ธงทอง จันทรางศุ | ไลน์ปริศนา ? ที่มาการบังคับแต่งชุดนักเรียนที่อ่านแล้ว “มึน”

ธงทอง จันทรางศุ

“ต้นเรื่อง” มาจาก “ไหน”

เมื่ออายุของผมยืนยาวมาถึงวันนี้

ถ้ามีใครสักคนหนึ่งมาถามผมว่า ผมอ่านหนังสือมาแล้วตลอดชีวิตเป็นจำนวนสักกี่เล่ม

จ้างให้ผมก็ตอบไม่ถูกครับ

ในวัยขนาดนี้จะให้จำอะไรได้แม่นยำเหมือนตอนเป็นหนุ่มได้เล่า

บางทีก็เลอะเลือนเสียแล้วว่าเรื่องบางเรื่องที่ตัวเองจำได้นั้น ต้นทางมาจากหนังสือไหนกันแน่

ทุกอย่างดูผสมปนเปกันไปหมด

รู้ได้แต่เพียงเลาๆ ว่าเคยอ่านผ่านตามาแล้วแน่นอน

ตัวอย่างเช่น ผมเคยอ่านหนังสือที่เล่าว่าในราชสำนักแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ก็ไม่แน่ใจเสียแล้วว่าเป็นเมืองอังกฤษหรือเยอรมนี ยุคสมัยหนึ่งมีความพยายามที่จะตัดทอนงบประมาณให้ลดลง จึงมีผู้ใส่ใจไปตรวจสอบดูรายการรายละเอียดของงบประมาณที่ตั้งอยู่เป็นประจำทุกปี

พบว่ามีรายการจัดซื้อ “เทียนไข” เป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีใครเห็นเทียนไขเหล่านั้นเลยได้นำมาใช้งานเลย เพราะในเวลากลางคืนก็มีไฟฟ้าให้แสงสว่างอยู่เป็นประจำแล้ว

เมื่อสอบสวนทวนความรู้จึงได้ความว่า งบประมาณซื้อเทียนไขนี้ตั้งมาเป็นประจำตั้งแต่ยุคที่ไม่มีไฟฟ้า

และเมื่อตั้งรายการแบบนี้อยู่ในงบประมาณขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว มันก็จะอยู่ตลอดไป

อยู่มานานจนกระทั่งทุกคนลืมเหตุผลแล้วว่าทำไมต้องซื้อเทียนไข และทุกคนก็มีความสุขที่จะไม่ต้องย้อนกลับไปถามหาเหตุผล ทำกันต่อไปก็แล้วกัน

สบายใจดี

พอไปถามหาต้นตอและพบเหตุผลอย่างนี้จึงโวยวายกันขึ้นมา ปีต่อไปก็ไม่ต้องซื้อเทียนไขจำนวนมหาศาลอีกแล้ว

เรื่องทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเรื่องเล่าข้างต้นเพียงเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในชีวิตรอบตัวของเรานี่เอง

เย็นวันนี้ก่อนที่ผมจะมานั่งเขียนอะไรอยู่ตรงนี้ ผมได้ไปงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคารพนับถือ ก่อนถึงเวลาพระราชทานเพลิง ผมมีโอกาสได้นั่งคุยกันกับผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกันมานานกว่ายี่สิบปีท่านหนึ่ง ซึ่งเวลานี้ก็ไม่มีอะไรทำพอกันกับผมเพราะอายุห่างกันเพียงแค่ปีเดียว และแน่นอนว่าผมแก่กว่า อิอิ

คนแก่สองคนพบกันจะคุยอะไรได้นอกจากเรื่องความหลัง

ท่านที่สนทนากับผมวันนี้มีอาชีพดั้งเดิมเป็นผู้พิพากษาครับ และมีกิตติศัพท์ที่ผมได้ยินมาแต่ไหนแต่ไรว่า ตอนสอบแข่งขันเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษานั้น ท่านสอบได้เป็นที่หนึ่งของรุ่น ท่านได้เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในเวลาที่มีการอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษาก่อนมีจะได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ได้เป็นผู้พิพากษาเต็มภาคภูมิในเวลาต่อมา

