จิตต์สุภา ฉิน : เจ้าหนูรูเบนกับของเล่นที่น่ากลัว

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ครั้งหนึ่งของเล่นเด็กเคยเป็นสิ่งที่ไม่มีพิษไม่มีภัย ตุ๊กตาคือพลาสติกหรือผ้ายัดนุ่นที่เด็กต้องใช้จินตนาการในการวาดฝันให้ของเล่นของตัวเองกลายเป็นเพื่อนรักที่ไปไหนมาไหนด้วยกันได้ทุกที่และคุยกันได้ทุกเรื่อง

แต่ในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต และไปไหนก็มีแต่คนพูดว่า IoT หรือ Internet of Things จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดกับเราในแบบทุกวันนี้ ของเล่นธรรมดาของเด็กก็เริ่มถูกปรับเปลี่ยนให้มีความไฮเทคและทำหน้าที่ได้มากกว่าเดิมจนแทบจะไม่จำเป็นต้องใช้จินตนาการเข้ามาช่วยอีกต่อไป

ซู่ชิงไม่เคยต่อต้านของเล่นเด็กสมัยใหม่ เพราะเข้าใจดีว่าสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบของเล่นนั้นมีคุณค่ามหาศาลแค่ไหนสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก

ในสมัยที่เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งหายาก ซู่ชิงมีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านนิทานแบบอินเตอร์แร็กทีฟที่มาในรูปแบบของซีดี จนเป็นการปลูกฝังความรักในการเรียนภาษา

ซึ่งหากย้อนกลับไปและไม่มีสื่อการเรียนการสอนแบบนั้นในวัยเด็ก โตขึ้นมาทุกวันนี้ก็อาจจะไม่ได้เป็นซู่ชิงในแบบที่เป็นทุกวันนี้ก็ได้

ดังนั้น การที่เด็กสมัยใหม่มีของเล่นที่ไฮเทคมากขึ้น ส่งเสริมการเรียนรู้มากขึ้น ย่อมเป็นเรื่องดีเสมอ

เพราะในยุคสมัยนี้เครื่องมือทางดิจิตอลเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กยุคนี้ไม่ต่างจากที่เราพึ่งพากระดาษและปากกากันในสมัยก่อน

แต่ความแตกต่างก็คือของเล่นทันสมัยเหล่านี้อาจมาพร้อมกับความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัยที่เราจะต้องเตรียมพร้อม ระมัดระวังไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

 

เด็กชายชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียวัย 11 ขวบคนหนึ่งนามว่า รูเบน พอล ได้แสดงให้เห็นถึงอานุภาพของของเล่นว่า เมื่อใดก็ตามที่ของเล่นทันสมัยเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของคนไม่ประสงค์ดี อาจจะเกิดความเสียหายอะไรได้บ้าง

รูเบนเป็นหนึ่งในเด็กที่ถูกวงการเทคโนโลยีจับตามองว่าโตขึ้นมาไม่แคล้วที่จะได้ดิบได้ดีในวงการความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์แน่นอน เพราะเจ้าหนูคนนี้ฉายแววมาตั้งแต่เด็ก

ล่าสุดคือไปขึ้นเวทีงานสัมมนาในประเทศเนเธอร์แลนด์และพูดในเนื้อหาที่เรียกเสียงว้าวเกรียวกราวจากกลุ่มคนดู

เขาบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถยนต์ สมาร์ตโฟน สมาร์ตโฮม ของเล่น หรืออะไรก็ตามสามารถถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Internet of Things ได้ และของเล่นไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบหุ่นยนต์เทอร์มิเนเตอร์หรือดูบ๊องแบ๊วไร้พิษภัยอย่างตุ๊กตาหมี ก็ล้วนถูกนำมาเปลี่ยนให้กลายเป็นอาวุธได้

เขาสาธิตให้ดูด้วยการนำเอาตุ๊กตาหมีตัวหนึ่งขึ้นไปบนเวทีด้วย ตุ๊กตาตัวนี้สามารถเชื่อมต่อกับไอคลาวด์ผ่านทาง Wi-Fi และมีบลูทูธ

รูเบนเสียบ ราสพ์เบอร์รี่ พาย (Raspberry Pi) หรือคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเท่าบัตรเครดิตเข้ากับตุ๊กตาหมี จากนั้นก็สแกนทั้งฮอลล์ที่ผู้ฟังนั่งอยู่เพื่อหาอุปกรณ์ที่มีบลูทูธเหมือนกัน แล้วเขาก็จัดการดาวน์โหลดหมายเลขโทรศัพท์และข้อมูลส่วนตัวต่างๆ

นอกจากนั้นก็ยังใช้โปรแกรมภาษา Python ในการแฮ็กตุ๊กตาหมี ไปยังสมาร์ตโฟนเจ้าของเบอร์เพื่อสั่งให้ไฟติดและยังใช้บันทึกเสียงมาจากกลุ่มผู้ฟังด้วย

รูเบนบอกว่าอะไรที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ก็มักจะมาพร้อมฟังก์ชั่นบลูทูธ เขาแค่ต้องการแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถเชื่อมต่อเข้าไปและส่งคำสั่งเข้าไปได้ง่ายๆ

