คำ ผกา : (ใคร) ควรมีลูกเพื่อชาติ?

คำ ผกา

นอกจากกระทรวงสาธารณสุขจะมีโครงการสาวไทยแก้มแดงมีลูกเพื่อชาติ แจกกรดโฟลิกส์และธาตุเหล็กให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เพื่อนำไปสู่การคลอดที่ปลอดภัย

ล่าสุดกระทรวงการคลังยังมีแผนการพิจารณาใช้มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้คนมีลูกเพิ่ม

เช่น อาจให้ลดหย่อนภาษีเพิ่มได้ถึงหกหมื่นบาทต่อปีในกรณีที่มีลูกคนที่สอง

เหตุผลที่รัฐบาลไทยอยากสร้างแรงจูงใจให้คนมีลูกให้มากขึ้น ก็เข้าใจได้ไม่ยากเลย นั่นคือการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งหลายประเทศก็ประสบปัญหาแบบนี้มาแล้ว ทั้งประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่ต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน

และการที่คนวัยทำงานต้องแบกรับภาระทางภาษีในการเลี้ยงดูคนแก่วัยเกษียณ หรือพูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นคือ รัฐเก็บภาษีและได้ประโยชน์จากคนวัยทำงานได้น้อยลง ในขณะเดียวกันก็มีภาระต้องดูแลคนแก่ในสังคมมากขึ้น ทั้งการจ่ายเงินเดือนให้คนที่เกษียณแล้วและอายุยืนไปเรื่อยๆ การสนับสนุนด้านงบประมาณกับโรงพยาบาล บ้านพักคนชรา และสวัสดิการอื่นๆ สำหรับคนชราในสังคม

ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้วยตัวของมันเองก็ซับซ้อน เพราะต้องมาดูด้วยว่าในขณะที่เราบ่นๆ ว่า ไม่มีคนวัยแรงงาน แต่ในโลกอนาคตอันใกล้ที่หุ่นยนต์จะมาทำงานแทนมนุษย์ในหลายสาขาอาชีพ แม้กระทั่งอาชีพหมอผ่าตัด อาชีพนักบัญชี นักเขียน

ไม่ต้องพูดถึงงานเครื่องจักร งานโรงงาน งานอันตราย ที่การใช้หุ่นยนต์จะมีประสิทธิภาพกว่าการจ้างแรงงานมนุษย์

อย่างน้อย หุ่นยนต์มันก็ไม่พูดไม่จา ไม่บ่น ไม่ขอขึ้นค่าแรง ไม่จัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง (หวังไว้เช่นนั้น แต่ใครจะไปรู้ว่า หุ่นยนต์ AI ในอนาคตมันอาจจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จนตั้งสหภาพแรงงานหุ่นยนต์ขึ้นมาได้จริงๆ ก็ได้ ใครจะไปรู้)

เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เราต้องมานั่งถามกันให้จริงจังคือ ภาวะขาดแคลนแรงงานนั้น เป็นแรงงานแบบไหน แรงงานด้านไหน

ไม่เช่นนั้น ที่ไปกระตุ้นให้เด็กเกิดกันมาเยอะๆ ก็จะเป็นการเกิดที่สูญเปล่า

ประเด็นที่น่าคิดกว่านั้นคือ แม้แต่ประเทศที่ “น่าอยู่” (ในสายตาของคนไทยอย่างเรา) เพราะอย่างน้อยก็เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพ ความปลอดภัยในชีวิตของพลเมือง มีสวัสดิการที่ดี ให้เด็กเรียนฟรี อากาศดี มีสวนสาธารณะ ฯลฯ พลเมืองวัยเจริญพันธุ์ของประเทศเหล่านั้นยังไม่ค่อยอยากจะมีลูก หรือมีก็มีแค่คนเดียว

ไม่ว่ารัฐจะเพิ่มแรงจูงใจมากแค่ไหน ก็ไม่เป็นผล – แจกเงินก็แล้ว ลดภาษีก็แล้ว อะไรก็แล้ว แต่ละครอบครัวก็ยังยืนยันที่จะมีลูกแค่คนเดียวอยู่ดี

