คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของไทย (2) : เรื่องราวและบทกวีนักบุญ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของไทย (2)
: เรื่องราวและบทกวีนักบุญ

ผมได้กล่าวถึงแนวคิดภักดีอย่างกว้างๆ ไว้ในคราวที่แล้ว และห้อยท้ายไว้ว่า กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้แนวคิดภักติแพร่หลายคือกลุ่ม “นักบุญ” ของฮินดู

ซึ่งท่านเหล่านี้ไม่ใช่ฤษีหรือนักบวช แต่เป็นคนธรรมดาที่มีภูมิหลังหลากหลาย

และนี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในบ้านเรา

วันนี้จะชวนมาทำความรู้จักท่านเหล่านี้กัน

แม้แนวคิดภักติจะปรากฏมาตั้งแต่สมัยภควัทคีตาคือช่วงหลังพุทธกาลเล็กน้อย แต่ “ขบวนการภักติ” (Bhakti Movement) หรือกลุ่มก้อนที่ขับเคลื่อนแนวคิดภักตินี้ เริ่มต้นขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ห้าถึงแปดในภาคใต้ของอินเดีย

เหตุที่เรียกว่าเป็น “ขบวนการ” นั้นก็เพราะการขับเคลื่อนแนวคิดนี้ไม่ได้เกิดจากนักบุญหรือศาสดาคนใดคนหนึ่ง แต่ขับเคลื่อนกันเป็นหมู่คณะ มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก แล้วแพร่ไปทั่วทั้งอินเดียในภายหลัง
ในช่วงเวลาเริ่มต้น มีขบวนการภักติสำคัญอยู่สองกลุ่ม

กลุ่มแรกเรียกว่านายันมาร์หรือนายันนาร์ (Nayanars) กลุ่มนี้เป็นผู้ภักดีต่อพระศิวะ ซึ่งมีนักบุญทั้งสิ้นหกสิบสามคน

มีนักบุญใหญ่อยู่สี่ท่าน ได้แก่ ติรุชญานสัมพันธร์, อัปปาร์ สวามี, สุนทรมูรติ และ ติรุวาจกร์ (ท่านนี้เกิดในภายหลังและไม่ได้อยู่ในกลุ่มนายันนาร์ แต่ได้รับเกียรติให้รวมเป็นสี่นักบุญของนิกายไศวะสิทธานตะ)

เหตุที่สี่นักบุญเหล่านี้เป็นที่รู้จักมากกว่าคนอื่น เพราะท่านเหล่านี้ป็น “กวี” ที่ประพันธ์บทสรรเสริญและแสดงความรักต่อพระศิวะ โดยเฉพาะคัมภีร์ “ติรุมุไร”

ติรุมุไรเป็นบทประพันธ์ที่พราหมณ์สยามใช้สวดขับในพระราชพิธีต่างๆ รวมทั้งเปิดและปิดประตูศิวาลัยไกรลาสมาจนปัจจุบัน แม้ท่านอาจจะไม่ทราบที่มาที่ไปและความหมายก็ตาม

นายันนาร์ทั้งหกสิบสามท่านต่างมีภูมิหลังต่างกัน อุทิศตนด้วยความภักดีต่อพระเจ้าคนละรูปแบบ เป็นต้นว่า ท่านกันนัปปัน นายันนาร์ซึ่งเป็นเพียงพรานชาวบ้านป่า ไม่มีการศึกษา แต่ได้แสดงความภักดีสูงสุดยิ่งกว่าพราหมณ์คนไหน โดยใช้ลูกศรควักดวงตาสดๆ ทั้งสองข้างของตนเองให้กับพระศิวลึงค์นาม “กาลหัสเตศวร” ที่ดวงตาหายไป

นายันนาร์บางท่านก็อุทิศชีวิต อุทิศทรัพย์ บางท่านก็ปรนนิบัติรับใช้พระเป็นเจ้าด้วยความเรียบง่าย ซื่อตรง เรื่องราวของนายันนาร์ทั้งปวงมีปรากฏในคัมภีร์ชื่อ “เปริยาร์ ปุราณัม”

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีอีกกลุ่มชื่อ “อัลวาร์” (Alvar) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้นับถือพระวิษณุ มีอยู่ทั้งสิ้นสิบสองท่าน งานประพันธ์ชิ้นสำคัญคือ “ทิพยประพันธัม” โดยมีนักบุญที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากที่สุดคืออัณฑาล (Andal) นักบุญสตรีหนึ่งเดียวในกลุ่ม ทั้งยังเป็นผู้ประพันธ์กวีนิพนธ์ “ติรุปปาไว” (Tiruppavai) บทขับสรรเสริญพระกฤษณะ

