นิ้วกลม | สังคมเปลี่ยน “สิทธิ” เปลี่ยน

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1การเรียกร้องสิทธิเกิดจากจิตสำนึกทางสังคมและการเมืองอย่างใหม่ที่ขัดแย้งกับโลกทัศน์เก่าที่ครอบงำและมีอำนาจอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงก่อเกิดเป็นการต่อต้าน

ทุกพื้นที่ในโลกใบนี้ล้วนมีโลกทัศน์แบบเก่าและแบบใหม่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตลอดเวลา

เมื่อพูดถึง “สิทธิ” จึงน่าสนใจว่าในบ้านเมืองเรามีแนวความคิดกับคำนี้อย่างไรบ้าง

เปิดอ่านหนังสือ “กำเนิดและความเป็นมาของสิทธิมนุษยชน” โดยอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งเท้าความตั้งแต่ความหมายของ “สิทธิ” ในยุคโบราณที่หมายถึงข้อกำหนดและข้อห้ามในการกระทำที่ไม่เป็นผลดีต่อส่วนรวม เป้าประสงค์ของมันจึงได้แก่ ความอยู่รอดปลอดภัยของชุมชนและของสมาชิกทุกคน

“สิทธิ” ในยุคก่อนเป็น “ข้อห้าม”

อาจพูดได้ว่าเป็นสิทธิของชุมชนมากกว่าสิทธิของบุคคล

คือห้ามบุคคลไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่เป็นผลดีต่อชุมชน

สังคมไทยในอดีตให้ความสำคัญกับ “หน้าที่” มากกว่า “สิทธิ”

อาจเกี่ยวข้องกับคติพุทธศาสนาที่เชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่า แปลว่าเราเป็นหนี้คนอื่นอยู่ ชาตินี้จึงมีหน้าที่ปฏิบัติกลับคืนแก่เขา ซึ่งคนที่เราต้องบริการรับใช้ก็คือคนที่สั่งสมบุญบารมีมามากกว่า

แนวคิดนี้แสดงออกในกฎหมายตราสามดวงด้วย จากการกำหนดหน้าที่ของคนแต่ละลำดับชั้นที่มีต่อผู้มีฐานะตำแหน่งเหนือตน

เช่น กษัตริย์ซึ่งเป็นผู้มีบุญบารมีสูงสุดได้กำหนดให้คนอื่นๆ อันได้แก่ เจ้านาย ขุนนาง ไพร่ และทาส ว่าจะต้องมีหน้าที่ต่อกษัตริย์อย่างไร

ส่วนกษัตริย์มีหน้าที่ต่อศาสนาและธรรมเท่านั้น

สิทธิในสังคมศักดินายุคโบราณคืออำนาจอันชอบธรรมที่ได้มาและมีอยู่ตามฐานะและยศถาบรรดาศักดิ์ของคนนั้นๆ

“สิทธิ” จึงเท่ากับ “อภิสิทธิ์” ของชนชั้นนำเพื่อปกครอง ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ไม่เสียภาษี และได้ผลประโยชน์จากแรงงานไพร่ สิทธิเช่นนี้มีติดตัวมา ไม่สามารถเรียกร้องเอาได้

ส่วนในมุมของชนชั้นไพร่ สิทธิคือการได้รับความคุ้มครองจากมูลนาย ซึ่งจะได้รับสิทธินี้จากการยอมตนลงเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจรัฐ และปฏิบัติหน้าที่ของตนที่มีต่อมูลนายและรัฐหรือกษัตริย์ เป็นการแลกเปลี่ยน

“สิทธิ” ในลักษณะนี้จึงเป็นระเบียบสังคมในแนวดิ่ง มิได้ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมแต่อย่างใด

2ความเปลี่ยนแปลงของแนวความคิดที่มีต่อ “สิทธิ” เกิดขึ้นเมื่อเป้าหมายของสิทธิมิใช่เพื่อบรรลุจุดหมายของชุมชนหรือส่วนรวมอีกต่อไป แต่กลับเป็นเครื่องมือในการสร้างและบรรลุความเป็นตัวของตัวเองของปัจเจกชน หรือการบรรลุจุดหมายของ “ความเป็นคน” ไปแทน

