วิรัตน์ แสงทองคำ : ความเป็น “ธนินท์ เจียรวนนท์” บทสรุป บริบทและโอกาสของซีพี

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
Billionaire Dhanin Chearavanont, chairman of Charoen Pokphand Group, attends a news conference at the U.S Ambassador's residence in Bangkok, Thailand, on Thursday, Jan. 18, 2018. Thailands Charoen Pokphand Foods Pcl said it will acquire Bellisio Foods Inc., maker of Chilis At Home and Boston Market frozen foods, for about 38.2 billion baht ($1.1 billion) as a platform to enter the U.S. market. Photographer: Taylor Weidman/Bloomberg via Getty Images

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ กับสังคมธุรกิจไทย จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

ซีพีมีโอกาสอยู่เสมอ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านยุคสมัย ในสังคมไทยระดับภูมิภาคและโลก

ร้านเจริญโภคภัณฑ์ก่อตั้งขึ้น (2496) เชื่อมโยงกับโอกาสใหม่ ภาคเศรษฐกิจพื้นฐานไทยกำลังเริ่มต้นปรับโครงสร้าง

การพัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อขยายพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อการส่งออก ให้เป็นสินค้าทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งในวงจรใหญ่แห่งระบบเศรษฐกิจ ในภาพกว้างโครงสร้างสังคมไทยกำลังขยับเขยื้อน การพัฒนาสาธารณูปโภค เชื่อมระหว่างเมืองกับหัวเมือง ส่งผลให้ฐานผู้บริโภคกว้างขึ้น

เรื่องราวสำคัญ ยุคธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี เปิดฉากขึ้นใน “ยุคสงครามเวียดนาม” สหรัฐอเมริกาเขามีอิทธิพลในประเทศไทยภายใต้รัฐบาลทหารอย่างแข็งขัน เปิดเป็นฐานปฏิบัติการฐานทัพอเมริกัน ขณะเดียวกันเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวางให้ธุรกิจอเมริกันด้วย

ขณะมีแรงกระเพื่อม เผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจย่อยๆ ต่อเนื่องมาจาก OIL SHOCK ตั้งแต่ปี 2514 ซีพีปรับตัวและแสวงหาโอกาสใหม่ ภายใต้กระแสนั้น ด้วยอ้างอิง และอาศัยอิทธิพลและโนว์ฮาวธุรกิจอเมริกัน

เกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับ Arbor Acres ผู้นำการผลิตไก่เนื้อ อุตสาหกรรมสำคัญในสหรัฐอเมริกายุคนั้น ต่อมา Arbor Acres กลายเป็นส่วนหนึ่งในแผนการขยายอิทธิพลสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่หลังสงครามโลกที่สอง กระตุ้นและเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา

ปี 2514 ซีพี กับ Arbor Acres ร่วมมือพัฒนาจัดการการเลี้ยงไก่สมัยใหม่ขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ “ธุรกิจครบวงจร” ของซีพีในเวลาต่อมา

รวมทั้งมีโมเดล Contract Farming เกิดขึ้นอย่างจริงจังในประเทศไทย (ปี 2517) ท่ามกลางแรงต้านพอสมควร (อ้างจากกรณีศึกษา Harvard Business School 2535) ด้วยเกรงว่า “ฟาร์มขนาดเล็กๆ จะล้มละลาย ซีพีจะกลายเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจ”

 

แรงต้านที่ว่า เป็นส่วนหนึ่งในความเคลื่อนไหวต่อเนื่องกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระแสต่อต้านรัฐบาลทหารและเรียกร้องระบบการเมืองที่เปิดกว้าง เปิดฉากวิพากษ์สังคมอย่างเข้มข้น

รวมทั้งประเด็นว่าด้วย “ธุรกิจผูกขาด” มีพลังให้มีช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ

ขณะสงครามเวียดนามจบลง ด้วยความพ่ายแพ้ของสหรัฐ อิทธิพลคอมมิวนิสต์แผ่ขยายในประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา-ลาว พร้อมๆ “ทฤษฎีโดมิโน” ถูกยกขึ้นมา

จะถือเป็นแรงกดดันอย่างหนึ่งต่อซีพีก็ว่าได้ หลายคนอาจไม่คาดคิดจะเป็นผลเชิงบวกในเวลาต่อมา

