อภิญญา ตะวันออก : ในกิตติกรรมประกาศ ของนักวิจัยลูกหาบ

อภิญญา ตะวันออก

ใน Grande Inscription d”Angkor ที่ปีเตอร์ สกิลลิ่ง (Peter Skilling) เคยอ้างอิงไว้ ดู : some literary reference I the Grande Inscription d”Angkor/IMa38 ของ As?anie en Asie du Sud-Est: d?cembre 2001

และนั่น การหงายไพ่บางเรื่องที่เกี่ยวกับรากเหง้าสามัญแบบชัยวรรมันที่ 7 หรือกษัตริย์ขอมยุคกลางก็ตามมา…เป็นต้นแบบรากที่อาศัยวรรณกรรมจากจารึกเขมร

โดยเฉพาะจารึกกลุ่มปราสาทนครวัดที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “La Grande Inscription-inscriptions modernes”

เป็นส่วนพิเศษที่เขาศึกษาจากบทกวียุคกลาง แต่ที่เพริดกว่านั้นคือถอดสำนวนอุปมาอุปไมยมาจากนักวิจัยสาวชาวเขมร อดีตลูกศิษย์ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส คือ เปา เสาวรส (เสาวรส เปา เลอวิทซ์) ตั้งแต่ครั้งที่เธอยังทำงานให้สถาบันวิจัยแห่งชาติฝรั่งเศส (CNRS) ในปี 2528 (น. 283)

กระทั่งเธอพิ่งลาโลกไปเมื่อฤดูร้อนมาเยือน เดือนที่ฝรั่งเศสเคยเต็มไปด้วยงานรื่นเริง แต่ด้วยพิษโควิด-19 แห่งการจดจำโดย “โลกสรัยหญิงกัมพูชาด้านวิชาการ” ซึ่งมีอายุขัยถึง 90 ปี วันที่เธอถึงแก่กรรมอย่างสงบ

ฉันได้แต่แสดงความอาลัยเธอในใจลำพัง โดยขณะที่คิดว่าจะหาทางจัดหมวดหมู่รำลึกถึงเธอแบบใด แม้จะพบมาก่อนว่า เธอน่าจะเป็นศิษย์เอกสาวชาวเขมรเดียวที่ปรากฏนามในฐานะต้นทางภาษาถิ่นเขมรของ ศ.ยอร์จ เซเดส

ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะเราแทบไม่เคยพบพานมาก่อนว่าท่านมีใครในชีวิตที่ใกล้ชิดบ้าง

แม้อิทธิพลของเซเดสจะครอบคลุมประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวางด้านโบราณวิเจียเขมรยุคกลาง แต่สำหรับเปา เสาวรส แล้ว เรากลับพบว่ามีผลงานที่แพร่สาธารณะในนามของเธออยู่น้อยมาก

กระนั้น ฉันก็เริ่มสะกิดใจว่า นอกจากจะเป็นศิษย์คนสุดท้ายที่มีอายุยืนยาวให้เราเหลียวหลังมอง ด้านหนึ่ง ฉันก็เกิดความตื้นตันเมื่อพบว่า อย่างน้อยก็มีสุภาพสตรีถึง 3 คนที่ใกล้ชิดกับท่านเซเดส และฉันมักประหวัดถึง

นัยทีนั้น ฉันแทบไม่รู้จักเธอด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น “เนียงยับ” ภรรยาชาวพระตะบองของเซเดส ซูซานน์ คาร์เปเลส สหายวิชาการผู้อยู่เบื้องหลังงานของเขาต่อหลายชิ้น และท่านผู้หญิงเปา เสาวรส คนสุดท้ายที่เติบโตมากับร่มเงาของอาจารย์ยอร์จ เซเดส จนบดบังความเป็นนักวิจัยเชื้อสายเขมรถิ่นเดิม

ไม่เพียงเท่านั้น เปา เสาวรส เป็นนักวิจัยสตรีเขมรยุคแรกขณะนั้น คือโรงเรียนฝรั่งเศสปลายบุรพทิศที่ฟูมฟักขัดเกลาเธอไว้ ดังเช่นที่กล่าวว่าเธอมีคาร์เปเลสเป็นรุ่นพี่ และ ศ.เซเดสเป็นครูใหญ่ และด้วยเหตุนั้นหรือไม่ ที่ทำให้วิถีวิชาการของเปา เสาวรส อยู่ภายใต้กรอบความเคร่งครัดที่เงียบงัน จนคล้ายกับไม่มีผลงานชิ้นใดสลักสำคัญ