นามแห่งบทกวีนั้นได้กลายเป็นนามพระราชพิธี “ตรีปาวาย” ของพราหมณ์สยาม

อัณฑาลได้รับการยกย่องในภายหลังว่าเป็น “ภูเทวี” หรือพระแม่ธรณี ชายาองค์หนึ่งของพระวิษณุอวตารมาเพื่อแสดงความรักของพระเจ้าให้สาธุชนรับรู้

ตามตำนานเล่าว่า ท่านได้แต่งงานกับพระวิษณุ “รังคนาถสวามี” ในวิหารรังคนาถ แล้วหายไปในองค์เทวรูปนั้น

ทุกวันนี้ยังมีธรรมเนียมการส่งพวงมาลัยของอัณฑาลไปคล้องให้เทวรูปพระวิษณุองค์สำคัญอยู่ เพื่อแสดงความรักต่อกัน

บทประพันธ์ของนักบุญล้วนแต่งขึ้นในภาษาพื้นบ้าน ไม่ได้ใช้สันสกฤตอันเป็นภาษาชั้นสูงของพวกพราหมณ์ กวีนิพนธ์เหล่านี้มีเนื้อหาโดยรวมเกี่ยวกับความรักระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ การอุทิศตน การไม่ถือเขาเรา ไม่ถือชนชั้นวรรณะ ฯลฯ จึงสามารถแพร่ไปในหมู่ชาวบ้านได้มาก

นอกจากบทกวีแล้ว เครื่องมือสำคัญอีกอย่างคือดนตรี ซึ่งบทกวีเหล่านี้จะถูกขับร้องในโอกาสต่างๆ ทำให้เป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น

ราวคริสต์ศตวรรษที่สิบ ขบวนการภักติค่อยๆ แพร่จากภาคใต้ไปสู่ภาคกลางและภาคเหนือของอินเดีย แล้วแพร่หลายมากขึ้นในช่วงยุคกลาง ตกราวคริสต์ศตวรรษที่สิบสองไปถึงคริสต์ศตวรรษที่สิบเจ็ด ในช่วงเวลานี้ผู้ปกครองชาวมุสลิมเข้ามามีอำนาจแล้ว สภาพสังคมอินเดียโดยเฉพาะในภาคเหนือจึงมีความขัดแย้งกันสูงระหว่างคนฮินดูและมุสลิม

นั่นทำให้นักบุญบางท่านในขบวนการภักติมีความพยายามจะแก้ไขความขัดแย้งมุสลิมกับฮินดู เช่น นักบุญกพีระ หรือกพีรทาสที่มีชาติกำเนิดเป็นมุสลิมยากจนแต่ถูกเลี้ยงโดยฮินดู

ท่านวิจารณ์วิธีปฏิบัติและอคติของทั้งฮินดูและมุสลิม ในขณะเดียวกันก็สอนเรื่องพระเจ้าองค์เดียวและความรักในเพื่อนมนุษย์ด้วย ซึ่งได้กลายเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของขบวนการภักติในภาคเหนือ

“ฉันมิใช่ทั้งฮินดูหรือมุสลิม ฉันเป็นเพียงร่างกายนี้ เป็นเพียงการละเล่นของธาตุห้า เป็นละครแห่งจิตวิญญาณ เต้นเร่าไประหว่างความสุขและความเศร้า”

“ทั้งฮินดูและมุสลิมล้วนถูกลวงหลอก เข้าล้างผลาญกันอยู่เสมอ ทั้งโยคีชีค (sheikhs) และนักบวชเชนผู้ภิกขาต่างก็ล้วนลืมตนไปในความละโมบ”

ชาวฮินดูเรียกนักบุญว่า “สันตะ” แปลว่าสงบสันติ ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า Sant ในภาษาอังกฤษ

แต่บางครั้งก็อาจเรียกว่า “ภักตะ” (Bhakta) ซึ่งแปลว่าผู้ภักดีในพระเจ้า (ในภาษาฮินดีสามารถออกเสียงว่า ภะกัต)

นอกจากสันตะกพีระ (ซึ่งได้ส่งอิทธิพลจนเกิดศาสนาสิกข์ในภายหลัง) ยังมีนักบุญท่านอื่นๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกและตะวันตกของอินเดียในช่วงเวลาเดียวกัน

บางท่านมีชาติกำเนิดต่ำ เช่น รวิทาสและตุการามซึ่งเป็นศูทร แต่ได้รับความเคารพอย่างสูง

บางท่านเป็นพราหมณ์ บางท่านค้าขาย บางท่านเป็นนักปราชญ์ บางท่านเป็นเพียงคนรับจ้างทำรองเท้า