ช่วงนั้นซีพีได้ยกโมเดลธุรกิจในประเทศไทยสู่ระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง ทั้งในอินโดนีเซีย ไต้หวัน และมาเลเซีย รวมทั้งตกผลึกแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจระดับภูมิภาคอย่างมีแบบแผน ด้วยการจัดตั้งบริษัทลงทุน (Holding Company) ที่ฮ่องกง และพยายามแสวงหาโอกาสธุรกิจที่เปิดกว้างกว่าที่เป็นมา

สังคมธุรกิจไทยเผชิญบททดสอบอีกครั้ง เมื่อมีวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในปี 2522 ว่าไปแล้วมีผลเป็นลูกโซ่มาจากตลาดหุ้นในฮ่องกงด้วย

ช่วงเวลาเดียวกัน ขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยอ่อนกำลังลง (ตั้งแต่ปี 2522) เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน (ปี 2518) จนมาถึงช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นเป็นผู้นำจีน และได้ประกาศนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจ (ปี 2521)

ซีพีมีแผนการใหญ่ในปี 2522 จนกลายเป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในสาธารณรัฐประชาชนจีน “โดยรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหมายเลข 0001 ดำเนินกิจการโรงงานอาหารสัตว์ ณ เมืองเซินเจิ้น” เป็นฐานอันมั่นคงอีกแห่งหนึ่ง เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้ซีพีขยายตัวขนานใหญ่ กลายเป็นเครือข่ายธุรกิจระดับโลก

 

ช่วงเชื่อมต่อก่อนเศรษฐกิจขยายตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง ความวิตกครอบงำตั้งแต่ช่วงปลายสงครามเวียดนามจางไป ไม่นานสงครามภายในกัมพูชาได้จบลง สู่ฉากใหม่ “เปลี่ยนจากสนามรบให้เป็นสนามการค้า” นโยบายรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (2530-2531) มีพลังให้ขบวนนักลงทุนต่างชาติอีกระลอกเข้ามา ขณะตลาดหุ้นส่งสัญญาณขาขึ้นทั้งภูมิภาค

ในช่วงนั้น (2527-2531) ซีพีทยอยนำบริษัทในกิจการเกษตรกรรมครบวงจรเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ประสานกับเครือข่ายธุรกิจในภูมิภาค เข้าตลาดหุ้นไต้หวัน (ปี 2530) ตามมาด้วย CP Pokphand กิจการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ เข้าทั้งตลาดหุ้นฮ่องกง (2531) และลอนดอน (2533)

พร้อมๆ แผนการลงทุนใหม่ๆ กับโอกาสใหม่เปิดกว้างครั้งใหญ่ในสังคมไทย โดยเฉพาะในปี 2533 ซีพีเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกโมเดลใหม่ๆ ด้วยแผนการร่วมทุนร่วมมือกับแบบฉบับจากยุโรป-สหรัฐ-ญี่ปุ่น และเข้าสู่ระบบสัมปทานรัฐครั้งแรกในธุรกิจสื่อสาร โดยอาศัยเทคโนโลยีโลกตะวันตก เพื่อวิ่งตามกระแสอันพุ่งแรง ว่าด้วยธุรกิจใหม่มีอนาคต

รวมทั้งเปิดพื้นที่ใหม่ในยุโรป ชิมลางด้วยธุรกิจอาหารสัตว์ที่ตุรกี ในช่วงเวลาประชาคมเศรษฐกิจสหภาพยุโรปกำลังสถาปนาขึ้นเป็นประชาคมยุโรปอย่างจริงจัง (2536)

เป็นช่วงขยับปรับเปลี่ยนบ่อยครั้งใน 2 ทศวรรษ (2520-2540) จนมาถึงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในภูมิภาคซึ่งมีศูนย์กลางในประเทศไทย โดยรวมซีพีเผชิญผลพวงหลายมิติ ทั้งลดบทบาท-ถอนตัวบางธุรกิจ ขยับปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้เข้าที่ และแสวงหาโอกาสใหม่

