วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / เพื่อ ‘คุณภาพของประเทศ’

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เพื่อ ‘คุณภาพของประเทศ’

นับแต่ 9 มกราคม 2521 ถึง 9 มกราคม 2564 ความต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

วันนี้ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ขึ้นสู่ปีที่ 44 มติชนสุดสัปดาห์ เป็นฉบับประจำวันที่ 1-7 มกราคม พ.ศ.2564 ปีที่ 41 ฉบับที่ 2107 ยังก้าวเดินต่อไปสู่ปีที่ 42 และต่อๆ ไป ทั้งปรับทั้งเปลี่ยนเนื้อตัวเนื้อหา จากรุ่นผู้บุกเบิกที่หลายคนยังคงประจำการจากรุ่นแรกถึงวันนี้ รวมถึงคนรุ่นใหม่ทยอยเข้ามาประจำที่ ทั้งขาประจำ ทั้งขาจร สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามยุคสมัย จากอะนาล็อก ถึงดิจิตอล จากตามสายถึงไร้สาย กระจายไปทั่วนภากาศ

วันนี้ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ยังคง “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแม่น้ำลำคลอง” ต่อเนื่องดุจดั่งสายน้ำที่ไหลระเรื่อยเช่นเดียวกับกาลเวลาไม่มีวันสุดสิ้น

ประดุจการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ เดินลึกเข้าไปยังก่อนประวัติศาสตร์เรื่องราวของโบราณคดีแล้ววันหนึ่งยังเกิดคำถามว่า “คนไทยอยู่ที่ไหน” ถึง “คนไทยอยู่ที่นี่” ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงต้อง “ทอดน่องท่องเที่ยว” ไปทั่วประเทศเพื่อเสาะหา “ความรู้” มาแบ่งปันให้ปวงชนชาวไทยได้ช่วยกันปะติดปะต่อประวัติศาสตร์ไทยของแต่ละท้องที่ ของแต่ละท้องถิ่นผ่านเทคโนโลยีอันเป็นนวัตกรรมทางการสื่อสารแห่งยุค 5 G ที่ปวงชนชาวไทยสมัยนี้ได้ช่วยกันหาคำตอบ “คนไทยอยู่ที่ไหน” ให้ได้คำตอบ “คนไทยอยู่ที่นี่” อันเป็นความรู้นำมาแบ่งปันจากที่ถึงถิ่น

ระหว่างนั้นยังพบกับ “ศรัทธาแห่งศาสนา” นำมาเชิดชูเพื่อเข้าสู่จิตใจให้บังเกิดความสว่าง สงบ ก่อให้เกิดปัญญาและสมาธิ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดำดิ่งไปสู่ภูมิปัญญา สร้างจินตนาการก่อเกิดรสนิยม กล่อมเกลาจิตใจให้เบิกบานผ่องใส

ยิ่ง “ทอดน่อง…” ไปทั่วผืนแผ่นดินอันไพศาล ทั้งขรรค์ชัย บุนปาน กับสุจิตต์ วงษ์เทศ ยิ่งพบ “ความจริง” ที่ต้องนำมา “แบ่งปัน” ให้ “มติชน” เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “คุณภาพ” คนไทย ผ่าน “หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ” ตามเจตนารมณ์ “เด็กคนนี้…” ซึ่งขรรค์ชัยเขียนต่อท้าย “นิราศ” ว่า

“…มีอะไรอีกหลายอย่าง จักต้องสร้างมโหฬารกว่างานเขียน ตราบใดที่ชะตาคนยังวนเวียน มันคงเปลี่ยนสิ่งถ่อยถ่อยคอยดูเอย” (บทจบ “นิราศมหาชัย” – ขรรค์ชัย บุนปาน วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2507)

 

ด้วยเหตุเกิดที่ราชบุรี โพธาราม แม่น้ำแม่กลอง ครั้งเป็นเด็ก มีนิวาสสถานใกล้คลองด่าน มีหลายชื่อ อาทิ คลองบางขุนเทียน คลองโคกขาม จากปากคลองด่าน ภาษีเจริญไปถึงสมุทรสาคร ครั้งเมื่อเรียนที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ โรงเรียนตั้งอยู่ติดคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่ จึงมีความผูกพันกับแม่น้ำลำคลองมาตลอด

เมื่อมามีวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ก่อตั้งบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จึงนำวิชาความรู้หลากหลายมาบรรณาการผู้อ่านผู้มีอุปการคุณ

วันนี้ไม่เฉพาะผ่านหนังสือพิมพ์อันประกอบด้วย มติชนรายวัน มติชนสุดสัปดาห์รายสัปดาห์ฉบับนี้ ประชาชาติธุรกิจรายสามวัน มติชนบท-เทคโนโลยีชาวบ้าน รายปักษ์ ศิลปวัฒนธรรมรายเดือน และสำนักพิมพ์มติชน

