ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต/เจาะข่าวร้อน ‘ยานยนต์ไทย’ 2563 ‘เชฟโรเลต’ ม้วนเสื่อ – ‘ซิตี้ ซีรีส์’

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

 

เจาะข่าวร้อน ‘ยานยนต์ไทย’ 2563

‘เชฟโรเลต’ ม้วนเสื่อ – ‘ซิตี้ ซีรีส์’

 

เริ่มฉบับแรกของปี 2564 ก่อนที่จะไปพบกับรถใหม่ๆ ที่จะมาในปีนี้

เราไปย้อนดูเหตุการณ์ หรือเทรนด์สำคัญๆ วงการยานยนต์เมืองไทยในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา ว่ามีอะไรเป็นไฮไลต์สำคัญบ้าง

 

ปิดตำนาน 20 ปี ‘เชฟโรเลต’

ประเดิมข่าวใหญ่แรกของปี ชนิดช็อกไปทั้งวงการเมื่อ “เชฟโรเลต” หนึ่งในแบรนด์รถยนต์เครือเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ประกาศยุติการดำเนินงานในประเทศไทย

จีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์ ออกเอกสารถึงเหตุผลการปิดฉากเชฟโรเลตในไทย มาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ที่ทำให้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมายติดต่อกันหลายปี

หลังจากเชฟโรเลตประกาศยุติบทบาท ไม่กี่วันก็สร้างกระแสฮือฮาอีกครั้ง เพราะประกาศลดราคารถยนต์ทุกรุ่นชนิดล้างสต๊อก

ลดสูงสุดเป็นเชฟโรเลต แคปติวา ใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปี 2562 ลดราคาถึงคันละ 5 แสนบาท

รุ่นต่ำสุดคือ LS ราคาเหลือ 499,000 บาทเท่านั้น

เพียงวันเดียวที่ประกาศ ลูกค้าแห่จองแน่นทุกศูนย์บริการ

จีเอ็มและเชฟโรเลตยืนยันว่ายังมีศูนย์บริการอยู่ แต่ลดขนาดให้ย่อมลงเพราะไม่มีโชว์รูมแล้ว ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 100 ศูนย์บริการกระจายทั่วประเทศ

สำหรับเชฟโรเลต กระโดดเข้าสู่ตลาดเมืองไทยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2543 หลังเห็นโอกาสที่ค่าเงินบาทไทยตกต่ำอย่างมากจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540

ช่วงนั้นไม่ใช่แค่เชฟโรเลตเท่านั้น แต่มีอีกหลายค่ายทั้งญี่ปุ่น ยุโรป ที่บริษัทแม่เข้ามาตั้งบริษัททำตลาดแทนตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ที่ล้มหมอนนอนเสื่อไปจำนวนมาก

แต่ด้วยปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่ตกต่ำต่อเนื่องหลายปี รวมทั้งรถรุ่นหลังๆ ของเชฟโรเลต ไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก

เชฟโรเลตจึงม้วนเสื่อกลับไปหลังเข้ามาเมืองไทยได้เพียง 20 ปี

 

ฮอนด้า ‘ซิตี้ ซีรีส์’ เขย่าไทย

ในปี 2563 ยังเป็นอีกปีของเก๋งเล็กที่แข่งกันทำตลาดอย่างสนุกสนาน โดย “ฮอนด้า” ถือว่ามาแรงจัดๆ หลังเปิดตัว “ฮอนด้า ซิตี้” เก๋ง 4 ประตู ที่แต่เดิมเป็นรถในเซ็กเมนต์ซิตี้คาร์ แต่มาคราวนี้ลดน้ำหนักลงมาเล่นในสนาม “อีโคคาร์”

“ฮอนด้า ซิตี้” เปิดตัวช่วงปลายปี 2562 สร้างกระแสแรงจัดด้วยราคาที่เทียบกับรุ่นเก่าลดลงไปพอสมควร ขณะที่มิติตัวถังไม่ได้แตกต่าง

แถมเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบ ก็แรงระเบิดระเบ้อ ไม่ด้อยกว่าเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ตัวเดิมเลย

ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ฮอนด้า ต่อยอดด้วยการส่ง “ซิตี้ ซีรีส์” อีก 2 รุ่น

ประกอบด้วย “ซิตี้ แฮทช์แบ็ก” แบบ 5 ประตู และ “ซิตี้ อี:เอชอีวี” พลังงานไฮริดลูกผสมน้ำมัน+ไฟฟ้า ถือเป็นครั้งแรกของรถเล็กในบ้านเรา

ทั้ง 2 รุ่นในพื้นฐานเดียวกับซิตี้ 4 ประตู โดยซิตี้ แฮทช์แบ็ก ใช้เครื่องยนต์บล๊อกเดียวกัน

ส่วนซิตี้ อี:เอชอีวี ใช้ขุมพลังถอดแบบมาจาก “แอคคอร์ด” เพียงแต่ย่อส่วนลงมา ด้วยนวัตกรรม Sport Hybrid Intelligent Multi-Mode Drive (i-MMD) ผสานการทำงานอันทรงพลังของมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว กับเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร Atkinson Cycle DOHC i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว

ขณะที่สาวกของ “แจ๊ซ” เก๋ง 5 ประตู ที่ก่อนหน้านี้ขายคู่กับซิตี้มาตลอด ไม่ต้องกังวลว่า “ซิตี้ แฮทช์แบ็ก” จะมาแทน เพราะฮอนด้าระบุว่า “แจ๊ซ” ยังทำตลาดอยู่ต่อไป และจะมีรุ่นใหม่เข้ามาด้วย

 

ดัมพ์ราคาเก๋งเล็ก “เซเลริโอ”

อีกปรากฏการณ์สำคัญในปี 2563 ไม่พ้นการลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์ของค่าย “ซูซูกิ” เจ้าพ่อรถเล็กบ้านเรา

ที่ใช้วาระครบรอบ “100 ปี” อัดแคมเปญสุดเดือด หั่นราคา “ซูซูกิ เซเลริโอ” เก๋งเล็ก 5 ประตู เครื่องยนต์ 3 สูบ 12 วาล์ว ขนาด 1.0 ลิตร

โดยตัวเริ่มต้นเกียร์ธรรมดาในช่วงแคมเปญเหลือเพียง 318,000 บาท ส่วนอีก 2 รุ่นบนก็ลดราคาลงหลายหมื่นบาท

ทำให้กวาดยอดขายถล่มทลายเกือบ 300% เมื่อเทียบกับยอดขายในปี 2562

จนเมื่อหมดโปรโมชั่นในช่วงปลายปี จึงขยับราคาขึ้นเล็กน้อยรุ่นละ 10,000 บาท

เป็นราคาเริ่มต้น 328,000-437,000 บาท

ถึงกระนั้นต้องบอกว่าราคายังต่ำอยู่ดี กลายเป็นรถที่คนวัยเริ่มต้นทำงาน หรือครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยนักสามารถหามาครอบครองได้ง่าย เพราะผ่อนเดือนละไม่กี่พันบาท

ส่วนรูปร่างหน้าตาแม้ไม่ถึงกับหวือหวา เน้นความเรียบง่าย แต่สำหรับครอบครัวที่เน้นการใช้งานจริงๆ อย่างไรเสียได้นั่งรถเก๋งย่อมดีกว่าขี่จักรยานยนต์เป็นไหนๆ

แถมประหยัดน้ำมันสุดๆ ในเซ็กเมนต์แล้วก็ว่าได้

 

พาเหรดรถ ‘ครอสโอเวอร์’

แม้ตลาดรถ “ครอสโอเวอร์” ในเมืองไทย ไม่ได้ใหญ่เท่าตลาดเก๋ง หรือกระบะ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยเริ่มจับจองมากขึ้น

พลอยทำให้หลายค่าย ส่งรถประเภทนี้เข้ามาแย่งชิงเค้กกันอย่างสนุกสนาน

ที่ถือว่าเป็นขาใหญ่ในรถประเภทนี้ น่าจะไม่พ้น “มาสด้า” เพราะจัดหนัก จัดเต็มหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นใหญ่สุดอย่าง “ซีเอ็กซ์-8” ตามมาด้วย “ซีเอ็กซ์-5” และตัวเล็ก “ซีเอ็กซ์-3”

และรุ่นล่าสุด “ซีเอ็กซ์-30” ที่เข้ามาแทรกกลางระหว่าง “ซีเอ็กซ์-3” และ “ซีเอ็กซ์-5”

เรียกว่าซอยเซ็กเมนต์รถครอสโอเวอร์กันละเอียดยิบ

แถม “ซีเอ็กซ์-30” ได้รับความนิยมอย่างสูง ด้วยรูปร่างหน้าตา การตกแต่ง และออปชั่นไฮเทคต่างๆ

จนสามารถคว้ารางวัล “รถยนต์ยอดเยี่ยมประจำปี 2563” (Thailand Car of The Year) ของสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) ซึ่งแจกให้กับรถเพียงรุ่นเดียวในแต่ละปี

ส่วนค่ายอื่นก็เริ่มลงมาเล่นในเซ็กเมนต์นี้เช่นกัน อาทิ โตโยต้าส่ง “โคโรลลา ครอส” พื้นฐานเดียวกับ “โคโรลลา อัลติส” เปิดตัวที่ไทยครั้งแรกในโลก

ขุมพลัง 2 บล๊อก คือ DOHC 4 สูบ 16 วาล์ว ความจุ 1,798 ซีซี กำลังสูงสุด 98 แรงม้า ที่ 5,200 รอบต่อนาที แรงบิด 142 นิวตัน-เมตร ที่ 3,600 รอบต่อนาที

และแบบไฮบริด ใช้เครื่องยนต์แบบเดียวกัน แต่เพิ่มมอเตอร์แรงดันไฟฟ้า 201.6 โวลต์ เมื่อทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า

หรือจะเป็นรุ่นราคาถูกหน่อยพอๆ กับซิตี้คาร์ เช่น มิตซูบิชิ “เอ็กซ์แพนเดอร์” และซูซูกิ “เอ็กซ์แอล เซเว่น” ครอสโอเวอร์แบบ 7 ที่นั่ง

ขณะที่ในปี 2564 เทรนด์รถครอสโอเวอร์ ยังร้อนแรงต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับรถยนต์พลังงานทางเลือก ที่จะทยอยเปิดตัวตลอดทั้งปี