ค่อยๆ ถอนตัวจากธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งได้มาตามกระแส “โชติช่วงชัชวาล” ลดบทบาทบางระดับ เพื่อรอโอกาสในธุรกิจค้าปลีก ปรับโมเดลธุรกิจสื่อสารซึ่งเผชิญทั้งวิกฤตการณ์การเงินและเทคโนโลยี จากการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ถึงการซื้อธุรกิจใหม่ จากระบบสื่อสารพื้นฐานดั้งเดิม สู่ระบบไร้สายและอินเตอร์เน็ต ที่สำคัญคือการปรับโครงสร้างเครือข่ายธุรกิจครั้งใหญ่

ขณะในภาพกว้าง ภูมิภาคเผชิญภาวะและผลพวง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” แต่จีนแผ่นดินใหญ่กลับเป็นพื้นที่แห่งโอกาส โอกาสของธุรกิจจีนภายใต้เปลือกหอยอันแข็งตัวของรัฐสังคมนิยม ได้ขยับโมเดลใหม่ ให้บางส่วนเข้ากับระบบทุนนิยม จนมีกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเติบโตอย่างมหัศจรรย์อย่างไม่ค่อยปรากฏในโลกทุนนิยม อย่างกรณี Alibaba และ China Mobile

ต่อมาคู่ขนานกับพลังดึงดูดหลังฟื้นไข้ “ต้มยำกุ้ง” สู่การหลอมรวมเศรษฐกิจในอาเซียน ดูไปแล้วเป็นส่วนหนึ่งในภาพใหญ่ “ทศวรรษแห่งเอเชีย” ที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง

 

ซีพีเริ่มต้นก่อนใครๆ บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกในจีนเริ่มต้นโมเดล Hypermarket (2540) ตามมาด้วยห้างสรรพสินค้าครบวงจรแห่งแรกของจีน (2545) ในเขตผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้

เมื่อ “กระแสจีน” พุ่งแรงขึ้น ขยายอิทธิพลกว้างขึ้น ซีพีซึ่งเป็น China Connection ดูจะมีโอกาสธุรกิจใหม่ๆ อย่างหลากหลายยิ่งขึ้น

เปิดฉากแผนการลงทุนครั้งใหญ่ในจีน-ปี 2555 ซีพีเข้าถือหุ้นใหญ่บริษัทประกันยักษ์ใหญ่จีน-Ping An Insurance ด้วยลงทุนถึงราว 2.8 แสนล้านบาท ตามมาด้วยแผนการที่ใหญ่และซับซ้อนขึ้นในปี 2558 ซีพีร่วมมือกับ Itochu แห่งญี่ปุ่น ร่วมกันลงทุนถึงระดับ 4 แสนล้านบาท เข้าถือหุ้นจำนวน 20% ของ CITIC Group

จนมาถึงบทบาทใหม่น่าตื่นเต้นภายใต้รัฐไทยช่วงใหม่ มีผู้ครองอำนาจยาวนานช่วงหนึ่ง ต่อเนื่องจากรัฐประหารสู่รัฐบาลที่ทหารคงบทบาทสำคัญไว้

เป็นอีกช่วงที่สำคัญ ซีพีปักหลักมั่นคง เดินแผนการใหม่ๆ ในประเทศไทย

ทั้งเชื่อมโยง “กระแสจีน” ซึ่งดูจะมีอิทธิพลมากขึ้นในสังคมไทย

ปี 2557 ซีพีแสดงบทบาทเชื่อมโยงอย่างมีพลัง ทั้งนำรถยนต์แบรนด์จีน (ซื้อแบรนด์อังกฤษมาอีกทอด) เข้าสู่ในตลาดไทยได้อย่างดีพอสมควร แม้ตลาดจะถูกครอบงำโดยรถยนต์ญี่ปุ่น

และนำ China Mobile ธุรกิจต่างชาติอีกราย เข้าสู่ระบบสื่อสารในสังคมไทย ผ่านการถือหุ้นทรูคอร์ปอเรชั่น

ขณะที่ซีพีเดินแผนตามลำพังอย่างท้าทาย ทั้งหลอมรวมพลังในธุรกิจค้าปลีก และเข้าสู่ระบบสัมปทานรัฐครั้งใหม่ เป็นช่วงเวลาสำคัญทั้งการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างบริหารภายในซีพีเอง และอาจจะเป็นจังหวะสังคมไทยกำลังเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านอีกครั้งในไม่ช้า