นับประสาอะไรกับประเทศไทยที่ลุ่มๆ ดอนๆ หลักประกันสิทธิเสรีภาพอะไรก็ไม่มี สวัสดิการก็ไม่มี เรียนฟรีก็มีบ้างไม่มีบ้าง พิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้ก็เชื่อยากว่า โครงการกระตุ้นให้คนหันมามีลูกเพื่อช่วยชาติ จะยิ่งยากกว่าประเทศอื่นๆ ขนาดไหน

ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศอีกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะประเทศที่รัฐบาลมีหลักการมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชนเข้มแข็งมาก ก็คือ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นให้คนมีลูก

ปรากฏว่าคนที่มีลูกเยอะๆ และได้ประโยชน์จากสวัสดิการรัฐอย่างเต็มที่ก็คือบรรดาผู้อพยพหรือแรงงานจากต่างด้าวท้าวต่างแดน

ในขณะที่ชนชั้นกลางเจ้าของประเทศก็ยืนยันไม่อยากมีลูก ก็เป็นเหตุให้ฝ่ายขวาจัดใช้เรื่องนี้มาปลุกระดมอีกว่า ดูสิ อีกหน่อยประเทศเราก็จะถูกพวกผู้อพยพยึดประเทศ จนท้ายที่สุดพวกเจ้าของประเทศเดิมจะกลายเป็นชนกลุ่มน้อยไปโดยปริยาย

ความน่าสนใจในที่นี้เกี่ยวกับลักษณะทางประชากรศาสตร์และโจทย์ที่ท้าทายของรัฐสมัยที่เผชิญกับภาวะอัตราการเกิดต่ำ คือ ชนชั้นกับอุดมการณ์เกี่ยวกับเด็กและครอบครัว ซึ่งนักวางแผนทางเศรษฐศาสตร์อาจจะให้ความสนใจไม่มากเท่าไหร่

มองจากมุมมองของฝ่ายรัฐ ถามว่า เวลาบอกว่าอยากให้พลเมืองของเรามีลูกๆๆๆๆ ช่วยกันปั๊มลูกมาเป็นประชากรของรัฐหน่อย รัฐอยากให้คนกลุ่มไหนมีลูก?

มาตรการลดหย่อนภาษีบอกได้ชัดเจนว่า คนที่รัฐอยากให้มีลูกคือชนชั้นกลาง เพราะรัฐรู้ว่า คุณสมบัติและความฝันของชนชั้นกลางคือ ถ้าพวกเขามีลูก พวกเขาอยากจะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด

ชนชั้นกลางถูกฝังชิพมาในหัวว่า ความสำเร็จของการเกิดเป็นคน ที่มีลูกคือ การเลี้ยงลูกให้ได้ดี การเลี้ยงลูกได้ไม่ดี แทบจะเป็นอาชญากรรมด้วยตัวของมันเอง

และโดยไม่รู้ตัว สังคมมักมีมาตรการทางสังคมลงโทษพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกติดยา ติดคุก ไม่มีประสิทธิภาพทางแรงงาน และเศรษฐกิจอย่างโหดร้ายเสมอ ด้วยการตราหน้าพวกเขาว่า ล้มเหลว เลินเล่อ เห็นแก่ตัว ไร้ความสามารถ หลงผิด สปอยล์เด็ก เลี้ยงลูกไม่เป็น ฯลฯ

และโดยไม่รู้ตัว เพจของนักจิตวิทยาว่าด้วยการเลี้ยงเด็กจำนวนมาก ได้เตรียมตัวประณามและมอบความเป็นอาชญากรให้พ่อแม่ที่ล้มเหลวในการเลี้ยงลูกด้วยวาทกรรม พ่อแม่รังแกฉันหรือด้วยการตั้งชื่อหนังสือในทำนอง เลี้ยงลูกอย่างไรไม่เป็นภาระต่อสังคม ฯลฯ

โดยไม่รู้ตัวอีกนั่นแหละ ที่ลูกสำหรับชนชั้นกลาง นอกจากจะหมายถึงสัญลักษณ์ของความอบอุ่น พรั่งพร้อม สมบูรณ์แบบของครอบครัวแล้ว “ลูก” ยังหมายถึง “ผลงาน” ที่พ่อแม่จะสร้างขึ้นมาประดับโลกใบนี้

