ทหาร(ไม่)อาชีพ จากปี 2552-2554 : สงครามเสื้อสี สู่การก้าวมาของนายกฯหญิงคนแรก

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

88 ปีระบอบทหารไทย (ep.24) จากปี 2552-2554

“กองทัพในประเทศประชาธิปไตยมีหน้าที่ในการปกป้องประชาชน ไม่ได้มีหน้าที่ในการใช้กำลังปราบปรามประชาชน”

Dennis Blair (2013)

การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2552 มีนัยสำคัญกับบทบาทของทหารกับการเมืองไทย

เพราะหลังจากการใช้กำลังทหารในการล้มรัฐบาลในปี 2549 และยอมเปิดการเลือกตั้งในปี 2550 แต่ในที่สุดการล้มรัฐบาลอีกครั้งเกิดจากการใช้พลังของ “ตุลาการธิปไตย” จนกลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญให้รัฐบาลสายอนุรักษนิยมกลับขึ้นสู่อำนาจได้จริง

แต่ก็เป็นที่รับรู้กันในอีกด้านว่า การกลับมาครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบอย่างมีนัยสำคัญจากผู้นำทหารแล้ว จนเกิดวาทกรรม “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร”

การหวนคืนของรัฐบาลอนุรักษนิยมเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และเป็นการมาพร้อมกับแรงต้านด้วย

ถ้าเช่นนั้น กองทัพจะทำอย่างไรกับการต่อต้านรัฐบาลที่ตนเองให้การสนับสนุน

อีกทั้งภูมิทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะการเติบโตของ “พลังมวลชน” ที่มีรากฐานมาจากชนบท

ทหารและสงครามเสื้อสี

ภูมิทัศน์ใหม่ของการต่อสู้ทางการเมืองของไทย โดยเฉพาะหลังจากรัฐประหาร 2549 นั้น เห็นได้ชัดถึงมิติการขยายตัวของ “การเมืองมวลชน” (mass politics) ดังจะเห็นได้ว่าทั้งฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย หรือฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยล้วนมีมวลชนเป็นฐานสนับสนุน และเป็นฐานในวงกว้าง ที่ดึงเอาผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

จนเกิดเป็น “สงครามเสื้อสี” ในการเมืองไทย

และกลายเป็นความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน

ถ้าการต่อต้านรัฐบาลทักษิณใช้ “เสื้อสีเหลือง” เป็นสัญลักษณ์

การต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ใช้ “เสื้อแดง” เป็นตัวแทนการต่อสู้

แต่การกำเนิดของกลุ่มเสื้อแดงหรือ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) เกิดในปี 2550 เพื่อต่อต้านรัฐประหาร 2549 แต่บทบาทลดลงหลังจากชัยชนะของพรรคพลังประชาชน และฟื้นบทบาทอีกครั้งในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ จนนำไปสู่การประท้วงใหญ่ของคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน 2552

ซึ่งการประท้วงครั้งนี้เริ่มเป็นสัญญาณให้เห็นถึง “พลังของคนชนบท” ที่เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย (หรือพรรคพลังประชาชนในเวลาต่อมา) อันทำให้กลุ่มดังกล่าวถูกมองว่าเป็นของนายกรัฐมนตรีทักษิณด้วย

การประท้วงใหญ่ของคนเสื้อแดงเกิดขึ้นอีกครั้งที่ใจกลางเมืองหลวง บริเวณถนนราชประสงค์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มีฐานเสียงจากคนในเมือง และได้รับความสนับสนุนหลักจากกลุ่มอนุรักษนิยมและผู้นำทหารจึงใช้มาตรการทางทหารในการสลายการชุมนุม อันนำไปสู่ยุทธการ “ล้อมปราบ” ใหญ่ในเมืองอีกครั้งหลังการปราบปรามในปี 2519

การล้อมปราบด้วยกำลังทหารครั้งนี้กลายเป็นรอยด่างอีกวาระหนึ่งในการเมืองไทย เพราะคนเสื้อแดงมากถึง 99 ชีวิตถูกสังหาร