กล่าวคือ เธอเป็นเหมือนผู้ช่วย-ลูกหาบทางวิชาการแก่เหล่ากูรูประวัติศาสตร์ยุคกลาง เมื่อเทียบกับอาจารย์ใหญ่อย่างยอร์จ เซเดส ซึ่งเป็นทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ และนักเขียนประวัติศาสตร์เขมรที่มีผลงานกว้างขวางมากที่สุดคนหนึ่ง

 

ทําให้ฉันนึกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นแห่งระบอบอินโดจีนยุคสุดท้ายที่ฉันพบพานอย่างบังเอิญเมืองปากเซ แขวงจัมปาสัก/สปป.ลาว (2537)

ฉันได้พบอดีตลูกศิษย์คนสุดท้ายของครูบุญจากแคว้นเขมรกลางรัฐอินโดจีนที่ถูกบรรจุเป็นครูศิลปะโรงเรียนช่างศิลป์-ดอนโขง แห่งแคว้นลาวเวลานั้น

ที่นี่เองที่ครูบุญได้ถ่ายทอดวิชาแกะสลักลายเส้นเขมรโบราณ ซึ่งหากไม่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาเสียก่อนแล้ว งานแกะสลักพื้นฐานเหล่านี้จะนำไปสู่อื่นๆ เช่น แกะลายเครื่องเงินโบราณที่ครูบุญชำนาญ แก่ศิษย์น้อยชาวลาว

กระนั้น 1 ในศิษย์ของเขาคนหนึ่ง เมื่อพระเจ้าอยู่หัวองค์สุดท้ายของระบอบกษัตริย์เสด็จสวรรคต เขาก็อวดฝีมือช่างงานศิลป์ด้วยการไปเป็นช่างหลวงสร้างพระเมรุที่กรุงเวียงจันทน์ คราวนั้น

นี่ละ นอกจากเครื่องเงินที่ครูบุญทำส่งผ่านรัฐบาลอินโดจีนไปยังฝรั่งเศสแล้ว ชีวิตเรียบง่ายของแกในลาวก็ติดกับดักความทรงจำแต่เพียงนั้น

กระทั่งวันหนึ่งที่ศิษย์ลาวคนนี้ได้มีโอกาสทำงานช่างศิลป์แนวขอมอีกครั้งก็ตอนที่เขามีอายุร่วม 60 ปีแล้ว

จากยุคเด็กน้อยเล่าเรียนกับครูบารังในโรงเรียนช่างอินโดจีน ผ่านสังคมประเทศแบบระบอบคอมมิวนิสต์ และมาถึงวันที่เขาสุดตื้นตันใจ ได้ทำงานที่ตนรักและรำลึกถึงความสุขในอดีตที่โรงแรมจัมปาสัก ปากเซ

สารภาพว่า ไม่ใช่แต่แกหรอกที่มีความสุขขณะนั้น แม้แต่ฉันเองก็มีความสุขอย่างมากที่ได้เห็นวิถีช่างศิลป์เขมรที่ลาว รวมทั้งเจ้าของโรงแรมชาวไทยผู้เอื้อเฟื้อ และช่างแกะสลักลายเขมรผู้ไม่นิยมการสนทนา

แลตอนนี้ การรำลึกถึงพวกเขา พร้อมเปา เสาวรส คือความรื่นรมย์ครั้งสุดท้ายของฉัน แม้จะอดเศร้าเสียดายองค์ความรู้และฝีมือว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ชำนาญการเขมรบางคนที่เหมือนพวกเขาไร้ตัวตน และนี่เองผลพวงของการเป็นเมืองขึ้น

อย่างไรก็ตาม โชคดีที่ฉันพบว่า ต่อมาสถาบันอย่าง CNRS ได้สร้างนักวิจัยรุ่น 2 ต่อจากมาดามเปา เสาวรส อย่าง ดร.ฆิง ฮกดี

และเขามิได้เป็นแค่นักวิชาการลูกหาบให้แก่นักวิชาการตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเป็นนักวิจัยที่มากความสามารถ และขจัดความเหลื่อมล้ำในหัวศึกษาด้านศิลปะและวรรณกรรมเขมรให้กว้างขวางออกไป

 

อนึ่ง บทกวียุคกลาง ณ ปราสาทนครวัดที่เปา เสาวรส ศึกษาเชิงภาษาศาสตร์นี้ แต่งโดยปราชญ์ชัยยะนัน (1618) กล่าวว่า สำหรับเอกลักษณ์ที่เป็นส่วนตัวเช่นนั้น มิต้องสงสัยว่า ชัยยะนันน่าจะแต่งเพื่อตนเองหรือไม่ หรือเป็นกิตติประกาศแก่ใครผู้ใดกัน?

