“นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” จาก “โฆษกรัฐบาล” สู่ “จับกัง 2” ผู้ฉีกทุกกฎ “คนคำนวณไม่สู้ฟ้าลิขิต”

อ.แหม่ม-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ “สตรีหนึ่งเดียว” ในบัญชีรายชื่อ ส.ส. อันดับที่ 5 พรรคพลังประชารัฐ ที่ทะลุ-ทะลวงหัวหน้ามุ้ง-หัวหน้าก๊วน มายืนแถวหน้า

เป็น “สตรี” ที่ทิ้งเก้าอี้ ส.ส. ให้แสงนีออน-สปอตไลต์บนเวทีส่องหน้า เข้าสู่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เป็น “สตรีเด่น” จนสามารถแหวกอกชายสามศอก ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเสนาบดีหญิงแห่งกระทรวงแรงงาน

จาก “โฆษกตึกนารีสโมสร” สู่ “เสนาบดีหญิงจับกัง 2 คนแรก” นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อจาก “กระทรวงแรงงานเพื่อสวัสดิการสังคม” มาเป็น “กระทรวงแรงงาน”

 

จาก “เด็กหญิงยากจน” สู่ “ศาสตราจารย์ด๊อกเตอร์” เธอปฏิเสธทันควันว่า destination ไม่เคยคิดว่าจะมาเป็น “นักวิชาการ” แม้กระทั่ง “นักการเมือง”

“ไม่คิดจะเข้าการเมืองเลย ด้วยความสัตย์จริง เพราะที่บ้านไม่ใช่นักการเมือง ครอบครัวยากจน คุณพ่อขายซีอิ๊วหยั่นหว่อหยุ่น เป็นเซลส์ขี่มอเตอร์ไซค์ขายตามร้านโชห่วย จดออร์เดอร์และเอาซีอิ๊วไปส่ง”

“รายได้ไม่มาก ลูกตั้ง 6 คน แม่ก็เลยต้องออกมาช่วยขายกับข้าวที่ปากซอย ตีสี่ตื่นไปตลาด ทำกันทั้งวัน สี่โมงเย็นก็ออกไปขาย ขายหมดประมาณหนึ่งทุ่ม มีส่งปิ่นโตด้วยตามบ้าน นั่งเตรียมผัก เตรียมอะไรต่อกันถึงเที่ยงคืน ตีสี่ตื่นอีกแล้ว”

“ทำอย่างไรเราจะพ้นจากความยากจน ต้องเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ คุณพ่อสนับสนุนให้เรียนพิเศษ ถึงแม้ว่ารายได้จะไม่เยอะ ที่เรียนพิเศษที่ดังๆ ไปเรียนหมด”

“เราอยู่กับความลำบากมา 6 คนนอนเบียดกันในตึกแถว เราโตมาแล้วต้องทำงานแบบแม่อย่างนี้เหรอ หาเช้ากินค่ำ ทั้งพ่อทั้งแม่ไม่มีเงินออม โชคดีไม่มีหนี้ ถ้าเป็นวันนี้ต้องได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเหมือนกัน (หัวเราะ)”

ทว่า “นฤมล” มี passion เป็น “พลังงานพิเศษ” ผลักดันให้เดินไปสู่ “จุดหมาย” ที่วางไว้

“ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปี 1 เริ่มสอนพิเศษเด็กๆ ตามบ้าน เด็กมัธยมที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ได้ชั่วโมงละ 120 บาท เก็บเงิน จำได้ว่า ได้เงินก้อนแรกก็พาแม่ไปกินโคคา เราไม่เคยกินอาหารในร้านอาหาร ตอนนั้นไม่มีชีวิต Luxury ขนาดนั้น”

“พอเข้าปี 2 อาจารย์ประจำวิชาสถิติจุฬาฯ ชวนมาทำวิจัย Survey ที่สีลม เดินขึ้นไปตามตึก แจกและเก็บแบบสอบถามมานั่งคีย์ข้อมูล ประมวลผลเบื้องต้น ทีแรกให้เป็นชุดๆ ชุดละกี่บาทจำไม่ได้ ตอนหลังให้เป็นเดือน เดือนละ 4,000 บาท เยอะ ดีใจ”

“พอปี 3 เพื่อนๆ เริ่มไปเรียนพิเศษ เพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ กลุ่มเรามีอันจะกินกันหมด มีเราคนเดียวยากจน เพื่อนๆ ก็ไปเรียนโทเฟล ไปเรียน GMAT กัน”

“ตัวเราเองรู้ว่าไม่มีทางไปต่างประเทศได้แน่ แต่ก็ไปแอบเรียนกับเขานะ เพราะเวลาเรียนให้ดูเทป เราก็มุดๆ แอบๆ เข้าไป (หัวเราะ) ไม่ได้จ่ายตังค์ ไปกับเพื่อน”

