จรัญ พงษ์จีน : สำรวจก๊ก-บ้านใคร คว้านั่งนายกฯอบจ.

“เลือกตั้งท้องถิ่น” ในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ “นายก อบจ.” 76 จังหวัดทั่วประเทศ ปิดฉากลงเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม หลังถูกดองเค็มมาซะยาวนาน 6 ปีกว่า ตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา

ศึกเลือกตั้งคาบนี้ มีสถิติเกิดขึ้นใหม่ที่ต้องบันทึกไว้หลายประการ เริ่มจาก

1. ครองแชมป์แบบมาราธอน “ผูกปี” นั่งเก้าอี้นายก อบจ.นานที่สุด ต้องยกเครดิตให้ “นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล” วัย 74 ปี เป็นนายกเล็กจังหวัดกระบี่ สมัยที่ 7 ยาวนานถึง 23 ปี โดยได้รับเลือกตั้งสมัยแรกเมื่อปี 2540 อายุเพียง 51 ปี

รองลงมา 6 สมัย ประกอบด้วย “อัครเดช ทองใจสด” เพชรบูรณ์ “วิชิต ไตรสรณกุล” ศรีสะเกษ และ “พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์” แห่ง จ.ขอนแก่น

2. มี 3 จังหวัด มีผู้สมัครเพียงคนเดียว ปราศจากคนชิง และเข้าป้ายตามเกณฑ์ คือได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และมากกว่าผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน คือ “นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล” กระบี่ “นายเผด็จ นุ้ยปรี” อุทัยธานี และ “ชัยยะ อังกินันทน์” เพชรบุรี

3. ผู้ชนะเลือกตั้งชิงนายก อบจ.ที่ได้รับชัยชนะให้นั่งเก้าอี้ผู้นำท้องถิ่นด้วยคะแนนมากที่สุดคือ “นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร” หรือ “ส.ว.ก๊อง” จากเชียงใหม่ สังกัดพรรคเพื่อไทย 421,426 คะแนน โค่นแชมป์เก่า “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” หรือ “พ่อเลี้ยงโต๊ะ” กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม อดีตนายก อบจ. 2 สมัย ที่ได้รับเลือกตั้ง 353,010 เสียง

คะแนนน้อยที่สุด ได้แก่ “น.ส.สุกานดา ปานะสุทธะ” ทีมรวมรัฐพัฒนา นายก อบจ.สมุทรสงคราม ได้รับเลือกด้วยคะแนน 23,997 เสียงเศษๆ

4. “ช้างล้ม” เสียงดังฟังชัด สะเทือนเลื่อนลั่นยุทธจักรมากที่สุด “ส.ว.ก๊อง” โค่น “พ่อเลี้ยงโต๊ะ” แห่งเชียงใหม่ ตามด้วย “พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” หรือ “บิ๊กแจ๊ด” อดีตเจ้าพ่อนครบาล เจ้าของวรรคทอง “มีวันนี้เพราะพี่ให้” หักด่านโค้งสุดท้าย เบียดเข้าป้ายนายก อบจ.ปทุมธานี น็อกมืด “ชาญ พวงเพชร” อดีตนายกคนดัง 3 สมัย คะแนนห่างกันแบบหายใจรดต้นคอ ราวๆ 2 หมื่นเสียง

คู่นี้ถือว่าเป็น “คนกันเอง” แต่มาแยกกันเดินตอนชิงชัยนายกเล็ก เคยได้รับแรงหนุนจากเพื่อไทย แต่คาบนี้ไม่มีใครยอมสวมเสื้อยี่ห้อเก่า “บิ๊กแจ๊ด” คะแนนตกเป็นรองมาตลอด แต่มาเบียดแทรก แซงทางโค้งเอาก๊อกสุดท้ายได้สำเร็จ

5. “บ้านใหญ่” คือมีตระกูล…ญาติวงศ์พงษา สร้างอาณาจักรอยู่บนถนนสายการเมือง ครองพื้นที่อยู่ในจังหวัด มีต้นทุนมากอยู่แล้ว กอดคอเข้าป้ายอย่างง่ายดายหลายจังหวัด

อาทิ “วิทยา คุณปลื้ม” ซุ้มบ้านใหญ่ชื่อดังแห่งชลบุรี มีพี่ชาย “เสี่ยติ๊ก-อิทธิพล คุณปลื้ม” เป็น รมว.วัฒนธรรม “นายอัครา พรหมเผ่า” น้องชาย “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยึดหัวหาด “นายก อบจ.พะเยา” เช่นเดียวกับ “นายสุนทร รัตนากร” พี่ชาย “วราเทพ รัตนากร” ที่ย้ายค่ายไปซบ พปชร. เข้าป้ายที่กำแพงเพชร “นายอนุสรณ์ นาคาศัย” น้องเลิฟ “เสี่ยแฮงค์-อนุชา นาคาศัย” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ชนะนายก อบจ.ชัยนาทเป็นคำรบ 2