มีธรรมเนียมของห้องอบรมครั้งนั้นว่า จะมีการแบ่งปันหน้าที่กันในระหว่างผู้เข้ารับการอบรม เรียงตามลำดับคะแนนที่ได้ก่อนหลังกัน ผลัดเป็นเวร เวรละสองคน มีหน้าที่จดบันทึกเรื่องราวที่มีผู้หลักผู้ใหญ่มาบรรยายให้ผู้ช่วยผู้พิพากษาทั้งหลายได้รับฟัง แน่นอนว่าวิทยากรท่านแรกจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ท่านรัฐมนตรีต้องมาเปิดอบรม และบรรยายพิเศษต่อเนื่องกันไปอีกหนึ่งชั่วโมง

วันแรกรอบแรกนี้จึงเป็นหน้าที่ของคนที่สอบได้คะแนนเป็นที่หนึ่งและที่สองต้องจดบันทึกว่าท่านรัฐมนตรีพูดอะไรบ้าง

คู่สนทนาของผมเล่าว่า ท่านรัฐมนตรีพูดอยู่นานเกือบหนึ่งชั่วโมง แต่ตัวท่านเองจดเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญได้เพียงแค่ครึ่งหน้ากระดาษ

เมื่อรัฐมนตรีกลับไปแล้ว ท่านได้ส่งบันทึกที่จดไว้ให้แก่ผู้อำนวยการหลักสูตรซึ่งเป็นผู้พิพากษาผู้ใหญ่ได้ตรวจดูว่าจดอะไรไว้ได้บ้าง ท่านผู้พิพากษาผู้ใหญ่อ่านแล้วก็ถามเพื่อนผู้น้องของผมรายนี้ว่า ทำไมถึงจดได้แค่นี้

เจ้าตัวก็บอกอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านนั้นว่า ท่านรัฐมนตรีพูดยาวก็จริง แต่มีสาระเพียงแค่นี้

แสบเข้าไปถึงทรวงไหมล่ะครับ

แถมเพื่อนผมยังถามอาจารย์ผู้ใหญ่ต่อไปอีกว่า ระบบที่ให้จดพร้อมกันสองคนอย่างนี้ทางหลักสูตรมีความมุ่งหมายอยากจะให้เกิดผลอะไรขึ้น เพราะถ้าจะให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนใส่ใจฟังวิทยากรบรรยาย ก็ควรที่จะมอบหมายให้ทุกคนต้องจด ส่วนจะจดได้มากได้น้อยก็แล้วแต่สติปัญญาของแต่ละคน

แล้วที่ให้สองคนจดนี้ ต่อไปจะนำเรื่องที่จดไปทำอะไรต่อ จะไปพิมพ์แจกกันอ่าน หรือว่าจดไว้เฉยๆ

ท่านผู้อำนวยการหลักสูตรฟังแล้วก็นิ่งอั้นไป ไม่ได้ตอบความว่าอะไร เข้าใจว่าเพราะท่านก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าเรื่องราวมันเป็นมาอย่างไร รู้แต่ว่าเขาทำกันมานานแล้ว ก็ให้ทำต่อไปก็แล้วกัน ท่านก็บ่นพึมพำอะไรอีกสองสามคำ แล้วก็ให้เพื่อนผมกลับออกไปจากห้องได้

เรื่องราวก็จบลงแบบเกี้ยเซียะประมาณนี้

เมื่อเราพูดคุยกันมาถึงตรงนี้ ทั้งผมและเพื่อนผู้ร่วมสนทนาต่างมีความเห็นตรงกันว่า อะไรที่เคยทำมาช้านานและจะต้องทำกันต่อเนื่องไป ผู้เกี่ยวข้องควรหยุดคิดและตั้งสติถามตัวเองว่า เหตุผลที่แท้ตอนต้นเรื่องคืออะไร เหตุผลนั้นยังเป็นเหตุผลที่ใช้ได้หรือไม่ในปัจจุบัน

สิ่งแวดล้อมและปัจจัยตัวแปรต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นต่างยุคต่างสมัยต้องนำมาคิดคำนึงอยู่เสมอ ว่าเรื่องราวทั้งหลายควรปรับเปลี่ยนอย่างไร