บทบาททหารครั้งนี้ไม่ใช่การใช้กำลังเพื่อทำรัฐประหารในแบบเดิม

แต่กองทัพทำหน้าที่เป็น “ผู้พิทักษ์” ระบอบเก่าที่มีรัฐบาลอนุรักษนิยมเป็นตัวแทน ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ในการป้องกันการขยายตัวของ “การเมืองมวลชน” ที่เกิดการขยายการมีส่วนร่วมทางการเมืองลงสู่ชนชั้นล่าง โดยเฉพาะคนในชนบทและคนที่มีสถานะทางสังคมในระดับต่ำ

อาจจะคล้ายคลึงกับกองทัพในละตินอเมริกาในยุคสงครามเย็น ซึ่งต้องทำหน้าที่ต่อต้านการเมืองของชนชั้นล่าง

เพราะชนชั้นนำและชนชั้นกลางอนุรักษนิยมล้วนกลัวความเปลี่ยนแปลงจากการมีบทบาททางการเมืองของชนชั้นล่าง (โดยเฉพาะการปฏิวัติทางสังคมเช่นในกรณีของคิวบา) กองทัพในทฤษฎีทางรัฐศาสตร์จึงมีบทบาทเป็นผู้พิทักษ์

การต่อสู้ทางการเมืองที่มองผ่านการเมืองมวลชนหลังรัฐประหาร 2549 และดำเนินต่อเนื่องมา จะเห็นถึงสภาวะของ “สงครามเสื้อสี” ระหว่าง “เสื้อแดง vs เสื้อเหลือง”

แต่หากมองผ่านบริบทของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองแล้ว การต่อสู้ครั้งนี้เป็นประเด็นระหว่าง “ประชาธิปไตย vs อำนาจนิยม” ที่เป็นมรดกตกค้างมาอย่างยาวนานในการเมืองไทย

หรือหากมองในมิติทางเศรษฐศาสตร์การเมืองแล้ว ปรากฏการณ์นี้เป็นการสู้กันระหว่างกลุ่ม “ทุนใหม่ vs ทุนเก่า” ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจไทยในปี 2540

และแน่นอนว่าในการต่อสู้เช่นนี้ ผู้นำกองทัพมีจุดยืนที่ชัดเจนในการเป็นผู้พิทักษ์ระบอบเก่า

ดังนั้น “ยุทธการราชประสงค์” จึงถูกประกอบสร้างให้มีความชอบธรรมในการใช้กำลังล้อมปราบ

จนถึงมีการใช้พลแม่นปืนเข้าร่วมปฏิบัติการสังหาร

อันเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่ากองทัพพร้อมจะจัดการกับมวลชนที่เป็นชนชั้นล่างด้วยมาตรการเด็ดขาด และหากจำเป็นก็จะใช้อาวุธสงคราม

ยุทธการราชประสงค์ประสบความสำเร็จในการปราบปรามการชุมนุมประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง และยังสามารถช่วยให้รัฐบาลอนุรักษนิยมของนายกฯ อภิสิทธิ์ ดำรงอยู่จนถึงกำหนดการเลือกตั้งใหม่

ทั้งที่เมื่อเริ่มตั้งรัฐบาลนั้น หลายฝ่ายมักจะประเมินง่ายๆ ว่า รัฐบาลนี้ไม่น่าอยู่ได้นาน

แต่สุดท้ายก็อยู่จนครบวาระ และการอยู่ได้จนครบวาระเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กองทัพแสดงบทบาทเป็นผู้พิทักษ์ที่แข็งแกร่งในการคุ้มครองความอยู่รอดของรัฐบาลอนุรักษนิยม

สงครามของผู้นำทหาร

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงดูราบรื่น และไม่มีประเด็นความขัดแย้งเช่นที่เกิดกับรัฐบาลพลเรือนก่อนหน้านี้ จนเสมือนกับรัฐบาลคุมกองทัพได้

แต่ในอีกด้านก็มีคำถามในยุคดังกล่าวว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลคุมทหารหรือทหารคุมรัฐบาล