“หลังบ้านรัฐมนตรี” ค่ายภูมิใจไทย เข้าวินทั้ง “ยลดา หวังศุภกิจโกศล” ภรรยา “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รมช.พาณิชย์ ชนะขาดที่นครราชสีมา และ “แว่นฟ้า ทองศรี” ภรรยา “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย เข้าป้ายนายก อบจ.บึงกาฬ

ทายาทก็ด้วย “ศุภพานี โพธิ์สุ” ผู้สมัครกลุ่มนครพนมร่วมใจ บุตรสาวของ “ศุภชัย โพธิ์สุ” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้นั่งแป้นนายก อบจ.นครพนม

ไม่นับรวมนอมินีในอีกหลายจังหวัด ที่มีพื้นจากตระกูลเก่าแก่ผูกขาดการเมืองระดับชาติ และสามารถฟันฝ่าชนะเลือกตั้งนายก อบจ.

 

6.แข่งกันดุที่สุด ต้องยกเครดิตให้ “เชียงใหม่” ที่ชิงดำกันระหว่าง “เสี่ยโต๊ะ” ในฐานะแชมป์เก่า กับ “ส.ว.ก๊อง” ผู้ท้าชิง โค้งสุดท้ายการหาเสียงสามารถเบียดแทรก “ชิงพื้นที่ข่าว” จากสื่อกระแสหลัก กระแสรอง รวมทั้งโซเชียลมีเดียไปได้มากที่สุด

ว่ากันว่า ศึกครั้งนี้ ถ้า “บุญเลิศ” ใช้กลยุทธ์แบบเดิม หาเสียงเงียบๆ ลักษณะเคาะประตูบ้าน ไม่ขนแกนนำคนเสื้อแดงไปช่วยปราศรัยหาเสียง เต้นไปตามเพลง ไม่มีทั้งคำอวยพรและคำสาป น่าจะรักษาที่นั่งเอาไว้ได้สูงมาก

แต่การดึงคนนอกไปร่วมเขย่าขวด ปลุกเสือ ที่เปรียบเสมือนเจ้าป่าให้ตื่น จนโค้งสุดท้าย “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องลงมือเขียนจดหมายน้อยด้วยลายมือถึงพี่น้องชาวเชียงใหม่

ฝากนายพิชัย ฮื้อกำเน่อ “คนพลัดถิ่น” เลยพ่นพิษ ส.ว.ก๊องเลยแซงทางโค้งเข้าป้าย เป็นชัยชนะที่ทำลายสถิติ ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศไทยอีกด้วย แพ้เพราะไปกระตุกหนวดเสือแท้ๆ

“รองอันดับ 2” โยกไป “อบจ.สงขลา” ซึ่งชัยชนะตกเป็นของ “ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์” ผู้สมัครที่สวมปลอกแขนพรรคประชาธิปัตย์ ชนะเหนือ “พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล” เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี

“ผู้การชาติ” เป็นแม่ทัพคนสำคัญของ พปชร.เคยนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรค นำทัพชนะเลือกตั้งสนามใหญ่ สามารถแซะเก้าอี้เจ้าถิ่นประชาธิปัตย์มาได้ถึง 13 ที่นั่งจากศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2562

ในพื้นที่จังหวัดสงขลา เปรียบประหนึ่งเมืองหลวง ประชาธิปัตย์เสียเก้าอี้ไปถึง 4 ที่นั่งจาก 8 เลือกตั้งนายก อบจ.ถือว่าเบียดกันสูสี เกมพลิกไปพลิกมา อัตราต่อรองจากเซียนทุกมุม ให้ราคาแพ้-ชนะกันแบบสูสี

เหตุที่ “ไพเจน” เข้าวิน ชนวนมาจาก 2 หัวเรือใหญ่ “ถาวร เสนเนียม” รมช.คมนาคม กับ “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ที่ปกติถูกมองว่าบริโภคเกาเหลากันอยู่

งวดนี้ “ถาวร-นิพนธ์” กลับมาผนึกเป็นทองแผ่นเดียวกัน โดยได้ “นายกชาย” หรือ “เดชอิศม์ ขาวทอง” ส.ส.สงขลา นายหัววัวชนเป็นตัวเชื่อม จับมือเป็น 3 ประสานและสามารถยึดหัวหาดกลับคืนมาได้ แบบต้องลุ้นระทึก

ทำให้การเมืองในสนามภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์กลับมามีพลังไฮเพาเวอร์ขึ้นมาอีกคำรบ เลือกตั้งคราวหน้า มีโอกาสที่จะกู้วิกฤตศรัทธามาได้อีกระลอก

เพราะหลายจังหวัดในภาคใต้ ปชป.ยึดที่นั่งนายก อบจ.เอาไว้ได้แบบไม่ยาก