เมื่อคนเริ่มตระหนักว่ามิได้มีชีวิตอยู่เพื่อชุมชน แต่ต้องการก่อร่างชีวิตของตัวเองขึ้นมาในแบบที่คิดฝัน

รากฐานความคิดเช่นนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถมีเหตุผลได้ และการกระทำที่มีเหตุผลจะนำไปสู่ความสำเร็จ เจตจำนงของมนุษย์ (ตามเหตุและผล) จึงเป็นเรื่องที่ปรัชญาตะวันตกให้ความสำคัญมาเนิ่นนาน

ผ่านยุคเรเนซองส์ซึ่งหวนกลับมาให้ความสำคัญกับมนุษย์มากขึ้น หลังจากซบเซาไปในยุคกลาง จนถึงยุควิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยการค้นพบมากมาย กระทั่งสถานะของพระเจ้ายังต้องสั่นคลอน

เหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความคิดที่ใช้มอง “ธรรมชาติ” ในมุมใหม่ โดยมิได้มองว่าสังคมมนุษย์นั้นเป็นลำดับชั้นตามตำแหน่งหรืออำนาจพิเศษ

แต่เป็นธรรมชาติของความเท่าเทียมและเป็นเสรีเสมอหน้ากัน

นี่คือการเปลี่ยนแปลง “สภาพจิต” ซึ่งถูกรองรับด้วยเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจ

ในยุโรปช่วงก่อนการปฏิวัติเกิดการขยายตัวของเมืองอย่างมาก ผลผลิตและการค้าเฟื่องฟู มีการรวมตัวจัดตั้งสมาคมช่างฝีมือต่างๆ เครื่องมือและความรู้พัฒนาขึ้น เกิดเมืองและคนเมืองที่กลายมาเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการก่อเกิดประชาธิปไตยในยุคแรก

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ชนชั้นแรงงานก็ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกแยกออกจากที่ดินทำกิน มีคนตกงานจำนวนมาก เมื่อระบบศักดินาล่มสลายก็กลายเป็นข้าไร้นายจำนวนมาก

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนั้นจึงเกิดการต่อสู้เรียกร้องจากกลุ่มคนที่ไม่ได้มีอำนาจปกครองในมือหรือในตระกูลต่อกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์และมีอภิสิทธิ์ผูกขาดมาโดยตลอด

ผลลัพธ์คือ “สิทธิ” ได้เคลื่อนจากผู้ปกครองคนเดียวหรือกลุ่มเดียว มายังปัจเจกชนที่หลากหลายขึ้น

อาจารย์ธเนศอธิบายไว้ว่า

“ปัจเจกชนกลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจุดหมายในตัวเอง และตัวตนของบุคคลก็เป็นผู้สร้างและกำกับจริยธรรมของตนเองด้วย เป็นครั้งแรกที่มนุษย์ซึ่งไม่มีอำนาจฐานันดรอะไรรองรับเลย สามารถประกาศต่อโลกว่า พวกเขาเป็นเจ้านายเหนือหัวตัวเอง และไม่มีใครสามารถเอาเขาลงเป็นข้าทาสหรือไพร่ภายใต้สังกัดเจ้านายได้อีกต่อไปแล้ว เพียงเพราะเขาเป็น “มนุษย์” เท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะได้และมีสิทธิ”

โดยที่พวกเขาใช้ “เหตุผล” ในการสร้างความเป็นมนุษย์ของตัวเองให้สมบูรณ์

เมื่อมนุษย์เป็นจุดหมายในตัวเอง จึงนำไปสู่การสร้างสังคมเพื่อรองรับปัจเจกชนทั้งหลาย ต่างจากที่แต่ก่อนปัจเจกชนต้องใช้ชีวิตเพื่อรองรับเป้าหมายของสังคม

3อาจารย์ธเนศชี้ความแตกต่างเรื่องการใช้สิทธิในสังคมไทยกับตะวันตกว่า ในไทยมักอ้างและใช้สิทธิในกรอบของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ซึ่งควบคุมและกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของแต่ละฝ่ายเอาไว้แล้ว

