สุทธิชัย หยุ่น | จากปักกิ่งถึงวอชิงตัน : Competition (แข่งขันฉันมิตร)

สุทธิชัย หยุ่น

ฟู่หยิงเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของจีน ตำแหน่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ “ศูนย์ศึกษาความมั่นคงและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ” ของมหาวิทยาลัยชิงหวา

อีกตำแหน่งหนึ่งของเธอคือรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติครั้งที่ 13

เธอเคยเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำอังกฤษ, ออสเตรเลียและฟิลิปปินส์

ฟู่หยิงเกิดที่เมือง Hohhot ของมองโกเลียใน เธอเป็นผู้หญิงคนแรกและเชื้อสายชาติพันธุ์คนเดียวที่ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของจีนตั้งแต่ปี 1979

เธอเพิ่งเขียนบทความตีพิมพ์ในหน้าบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ New York Times เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมาโดยยืนยันว่า

จีนกับสหรัฐสามารถจะอยู่ร่วมกันและแข่งขันกันฉันมิตรได้หากทั้งสองฝ่ายจะเคารพในความเห็นต่างของกันและกัน

ผมเคยสัมภาษณ์ฟู่หยิงหลายปีก่อนตอนที่เยือนประเทศไทยว่าด้วยประเด็นจีนกับอาเซียน…โดยที่เธอเน้นถึงการ “อยู่ร่วมกันแม้จะเห็นต่าง” ระหว่างจีนกับอาเซียนเช่นกัน

บทความที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สตีพิมพ์นั้นมีหัวข้อว่า “Cooperative Competition is Possible Between China and the US”

เธอยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้รับผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

“สหรัฐเชื่อว่าจีนมีความปรารถนาที่จะครองโลก (hegemony) ขณะที่จีนเห็นว่าสหรัฐพยายามที่จะสกัดเส้นทางไปข้างหน้าของจีนและพยายามจะขวางกั้นความมุ่งหวังของประชาชนคนจีนที่จะแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเดิม” เธอเกริ่นนำ

เธอยอมรับว่า ทั้งสองประเทศต่างมองซึ่งกันและกันด้วยความระแวงสงสัย และต่างก็มองอีกฝ่ายหนึ่งว่ากำลังจ้องจะบ่อนทำลายตนอยู่ตลอดเวลา

เธอยกตัวอย่างว่า จีนได้เสนอโครงการ “ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road) เพื่อเป็นกิจกรรมระดับโลกเพื่อส่งเสริมการเติบโตและการเชื่อมต่อให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

แต่สหรัฐตีความว่านี่เป็นโครงการที่จีนมีเป้าหมายจะครองความเป็นเจ้าโลกทางด้านภูมิรัฐศาสตร์

ฟู่หยิงบอกว่า หากจะรื้อฟื้นสัมพันธ์ไมตรีระหว่างสองประเทศ ต่างฝ่ายต่างต้องประเมินเป้าประสงค์ของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแม่นยำมากขึ้น

เธอยืนยันว่า “จีนไม่ต้องการมาทดแทนสหรัฐในฐานะเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือโลก อีกทั้งจีนก็ไม่ต้องกังวลว่าสหรัฐจะมาเปลี่ยนระบบของจีน”

เธอบอกว่า จะเป็นโศกนาฏกรรมของประวัติศาสตร์ทีเดียวหากสองประเทศที่มีพลังขนาดนี้จะขยับสู่การเผชิญหน้าบนพื้นฐานของความเข้าใจผิดต่อกันและกัน

หากเป็นเช่นนั้นผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศก็จะได้รับผลกระทบ

และธุรกิจกับประชาชนจำนวนมากมายจะต้องเป็นผู้ต้องออกค่าใช้จ่ายนั้น

ฟู่หยิงเสนอว่าทั้งสองประเทศควรจะต้องหาทาง “แข่งขันกันแบบถ้อยทีถ้อยร่วมมือกัน”

เธอใช้ภาษาอังกฤษว่า “coopetition” ซึ่งมาจากการควบรวมของคำว่า cooperation (ความร่วมมือ) กับ competition (การแข่งขัน)

ในฐานะนักวิชาการ-นักการทูตที่มีประสบการณ์ยาวนาน เธอยอมรับว่าปักกิ่งจะต้องฟังและใส่ใจความกังวลของบริษัทอเมริกันในจีนเกี่ยวกับประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา, ความปลอดภัยไซเบอร์และสิทธิส่วนบุคคล

เธอบอกว่า ฝ่ายจีนกำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎเกณฑ์กติกาเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ เหล่านี้

เธอบอกว่าเมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติของจีนได้อนุมัติข้อแก้ไขเพิ่มเติมของกฎหมายลิขสิทธิ์ และหนึ่งในสาระใหม่คือการเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิดกฎหมาย

ขณะเดียวกันเธอก็เสนอว่าวอชิงตันก็ต้องดำเนินการให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขันสำหรับธุรกิจจีนในสหรัฐ

“ความกลัวของสหรัฐต่อข้อได้เปรียบของหัวเว่ยไม่ควรจะถูกแสดงออกผ่านการข่มขู่รังแกของรัฐบาล เพราะการกระทำเช่นนั้นไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบทางลบต่อบริษัทเท่านั้น แต่ยังเป็นการจำกัดการเข้าถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประชาชนจำนวนมากด้วย…รัฐบาลสหรัฐควรจะส่งเสริมให้บริษัทของตนเองสร้างความสามารถในการแข่งขันกับหัวเว่ยมากขึ้นกว่าเดิม…”

