สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีรัฐประหาร 26 มีนาคม [ ชีวิตในวิทยาลัยบางขวาง ]

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ปฏิบัติการของพวกเราเป็นการแย่งยึดอำนาจจากคณะบุคคลที่ไปแย่งอำนาจจากประชาธิปไตยมา เราจึงเป็นคณะปฏิวัติที่ยึดอำนาจจากเผด็จการ ไม่ใช่พวกยึดอำนาจจากประชาธิปไตย”

พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์

พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์

ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง (2545)

 

หลังจากการจากไปของพลเอกฉลาดแล้ว ในเย็นวันเดียวกันนั้นคณะผู้ก่อการอีก 4 คนก็ถูกส่งเข้ามายังแดนพิเศษ และตามมาด้วยบรรดาผู้บังคับหน่วยและบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ล้วนถูกตัดสินด้วยมาตรา 21

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ

แดนพิเศษซึ่งเป็นที่คุมขังบรรดานักศึกษาในคดี 6 ตุลาฯ ก็คึกคักมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด…

นักศึกษารุ่น 2 ของวิทยาลัยบางขวางมีทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร ครบสูตรคือ “พ.ต.ท.”

ดังได้กล่าวแล้วว่า เรื่องใหญ่ในเบื้องต้นสำหรับชีวิตของการเป็น “ผู้ต้องขัง” นั้นคือการปรับตัว ซึ่งก็คือการปรับตัวทั้งในบริบทของการใช้ชีวิตที่จะต้องยอมรับความเป็นจริงของการไร้อิสรภาพ

และขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวกับผู้คนรอบข้าง เพราะแม้จะรู้จักกันมาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่การต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันทุกวัน อีกทั้งยังจะต้องปรับตัวกับการมาอยู่ร่วมกันของผู้มาเยือนใหม่

ซึ่งในส่วนหลังนี้นอกจากจะไม่รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อนแล้ว ก็อาจจะต้องยอมรับว่ามีพื้นฐานทางการเมืองแตกต่างกับพวกเราชาว 6 ตุลาฯ ที่อยู่มาก่อนแล้วอย่างสิ้นเชิง

แต่เมื่อต้องอยู่ร่วมกันในฐานะของ “นักศึกษาแห่งวิทยาลัยบางขวาง” แล้ว การปรับตัวเข้าหากันจึงเป็นโอกาสให้บรรดานักศึกษา 6 ตุลาฯ กับผู้ก่อการ 26 มีนาฯ ได้ใช้ชีวิตและเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น

และขณะเดียวกันก็เปลี่ยนชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวให้เป็น “ช่วงเวลาพิเศษ” ในแดนพิเศษ

เพราะช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นอะไรที่พวกเราทั้งหมด ไม่ว่ามาจากพื้นฐานทางการเมืองแบบใดและสถานะทางสังคมแบบใดก็ตาม จะไม่มีวันลืมเลือนเวลาของชีวิตเช่นนี้ได้เลย

ชีวิตผู้ก่อการ

ดังได้กล่าวแล้วว่าแดนพิเศษคึกคักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พวกเราเรียกนายทหารและตำรวจที่มาอยู่ร่วมกันว่า “พี่” ยกเว้นกรณีของอาจารย์พิชัยที่พวกเรายกย่องเรียกว่าเป็น “อาจารย์”

การปรับตัวของทั้งสองฝ่ายดูจะทำให้สามารถเดินข้ามเส้นแบ่งทางการเมืองไปได้อย่างไม่ยากนัก

แม้ใหม่ๆ อาจจะเกิดอาการเกร็งกันบ้าง เพราะอย่างน้อยภาพลักษณ์ของพวกเราก็ถูกสร้างให้เป็น “นักศึกษาฝ่ายซ้าย”

แต่โดยอายุอานามในขณะนั้นเมื่อเทียบกับบรรดาพวกพี่ๆ 26 มีนาฯ แล้ว พวกเราออกจะยังเด็กมาก

สำหรับผู้ก่อการชุดแรกทั้ง 4 นายที่เข้ามาหลังจากการเสียชีวิตของพลเอกฉลาดนั้น พันโทสนั่น หรือ “พี่หนั่น” เป็นผู้นำ ซึ่งคุยกันไปมาก็เป็นคนบ้านเดียวกันกับผม เพราะพ่อและแม่ผมเป็นคนพิจิตร แต่อยู่คนละอำเภอกัน

ส่วนสุธรรมก็เป็นคนบ้านเดียวกับ “พี่โนช” (พันตำรวจโทมาโนช) ที่นครศรีธรรมราช

และสำหรับพวกพี่ๆ ที่อยู่ร่วมกันก็มีความมักคุ้นกับพวกเรามากขึ้น และ “เฮียวิโรจน์” (วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์) ก็มีชื่อใหม่ว่า “ซือตี๋” สำหรับพวกพี่ๆ ต้องยอมรับว่าเมื่อเส้นแบ่งถูกทำลายลงแล้ว

