เพ็ญสุภา สุขคตะ : แสงแห่งพุทธิปัญญา : จากประภามณฑล สู่เกตุบัวตูม และรัศมีเปลว

เพ็ญสุภา สุขคตะ

แสงแห่งพุทธิปัญญา
: จากประภามณฑล สู่เกตุบัวตูม และรัศมีเปลว

หลายฉบับก่อนได้กล่าวถึงเรื่อง “อุษณีษะ” บนพระเศียรของพระพุทธปฏิมาที่แต่ละสกุลช่างต่างก็สร้างด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันนั้น ว่าแม้จะมีการระบุอยู่ในคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการก็จริง แต่เหนือสิ่งอื่นใดย่อมเกิดจากการตีความและรสนิยมของผู้สร้างในแต่ละยุคสมัยที่มีมุมมองต่างกันอีกด้วย

ครั้งนั้น ดิฉันได้ตั้งคำถามค้างไว้ว่า

“แล้วพระรัศมีที่ประดับส่วนบนสุดเหนืออุษณีษะเล่า เป็นหนึ่งในคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะด้วยหรือไม่ เหตุไรแต่ละสกุลช่างจึงสร้างไม่เหมือนกัน?”

นิโครธปริมณฺฑโล

อ่านว่า “นิ-โค-ระ-ธะ ปะ-ริ-มัน-ทะ-โล” แปลว่า มีปริมณฑลดุจไม้นิโครธ (ต้นไทร), คำว่า “ปริมณฑล” ตีความได้หลายอย่าง ในที่นี้หมายถึง โดยรอบพระวรกายมีรัศมีกระจายคล้ายดั่งรากไทร

มีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่สอดคล้องรองรับเรื่องนี้

นั่นคือ ตอนที่ก่อนนางสุชาดาจะถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธเจ้าในช่วงใกล้ตรัสรู้ธรรมนั้น นางสุชาดาได้ใช้ให้นางทาสีชื่อปุณณทา เดินไปยังต้นไม้นิโครธที่นางได้บนบานขอให้ได้บุตรคนแรก เพื่อเตรียมของไปบวงสรวงต่อเทพยดาองค์นั้น

นางปุณณทาได้เห็น “มหาบุรุษผู้หนึ่ง คือพระพุทธเจ้านั่งอยู่ใต้ต้นไทร มีรัศมีแผ่ซ่านเป็นปริมณฑลรายรอบต้นไทร” แต่นางกลับคิดว่ามหาบุรุษผู้นี้คือเทพารักษ์ที่ปรากฏกายมาเพื่อประทานพรตามที่นางสุชาดาวิงวอน

ด้วยเหตุนี้งานพุทธศิลป์อินเดียยุคแรกๆ นับแต่สมัยคันธาระ มถุรา คุปตะ ในทวารวดียุคแรกๆ ล้วนแต่สร้างสัญลักษณ์ของ “นิโครธปริมณฺฑโล” ด้วยรูปแผ่นกลมขนาดใหญ่ด้านหลังพระพุทธปฏิมา

แผ่นนี้เรียกว่า “ประภามณฑล” หมายถึงแสงแห่งพุทธิปัญญาของมหาบุรุษที่แผ่รายรอบพระวรกาย ซึ่งงานพุทธศิลป์สมัยคันธาระได้รับแรงบันดาลใจมาจากแผ่นกลมล้อมรอบรูปเทพอปอลโลของศิลปะกรีก
และเราจะเห็นว่า งานพุทธศิลป์อินเดียและอุษาคเนย์ยุคแรกๆ นี้ (หมายถึงช่วงก่อนศิลปะยุคปาละ พุทธศตวรรษที่ 14) ไม่มีการทำสัญลักษณ์รูปอื่นใดบนอุษณีษะ นอกเหนือไปจาก “ประภามณฑลแผ่นกลม” เท่านั้น

กระทั่งในศิลปะทวารวดี ได้พบการทำรัศมีรายรอบพระวรกายอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่แผ่นกลมแบบประภามณฑลของกรีก แต่กลับทำ “ประภาวลี” แทน

ประภาวลี มีลักษณะเป็นเส้นยาวๆ ขนานกันหลายเส้นคล้ายดั่งรากของต้นไทร ล้อมกรอบพระวรกาย ครอบยาวลงมาเริ่มจากรายรอบพระเศียร พระอังสา (บ่า) ขนานสู่พระพาหา (แขน) ทั้งสองข้าง

เข้าใจว่าช่างสมัยทวารวดีมีความพยายามที่จะตีความคำว่านิโครธปริมณฺฑโลให้ถูกต้องตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะมากยิ่งขึ้น จึงได้ค่อยๆ ยกเลิกแผ่นประภามณฑลรูปกลมนั้นเสีย

ต่อมา “ประภาวลี” ได้พัฒนากลายเป็นแม่แบบของ “ซุ้มเรือนแก้ว” นั่นเอง

ฉัพพรรณรังสีมีในสัตตมหาสถาน

หลายท่านอาจถามต่อว่า นอกจากข้อ นิโครธปริมณฺฑโลแล้ว คัมภีร์มหาบุรุษลักษณะมิได้กล่าวถึงข้อที่ว่าด้วย สิ่งที่อยู่เหนืออุษณีษะขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ดังที่ศัพท์ช่างไทยเรียกว่า “เกตุมาลา” บ้างเลยละหรือ?

คำตอบคือ ไม่ปรากฏในคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการข้อใดเลย

ถ้าเช่นนั้น การทำเกตุมาลาเป็นรูป “เกตุบัวตูม” ก็ดี “รัศมีเปลว” ก็ดีนั้น นายช่างเอารูปแบบอ้างอิงมาจากไหน

เรื่องการเปล่ง “พระรัศมี” ในรูปแบบที่เรียกว่า “ฉัพพรรณรังสี” ทั้ง 6 ประการโดยรอบพระวรกายของพระพุทธองค์นั้น ปรากฏหลักฐานอยู่ในตอนเสวยวิมุตติสุขหลังการตรัสรู้ธรรม สัปดาห์ที่ 4 ของ “สัตตมหาสถาน”

คราวที่พระพุทธองค์เสด็จไปประทับในรัตนฆระเจดีย์ (เรือนแก้ว) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์ว่า รายรอบพระวรกายของพระพุทธองค์นั้นได้เปล่งรัศมีออกมาเป็นสี 6 สีดังนี้
1. นีล-เขียวอมน้ำเงินเหมือนดอกอัญชัน
2. ปีต-เหลืองทองเหมือนดอกหรดาล
3. โลหิต-แดงเหมือนตะวันรอนอ่อน
4. โอทาต-ขาวเหมือนแผ่นเงิน
5. มัญเชฐ-สีหงสบาทเหมือนดอกหงอนไก่
6. ประภัสสร-เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก

รัศมีที่อยู่รอบพระวรกายและรอบพระเศียรของพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องแสดงถึงพุทธิปัญญาที่แผ่กระจายออกมาไปทั่วทิศานุทิศ

เห็นได้ว่าการสร้างสรรค์งานพุทธปฏิมานี้ มิได้ยึดกฎเหล็กอ้างอิงแค่จากคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากบางครั้งยังหยิบยกเอาฉากเหตุการณ์ที่ปรากฏในพุทธประวัติมาตีความอีกด้วย

เหนืออุษณีษะคือเกตุมาลา

เมื่อหมดยุคแห่งการทำประภามณฑลแผ่นกลมใหญ่แล้ว ได้พบสัญลักษณ์ของ “พุทธิปัญญา” ในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “เกตุมาลา” สองลักษณะ

รูปแบบแรกคือ เกตุมาลารูปดอกบัวตูม หรือ “เกตุบัวตูม” และอีกรูปแบบหนึ่งคือ เกตุมาลารูปรัศมีแบบเปลวเพลิง (เปลวไฟ) เรียกย่อๆ ว่า “รัศมีเปลว”

นัยยะของเกตุบัวตูม “ดอกบัว” เป็นสัญลักษณ์ของ “พุทธิปัญญา” ส่วน “เปลวไฟ” หมายถึงเพลิงเผาผลาญกิเลส

ส่วน “เกตุมาลา” หมายถึงอะไร คำว่า “เกตุ” บางครั้งอ่าน เกด บางครั้งอ่าน เก-ตุ แล้วแต่คำที่ตามมาว่าเป็นคำประสมหรือคำสมาส “เกตุ” เป็นภาษาบาลี แปลตรงตัวว่า “ธง, ผ้า, แสงสว่างที่อยู่ด้านบน” ดาวเกตุ หมายถึง ทางสว่างของนักษัตรที่ 9

“มาลา” ภาษาบาลีแปลว่า “ระเบียบ” มาจากรากศัพท์ว่า “ดอกไม้ที่นำมาร้อยเรียงให้เกิดระเบียบ” นอกจากนี้ มาลายังใช้กับสิ่งสูงค่า การให้เกียรติ สิ่งที่ควรเคารพ เช่น พวงมาลา พระมาลา (หมวก)

ดังนั้น “เกตุ+มาลา” แปลตามรูปศัพท์หมายถึง “ระเบียบแบบแผน หรือวงแห่งรัศมีที่อยู่ข้างบน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 อธิบายว่าหมายถึง “พระรัศมีซึ่งเปล่งอยู่บนพระเศียรของพระพุทธเจ้า”

อันเป็นคำที่สื่อความหมายเน้นเฉพาะเจาะจงลงไปว่า “รัศมีเหนือพระเศียร” เท่านั้น หาใช่รัศมีรายรอบพระวรกายเช่นลักษณะของ “ประภามณฑล” หรือ “ประภาวลี” อีกต่อไปไม่

อนึ่ง มักมีผู้เขียนคำว่า “เกตุมาลา” กันแบบผิดๆ เป็น “เกศมาลา” เนื่องจากรูปแบบของพระเกตุมาลาที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือรูป “เกตุบัวตูม” (คำว่า “เกตุบัวตูม” อ่าน “เกดบัวตูม” แต่คำว่า “เกตุมาลา” อ่าน เก-ตุ-มาลา”)

เมื่ออ่านว่า “เกดบัวตูม” จึงทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความสับสนมักไปเขียนเป็น “เกศ”

อันที่จริงคำนี้หมายถึงเกศา เส้นผม ซึ่งก็มีความหมายใกล้เคียงกัน คือสื่อถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระเศียรได้เช่นกัน แต่คำว่า “เกศบัวตูม” เป็นคำที่ไม่ถูกต้อง

เพราะรูป “ดอกบัวตูม” ที่เรากำลังพูดถึงนี้ หมายถึงรูปแบบหนึ่งของพระรัศมีเหนือพระเศียร มิได้หมายถึงเส้นผมที่ขมวดเป็นรูปดอกบัวตูมแต่อย่างใดเลย

เกตุบัวตูม VS รัศมีเปลว
อะไรมาก่อน-มาหลัง

บางท่านเชื่อว่า “เกตุบัวตูม” น่าจะเกิดขึ้นก่อน “รัศมีเปลว” โดยตัดสินจากการที่ศิลปะล้านนาหรือที่นิยมเรียกกันว่า “พระเชียงแสน” รุ่นสิงห์ต่างๆ เริ่มต้นด้วยพระสิงห์ 1 สร้างเกตุมาลาแบบเกตุบัวตูม ก่อนที่จะรู้จักทำรูปรัศมีเปลวในรุ่นพระสิงห์ 3

นอกจากนี้แล้ว หลายท่านมักเข้าใจว่า ไม่ศิลปะลังกา ก็ศิลปะสุโขทัย น่าจะเป็นต้นคิดเรื่องการทำ “พระรัศมีเปลว” เหนืออุษณีษะของพระพุทธปฏิมา

อันที่จริง เมื่อหมดยุคของการทำแผ่นประภามณฑลขนาดใหญ่เทอะทะแล้ว ศิลปะแบบทวารวดีตอนปลายๆ เริ่มพบเค้าโครงรูปรัศมีเป็นแท่งกรวยสามเหลี่ยม บางครั้งปลายมน (ดูคล้ายไปทางเกตุบัวตูม) บางครั้งปลายแหลม (ดูค่อนไปข้างรัศมีเปลว แต่ยังไม่ได้หงิกงอเป็นเปลวไฟ) ปะปนกันแล้ว

จึงทำให้เกิดความสับสนว่า สรุปแล้ว เกตุบัวตูมกับรัศมีเปลว เกตุมาลารูปแบบไหนมาก่อนกันแน่
ในหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียของ ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ได้ทำการศึกษาจุดเริ่มต้นของรูป “รัศมีเปลวเตี้ยๆ เล็กๆ” ที่ประดับอยู่เหนืออุษณีษะของพระพุทธรูป ว่ามีมาแล้วตั้งแต่ศิลปะอินเดียทางตอนเหนือสกุลช่างปาละ คู่ขนานไปกับอินเดียใต้ในสกุลช่างนาคปัฏนัม ที่มีอายุไล่เลี่ยกันคือราวพุทธศตวรรษที่ 14-18

กล่าวคือ มีมาก่อนศิลปะลังกายุคโปลนนารุวะ และศิลปะสุโขทัย

เพียงแต่ว่ารัศมีเปลวของศิลปะอินเดียทั้งเหนือและใต้นั้นต่างยังไม่มีความโดดเด่น รุ่มรวย กระหวัดเกลียวเป็นเปลวเพลิง ทำแค่ขีดง่ายๆ ในกรอบสามเหลี่ยมเตี้ยๆ เท่านั้น

ข้อสำคัญคือ ขณะที่รู้จักการทำรัศมีเหนืออุษณีษะแล้ว ศิลปะปาละและนาคปัฏนัมก็ยังมิได้ละทิ้งฉากหลังที่เป็นแผ่นประภามณฑล หรือกรอบเรือนแก้วแบบประภาวลีแต่อย่างไรอีกด้วย

ส่วนเกตุมาลาประเภท “เกตุบัวตูม” นั้นไม่พบหลักฐานเด่นชัดนักในอินเดียและลังกา แต่พบในศิลปะสมัยทวารวดีตอนปลาย สมัยลพบุรี และสมัยอู่ทอง ต่อมาส่งอิทธิพลสู่พุทธศิลป์ล้านนายุคต้นๆ

ในขณะที่เกตุมาลาประเภท “รัศมีเปลว” สมัยสุโขทัยได้รับคำกล่าวขวัญว่าคือสุดยอดแห่งอัจฉริยศิลป์ ส่งอิทธิพลให้แก่ศิลปะล้านนาตอนกลางถึงปลาย ศิลปะอยุธยา และรัตนโกสินทร์

กระทั่งศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาประติมากรรม ยังได้นำไปประยุกต์ใช้ออกแบบเป็นรูป “โลกุตระ” ประดับอยู่ที่ลานหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อันลือลั่นมาแล้ว

ปัจจุบันแทบไม่มีงานพุทธปฏิมาที่สร้างเพื่อเป็นพระประธานตามวัดแห่งใดสั่งทำเกตุมาลาเป็นรูปเกตุบัวตูมบ่อยนัก พบว่าเกือบทั้งหมดเน้นรูปรัศมีเปลวเท่านั้น ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากรูปลักษณ์และสัดส่วนที่สูงเพรียวของรัศมีเปลว ที่ช่วยเสริมสง่าขับเน้นให้พระพุทธรูปมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น