หรือว่าสุดท้ายแล้วคือ ความสมประโยชน์ของผู้นำทหารและผู้นำรัฐบาลที่อยู่ภายใต้กรอบการเมืองของปีกอนุรักษนิยมไทย

ขณะเดียวกันพวกเขาก็พร้อมจะบดขยี้การขยายบทบาทของมวลชน โดยเฉพาะชนชั้นล่างและชนชั้นกลางล่าง ที่มีพื้นเพเป็นคนชนบท

ดังนั้น ถ้ายุทธศาสตร์ของกลุ่มเสื้อแดงคือ “ชนบทล้อมเมือง” ซึ่งก็สอดรับกับชัยชนะของพรรคไทยรักไทย/พรรคพลังประชาชน ที่มีฐานเสียงหลักอยู่ในชนบทและพื้นที่ต่างจังหวัด และกลุ่มนี้เปิดเกมรุกด้วย “ยุทธการยึดเมือง” ในปี 2553 ซึ่งก็นำไปสู่บทสรุปที่สำคัญว่า กองทัพพร้อมเสมอที่จะจัดการกับมวลชนฝ่ายตรงข้าม

อันนำไปสู่บทพิสูจน์พลังระหว่าง “ยุทธการยึดเมือง vs ยุทธการล้อมปราบ” และเห็นได้ชัดเจนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่การลุกขึ้นสู้ของมวลชนจะสามารถเอาชนะการปราบปรามด้วยกำลังอาวุธของฝ่ายทหารได้

การสลายการชุมนุมด้วยการใช้กำลังทหารจึงไม่ต่างอะไรกับการ “ปิดประตูตีแมว” และพลแม่นปืนของทหารถูกนำมาใช้เพื่อการสังหารประชาชนที่เห็นต่าง ไม่ใช่ลอบยิงทหารข้าศึกเช่นในยามสงคราม

ทฤษฎีที่เชื่อว่าการปราบปรามของอำนาจรัฐในเมืองจะเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามกลางเมือง” ในไทย จึงไม่เป็นจริงเท่าใดนัก เพราะฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลไม่ได้มี “กองกำลังติดอาวุธ” เป็นของตัวเอง

เช่น ตัวแบบของพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต หรือบทเรียนจากบางประเทศคือ สงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้นจริง ต่อเมื่อกองกำลังติดอาวุธของรัฐบางส่วนแตกออกมา และเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านเพื่อเปิดการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ดังเช่นที่เกิดในหลายประเทศในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นลิเบียหรือซีเรียก็ตาม

แต่การประท้วงในไทยไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่เท่าใด ก็ไม่อยู่ในระดับที่จะต้านทานการล้อมปราบของอำนาจรัฐได้

ในทางตรงข้ามฝ่ายรัฐอาจจะลำพองตัวว่ามีกำลังอาวุธอยู่ในมือ และสามารถสั่งปราบปรามเมื่อใดก็ได้

แต่การทำเช่นนั้นย่อมจะมีชนักติดตัวทั้งผู้นำทหารและพลเรือน และกลายเป็นการทำลายความชอบธรรมทางการเมืองในตัวเองอีกแบบ

จนกลายเป็น “ภาพจำ” ว่า ทหารไทยรบชนะประชาชนบนถนนที่ไม่มีอาวุธเสมอ

แต่พวกเขาไม่เคยรบชนะ “สงครามประชาชน” ในภาคใต้ ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐมีกองกำลังของตัวเองได้เลย

ภาพทางการเมืองเช่นนี้คือ การตอกย้ำบทสรุปประการสำคัญถึงสถานะทางยุทธศาสตร์ของกองทัพไทยว่า กองทัพมีไว้เพื่อการทำสงครามกับฝ่ายต่อต้านภายในรัฐ ไม่ใช่เพื่อการป้องกันประเทศที่มีข้าศึกรุกรานจากภายนอก

เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราแทบไม่เคยเห็นกองทัพไทยใช้กำลังเพื่อการป้องกันประเทศแต่อย่างใด