ผมเป็นครูสอนวิชากฎหมาย เคยจำขี้ปากฝรั่งมาบอกลูกศิษย์ว่า ถ้าเราไม่ยอมให้กฎหมายเปลี่ยนแปลงเลย ก็เท่ากับว่าเรายอมให้คนตายปกครองคนเป็น

เรื่องที่เราคุยกันเย็นวันนี้ยังได้เลยเถิดไปถึงเรื่องอีกหลายเรื่อง รวมทั้งกระแสข่าวที่ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมากเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักเรียนหรือแต่งตัวไปรเวตไปเรียนหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่มีการปฏิบัติมาช้านานแล้ว

แต่มาถึงวันนี้เกิดมีคำถามที่ท้าทายขึ้นมาแล้วล่ะครับว่า เหตุผลของการที่ให้นักเรียนต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนนั้นคืออะไรกันแน่

มีการทำแผ่นป้ายที่เรียกว่าอินโฟกราฟฟิก เผยแพร่อยู่ใน Facebook หรือใน LINE บอกว่าในหลวงรัชกาลที่ห้ามีพระบรมราโชวาทไว้ว่า การแต่งชุดนักเรียนจะทำให้ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีฐานะต่างกัน

ผมอ่านป้ายที่ว่านี้แล้วก็มึนไป

เพราะผมก็ว่าผมอ่านพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท และพระราชหัตถเลขาของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นมามากพอสมควร ก็ยังไม่เคยพบเนื้อความที่ว่านั้นอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นใด

ถ้าผมอ่านตกหล่นไปด้วยสติปัญญาอันน้อย ขอได้โปรดชี้แนะด้วย

เอาเถิดครับ เรื่องป้ายนั้นก็เรื่องหนึ่งที่ผมจะไม่ต่อความยาวสาวความยืดต่อไป

แต่เรื่องเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนไปเรียนหนังสือนั้น ดูเหมือนว่าเวลานี้คนจำนวนหนึ่งกำลังมีความใส่ใจที่จะสอบถามหาเหตุผลที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ และมีคำถามเชิงท้าทายด้วยว่า ถ้าเหตุผลเช่นว่านั้นมีเป็นประการใด มีหลักฐานอะไรสนับสนุนบ้าง

คำถามที่น่าสนใจมีเรื่อยไปจนถึงคำถามว่า การแต่งชุดเครื่องแบบนักเรียนนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคสมัยใดกันแน่ การแต่งชุดนักเรียนมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาอย่างไรบ้าง การแต่งชุดนักเรียนมีความคุ้มค่าคุ้มทุนทางเศรษฐกิจเพียงไร เรื่องนี้ควรสอบถามความเห็นของผู้ปกครองและเด็กนักเรียนประกอบการพิจารณาด้วยหรือไม่

จะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าจะกำหนดให้การแต่งชุดนักเรียนเป็นทางเลือกไม่ใช่การบังคับเด็ดขาด

การที่นักเรียนไม่แต่งชุดนักเรียนมาโรงเรียนจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง เช่น ครูจะไม่อนุญาตให้นักเรียนเข้าเรียนหนังสือได้หรือไม่ หรือจะมีวิธีการอย่างอื่นเพื่อบังคับกฎกติกา ฯลฯ

คำถามไม่รู้จบแบบนี้ ทำดุษฎีนิพนธ์จบปริญญาเอกกันได้เลยทีเดียว

แต่คำตอบที่ว่า นักเรียนต้องแต่งชุดนักเรียนต่อไปเพราะเคยทำกันมาอย่างนี้ เป็นคำตอบที่ไร้ความศักดิ์สิทธิ์เสียแล้วอย่างแน่นอน

พอกันกับคำตอบว่า ต้องซื้อเทียนไขต่อไปเพราะปีที่แล้วก็ซื้อและปีนี้ก็จะซื้ออีก

อย่าลืมสิครับว่า ไฟฟ้ามีมานานแล้ว คำตอบเช่นว่านั้นจึงไม่อาจใช้ได้อีกต่อไป

การไปงานพระราชทานเพลิงศพวันนี้ ทำให้ได้นิทานสอนใจมาพูดคุยกันในที่นี้หนึ่งเรื่อง

คุ้มจริงๆ