มนัส สัตยารักษ์ | ไม่อยากเห็นสงครามกลางเมือง

เริ่มสับสนมากขึ้นกับจุดยืนและอุดมการณ์ของกระบวนการชู 3 นิ้ว หรือ “ม็อบชู 3 นิ้ว” หรือ “เยาวชนปลดแอก (Free Youth)” หรือ “คณะราษฎรปลดแอก”

เมื่อมีการประกาศว่ากระบวนการได้พัฒนาไปถึงขั้นที่จะเปลี่ยนระบบการปกครองเป็น “สาธารณรัฐ” และมีแกนนำชุดหนึ่งเสนอแนวคิด “คอมมิวนิสต์” พร้อมสัญลักษณ์คล้ายค้อน-เคียว

เป็นเหตุให้ “เพนกวิน” หรือพริษฐ์ ชิวารักษ์ แถลงการณ์ชี้แจงว่า ตัวเขาเป็นสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ที่สำคัญไม่ใช่แนวทางของเขา และไม่ใช่มติของคณะราษฎร

เขายังคงยึดมั่นในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไม่มีศักดินาแทรกแซงครอบงำ เพื่อประชาธิปไตยที่มีรัฐสวัสดิการโอบอุ้มชีวิตของทุกคน

เริ่มต้นดูเหมือนชาวม็อบเรียกตัวเองว่า “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” แต่เมื่อมีการไม่ยอมรับจากศิษย์เก่า มธ.รุ่นพี่ และฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยบางท่าน สื่อจึงมักเรียกว่า “เยาวชน 63” ที่สั้นและกระชับกว่า ตามมาด้วย “เยาวชนปลดแอก” แล้วพัฒนาเป็น “ประชาชนปลดแอก” และ “คณะราษฎร 63”

ถ้าจำไม่ผิด คำว่า “ปลดแอก” ฮิตขึ้นมาหลังจากวาทกรรม “สู้เป็นไทย ถอยเป็นทาส” ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า บัญญัติขึ้นในวงสื่อสารการเมือง

เกี่ยวกับชื่อและจุดยืน ผู้เขียนคอลัมน์นี้อาจจะสับสน แต่ยืนยันได้ว่าก็จะประมาณนี้แหละ

ชุมนุมครั้งแรกที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต อุดมการณ์ที่ประกาศคือ แสดงตนเป็นประชาธิปไตย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา ต่อมาเพิ่มข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เช่น มีสิทธิ์ตรวจสอบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยอ้างปฏิรูปสถาบัน สร้างอาการช็อกแก่ประชาชนผู้ศรัทธาและยึดมั่นในระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ม็อบครั้งถัดมาและถัดมาขยายข้อเรียกร้องและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น พวกเขาต้องการปลดแอกแบบฮ่องกง ต้องการปฏิรูปสถาบันด้วยวาจาที่ก้าวร้าวจาบจ้วง ต่อมาอุดมการณ์ทะลุเพดานจะเป็น “สาธารณรัฐ” หรือ “คอมมิวนิสต์” ด้วยสัญลักษณ์ค้อน-เคียว ที่ดัดแปลงมาจากตัวอักษร R และ T ที่มาจาก Restart Thailand

ประเด็นที่ว่าต้องการเป็นคอมมิวนิสต์นี้ ไม่มีใครคิดว่าพวกเขาจะเอาจริง เชื่อว่าเป็นการเล่นปาหี่มากกว่า ด้วยว่าลัทธินี้ล้าสมัยไปแล้วในยุคปัจจุบัน ภาพการแต่งกายสวมหมวกดาวแดงก็แค่ต้องการ “ป่วน” รัฐบาลเอาฮาเท่านั้น และพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ฉลาดพอก็ได้ออกแถลงการณ์ว่าเป็นแนวทางของประชาชนปลดแอก ไม่ใช่แนวทางของเขา

ส่วนประเด็นเสนอให้ไทยเป็น “สาธารณรัฐ” นั้น ไม่จำเป็นต้องพูดถึงในเวลานี้ แม้จะยอมรับว่าทุกอย่างในโลกย่อมเปลี่ยนแปลงได้ แต่ยังเชื่อว่ากว่าที่เวลานั้นจะมาถึงก็คงหลังจากเกิดสงครามกลางเมืองแล้วนั่นแหละ

จะว่าไปคนรุ่นดึกดำบรรพ์สับสนมาตั้งแต่แรกเริ่มที่พวกเขาจัดตั้งกระบวนการม็อบทีเดียว แต่พยายามทำความเข้าใจเพราะเราต่างไม่ชอบเผด็จการทหารอยู่แล้ว ถ้าจะระบุว่าใครบ้างเป็นแกนนำก็จับความเอาตามที่สื่อเรียก เช่น เพนกวิน รุ้ง ไมค์ ทนายอานนท์ และอีกหลายคน จนกระทั่งพวกเขาถอดตัวเองออกจากการเป็น “แกนนำ” ในการก่อม็อบในช่วงต้นธันวาคม 2563 เมื่อทางการเริ่มดำเนินคดีในหลายข้อหารวมทั้งมาตรา 112