คือผู้มีตำแหน่งสูงกว่าต้องดูแลผู้น้อย และผู้ใหญ่ย่อมมีศีลธรรมมากกว่า

สิทธิจึงไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมาเรียกร้องจากผู้ใหญ่ได้ ตรงกันข้าม, ผู้น้อยควรปฏิบัติหน้าที่และเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่อย่างไม่ขาดตกบกพร่องต่างหาก ผู้ใหญ่จึงจะเมตตาและให้รางวัลตอบแทน

ผู้ใหญ่เองนี่แหละที่มีหน้าที่ในการให้สิทธิในเรื่องต่างๆ ตามที่เห็นสมควรแก่ผู้น้อย

จึงไม่แปลกที่ท่านผู้นำจะรู้สึกและพูดย้ำเสมอว่า “หน้าที่ผมคือต้องดูแลคนไทยเจ็บสิบล้านคน ทุกคนก็เหมือนลูกหลานทั้งนั้น”

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน โลกทัศน์ของผู้คนในสังคมบางกลุ่มย่อมเปลี่ยนแปลงไป

จึงเกิดมุมมองต่อสิทธิของตนเองที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นมากมายในโลก

ผู้คนต้องการยืนยันตัวตน ความชอบธรรม และความต้องการของตัวเอง

พวกเขาต้องการมีชีวิตอยู่เพื่อตอบสนองเป้าหมายเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเรื่องฐานะ ยศตำแหน่ง ศาสนา ความเชื่อ รสนิยมทางเพศ ชาติพันธุ์ สภาพร่างกาย ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเดียวกันกับสิทธิที่ถูกเรียกร้อง และความเท่าเทียมก็คือการที่ทุกคนมีสิทธิสร้างสรรค์และค้นหาอัตลักษณ์ให้ตัวเองได้

ขณะเดียวกันก็มีสิทธิในการดำเนินชีวิตโดยกำหนดความดีงามของตนซึ่งอาจไม่ตรงกับที่ผู้ใหญ่กำหนดไว้

อีกทั้งยังสามารถตั้งคำถามต่อผู้ใหญ่เมื่อเห็นสิ่งไม่โปร่งใสได้ด้วย

แน่นอนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมเกิดความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มหรือหลายกลุ่ม

แต่ทุกความขัดแย้งสามารถคุยกันได้ถ้าทุกฝ่ายใช้เหตุผล มิใช่อารมณ์ ความรู้สึก หรือกล่าวอ้างนามธรรมล่องลอย

เมื่อการไตร่ตรองด้วย “เหตุผล” ค่อยๆ เข้ามาแทนม่านหมอกแห่ง “ความรู้สึก” สิทธิจึงมิใช่สิ่งที่มีเพียงคนที่ตำแหน่งสูงกว่า โตกว่า เป็นผู้ใหญ่กว่าเท่านั้นที่จะได้รับหรือได้ใช้

หากคือ “ธรรมชาติ” (ที่ถูกตีความใหม่) ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน

ในหนังสือเล่มนี้ อาจารย์ธเนศอ้างถึงความหมายของสิทธิในประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งคือ “สิทธิคือสิ่งที่คนอื่นๆ ก็ต้องมองเห็นเช่นนั้นเหมือนกับเรา” นั่นคือนอกจากบุคคลที่เป็นประธานในการอ้างสิทธิของตัวเองแล้ว ยังต้องมี “สังคม” ที่เป็นจินตนาการร่วมของสมาชิกในสังคมนั้นรองรับด้วย

เมื่อสังคมเดินทางมาถึงจุดที่ “สิทธิ” ถูกนำมาถกแถลงกันอย่างแพร่หลาย เราอาจอยู่ในยุคสมัยที่ผู้คนกำลังตกลงกันว่า “สิทธิ” ในสังคมไทยปัจจุบันควรเป็นอย่างไร

ถึงที่สุดแล้ว มุมมองของสมาชิกในสังคมที่มีต่อ “สิทธิ” ของผู้อื่นและตัวเองจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบไหนนั้นเป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะสิทธิที่สังคมยอมรับจะเป็นตัวกำหนดสิทธิของบุคคลในเรื่องต่างๆ รวมถึงบุคคลในสถานะต่างๆ ของสังคม

เมื่อความคิดในสังคมเปลี่ยน “สิทธิ” ก็เปลี่ยนตามไปด้วย