“พอเรียนๆ ไป พ่อก็ถาม ที่ไปเรียน อยากเรียนต่างประเทศเหรอ ป๊าไม่มีเงินส่งหรอกนะ ถ้าอยากเรียนต่อโท ก็เรียนในประเทศก็ได้ ป๊าจะส่งให้”

เธอตอบกลับไปว่า “ไม่เอาแล้ว แค่ตรีก็พอ ถ้าโทหนูก็จะเก็บตังค์เรียนเอง”

“เราก็เลยนั่งรถเมล์มาที่สำนักงาน ก.พ. ตรงข้ามทำเนียบ แต่ก่อนถ้าจะไปเรียนต่างประเทศก็ต้องมากางแฟ้มที่ ก.พ.ว่ามีทุนที่ไหนอย่างไรบ้าง แล้วก็สมัครทุน”

สุดท้ายเธอสมหวัง-ได้ทุนที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ไปศึกษาต่อต่างประเทศสมใจ

“ศ.ดร.นฤมล” ประดับตำแหน่งทางวิชาการถึง “ศาสตราจารย์” แต่เธอไม่คิดว่า “เกียรติยศ” ต่างๆ จะต้องถูกนำไปทิ้งหลังก้าวเข้าสู่การเมือง-ก๊วนบ้านป่ารอยต่อ ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เบอร์ 1 พลังประชารัฐเป็นหัวหน้ามุ้ง

“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ เป็นสิ่งสมมุติหมดเลย แต่จำเป็นต้องมีในบทบาทนั้น เพื่อที่เราจะได้ทำงานที่เราต้องการ ขับเคลื่อนได้ แต่แหม่มจะไม่หลงกับมันว่า ฉันเหนือกว่าทุกคน ไม่ใช่”

“นฤมล” ครองตำแหน่งศาสตราจารย์ตอนอายุ 37 ย่าง 38 ปี จนรู้สึกว่า เส้นทางวิชาการเดินมาสุดสิ้นทางเลื่อนแล้ว-สูงสุด ไม่มีใครเอาไปได้ เพราะเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ

“เราได้รับเกียรติในแวดวงวิชาการ เริ่มเป็นที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์ฯ 10 กว่าปี เป็นบอร์ดไปรษณีย์ไทย บอร์ดบริษัทเอกชน 7-8 ที่ วันที่ต้องลาออกเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี เพิ่งรู้ว่า เฮ้ย ฉันทำงานอยู่ 13 ที่ ไม่รู้เซ็นใบลาออกทำไม”

ทว่าการมาเป็นนักการเมือง-ยืนแถวหน้า เธอยอมรับว่า ชีวิตเปลี่ยนเยอะ (เน้นเสียง) คนละวงการ เปลี่ยนอย่างแรก เราอยู่ในวงการอาจารย์ เราได้รับเกียรติ ได้รับการยกมือไหว้ ไปไหนก็มีแต่คนเรียกว่าอาจารย์ บรรยายมีแต่คนเชิญเรา

“พอเราทิ้งทุกอย่างมาการเมือง เราต้องขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง (หัวเราะ) มันคนละเรื่อง ที่เราเคยยืนสอน มันไม่ใช่แล้ว ต้องพูดให้ชาวบ้านเข้าใจ”

“ขณะเดียวกันก็ต้องทำความเข้าใจบริบทการเมือง เข้าใจความต้องการของเขา เข้าใจว่า ต้องทำงานสนับสนุนชาวบ้านเพื่อจะเป็นฐานเสียงให้กับนักการเมืองต่อไป ต้องเข้าใจหลายอย่างที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน (หัวเราะ)”

เมื่อโชคชะตา-ฟ้าลิขิตชีวิตจาก “แผ่นดินใหญ่” สู่ “แผ่นดินแม่” เธอจึงไม่ลืมเพื่อนร่วมชาติ ที่ข้ามน้ำ-ข้ามทะเล เพียงเสื่อผืนหมอนใบ ทันทีที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ด้วยการโน้มน้าวบริษัทหัวเว่ย ด้านซีเอสอาร์ให้กับคนพิการในไทย

“แหม่มคนจีน 100 เปอร์เซ็นต์นะ ในตัวไม่มีเลือดคนไทย อากง อาม่านั่งเรือมาจากเมืองจีน มาลำบากยากเข็ญในประเทศไทย เป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 แล้ว คนที่เป็นเหมือนแหม่มในประเทศไทยอีกเยอะนะ ที่เป็นลูกหลานคนจีนหนีความยากจนลำบากมาแล้วมาอยู่เมืองไทย คุณมาช่วยโครงการแบบนี้ก็เท่ากับพี่น้องคนจีนที่อยู่ในประเทศไทย”

จบบันทึกชีวิต-เริ่มบทเส้นทางการเมือง “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เธอผู้ฉีกกฎ “คนคำนวณไม่สู้ฟ้าลิขิต”