มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส /ไฟเบอร์ซีเมนต์

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

ไฟเบอร์ซีเมนต์

ไฟเบอร์ซีเมนต์ ไม่ใช่วัสดุก่อสร้างที่มีอยู่ในธรรมชาติ เหมือนหิน ทราย และไม้ แต่เป็นวัสดุที่มนุษย์ดัดแปลงจากธรรมชาติ เหมือนอิฐ เหล็ก และตะกั่ว

นายลุตวิก ฮัตเชค Ludwig Hatscheck (1856-1914) ชาวออสเตรีย เป็นผู้คิดค้นขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ราวรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง

โดยนำใยหินผสมรวมกับปูนซีเมนต์ และน้ำ มาผลิตเป็นวัสดุมุงหลังคาชนิดใหม่ ที่ทนทานและทนไฟ แทนฟาง หญ้าคา หรือไม้ ที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแกร่ง แทนกระเบื้องดินเผาและหินชนวน ที่ทนทานและราคาถูกกว่าแผ่นตะกั่วและทองแดง

วัสดุมุงหลังคาชนิดใหม่หรือไฟเบอร์ซีเมนต์นี้ ยังมีความแข็งแรงและคงทน เพราะมีส่วนผสมของแร่ใยหิน หรือ asbestos ที่เป็นคำมาจากภาษากรีกโบราณ หมายถึง (สิ่งที่) ทำลายไม่ได้

ดังนั้น การจดทะเบียนสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ได้เลือกใช้ชื่อว่า อีเทอร์นิต eternit ที่มาจากศัพท์ภาษาละตินว่า aeternitas ซึ่งมีความหมายว่า ชั่วนิรันดร

สื่อให้รู้ว่า ไฟเบอร์ซีเมนต์ มีคุณสมบัติทนไฟ (ไหม้) ทนร้อน (แดด) ทนเย็น (หิมะ) ทนชื้น (ฝน) ทนแรงกระแทก ทนทาน ใช้งานได้ตลอดกาล

 

การผลิตไฟเบอร์ซีเมนต์นั้น เริ่มจากการนำเส้นใย ปูนซีเมนต์ และน้ำ มาผสมและกวนจนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำมาเทเป็นชั้นบางๆ ทับกันหลายชั้นคล้ายกับการผลิตกระดาษ จนได้ความหนาตามต้องการ นำไปเข้าเครื่องอัดและอบเพื่อให้แน่น แห้ง และแกร่ง

ทุกวันนี้เครื่องจักรและกระบวนการผลิตที่กล่าวมา ยังคงเรียกขานว่า เครื่องจักรและระบบฮัตเชค ตามชื่อผู้คิดค้นคนแรก

แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ผลิตแล้ว จะนำไปใช้งานได้เลย หรือจะตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อความสะดวกในการขนส่งและใช้งาน โดยเฉพาะใช้ไฟเบอร์ซีเมนต์มุงหลังคาแทนไม้และหินชนวน โดยแต่งผิวหน้าให้เป็นลายไม้หรือลายหิน

เมื่อไฟเบอร์ซีเมนต์เป็นวัสดุสังเคราะห์ จึงนำไปใช้ในส่วนอื่นๆ ของอาคาร มากกว่าใช้เป็นแค่วัสดุมุงหลังคาตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิม

เช่น ฝาตู้และเครื่องเรือน ผนังภายในภายนอกอาคาร ราวระเบียง แผงกันแดด หรือกล่องหุ้มเครื่องทำความร้อน

ยังมีคนใช้แทนผนังกระดาษเดิมของบ้านไม้ญี่ปุ่นแบบโบราณ

ไฟเบอร์ซีเมนต์จึงเป็นวัสดุก่อสร้างธรรมดา ราคาประหยัด และมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งในงานสถาปัตยกรรมปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวใยหินเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงมีการใช้เส้นใยชนิดอื่นทดแทน ทำให้ไฟเบอร์ซีเมนต์ในปัจจุบันมีหลายชนิด ทั้งเส้นใยธรรมชาติ เช่น เศษไม้ เยื่อไม้ (กระดาษ) ฯลฯ ทั้งใยสังเคราะห์ เช่น Polyvinyl Alcohol และเป็นที่มาของไฟเบอร์ซีเมนต์ปลอดใยหินที่จำหน่ายในปัจจุบัน

เสียดายว่า บริษัทผู้ผลิตไฟเบอร์ซีเมนต์ในบ้านเรา ไม่ได้ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่างถูกต้อง

คนไทยจึงรู้จักกระเบื้องกระดาษ (เรียกขานตามกระบวนการผลิต) กระเบื้องมุงหลังคา (เรียกขานตามการใช้) กระเบื้องลอน (เรียกขานตามรูปร่าง) และกระเบื้องแผ่นเรียบ (เรียกขานตามรูปแบบ) หรือไม้เทียม (เรียกขานตามแผนการตลาด) เท่านั้น

จึงอยากแนะนำให้รู้จักและเข้าใจในวัสดุก่อสร้างไฟเบอร์ซีเมนต์ ในมุมมองใหม่ที่ต่างไปจากเดิม

เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ตามคุณสมบัติของวัสดุ