ฟู่หยิงยกตัวอย่างกรณี TikTok และความพยายามของสหรัฐที่จะสกัดเทคโนโลยีของจีนด้วยข้ออ้างเรื่องภัยคุกคามทางความมั่นคงทั้งๆ ที่ฝ่ายจีนได้ต้อนรับเทคโนโลยีจากตะวันตกและสหรัฐเข้าประเทศจีนมากว่า 40 ปีแล้ว

“หากทั้งสองฝ่ายเจรจากันอย่างเท่าเทียมและตรงไปตรงมา ก็ควรจะสามารถสร้างพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์ระยะยาวที่แข็งแกร่งและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย”

เธอยกประเด็นเรื่องไต้หวันและทะเลจีนใต้เตือนสหรัฐว่าฝ่ายจีนมีนโยบายที่แน่ชัดและยืนยันในสิทธิ์ของตน

“การที่สหรัฐไม่เข้าใจความละเอียดอ่อนของประเด็นเรื่องไต้หวันและทะเลจีนใต้ของจีนนั้นทำให้ปักกิ่งมีความสงสัยคลางแคลงในเจตนารมณ์ของวอชิงตัน”

ฟู่หยิงยิงคำถามตรงๆ ว่า

อเมริกาต้องการช่วยไต้หวันประกาศเอกราชหรือ?

สหรัฐเข้าข้างประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ที่อ้างสิทธิ์ (ในทะเลจีนใต้) เพื่อที่จะด้อยค่าและหยามเหยียดจีนอย่างที่จักรวรรดินิยมเคยทำในอดีตหรือ?

เธอจึงเสนอว่า กองทัพของทั้งสองประเทศควรจะพูดคุยกันในระดับยุทธศาสตร์เพื่อสร้างกลไกในการบริหารวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นและวิธีการอื่นๆ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ

“เรื่องนี้มิใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในช่วงปลายของทศวรรษ 1990 นั้น จีนกับสหรัฐได้ตั้งกลไกปรึกษาหารือเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล ต่อมาก็ได้มีการวางแนวทางเพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกันในทะเลและทางอากาศ โดยมีการติดตั้ง “สายด่วน” ระหว่างกันเพื่อลดกระแสวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้น…

และเมื่อเร็วๆ นี้สองประเทศก็ได้ก่อตั้งกลไกทางการเพื่อแจ้งให้แต่ละฝ่ายได้ทราบถึงกิจกรรมทางทหารของแต่ละประเทศ…”

ฟู่หยิงยังพูดถึงความร่วมมือของสองประเทศในเรื่องโควิด-19, โลกร้อน, เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ, ความมั่นคงทางดิจิตอลและกติกาควบคุมการทำงานของ AI

เมื่อสองปีก่อน ฟู่หยิงตีพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ของเธอชื่อ A Dialogue with the World (บทสนทนากับโลก) เพื่อตอกย้ำถึงแนวคิดของเธอต่อบทบาทของจีนในเวทีระหว่างประเทศ

โดยเน้นบทบาทของจีนในโลกยุคศตวรรษที่ 21

คำถามใหญ่ๆ ที่เธอพยายามจะตอบมีเช่น

การที่จีนเติบใหญ่อย่างรวดเร็วมีความหมายต่อโลกอย่างไร?

ระเบียบโลกใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร?

บทบาทของจีนในระเบียบใหม่นี้จะเป็นเช่นไร?

จีนจะช่วยออกแบบโลก และโลกจะช่วยออกแบบจีนอย่างไร?

เธอบอกว่า การที่จีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลังนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากทั่วโลก

ทั้งด้านบวกและด้านลบ

“ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสะพานระหว่างจีนกับส่วนอื่นๆ ของโลกเพื่อการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน”

เธอบอกว่า ข้อมูลเกี่ยวกับจีนทั้งที่มาจากจีนเองและแหล่งอื่นๆ ยังมีจำกัดและค่อนข้างจะ “ลำเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง”

ฟู่หยิงยอมรับว่า เมื่อข้อมูลเกี่ยวกับประเทศจีนมีจำกัดและไม่รอบด้านก็ทำให้ผู้คนในประเทศอื่นๆ จำนวนหนึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าของจีน

เธอยกตัวอย่างบทความของเธอเกี่ยวกับประเด็นเรื่องนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

“ดิฉันได้เท้าความให้เห็นถึงลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อให้เห็นถึงบทบาทของจีนในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ…และชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคที่ขัดขวางความคืบหน้าของการเจรจาและทำไมสหรัฐจึงพลาดโอกาสในการแก้ไขปัญหานี้ครั้งแล้วครั้งเล่า…”

ฟู่หยิงบอกว่า หากอ่านบทความของเธอเรื่องนี้ก็จะเข้าใจจุดยืนของจีนและเหตุผลของการตัดสินใจของจีน

มือเก๋าทางการทูตและการเมืองอย่างฟู่หยิง…พูดอะไรออกมาถือว่าสะท้อนแนวคิดของสีจิ้นผิงได้ตรงๆ เลยทีเดียว