เลือกตั้งท้องถิ่น (อะไร) ที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็น | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มิเพียงแค่ผลของการเลือกตั้งที่ยืนยันถึงความเป็นกลุ่มก้อนของผู้มีอำนาจเดิมในระดับท้องถิ่นที่ได้รับชัยชนะกันอย่างถ้วนหน้าเท่านั้น

แต่การจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายใต้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 กลับมีสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจหลายประการ

หากอ่านจนจบแล้ว จะต้องอุทานคำเดียวกันว่า สิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็นจากการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้

1)การกำหนดวันเลือกตั้ง ภายใน 60 วันที่แล้วแต่ กกต.จะตีความ

มาตรา 11 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น กำหนดให้ กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากครบวาระ ซึ่งโดยเนื้อแท้ทุกคนทุกตำแหน่งหมดวาระมามากกว่าหกปี แต่เนื่องจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และยังไม่มีมติ ครม.ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น การเลือกตั้งจึงยังไม่เกิด

คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการเลือกตั้ง ครม.เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 หนังสือถึง กกต.วันที่ 8 ตุลาคม 2563 กกต.มีการประชุมวันที่ 12 ตุลาคม 2563 และกำหนดให้มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ซึ่งถือว่า เป็นการจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด โดยนับจากวันประกาศของ กกต. ไม่นับจากวันที่ ครม.มีมติ

ประเด็นดังกล่าว เป็นการตีความที่ทำให้ กกต.สามารถกำหนดวันเลือกตั้งตามใจชอบ โดยถือเอาวันที่ กกต.พร้อมจะประกาศ ซึ่งจะเป็นวันใดก็ได้แล้วจึงจะมีการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังจากนั้น

หาก ครม.มีมติแล้ว แต่ กกต.ประกาศช้าไปสักปี คงไม่มีใครว่าอะไรกระมัง

2)วันเลือกตั้งที่ไม่ส่งเสริมให้คนไปใช้สิทธิ

วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 กลับเป็นวันที่เป็นอุปสรรคต่อการไปใช้สิทธิของประชาชนมากที่สุดเมื่อเทียบกับวันอื่นๆ สาเหตุคือ เป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่อยู่ระหว่างวันหยุดยาว คือ 10-13 ธันวาคม 2563 และ 31 ธันวาคม 2563 ถึง 3 มกราคม 2564 ซึ่งสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มิได้พำนักอาศัยในเขตเลือกตั้ง การเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดยาวควรจะเป็นสิ่งที่สะดวกมากกว่า

วันเลือกตั้งจึงควรเป็นวันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม 2563 แต่ กกต.กลับกำหนดวันที่ 20 ธันวาคม 2563 โดยยึดเอาความสะดวกของ กกต.เป็นที่ตั้ง ทั้งๆ ที่การจัดการเลือกตั้งเกือบทั้งหมดดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย กกต.มีหน้าที่กำกับดูแลเท่านั้น

งานง่าย งานน้อย แต่กลับขอใช้เวลาเยอะ

3)การจัดการเลือกตั้งที่กระทำโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น กำหนดให้ กกต.มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้ง แถมในมาตรา 14 ยังกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งทั้งหมดเอง

ส่วนที่ กกต.กลางสนับสนุนในการดำเนินการ คือเพียงการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งสองประเภทคือ เลือกนายก และเลือกสมาชิกสภาในลักษณะที่เป็นบัตรโหล คือ มีแค่หมายเลข ส่งให้กับท้องถิ่น ในขณะที่ท้องถิ่นต้องเป็นผู้จัดหาวัสดุอื่นๆ เช่น หีบบัตร คูหาเลือกตั้ง สายรัดหีบ เทป และวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งเอง

สั่งมาก สั่งน้อย ราคาถูกหรือแพง มีมาตรฐานหรือไม่ กลับเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นต้องจัดการเอง และเปิดโอกาสสุ่มเสี่ยงสำหรับการทุจริตการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น เพราะกลายเป็นว่า วัสดุเหล่านี้ใครๆ ก็ซื้อหาได้ ไม่มีการควบคุม

ไม่ทราบว่า กกต.กลางได้ตรองดีแล้วหรือไม่

4)ย้ายบ้านข้ามจังหวัดไม่ครบหนึ่งปีไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