ดังนั้น อุปกรณ์ IoT ทั้งหลายที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน ทั้งหลอดไฟ รถยนต์ ตู้เย็น ทั้งหมดสามารถถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นอาวุธมาใช้ในการสอดส่องหรือทำร้ายเราได้ทั้งนั้น

 

มีภัยอะไรบ้างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีนี้ หลักๆ ก็คือการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวไป อย่างเช่น รหัสผ่าน หรือการใช้ของเหล่านี้ในการเป็นสปายสอดส่องจากระยะไกล ซึ่งก็อาจจะสอดส่องลูกของเรา สมาชิกภายในบ้าน หรือจะสั่งการฟังก์ชั่น GPS เพื่อจะหาจุดที่อยู่ของใครคนใดคนหนึ่ง

แล้วรูเบนก็ตบท้ายด้วยสิ่งที่ผู้ฟังฟังแล้วอดขนลุกเกรียวไม่ได้ เขาบอกว่า “ของเล่นอาจจะบอกลูกของคุณว่าให้ไปพบที่ใดที่หนึ่งและจะมีคนมารับ” ซึ่งเขาก็หมายถึงการที่แฮ็กเกอร์แฮ็กของเล่นและส่งเสียงผ่านตุ๊กตาออกมาหลอกให้เด็กเข้าใจว่าของเล่นคุยกับตัวเองได้นั่นเอง

เรามาทำความรู้จักเจ้าหนูรูเบน พอล เพิ่มกันสักหน่อยนะคะ

 

พ่อของเขาชื่อ มาโน พอล เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอที ซึ่งก็ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่าความสนใจในเรื่องเทคโนโลยีของรูเบนมาจากไหน

พ่อเขาบอกกับสำนักข่าว AFP ว่า รู้มาตั้งแต่รูเบนอายุหกขวบแล้วว่าลูกตัวเองมีพรสวรรค์ทางด้านไอทีตั้งแต่เด็ก เพราะว่ารูเบนเคยแก้ข้อมูลให้เขาตอนที่เขากำลังคุยธุระทางโทรศัพท์อยู่

คุณพ่อบอกว่าตัวเขาเองก็ช็อกเหมือนกันที่ได้เห็นว่าของเล่นสำหรับเด็กนั้นมีจุดอ่อนที่น่ากลัวอยู่ถึงขนาดนี้

รูเบนเริ่มจากการแฮ็กรถยนต์ของเล่น แล้วก็ย้ายไปแฮ็กของที่มีความสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าหากว่ารูเบนในวัยแค่นี้สามารถทำได้ขนาดนี้ ก็หมายความว่าผู้ไม่ประสงค์ดีทั้งหลายก็สามารถทำได้เหมือนกัน

นอกเหนือจากความเก่งกาจทางด้านไอทีแล้ว รูเบนก็ยังลุ่มหลงกังฟูด้วยนะคะ

แถมเป็นเด็กอเมริกันที่อายุน้อยที่สุดที่ได้คาดสายดำเส้าหลินด้วย

ครอบครัวเขาสนับสนุนให้เขาก่อตั้งองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ชื่อว่า CyberShaolin (ไซเบอร์เส้าหลิน) ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ความรู้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เกี่ยวกับอันตรายที่มาจากความไม่ปลอดภัยทางโลกไซเบอร์

และเพื่อเป็นการส่งสารไปยังผู้ผลิต นักวิจัยด้านความปลอดภัยและรัฐบาล ให้ทำงานร่วมกันในการรับมือกับปัญหาข้อนี้

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างให้เห็นนะคะว่าเด็กเก่งคอมพิวเตอร์ที่เรามักจะเรียกพวกเขาว่า “เนิร์ด” เนี่ย ไม่ใช่จะต้องเก่งแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากรูเบนจะปราดเปรื่องเรื่องไอทีแล้วก็ยังโดดเด่นด้านกีฬาด้วย

 

ส่วนเรื่องจะจัดการกับของเล่นสมัยใหม่อย่างไรนั้นก็คงเป็นวิธีเดียวกันกับที่ทุกวันนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องปรับตัวให้เท่าทันการใช้อินเตอร์เน็ต อุปกรณ์สมาร์ตดีไวซ์ และโซเชียลมีเดียสำหรับลูกๆ นั่นแหละค่ะ คือจะต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก่อน

จากนั้นก็อธิบายให้ลูกฟัง พูดคุยกับลูกถึงข้อดี ข้อเสีย ของการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้

สอนให้ลูกรู้จักสังเกตสิ่งผิดปกติ และคอยตรวจสอบความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของลูกอยู่เสมอ

และอย่าลืมนะคะว่าในขณะเดียวกันก็ต้องคอยสนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่เสมอเหมือนอย่างที่คุณพ่อของรูเบนทำ เพราะมันจะเป็นส่วนใหญ่ๆ ของชีวิตพวกเขาในอนาคต

เป็นพ่อแม่ในยุคดิจิตอลไม่ง่ายเลยนะคะ แต่คุณทำได้ค่ะ