วงค์ ตาวัน : ถึง “อดีตคอมมิวนิสต์” ที่เปลี่ยนไปไกลสุดกู่ แต่อ้างตัวเองเป็นสหาย

วงค์ ตาวัน

สหาย

มีคนกลุ่มหนึ่ง ออกมาเคลื่อนไหวในท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองอันร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา โดยเรียกตัวเองว่าเป็นอดีตคอมมิวนิสต์บ้าง อดีตสหายบ้าง ทำนองว่าเป็นกลุ่มคนที่เคยเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขอออกมาแสดงตัวแสดงความคิดเห็นประกาศจุดยืนกับเขาบ้างในช่วงสถานการณ์ขัดแย้งแหลมคมในขณะนี้

แต่ก็มีเสียงโต้แย้งจากคนที่เคยเข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์อีกส่วน โดยเห็นว่าแม้คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งเป็นอดีตคอมมิวนิสต์จริง แต่จะอ้างว่าเป็นตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์ในวันนี้คงไม่ได้ ถือเป็นการแสดงท่าทีของคนกลุ่มดังกล่าวกลุ่มเดียวมากกว่า

รวมทั้งการแสดงจุดยืนของอดีตคอมมิวนิสต์กลุ่มนี้ก็มีความชัดเจนว่าเป็นกลุ่มใกล้ชิดกับรัฐบาล เช่น ชูป้ายประกาศตัวขณะรวมตัวเคลื่อนไหว กลับใช้คำว่าอดีตผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)

“ทั้งที่โดยปกติเหล่าคอมมิวนิสต์ จะไม่ยอมรับคำว่า ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หรือ ผกค.อย่างแน่นอน!!”

คำว่า ผกค.หรือผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เป็นคำที่ทางการใช้ในยุคที่การสู้รบระหว่างกองกำลังคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล เป็นไปอย่างดุเดือดในขอบเขตทั่วประเทศ

เป็นไปตามหลักจิตวิทยา คือเรียกพวกที่สู้รบกับรัฐบาลว่าเป็นพวกก่อการร้าย ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกถึงความเลวร้าย มากกว่าจะมองว่าเป็นพวกขัดแย้งมีอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่เสมอภาค

ไม่ต่างกับที่เรียกกลุ่มก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดใต้ ว่าเป็นพวกโจรใต้ ก็คือตีค่าให้เป็นโจรเท่านั้นเอง ไม่ให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าเป็นพวกที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนใน 3 จังหวัดชายแดน

“คำว่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หรือ ผกค. จึงเป็นคำที่รัฐบาลใช้เรียกเป็นเชิงลบ แล้วมีคนร่วมเป็นชาวคอมมิวนิสต์ที่ไหนจะยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้ก่อการร้ายอย่างหน้าชื่นตาบาน”

ดังนั้น บรรดาป้ายที่เอามาชู เพื่อแถลงท่าทีจุดยืนดังกล่าว ก็ต้องเป็นป้ายที่ทางการจัดทำให้นั่นแหละ เพราะใช้คำว่า ผกค.

อีกทั้งท่าทีจุดยืนที่แสดงออกต่อสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ก็ชัดเจนว่า ไม่หลงเหลือความคิดการต่อสู้แบบคอมมิวนิสต์เดิมๆ อีกแล้ว

เพราะความเป็นคอมมิวนิสต์นั้น คือลัทธิอุดมการณ์ที่สร้างสังคมไม่มีชนชั้น ช่วงชิงอำนาจรัฐมาเป็นของกรรมกร ชาวนา

ไม่สนับสนุนหรือปกป้องสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำอย่างสุดกู่แน่นอน

แต่มองอีกด้าน คอมมิวนิสต์ในโลกนี้และในไทยเราเองสูญสลายไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว การอ้างอิงคอมมิวนิสต์ จึงไม่มีมนต์ขลังอะไรมากนัก

พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2485 โดยมีข้อมูลว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ไทยหลายรายเป็นปัญญาชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองรุ่นแรกๆ รวมทั้งเป็นนักคิดนักเขียน และผู้นำด้านแรงงาน ต่อมาเมื่อถูกจับกุมกวาดล้าง จึงประกาศแนวทางชนบทล้อมเมือง

เข้าไปตั้งเขตเคลื่อนไหวในป่าเขา และเริ่มต่อสู้ด้วยอาวุธเมื่อ 7 สิงหาคม 2508

เพราะรัฐบาลและกองทัพใช้แนวทางเปิดศึกสงครามเพื่อกวาดล้างปราบปราม ผลก็คือ ยิ่งปราบคอมมิวนิสต์ก็ยิ่งโต ด้วยชาวบ้านได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจากฝ่ายรัฐ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้นักศึกษาปัญญาชนแห่กันเข้าป่าร่วมกับคอมมิวนิสต์ ยิ่งเป็นการยกระดับการต่อสู้ จากเดิมที่พรรคคอมมิวนิสต์มีมวลชนจากชาวนาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อได้ปัญญาชนเข้ามาเสริมจำนวนมาก ทำให้การเคลื่อนไหวยิ่งขยายตัว

“ก่อนที่คอมมิวนิสต์ไทยจะล่มสลาย ด้วยปัญหาความขัดแย้งในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ระหว่างจีนกับโซเวียต และภายในป่าเอง ความไม่ลงตัวระหว่างนักศึกษาปัญญาชนกับผู้นำคอมมิวนิสต์ที่เคร่งครัดซ้ายจัด จึงทำให้เกิดความระส่ำหนัก”

ฝ่ายกองทัพยุคใช้สมองมากกว่ากำลังสบช่อง จึงผลักดันใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร และคำสั่ง 66/2523 ทำให้คอมมิวนิสต์เริ่มทยอยคืนเมือง

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายคือ ธง แจ่มศรี ออกจากป่ามาใช้ชีวิตในเมืองด้วย แต่ยังคงมีการออกแถลงการณ์ในนามพรรคคอมมิวนิสต์ต่อสถานการณ์บ้านเมือง โดยยังคงยึดมั่นในจุดยืนก่อนจะเสียชีวิตเมื่อปี 2562

“บรรดาคอมมิวนิสต์เก่าโดยส่วนใหญ่ จึงถือว่า ผู้นำที่แท้จริงคือธง แจ่มศรี ซึ่งได้ปิดฉากชีวิตไปแล้ว เป็นเพียงตำนานประวัติศาสตร์ ส่วนใครที่ออกมาประกาศตัวเป็นคอมมิวนิสต์เก่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่ในนามของพรรคคอมมิวนิสต์”

แน่นอนว่า คอมมิวนิสต์ไทยออกจากป่าจนหมดสิ้น หมดบทบาทไปราว 40 ปีแล้ว คนที่เคยเข้าร่วมก็แปรเปลี่ยนความคิดไปเป็นปกติ

บางคนจากซ้ายกลายเป็นขวาจัด ขวายิ่งกว่าฝ่ายขวาเดิมเสียอีก

แต่บางส่วนก็ยังยึดมั่นแนวคิดเดิม คือยึดผลประโยชน์ของประชาชนคนยากคนจน ต่อต้านความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และเห็นว่าคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม ไปต่อไม่ได้ ก็หันมายึดแนวทางประชาธิปไตย เพราะเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุด ให้สิทธิเสรีภาพต่อคนส่วนใหญ่มากที่สุด

แต่ก็มีบางส่วนที่เปลี่ยนจากซ้ายเป็นขวาจัด

ออกมาปกป้องสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยปัญหาความต่างทางชนชั้น และคนยากคนจน กรรมกร ชาวนา ก็ยังทุกข์ยากหนักเข็ญในสังคมเช่นนี้

คอมมิวนิสต์ทั่วโลกมักเรียกเพื่อนร่วมการต่อสู้ว่าสหาย เพราะเป็นคำที่แสดงความเสมอภาค เป็นเพื่อนร่วมรบร่วมต่อสู้ ซึ่งตรงกับความฝันสร้างสังคมไร้ชนชั้น อำนาจรัฐเป็นของกรรมาชีพ

ในกองกำลังทหารป่า มีหัวหน้าหน่วย มีผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ทุกคนเรียกกันว่าสหาย เป็นการแสดงความเสมอภาค ไม่มีความเจ้ายศเจ้าอย่าง

สหายจึงเป็นคำอธิบายอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ที่ดีที่สุด

“ดังนั้น การเรียกตัวเองว่าสหาย แต่สนับสนุนสังคมที่มีความต่างทางชนชั้นลิบลับ ย่อมเป็นความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง!”

มีนักการเมืองบางรายประกาศตัวเองกลางสภาอย่างภูมิใจว่าเป็นสหาย ก็คงรู้สึกถึงอดีตที่ดีๆ เป็นนักสู้นักปฏิวัติเพื่อสังคม

แต่ก็ลืมไปว่า ขณะเรียกตัวเองว่าสหาย แต่แนวทางการเมืองที่เดินอยู่ ไม่ใช่พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ทำนองนั้น

“ต่างจากเส้นทางสหายในอดีตอย่างมากมาย”

แน่นอนว่าลัทธิคอมมิวนิสต์คงต้องมีจุดอ่อนหลายด้าน จนทำให้มาถึงจุดล่มสลาย

โซเวียตเลิกเป็นรัฐสังคมนิยม ยุโรปตะวันออกหลายประเทศเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย เหลือจีนที่ยังคงเป็นคอมมิวนิสต์อย่างเหนียวแน่น แต่ในทางเศรษฐกิจนั้น เดินแนวทางทุนนิยมสุดตัว ไม่เช่นนั้นจีนจะไม่ขยายตัว เศรษฐกิจจะไม่เติบโต ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจะไม่สามารถยกระดับได้

“โดยรวมแล้วคอมมิวนิสต์จึงอยู่ในยุคที่ซบเซาอย่างมาก ในไทยเราเองก็เช่นกัน วันนี้อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เสรี เป็นคำตอบสำหรับการต่อสู้เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ได้ดีที่สุด”

ส่วนอดีตคอมมิวนิสต์ก็อาจจะมีคนในขบวนการนี้ยังอ้างอิงอดีตนั้นอยู่

บางคนก็ด้วยความภาคภูมิใจและต้องการรักษาประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อคนส่วนใหญ่เอาไว้อยู่ แม้รู้ว่าจะมีข้อด้อยจนไปต่อไม่ได้แล้ว

แต่บางคนก็เปลี่ยนแปลงไปไกลสุดกู่ โดยไม่รู้ตัว อ้างตัวเองเป็นสหาย แต่สู้เพื่อขุนศึกขุนนาง ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับคำว่าสหายอย่างสิ้นเชิง!