ทั้งหมดนี้แบ่งออกเป็น 3 องค์ และสำหรับบทพราหมณจิตติ ใน 1-45 วรรคแรกนั้น ว่าด้วยคำสรรเสริญต่อพระพุทธคุณและเทพสักการะอื่นๆ ซึ่งประทานพรช่างนับคณา และทำให้พิธีกรรมอันสุดซึ้ง ตามด้วยเรื่องส่วนตัวต่อความเศร้าโศกในการสูญเสียภรรยาของชัยยะนัน

บทกวีส่วนนี้ทำให้เราทราบว่า ชาวเขมรรู้จักการสร้างองค์เจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิธาตุว่ามีมาแต่สมัยนครวัดหรือก่อนนั้น จากกรณีที่ชัยยะนันสูญเสียลูกๆ และภรรยาและเขาได้เขียนบทกวีไว้ตามคำบูชา

อย่างไรก็ตาม ในบทกวีวรรคที่ 46 ถึง 104 นั้น กลับระบุถึงเงื่อนไขเชิงลบบางอย่างที่ชัยยะนันประสงค์จะหลีกเลี่ยง (แต่ก็แปลกดีที่เขียนเสียยาวเหยียด) อันน่าครุ่นคิดว่า วัฒนธรรมปลดแอกในหมู่ชนชั้นต่างๆ ของราชสำนักน่าจะมีมาแต่กาเลแล้วหรือไม่

ส่วนองค์ที่ 3 คือระหว่างวรรคที่ 105-152 นั้น เรียกตามบทสรุปว่า กากคติ/กา-กะ-คะ-ติ (ชื่อบทกวีเขมรประเภทหนึ่ง) ตามที่มีระบุว่า น่าสนใจที่สุดคือวรรคสุดท้ายในความเห็นของฉัน

ด้วยว่า ทั้ง 2 ใน 3 ของบทนั้น เกี่ยวกับ “การหลั่งไหลในความทะเยอทะยาน” ที่อาจช่วย “ชี้นำต่อชีวิตเบื้องหน้า-อนาคต” มิประสบเทียวว่า บทกวีสมัยยุคกลางจะร่วมสมัยเดียวกับยุคนี้ด้วยเหมือนกัน?

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นบทกวีที่มีนัยยะทางศาสนา ความทะเยอทะยานที่จะชี้นำไปสู่อนาคตที่ว่า คือการได้พบกับพระศรีอาริยเมตไตรย อันมีความหมายอย่างสูงสุดและเพื่อให้เป็นไปตามคำพยากรณ์นั้น

และเพื่อสู่คำพยากรณ์ที่เป็นจริงในกาลข้างหน้า ชัยยะนันจึงปวารณาตนเองไปสู่คำทำนายแห่งอนาคตด้วยการบำเพ็ญภาวนา ทั้งนี้ มิใช่เพื่อกาลใดอื่น นอกจากเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งในภพหน้า

 

เฉกเช่นชีวิตครูบุญที่สงบเรียบง่าย มิพักว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไป ตามคำบอกเล่าของนายช่างลาว ดูเหมือนชีวิตศิษย์และครูจะเป็นไปในฉากแนวเดียวกัน

ในฐานะศิษย์ผู้อยู่ฉากหลังอันเรียบง่ายและใช้ชีวิตบั้นปลายที่ทั้งยอร์จ เซเดส และซูซานน์ คาร์เปเลส ต่างอุทิศตนต่างกรรมต่างวาระต่อไตรภูมิพระร่วงและพระไตรปิฎกตามลำดับ

แต่ในฐานะศิษย์แล้ว เปา เสาวรส-เธอมิได้รื้อฟื้นโต้แย้งหรือแก้ไข คงปล่อยให้ประภพเวลาและนักวิทูรุ่นหลังทำหน้าที่สะสาง สำหรับข้อวิพากษ์ต่องานอาจารย์บางชิ้นว่า “มีความผิดพลาดที่ไม่แก้ไขในเนื้อหาที่นำไปสู่การตีความทางทฤษฎีแบบเซเดส”

และแด่นักวิจัยยุคอาณานิคมคนสุดท้ายด้วยลูกหาบและความรัก