นักบุญสตรีที่มีชื่อเสียงมากในขบวนการภักติของภาคเหนือคือ มีราพาอี (Mirabai) ท่านผู้นี้เดิมเคยเป็นราชนิกุล แต่ภายหลังเลือกความยากจนและพระกฤษณะแทนที่จะเลือกความสะดวกสบายในวัง

เธอปฏิเสธชีวิตแต่งงานกับเจ้าผู้ทรงอำนาจ เพียงเพราะความรักฝังใจต่อพระเจ้า

“พระกฤษณะผู้งามขำของฉันไปยังดินแดนแปลกๆ ใดหนอ พระองค์ทิ้งฉันไว้เบื้องหลังและมิกลับมาเลย ทั้งยังมิเคยส่งถ้อยคำใดมาถึงแม้แต่คำเดียว ดังนั้น ฉันจึงถอดเครื่องประดับทั้งหลายทั้งปวงออก ตัดผมทิ้งเสีย สวมใส่ผ้าย้อมฝาด ตามหาพระองค์ไปทั่วทั้งสี่ทิศ มีรากล่าว แม้มิพบพานกฤษณะเจ้าชีวิตของเธอ เธอก็ไม่ต้องการจะมีชีวิตอยู่”

“เธอรู้ที่จะรัก เธออาจแยกไม่ได้ระหว่างสิ่งสวยงามกับสิ่งสกปรก แต่เธอได้เคยลิ้มรสอมฤตแห่งอารมณ์รัก เธออาจไม่รู้จักพระเวทแม้น้อยนิด แต่ราชรถก็มารับเธอทันใด บัดนี้เธอร่าเริงอยู่ในสวรรค์ ปีติล้นพ้นในอ้อมโอบพระเจ้าของเธอ มีรากล่าว พระเจ้าของคนโง่เขลาผู้ร่วงหล่น จะทรงฉุดช่วยทุกคน ผู้ยินดีปฏิบัติเยี่ยงนี้”

ตำนานความรักของมีราและบทกวีที่เธอมอบให้พระกฤษณะนั้น เป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจผู้คนโดยเฉพาะผู้หญิงในภาคเหนือ ไม่ต่างกับอัณฑาลในภาคใต้

แม้จะเริ่มจากไศวะและไวษณวนิกาย แต่แนวคิดภักติก็แพร่ไปยังนิกายอื่นๆ ด้วย เช่น นิกายศากตะที่นับถือเทวี นิกายคาณปัตยะที่นับถือพระคเณศ กระนั้นความเข้มข้นของแนวคิดภักติก็ยังคงอยู่ที่สองนิกายข้างต้นเป็นหลัก โดยเฉพาะไวษณวนิกาย และเปลี่ยนมาสู่การเน้นพระเป็นเจ้าบางพระองค์ซึ่งมีบุคลิกภาพที่ดึงดูดผู้คน เช่น พระกฤษณะหรือพระราม

นักบุญเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ตุลสีทาส, ชญาเนศวร, ตุการาม, รวิทาส, สูรทาส, นรสีเมหตาห์, นานักเทพ ฯลฯ ได้พลิกโฉมศาสนาฮินดูให้กลายเป็นศาสนาที่โอบอุ้มผู้คนหลากหลาย ชีวิตของท่านเหล่านั้นสร้างแรงบันดาลให้คนรุ่นหลัง (ซึ่งรวมทั้งนักเคลื่อนไหวทางสังคมอย่าง รพินทรนาถ ฐากูร, คานธี, วิโนพา ฯลฯ) และทำให้กวีนิพนธ์ทางศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนอย่างสนิทแนบแน่น

ท่านเหล่านี้ได้ปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ตามขนบเดิม ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจและทำให้ศาสนาฮินดูมีมิติทางอารมณ์ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น

ผลคือ ศาสนาฮินดูในอินเดียส่วนมากได้เคลื่อนย้ายจากการขับเน้นความศักดิ์สิทธิ์มาสู่ความรักและภักดี จากศาสนาที่เน้นความสำคัญของชนชั้น มาสู่การให้ความสำคัญกับคนธรรมดาที่มีความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์

น่าแปลกใจที่มีร่องรอยบทประพันธ์ของนักบุญในวัฒนธรรมพราหมณ์บ้านเรา ทว่ากลับไม่มีเรื่องราวที่มาของบทประพันธ์และชีวิตของนักบุญเหล่านั้นติดมาด้วย

แม้ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีสามารถช่วยค้นหาเรื่องราวพวกนี้ได้ยาก ทว่าเรื่องราวนักบุญของฮินดูก็ยังคงไม่แพร่หลายเป็นที่รู้จักในสังคมไทย แม้แต่กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจศาสนาฮินดู

หรือเพราะเราไม่ได้ต้องการความบันดาลใจ ความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ แต่เราสนใจเพียงแค่ความศักดิ์สิทธิ์

ภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมของเราเอง