แมลงวันในไร่ส้ม/ส่องสถานการณ์สื่อ ปี 2563 เลือดสาด ปี 2564 ส่อหนักอีก

แมลงวันในไร่ส้ม

ส่องสถานการณ์สื่อ

ปี 2563 เลือดสาด

ปี 2564 ส่อหนักอีก

 

ปี2563 ที่กำลังผ่านไป เป็นอีกปีแห่งความผันผวนของวงการสื่อ โดยเฉพาะสื่อกระดาษ ได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวัน

ก่อนหน้านั้นปี 2562 เทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์ ที่ทำให้เข้าถึงได้ง่ายกว่าสื่อกระดาษ ที่ต้องออกไปซื้อหรือเป็นสมาชิก มีผลในการ “ดิสรัปต์” สื่อกระดาษอย่างรุนแรง

การแพร่ระบาดของโควิดในตอนต้นปี 2563 กล่าวคือ ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทำให้เกิดการล็อกดาวน์พื้นที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการไปมาหาสู่ ที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด ส่งผลอย่างรุนแรงต่อวงการสื่อ

ระบบขนส่งหนังสือพิมพ์เกิดปัญหาอย่างมาก เพราะต้องผ่านด่านต่างๆ ทำให้หนังสือไปถึงล่าช้า การจำหน่ายตามแผงเกิดปัญหา

และเมื่อเกิดกรณีโควิด-19 ที่ตลาดกลางกุ้งมหาชัย จ.สมุทรสาคร กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เริ่มจากแรงงานเมียนมาที่รับเชื้อจากอินเดีย แล้วเข้ามาในประเทศไทย ผ่านกลุ่มนายหน้าแรงงานเถื่อน ทำให้เกิดการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานด้วยกัน ก่อนที่คนไทยในแวดวงสินค้าอาหารทะเลจะติดเชื้อ

สุดท้ายต้องประกาศล็อกดาวน์สมุทรสาคร แต่ก็เกิดการแพร่กระจายไปในกลุ่มที่เข้าไปมหาชัย หรือสมุทรสาคร

ถึงวันที่ 29 ธันวาคม มีผู้ติดเชื้อใน 43 จังหวัด เชื้อยังแพร่กระจายกว้างขวางมากขึ้นไปอีก เมื่อผู้ติดเชื้อเข้าไปที่รวมตัว อาทิ กรณีบ่อนระยอง

และยังไม่รู้ว่า เมื่อถึงปีใหม่ 2564 จากการติดเชื้อค่อนประเทศในปี 2563 จะกระจายไปอีกกี่จังหวัด

ถือเป็นการเพลี่ยงพล้ำครั้งสำคัญของประเทศไทย แต่ทุกฝ่ายก็พยายามสกัดกั้น และป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทรุดหนักอยู่แล้ว

กิจกรรมหลายอย่างต้องพักไปก่อน ถ้ายังดำเนินการต่อก็ต้องมีมาตรการป้องกัน หลายหน่วยงานเริ่มเวิร์กฟรอมโฮมอีกครั้ง

สภาพเหล่านี้ กระทบต่อสื่อกระดาษอย่างชัดเจน

ขณะที่สื่อออนไลน์เติบโตอย่างก้าวกระโดด การค้าออนไลน์มียอดเข้าชมและซื้อกว่า 400%

 

สื่อหลักต่างๆ ได้ขยายบทบาท จากสื่อกระดาษ มาทำออนไลน์มาหลายปีแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นไทยรัฐ มติชน ข่าวสด เดลินิวส์ ผู้จัดการ กรุงเทพธุรกิจ สยามรัฐ แนวหน้า ภาษาอังกฤษอย่างบางกอกโพสต์ สื่อกีฬา คือ สยามสปอร์ต รวมถึงหนังสือพิมพ์ธุรกิจราย 3 วันอย่างประชาชาติธุรกิจ และฐานเศรษฐกิจ โดยมีทั้งสื่อกระดาษ และออนไลน์ ควบคู่กันไป

อีกส่วนหนึ่ง ยุติการพิมพ์ หันมาทำออนไลน์อย่างเดียว ได้แก่ เดอะเนชั่น, คมชัดลึก, โพสต์ทูเดย์, บ้านเมือง

ยังมีสื่อออนไลน์ที่ไม่ได้ทำกระดาษมาก่อน อย่าง เดอะ สแตนดาร์ด, เดอะ แมทเทอร์, เดอะ 101 เวิล์ด, เดอะ โมเมนทัม, เดอะ เคลาด์ และล่าสุดคือ เดอะ คีย์ส นิวส์

ต้องถือว่า ในท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่อาละวาดตลอดปี 2563 แบบหัวปีท้ายปี ทำให้เป็นโอกาสทองของสื่อออนไลน์ เพราะเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่ต้องออกจากบ้าน สอดคล้องกับชีวิตในยุคนิวนอร์มอล

ปัจจัยสำคัญ ยังมีการเคลื่อนไหวของม็อบคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาเรียกร้อง 3 ข้อ กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย

ก่อให้เกิดการถกเถียง และติดตามข่าวสารอย่างคึกคัก รายการทอล์กทางการเมืองในทีวี กลับฟื้นคืนมาใหม่ และได้รับความนิยมอย่างสูง

โดยเผยแพร่ไปหลายวิธี ทั้งจากรายการสดในทีวี ไปสู่คลิปในแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก, ยูทูบ, ทวิตเตอร์ และไอจี

ข่าวจากม็อบคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดการจัดทำไอโอ หรือ “ปฏิบัติการข่าว” หรือ อินฟอร์มเมชั่น โอเปอเรชั่น เพื่อตอบโต้

ความขัดแย้งทางแนวคิด และมีการใช้สื่อโจมตีการเคลื่อนไหวของเยาวชน ทำให้เกิดการตอบโต้จากเยาวชน ด้วยการพร้อมใจ “แบน” สินค้าที่สนับสนุนสื่อที่โจมตีการเคลื่อนไหว

มีผลถึงสื่อบางค่าย ขนาดที่แตกตัวออกไปสื่อแห่งใหม่ ดังกรณีที่เกิดกับเครือเดอะเนชั่น

มองไปในปี 2564 เชื่อว่าจะมีสื่อออนไลน์เปิดใหม่อีกจำนวนมาก

ในเรื่องรายได้ สื่อออนไลน์สามารถสร้างรายได้จากยอดผู้เข้าชม โดยเฉพาะจากเฟซบุ๊ก, ยูทูบ ส่วนในเว็บไซต์ จะมีเอเยนซี่ออนไลน์ หรือมีการขายตรง นำโฆษณามาลง โดยมีอัตราค่าโฆษณาตามจำนวนผู้เข้าชม

แม้ตัวเลขยังไม่สูงมากนัก แต่เชื่อว่าจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพของสื่อที่ขยายตัวไปเรื่อยๆ

สำหรับความนิยมของเว็บไซต์ข่าว ส่วนมากยังคงเป็นเว็บของสื่อกระแสหลัก ที่ครอง 4 อันดับแรกบนหัวตารางของ Truehits ได้แก่ ไทยรัฐกับข่าวสด ที่ขับเคี่ยวกันบนหัวตาราง จากนั้นคือ ผู้จัดการ มติชน ต่อด้วยเว็บอื่น อาทิ เดลินิวส์, ประชาชาติธุรกิจ, กรุงเทพธุรกิจ, โพสต์ทูเดย์ และเว็บข่าวทีวี

เชื่อว่าในปี 2564 การแข่งขันของเว็บไซต์ข่าวจะดุเดือดมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อทั้งโลกยังระงับการแพร่ระบาดไม่ได้ และวัคซีนที่กำลังคิดค้นอยู่ยังไม่ตัว

 

ลองมาดูตัวเลขเงินโฆษณาในสื่อต่างๆ จากมกราคมถึงตุลาคม 2563 มีตัวเลขอยู่ที่ 86,046 ล้านบาท ลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เฉพาะเดือนตุลาคม ลดลง 15% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 มูลค่า 9,437 ล้านบาท

เฉพาะเดือนตุลาคม 2563 ทุกสื่อยังติดลบทั้งหมด ไม่เว้นสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีการเติบโตต่อเนื่อง

ส่วนสื่ออื่นๆ ติดลบหมด อย่างทีวี 5,702 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สื่อออนไลน์ 1,685 ล้านบาท ลด 4%, โรงภาพยนตร์ 445 ล้านบาท ลดลง 52%, สื่อสิ่งพิมพ์ 334 ล้านบาท ลดลง 25%, สื่อวิทยุ 319 ล้านบาท ลดลง 26%

ภาพรวม มกราคม-ตุลาคมปี 2563 กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง ใช้งบฯ 12,141 ล้านบาท ถือว่ามีการฟื้นตัวโดยใช้เงินคงที่เท่ากับช่วงเดียวกันของปี 2562

กลุ่มอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ยังคงลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ใช้ 13,377 ล้านบาท ลดลง 11%, กลุ่ม Media & Marketing ใช้ 10,173 ล้านบาท ลดลง 8%

ยานยนต์ ใช้ 5,028 ล้านบาท ลดลง 36%

ส่วนบริษัทที่ใช้เงินโฆษณาสูงสุดใน 10 เดือน 3 ลำดับแรก ได้แก่ บริษัทยูนิลิเวอร์ไทย ใช้ 3,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% ต่อด้วยบริษัท เนสท์เล่ไทย มูลค่า 2,235 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 40%, พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ใช้ 1,850 ล้านบาท ลดลง 13%

และนี่คือบางส่วนของภูมิทัศน์วงการสื่อในปี 2563

ที่กำลังก้าวข้ามไปสู่โจทย์ที่ยากไม่แพ้ปี 2563 และอาจจะหนักกว่า แรงกว่าด้วยซ้ำ