัคซีนในแง่ที่ว่า ซื้อหามาแจกจ่ายฉีดให้กับประชาชนตนเองไม่ได้ บางชาติในอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินโดนีเซียกับมาเลเซีย กลับมีปัญหาเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปอีกทางหนึ่ง

นั่นคือเกิดคำถามขึ้นมาว่า วัคซีนที่ผลิตกันออกมานั้น เป็น “ฮาลาล” หรือ “ฮารอม” กันแน่?

“ฮาลาล” คือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ไม่มีสิ่งของต้องห้าม (ตามหลักศาสนา) เจือปน ส่วน “ฮารอม” หรือ “หะรอม” ก็เป็นตรงกันข้าม คือมีสิ่งของใดๆ ที่ต้องห้ามตามหลักศาสนาเจือปนอยู่

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับวัคซีนโควิด-19 ก็คือ ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์วัคซีนหลายต่อหลายตัว สำหรับป้องกันโรคบางอย่าง ใช้ส่วนประกอบที่ได้จากหมู ที่ถือเป็น “นะยิส” หรือ “สิ่งสกปรก” ซึ่งต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ไม่เกี่ยวกับเฟกนิวส์ หรือข่าวเล่าลือแบบไร้เหตุผลอย่างเช่นที่บอกว่า ในวัคซีนมีสารประกอบบางอย่างที่ทำให้เป็นหมัน เป็นต้น

เป็นเรื่องจริงเพราะในความเป็นจริงแล้ว วัคซีนหลายตัวจำเป็นต้องใช้ “เจลาติน” เพื่อรักษาสภาพส่วนประกอบทั้งหมดให้คงตัว ทั้งยังทำหน้าที่เเป็น “อิมัลซิไฟเออร์” ที่ทำให้น้ำกับไขมันรวมตัวกันอยู่ได้ ช่วยรักษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้ทั้งในระหว่างการเก็บกักและขนย้าย

“เจลาติน” เป็นสารที่สกัดได้จากคอลลาเจนที่มีอยู่ในกระดูก หนัง และเนื้อเยื่อที่เกี่ยวพันของสัตว์ อย่างหมู วัว หรือควาย แต่ส่วนใหญ่มาจากหมูนั่นเอง

มีบริษัทเภสัชกรรมหลายบริษัทใช้เวลานานนับเป็นปีๆ พัฒนาวัคซีนที่ปลอดจากส่วนผสมจากหมู อย่างเช่น โนวาติส บริษัทเภสัชกรรมของสวิส ซึ่งพัฒนาวัคซีนโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่ไม่มีส่วนประกอบจากหมู หรือบริษัท เอเจ ฟาร์มาซี บริษัทร่วมทุนซาอุดี-มาเลเซีย เป็นอาทิ

แต่ใช่ว่าปัญหาจะหมดไป เพราะในห่วงโซ่การผลิตส่วนใหญ่มีแต่เจลาตินจากหมู ทำให้การจัดซื้อเจลาตินจากสัตว์อื่นมีราคาแพงมากขึ้น นอกจากนั้น วัคซีนที่ได้ยังมีปัญหาอายุการใช้งานสั้น เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว

ผลก็คือ วัคซีนส่วนใหญ่ยังใช้เจลาตินจากหมูเป็นส่วนผสมอยู่ดี

 

ซัลมาน วาคอร์ เลขาธิการสมาคมแพทย์อิสลามแห่งอังกฤษ บอกว่า แม้บริษัทอย่างไฟเซอร์, โมเดอร์นา และแอสทราเซเนกา ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของตนไม่ได้มีเจลาตินจากหมูผสมอยู่ แต่วัคซีนของบริษัทเหล่านี้มีปริมาณจำกัด มีการทำสัญญาล่วงหน้าไว้เยอะ ทำให้อินโดนีเซียมีโอกาสสูงมากที่จะได้รับวัคซีนที่ไม่ได้ผ่านการยืนยันว่าเป็น “ฮาลาล” ในที่สุด

เป็นปัญหาชนิดที่ทำให้โจโก วิโดโด ประธานาธิบดี ถึงกับออกปากว่าต้องเตรียมสื่อสารเรื่องนี้กับประชาชนให้ดี

เพราะเมื่อปี 2018 สภาอุลลามะอ์แห่งอินโดนีเซีย (เอ็มยูไอ) เคยประกาศฟัตวาว่า วัคซีนโรคหัดและโรคหัดเยอรมันถือเป็น “หะรอม” มาแล้ว ทำให้ผู้ป่วยโรคหัดในอินโดนีเซียพุ่งพรวด กลายเป็นประเทศที่มีหัดแพร่ระบาดสูงที่สุดในโลกเป็นอันดับสามเลยทีเดียว

ในมาเลเซีย ประเด็นเรื่องนี้ก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดที่บรรดาพ่อ-แม่ชาวมุสลิมในประเทศเป็นกังวล ถึงขนาดรัฐบาลต้องออกกฎหมายเอาโทษกักขังต่อพ่อ-แม่ที่ปฏิเสธจะให้ลูกๆ ฉีดวัคซีน

วิธีแก้ปัญหาประการหนึ่งของรัฐบาลอินโดนีเซียก็คือ ทุกครั้งที่ส่งตัวแทนระดับรัฐมนตรีไปเจรจาเพื่อจัดซื้อวัคซีน ก็กำหนดให้นำตัวแทนจากเอ็มยูไอเดินทางร่วมไปด้วยเพื่อไปตรวจสอบส่วนประกอบและอนุมัติให้ใช้ต่อไป

จนถึงขณะนี้ อินโดนีเซียตกลงทำสัญญากับบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทคของจีน เพื่อวางเงินล่วงหน้าสำหรับจัดซื้อวัคซีนของผู้ผลิตจีนรายนี้เป็นจำนวนหลายล้านโดสเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น

เพราะไม่เพียงตรวจสอบส่วนประกอบแล้วเท่านั้น ซิโนแวคยังเข้ามาดำเนินการทดลองระยะที่ 3 ในประเทศอินโดนีเซียอยู่ในเวลานี้อีกด้วย