ไม่มีแกนนำ ไม่ตั้งเวที ไม่มีการ์ด และไม่มีรถห้องน้ำ หลังจากถูกทางฝ่ายบ้านเมืองแจ้งสารพัดข้อหาในหลายท้องที่เกิดเหตุ

แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าหลังปีใหม่ 2564 วิธีการต่อสู้ของกระบวนม็อบจะต้องรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน

ด้วยความเชื่อเช่นนี้จึงอยากให้แกนนำม็อบ (ตัวจริง) หวนไปดูคลิปเก่าๆ ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนไทย ที่ให้สัมภาษณ์และพูดถึง “ตำแหน่งแห่งที่และพรมแดนความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย”

โดยหวังว่าจะป้องกันกระบวนการม็อบมิให้หลงทางเข้ารกเข้าพง

อาจารย์นิธิพูดและตอบคำถามหลายประเด็น ล้วนเป็นความจริงที่ต้องรับฟังและทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทำตามทั้งสิ้น

สรุปได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจำเป็นต้องมี “เสถียรภาพ” มากกว่านี้ จึงต้องปฏิรูป

สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยควรเข้มแข็งเหมือนสหราชอาณาจักร ซึ่งมีประสบการณ์ว่า พระมหากษัตริย์ควรมีบทบาทรักษากติกาอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย สถาบันเป็นส่วนหนึ่งที่แยกออกไม่ได้จากระบอบประชาธิปไตย

พระมหากษัตริย์เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย จึงเป็นอันตรายกับสถาบันเอง

ตอนหนึ่งอาจารย์นิธิบอกว่า เผด็จการทหารรอให้เราคิดว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของนายพลและจอมพลทั้งหลาย เป็นสมบัติของคนจำนวนน้อย คนจำนวนน้อยนี้ใช้มาตรา 112 โดยอ้างว่าปกป้องสถาบัน

ตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาจนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผูกขาดสถาบัน เป็นการทำร้ายสถาบันในระยะยาว ทำให้คนอื่นอยู่นอกวงของความจงรักภักดี

การปล่อยให้คนจำนวนน้อยไปหวงพระมหากษัตริย์ไว้ ไม่หวงไว้เฉยๆ แต่เอามาใช้ประโยชน์ ใช้ ม.112 ไล่จับประชาชนโดยอ้างว่าปกป้องพระมหากษัตริย์ เป็นอันตราย ทำร้ายสถาบันในระยะยาวด้วย

อาจารย์นิธิต้องการให้พูดถึงสถาบันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ใช้วิธีการกระทบกระเทียบ ประชดประชัน ด่า ประณามโดยไม่ต้องแสดงเหตุผล การพูดตรงๆ เป็นการแสดงความเคารพมากกว่า และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสถาบันด้วย

ผมเชื่ออาจารย์นิธิจึงอยากให้กระบวนการม็อบเชื่อเช่นกัน เพราะการใช้วิธีการกระทบกระเทียบ ประชดประชัน ด่า ประณาม รวมถึงที่ม็อบชู 3 นิ้วใช้วาจาก้าวร้าว จาบจ้วงสถาบันด้วยถ้อยคำหยาบคายและไม่เป็นความจริงนั้น เป็นการเหยียบย่ำศรัทธาผู้อื่นด้วย

มาถึงวันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าผมเกลียดชังใครมากกว่ากัน ระหว่างรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับม็อบชู 3 นิ้ว (ที่อ้างว่าไร้แกนนำ) ทั้ง 2 ฝ่ายต่าง “ผลัก” คนดีหรือคนเจตนาดีไปเป็นศัตรูหรือไปเป็นฝ่ายตรงข้ามกันหมด

เดิมนั้นผมมีความหวังกับคนรุ่นใหม่มากมาย แล้วค่อยๆ ละลายหายไปกับความหมดหวัง

เดิมนั้นผมชิงชัง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยว่าท่านแสดงอาการกราดเกรี้ยวใส่สื่อมวลชนและประชาชน ต่อมาบริวารและลูกน้อง ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. (รวมทั้งที่ไม่ใช่) ดาหน้ากันออกมาแสดงอาการเดียวกันกับลูกพี่ บูลลี่หรือกราดเกรี้ยวเอากับทุกคนที่คิดว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม บางคนหาเรื่องออกไปโชว์โง่ หรือให้เด็กถอนหงอก ต่างทำให้เราเกลียดชัง พล.อ.ประยุทธ์มากขึ้น

คิดดูอีกที คลิป “ตำแหน่งแห่งที่และพรมแดนความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย” ควรให้นายกรัฐมนตรีและบริวารดูด้วย

ผมยังไม่เปลี่ยนใจกับที่ว่า “ไม่อยากเห็นสงครามกลางเมือง” นั่นนะครับ