อย่างไม่คิดชีวิต พ่อแม่ชนชั้นกลางเมื่อตัดสินใจมีลูกแล้ว พวกเขายินดีทุ่มเททุกทรัพยากรในชีวิต ทุ่มสุดตัว ทุ่มสุดหน้าตักเพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก ตั้งแต่อาหาร การเลี้ยงดู วัคซีน ยารักษาโรค และที่สุดของที่สุดคือการศึกษา แพงเท่าไหร่ก็ได้ เหนื่อยเท่าไหร่ก็ได้ เพื่อให้ลูกได้การศึกษาที่ดีที่สุด

เพราะเขาเชื่อว่ามันคือการันตีเดียวของอนาคตของลูก

เมื่อเป็นเช่นนั้น ชนชั้นกลางที่มีทรัพยากรอันจำกัด มีต้นทุนทางเศรษฐกิจอันจำกัด จึงมีลูกได้น้อยคนยิ่งนัก และมีแนวโน้มว่า ไม่สามารถมีได้เกิน 1 คนด้วยซ้ำไป

และเป็นไปได้สูงมากสำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันว่า ลูกๆ ของชนชั้นกลางที่มีทรัพยากรอันจำกัดเหล่านี้ เมื่อพวกเขาโตขึ้น พวกเขาจะหาทางลงหลักปักฐานทำมาหากินในประเทศอื่น สังคมอื่น ที่มอบเงื่อนไขที่ดีกว่าแก่การมีชีวิตอยู่

ลูกหลานของคนเหล่านี้ ต่อให้ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ เลย แต่หากพวกเขาที่เรียนหนังสือมาแทบตายแล้วต้องมาเจอกับระบบอุปถัมภ์ เส้นสาย การเมืองที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ภาษีที่จ่ายไปแล้ว เอาไปใช้ในกิจการที่เขาไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไรกับประชาชน หรือหยาบที่สุด เอาแค่หาช่องทางทำมาหากินในประเทศไม่ได้

คนเหล่านี้ที่ได้รับการศึกษามาอย่างดีเยี่ยมจากความใจป้ำของพ่อแม่ชนชั้นกลางที่ยอมหมดตัวเพื่อการศึกษาของลูก ก็ย่อมกลายเป็นสมองที่ไหลออกจากประเทศไปเรื่อยๆ

ดังนั้น หากรัฐจะลงทุนเพื่อจูงใจให้คนชั้นกลางมีลูกด้วยตัวเลขการลดหย่อนภาษีก็อาจต้องคิดหนักๆ ว่าจะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าหรือไม่ เพราะสุดท้าย คนเหล่านี้เลือกจะไปลงหลักปักฐานกลายเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ จ่ายภาษี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศอื่น รัฐอื่นไปเสียฉิบ

ในขณะที่ประชากรอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจอยู่นอกสายตาของรัฐ คือ คนจน และแรงงานต่างด้าว ที่ไม่ได้มองว่าลูกคือสักขีพยานความรัก เป็นถ้วยรางวัลประกาศชัยว่าด้วยการเป็นพ่อแม่ที่ “ดี” คนเหล่านี้มีลูกด้วยหลายเหตุผล ตั้งแต่มีไว้เป็นเพื่อน

มีไว้ดูแลยามแก่เฒ่า

มีลูกชายเอาไว้บวช

มีเพราะมันก็แค่มันมีออกมาเอง

มีเพราะคุมกำเนิดผิดพลาด

มีเพราะมันเป็นวิถีชีวิต

มีแล้วก็เลี้ยงไปตามอัตภาพ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รักลูก ไม่ได้แปลว่าเขาไม่อยากให้ลูกได้ดี หรือไม่อยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก แต่เงื่อนไขในชีวิตมีแค่นั้น และไม่ได้อยู่ในแรงกดดันทางอุดมการณ์ว่าด้วยความสมบูรณ์แบบของชีวิตแบบที่ชนชั้นกลางเป็น

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผลผลิตของประชากรกลุ่มนี้ไม่ใช่สิ่งรัฐต้องการ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่รัฐต้องการกำจัดด้วยซ้ำ เพราะเป็นทั้งภาระและปัญหาสังคม (สายตาของรัฐ)

ดังนั้น ในนโยบายอยากให้คนมีลูกเพื่อชาตินี้ ลึกๆ รัฐอยากให้ครอบครัวที่ “พร้อม” จะเลี้ยงลูกได้ดีเท่านั้นที่จะให้มีลูกเยอะๆ

ส่วนคนจนหรือแรงงานต่างด้าว หากเป็นไปได้ รัฐน่าจะอยากให้พวกเขาคุมกำเนิดกันให้แม่นมั่นเสียมากกว่า

หากรัฐกังวลเรื่องแรงงาน และสังคมสูงวัยจริงๆ ฉันเห็นว่า แทนที่รัฐจะไปสนใจชนชั้นกลาง (เพราะรัฐขี้เกียจลงทุนสร้างเยาวชน จึงผลักภาระไปให้พ่อแม่ปั้นลูกด้วยทรัพยากรเงินทองส่วนตัว และรู้ว่าชนชั้นกลางไม่เกี่ยง และไม่เรียกร้องจากรัฐมากด้วย)

รัฐควรจะหันมาลงทุนปั้นเยาวชนที่เป็นลูกหลานคนจน แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย คลอดลูกในประเทศไทยนี่แหละ

ลงทุนอย่างไร

สองปัจจัยหลักที่จะมีประชากรที่มีคุณภาพคือ การศึกษากับสาธารณสุข

หากรัฐอยากได้แรงงานที่ขับเคลื่อนและสร้างเศรษฐกิจจริง รัฐต้องพัฒนาคุณภาพของการศึกษามวลชน หรือ mass education ย้ำว่า mass ไม่ใช่ไปสร้างโรงเรียนสาธิต โรงเรียนตัวอย่าง เลิศล้ำปัญญา สอง-สามโรงเรียนสร้างอัจฉริยะให้คนไม่กี่คน แต่รัฐต้องทุ่มทรัพยากรไปกับการศึกษาของมวลชนจำนวนมหาศาล ให้เขาได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ได้รับการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด

คนเราเมื่อรู้ว่ามีลูกแล้วได้เรียนหนังสือดีๆ จากการลงทุนของรัฐ ทำไมพวกเขาจะไม่เต็มใจมีลูก

คนจนจำนวนมากที่มีลูกเยอะแยะไปหมด หากเราดูแลลูกๆ พวกเขาอย่างดี ในอนาคตอันใกล้ คนเหล่านี้คือเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น

แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยคือ การศึกษาที่ดีและการสาธารณสุขที่ดีเป็นของคนจำนวนน้อยนิดในประเทศ โรงเรียนที่ว่าดี ทันสมัย ใช้หลักการลิเบอรัลในการเรียนการสอนเหมือนประเทศโลกที่หนึ่งก็สอนเด็กแค่ไม่กี่ร้อยคนในท่ามกลางเด็กตั้งสิบๆ ล้านคนทั่วประเทศ

ผลก็คือ รัฐไทยสร้างเด็กหญิงและเด็กชายที่เป็นลูกคนจนเพื่อไปอยู่ในคุกกับไปอยู่ในซ่อง แล้วก็มาบ่นๆ ว่าเราขาดแคลนแรงงาน

รัฐที่ไม่เห็น “มวลชน” อยู่ในสายตา สุดท้ายก็เผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานจากมวลชนนั่นแหละ

ส่วนชนชั้นกลางผู้มากฝันทั้งหลายนั่นหรือ พวกเขาเดินอยู่ในความเป็นโลกาภิวัตน์และรักชาติด้วย “ปาก” เท่านั้น และพร้อมไปอยู่ในประเทศไหนก็ได้ที่ให้คุณภาพชีวิตดีกว่า

อนาคตของประเทศไทยเราจะฝากไว้กับใคร และรัฐควรเลือกลงทุนกับใครเป็นไพรออริตี้ – ก็ตรองดูเถิด