ทั้งยังมีศูนย์วิชาชีพและธุรกิจมติชน (MATICON Academy) กับหนังสือพิมพ์ในเครืออีกฉบับหนึ่งคือข่าวสดรายวัน จัดทำกิจกรรมอื่น อาทิ จัดงานสัมมนาและ “อีเวนต์”

 

นับแต่ “แบ่งปันความรู้” ถึง “เชิดชูศาสนา” เป็นต้นมา

วันหนึ่ง ขรรค์ชัย บุนปาน ในนามบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ โดย ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์บรรจง พงศ์ศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ กับคณะ จึงเริ่มโครงการ “รวมใจภักดิ์ รักคลองแสนแสบ” สำรวจคลองแสนแสบ เพื่อบูรณะปรับปรุงให้กลับฟื้นคืนความสะอาดดังก่อน

ที่สุดจึงขอพระราชทานอัญเชิญ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคคลองแสนแสบตั้งแต่ท่าน้ำสะพานผ่านฟ้าลีลาศ กรุงเทพมหานคร ถึงประตูน้ำท่าไข่ ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 พร้อมนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 เป็นระยะทาง 72 กิโลเมตร ด้วยเวลา 5-6 ชั่วโมง

จากนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันที่ 20 กันยายน เป็นวันคูคลองแห่งชาติ

คือการเริ่มต้น “พัฒนาแม่น้ำลำคลอง” ในโครงการ “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแม่น้ำลำคลอง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

การ “พัฒนาแม่น้ำลำคลอง” มีขึ้นมาหลายครั้ง นับแต่คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร ร่วมกับโรงเรียนวัดน้อยนพคุณ ทำเนียบรัฐบาล ยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และอีกหลายคลอง ด้วยการจัดเก็บผักตบชวา ร่วมกันทำความสะอาดน้ำในลำคลองหลายคลอง กับวัดหลายแห่ง อาทิ วัดเสมียนนารี โยนลูกอีเอ็มลงในคลอง เป็นต้น และร่วมกับกรุงเทพมหานคร เก็บผักตบชวาและขยะในลำคลอง

ถึงวันนี้ การเคหะแห่งชาติจัดการสร้างอาคารริมคลองลาดพร้าว และอีกหลายคลองแทนที่อยู่อาศัยซึ่งประชาชนบุกรุกริมคลองมาปลูกสร้าง

วันนี้ รัฐบาลได้ทำความสะอาดหลายคลองเพื่อให้เป็นทางสัญจรในโครงการ “รถ ราง เรือ” จากการโดยสารรถประจำทาง มาต่อด้วยรถรางลอยฟ้า แล้วต่อด้วยเรือในลำคลอง เช่น ในคลองผดุงกรุงเกษม และคลองที่มีการสัญจรทางเรือโดยสารแต่เดิม เช่น คลองแสนแสบ คลองภาษีเจริญ เป็นต้น

อีกทั้งยังจัดให้คลองรอบกรุง คลองผดุงกรุงกษม เป็นทั้งคลองเพื่อการสัญจร และคลองเพื่อการพักผ่อน พายเรือเล่นยามเย็น เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทง ยังจัดเป็นสถานที่ลอยกระทงให้ประชาชนได้มาร่วมสนุกในเทศกาล น้ำในลำคลองหลายสายใสสะอาด ไม่มีขยะรกสกปรก

เช่น เมื่อก่อนนับตั้งแต่ขุดลำคลองเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันเขตพระราชวัง และเป็นเส้นทางสัญจรคมนาคมของประชาชน จนยุคสมัยหนึ่งกรุงเทพมหานครได้ชื่อว่าเวนิสตะวันออก จนเมื่อการคมนาคมทางถนนเจริญขึ้น การสัญจรทางน้ำห่างหายไป ไม่มีการขุดคลองเพิ่ม ทั้งยังถมคลองให้แคบลง บางคลองกลายเป็นท่อระบายน้ำ เมื่อเกิดฝนตกทำให้น้ำท่วมขัง “รอการระบาย” สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนชาวกรุง

การพัฒนาเส้นทางคมนาคมจากถนนร่วมกับลำคลอง ทำให้เกิดทัศนียภาพของกรุงเทพฯ ที่มีคลองเป็นสัญลักษณ์กลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง นับเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องร่วมกันทำหน้าที่

“แบ่งปันความรู้ ฟื้นฟูศาสนา พัฒนาแม่น้ำลำคลอง” เพื่อคนไทย คือ “คุณภาพของประเทศ”