นักศึกษา 6 ตุลาฯ กับผู้ก่อการ 26 มีนาฯ ก็ใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างดีและสนุกสนาน

ช่วงแรก ผมจึงมีหน้าที่ต้องคอยพันผ้ารอบตัวให้พี่หนั่นทุกวัน เพราะผลจากการถูก “รุมกินโต๊ะ” ที่ดอนเมืองในวันจับกุม ทำให้พี่หนั่นบอบช้ำมากกว่าคนอื่นๆ

ทุกๆ วันในตอนเช้าผมจึงกลายเป็นบุรุษพยาบาลจำเป็นช่วยพันผ้าให้จนพี่เขาเริ่มเป็นปกติ

ผมได้แต่นึกในใจว่าโชคดีแล้วที่พี่รอดมาได้ เพราะการ “ประเคน” ทุกอย่างจากรองเท้าบู๊ตทหารไปจนถึงพานท้ายปืนให้นั้น อาจจะทำให้ซี่โครงหรือกระดูกส่วนหนึ่งส่วนใดหักได้ไม่ยากนัก

ต้องถือว่าพี่หนั่นโชคดีมากที่รอด “สหบาทา” มาได้แม้ว่าจะมีร่างกายที่บอบช้ำ แต่ก็ต้องยอมรับว่าพี่เขาเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็งอย่างมากและร่าเริงด้วย ไม่พูดก่นด่าอะไรเลยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พูดเล่าให้ผมฟังเวลาพันผ้าก็พูดเป็นเรื่องตลกหัวเราะไป

จนผมเสียอีกที่รู้สึกว่าเป็นทหารด้วยกันทำกันอย่างนี้ได้อย่างไร

สัมพันธภาพของผมกับพี่หนั่นจึงเริ่มในคุกในฐานะพยาบาลจำเป็น และมีความรู้สึกร่วมกันอีกส่วนในฐานะคนพิจิตร หรือสำนวนเก่าคือ “ลูกหลวงพ่อเพชร”

สำหรับพันตรีอัศวินหรือ “พี่ปุ๊ก” แม้จะไม่ใช่คนช่างคุย แต่ผมก็มีโอกาสได้คุยในหลายๆ เรื่อง

พี่อัศวินชอบอ่านหนังสือ จึงทำให้ผมมีโอกาสได้ยืมหนังสือมาอ่าน เพราะพวก 6 ตุลาฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้นำหนังสือเข้ามาเท่าใดนัก ยกเว้นหนังสือธรรมะ และหนังสือกฎหมายที่สุธรรมร้องขอเพื่อเตรียมสู้คดี

ต่อมาเมื่อคุ้นเคยกันมากขึ้น ผมจึงให้ญาติเอาหนังสือที่เป็นตำรารัฐศาสตร์ฝากมาทางญาติของพวกพี่ๆ

พี่อัศวินเอาตำราทหารและนิยายมาอ่าน ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ผมจึงบอกว่าพี่อ่านนิยายไปก่อน และผมขอยืมหนังสือทหารมาอ่าน

จำจนถึงวันนี้ว่า ตำราทหารเล่มแรกที่ผมได้อ่านชื่อ “สงครามทะเลทราย” (The Desert War) ที่พูดถึงการยุทธ์ของนายพลรอมเมลในทะเลทรายในแอฟริกาเหนือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างตามวัย แต่ก็เป็นการลิ้มรสตำราทหารจริงๆ ครั้งแรกที่เป็นภาษาอังกฤษ

แม้ในช่วงวัยรุ่น ผมจะเคยอ่านงานการทหารของพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์มาก่อนบ้าง แต่เป็นภาษาไทย พี่อัศวินเป็นคนเรียบร้อยมาก ถ้าพบโดยไม่รู้จักอาจจะไม่คิดว่าเป็นนายทหาร เพราะแทบไม่มีบุคลิกแบบ “ทหารๆ” หรือความเป็นลูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ให้เห็นเลย

พันตรีบุญเลิศ หรือ “พี่อ้าย” เป็นคนสนุกสนาน แม้ในบันทึกของพลตรีสนั่นจะกล่าวว่า พี่เขากังวลมากกับการถูกนำตัวไปประหารชีวิต แต่เมื่อมาอยู่ในบางขวางแล้ว พี่บุญเลิศเป็นคนสนุกสนาน และชอบให้เราได้มีเรื่องให้หัวเราะกันหลายครั้ง

ส่วนพันตรีวิศิษฐ์ หรือ “พี่วิศิษฐ์” อาจจะไม่ใช่คนช่างพูด แต่ก็ชวนคุยได้เสมอ

นายทหารทั้งสองเป็นอดีตนักรบกล้าของกองกำลังอาสาสมัครของไทยในเวียดนาม

เปลี่ยนความขมขื่นเป็นความรื่นรมย์

เมื่อผู้บังคับหน่วยและผู้ร่วมรัฐประหารส่วนใหญ่ถูกส่งมาคุมขังที่บางขวาง ผู้คุมเองก็ดูจะลดความเข้มงวดลง