หากเป็นการใช้กำลังด้วยเหตุผลทางการเมืองภายในแทบทั้งสิ้น

และสภาวะเช่นนี้เป็นเครื่องหล่อหลอมอย่างดีในการสร้าง “ทหารการเมือง” ในกองทัพไทย

สภาวะเช่นนี้ทำให้ข้อถกเถียงในทฤษฎีประชาธิปไตยแบบตะวันตกว่า กองทัพที่ดีต้องเป็น “ทหารอาชีพ” จึงกลายเป็นเพียงเรื่อง “ขบขัน” ในโลกที่เป็นจริงของการเมืองไทย

จนกล่าวติดตลกกันในวงการรัฐศาสตร์ไทยว่า “แซมมวล ฮันติงตัน” นักวิชาการอเมริกัน เจ้าของทฤษฎี “ทหารอาชีพ” มาตายที่เมืองไทย

และตายแบบไม่มีโอกาสฟื้นได้เลย

เพราะข้อสรุปมีแต่เพียงประการเดียวคือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น “ทหารไทยจะไม่เป็นทหารอาชีพ”

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะพบว่า ในยุคสงครามเย็น ทหารไทยเป็นทหารการเมือง

ในยุคหลังสงครามเย็น ทหารไทยก็ยังคงเป็นทหารการเมือง

สมมุติฐานสำคัญในอดีตคือ “สงครามเย็นทำให้ทหารต้องแทรกแซงการเมืองไทย”…

แต่เมื่อไม่มีสงครามเย็นแล้ว ผู้นำกองทัพก็ยังแทรกแซงการเมืองไทยไม่ต่างจากเดิม ในอีกด้านอาจจะเป็นเพราะการเมืองให้ผลตอบแทนมากกว่าการทหาร เช่นเดียวกับที่ผลประโยชน์ใหญ่ของผู้นำทหารอยู่ในสนามการเมือง ไม่ใช่เกียรติภูมิของการอยู่ในสนามรบ และแถบริบบิ้นบนหน้าอกไม่ได้บ่งบอกถึงประสบการณ์ของการผ่านสนามรบแต่อย่างใด

ในความเป็นจริง รัฐไทยเองห่างเหินจากสงครามมานาน มีแต่เพียงสงครามก่อความไม่สงบในภาคใต้ ที่กองทัพยังไม่สามารถเอาชนะได้

และก็ยังมองไม่เห็นว่าทหารการเมืองที่กรุงเทพฯ จะเอาชนะในสงครามนี้ได้อย่างไร เพราะเวลาของพวกเขาในแต่ละวันหมดไปกับการเมือง

นอกจากนี้ ยังเกิดการประกอบสร้างวาทกรรมอนุรักษนิยมเพื่อรองรับบทบาทการเมืองของทหารในอนาคต โดยเฉพาะ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” ที่ถือเอาประชาธิปไตยเป็นภัยคุกคามหลัก อันอาจตั้งเป็นข้อสังเกตในศตวรรษที่ 21 ได้ว่า การต่อสู้ทางการเมืองของกองทัพไทยได้ขยับแนวคิดจาก “สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์” ไปสู่ “สงครามต่อต้านประชาธิปไตย”

โดยมีพรรคการเมืองและนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเป็นข้าศึก

และเป็นสงครามการเมืองใหม่ของทหาร

เมื่อรัฐบาลอนุรักษนิยมแพ้!

แต่สิ่งที่เกิดความผิดพลาดก็คือ เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นในกลางปี 2554 ใครเลยจะคิดว่าพรรคเพื่อไทย (พรรคไทยรักไทยเวอร์ชัน 3) จะชนะการเลือกตั้ง

และชัยชนะครั้งนี้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร… น้องสาวคนเล็กของตระกูลที่ถูกล้มด้วยรัฐประหารก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดอีกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ

ผู้นำกองทัพจะทำอย่างไรกับการเมืองใหม่หลังการเลือกตั้ง

และที่สำคัญชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยมที่ควบคุมการเมืองไทยไว้อย่างแน่นหนานั้น จะ “ทำใจ” ยอมรับกับสภาวะเช่นนี้ได้อีกนานเพียงใด!