สิ่งที่ประชาชนมึนงงประการหนึ่ง คือ ผู้ที่มีการย้ายทะเบียนบ้านข้ามจังหวัด ไปอยู่ในที่ใหม่ไม่ถึงหนึ่งปี กลับไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งทั้งในที่เก่าและในที่ใหม่ และในขณะที่ผู้ที่ย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ในที่ใหม่ไม่ครบหนึ่งปีเช่นกันแต่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน จะมีสิทธิเลือกตั้งเฉพาะนายก อบจ. ส่วนหากอยากเลือกสมาชิก อบจ.ต้องกลับไปแจ้งชื่อที่อำเภอของบ้านเดิม และวิ่งเลือกตั้งกันสองที่ในวันเลือกตั้ง

หากถาม กกต. ก็จะอ้างมาตรา 39(3) ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง ส่วนในวรรคสอง ระบุว่า หากเป็นการย้ายไปอยู่ภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน (ในกรณีนี้คือจังหวัดเดียวกัน) ให้ไปมีสิทธิลงคะแนนเสียงที่เดิมที่ตนมีชื่อครั้งสุดท้ายติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

การเขียนกฎหมายที่ยุ่งยากเช่นนี้ ทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เพราะย้ายไปยังจังหวัดใหม่ไม่ถึงหนึ่งปี และบางคนที่ย้ายในจังหวัดเดียวกัน หากไปใช้สิทธิตามทะเบียนบ้านใหม่ จะได้รับบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวคือบัตรเลือกนายก อบจ. แต่หากประสงค์จะเลือกสมาชิก อบจ.ด้วย ต้องกลับไปเลือกที่เขตบ้านเดิม

เป็นการเขียนกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิ และก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่ประชาชนโดยแท้

5)ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า

การไม่เปิดให้มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากคนไทยในต่างประเทศน่าจะมีความผูกพันเกี่ยวข้องกับการบริหารท้องถิ่นน้อยมาก แต่การไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับคนไทยในประเทศ ทั้งในเขตและนอกเขตกลับเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก ยิ่งกรณีเกิดภาวการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือแม้แต่การเดินทางไปใช้สิทธิที่หน่วยที่ประชาชนอาจรู้สึกว่าเป็นอันตรายและน่าจะมีช่องทางการใช้สิทธิด้วยวิธีอื่น เช่น การไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตในช่วงคนไม่แออัด หรือการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตในกรณีที่ไม่ประสงค์เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือแม้กระทั่งการให้มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ หรือฝันไกลไปจนการเลือกทางอินเตอร์เน็ต น่าจะเป็นทางออกที่ กกต.ควรคิดและเตรียมการ หากภาวะโรคระบาดร้ายแรงยังคงอยู่ต่อไปอีกปีหรือสองปี

อย่าคิดเพียงแค่ว่า อดีตทำเท่านี้ จึงทำเท่าเดิม ต้องรู้จักคิดที่จะอำนวยความสะดวกประชาชน และปรับเปลี่ยนใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์

6)การรายงานผลที่ไม่เป็นทางการที่ทุกฝ่ายต้องพึ่งตัวเอง

ผู้เกาะติดผลการเลือกตั้ง อบจ.ในแต่ละจังหวัดจะพบว่า ไม่มีระบบการรายงานผลอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือสื่อมวลชนทำหน้าที่ในการรายงานโดยอาศัยกลไกอาสาสมัครที่จัดตั้งขึ้นมาเอง กกต.เองอาจอ้างว่า กฎหมายไม่มีข้อกำหนดให้ต้องดำเนินการ แต่การให้มีรายงานดังกล่าวย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้ประชาชนมีความตื่นตัวสนใจทางการเมืองท้องถิ่น และเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับการตรวจสอบความตรงกันของข้อมูลที่มาจากการสังเกตการณ์การเลือกตั้งของภาคเอกชนเพื่อป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง

กกต.เคยมี Application ที่ชื่อว่า Rapid Report ที่มีประสิทธิผลยิ่งเมื่อการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 แต่เมื่อใช้กับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มีนาคม 2562 แล้วเกิดปัญหา แทนที่จะปรับปรุงแก้ไขก็กลับยกเลิกไม่มีการพัฒนาต่อ เป็นการถอยหลังไปในอดีตที่สื่อมวลชนต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในการรวบรวมผลเพื่อรายงานต่อประชาชนที่ต้องการทราบผลการเลือกตั้ง

น่าแปลกว่านี่คือสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเห็น กลับปรากฏให้เห็นในการเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมา

แต่สิ่งที่เคยเห็น ยังเห็นอยู่ และทุกคนไม่ปฏิเสธคือ อิทธิพลของกลไกระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่และการให้เงินเพื่อซื้อเสียงแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเช่นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งในประเทศไทย และ กกต.ไม่สามารถเอาผิดได้

ที่เห็นก็ยังคงเห็นไม่เปลี่ยนแปลง