ข่าวสารต่างๆ ก็ไหลเข้ามาตลอด

อาจารย์พิชัยได้วิทยุเครื่องหนึ่งมา จึงได้กลายเป็นข่าวสารจากแหล่งเปิดอย่างดีให้กับพวกเรา (หรือเรียกในภาษาปัจจุบันว่า “ข่าวกรองจากแหล่งเปิด”)

ตลอดรวมถึงข้อมูลจากพวกที่มาเยี่ยมพวกพี่ๆ ทั้งหลาย เพราะมีทั้งทหารและบรรดาสื่อที่สนิทสนมกับนายทหารในสายนี้โดยเฉพาะกับพี่หนั่น…

การวิเคราะห์สถานการณ์ในคุกเป็นไปอย่างเข้มข้นทุกวัน ยกเว้นเสาร์อาทิตย์ซึ่งไม่มีการเยี่ยมญาติ

การต้องอยู่รวมกันมากขึ้นทำให้จำเป็นต้องหาทางลดความเครียด กีฬาเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

พี่หนั่นเปิดเกมด้วยข้อเสนออย่างคาดไม่ถึงโดยให้แปลงลานเล็กๆ ของแดนพิเศษเป็น “สนามตะกร้อ”

แล้ววงตะกร้อก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง หลังอาหารเช้าประมาณแปดโมงของทุกวัน วงตะกร้อจะเปิดรายการไปจนถึงก่อนอาหารกลางวัน

การต่อสู้อย่างเข้มข้นระหว่างทีม 6 ตุลาฯ กับทีม 26 มีนาฯ เกิดขึ้นอย่างสนุกสนาน

มีพี่หนั่นและพี่บุญเลิศเป็นตัวยืน บางครั้งก็สลับเป็นพี่อัศวิน พี่วิศิษฐ์ และพี่ณัฐวุฒิบ้าง ส่วนทีม 6 ตุลาฯ มีสุธรรม อภินันท์ และบุญชาติ ที่ถูกส่งมาคุมขังภายหลัง

อีกเวทีเป็น “วงหมากรุก” โดยมักจะสู้กันระหว่างตำรวจกับทหาร คือ พันตำรวจโทมาโนช กับร้อยเอกสุพจน์ หรือบางทีก็เป็นร้อยเอกบรรพต…

ถ้าไม่คิดถึงเรื่องอิสรภาพแล้ว ชีวิตในแดนพิเศษก็ดูจะมีเรื่องให้สนุกสนานไปในแต่ละวัน

สิ่งที่คาดไม่ถึงอีกอย่างก็คือการสร้างเรือนเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ อาจารย์พิชัยในฐานะบัณฑิตคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ รับหน้าที่ออกแบบและเขียนแบบ

นายทหารท่านหนึ่งที่เข้าร่วมการรัฐประหาร 26 มีนาฯ ไม่ทัน ขอลบล้างความผิดพลาดในวันนั้นด้วยการช่วยหากล้วยไม้มาให้

และทางเรือนจำได้ส่งนักโทษที่เป็นช่างไม้มาช่วยสร้าง จนเกิดเป็นแปลงกล้วยไม้ 2 แปลง โดยมีพี่เดชาและพี่จิรวัฒน์ (ตำรวจ) เป็นผู้ดูแล

ยามกล้วยไม้ออกดอกสะพรั่งก็ช่วยให้บรรยากาศในที่คุมขังสดชื่นขึ้นบ้าง

ความลำบากที่สำคัญที่สุดสำหรับพี่ๆ 26 มีนาฯ ก็คือ พวกเขามีครอบครัวที่ถูกทิ้งไว้อยู่เบื้องหลัง

ดังนั้น ในบางช่วงเวลาจึงมีบรรยากาศของความเครียดเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งก็เป็นภาวะธรรมดาของปุถุชนในสถานการณ์เช่นนั้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นกำลังใจอย่างมากสำหรับพี่ๆ ซึ่งก็อาจจะรวมถึงพวกเราด้วยก็คือ สถานะของรัฐบาลธานินทร์หลังการรัฐประหาร 26 มีนาฯ ดูจะทรุดลงมากกว่าจะเข้มแข็ง

ข่าวสารต่างๆ ดูจะเป็นไปในทิศทางที่บ่งบอกว่ารัฐบาลน่าจะประสบความยุ่งยากมากขึ้นในอนาคต

แม้จะชนะรัฐประหาร แต่ก็คุมกองทัพไม่ได้จริง

ดังที่กล่าวแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงสำคัญประการหนึ่งของการเมืองไทยในขณะนั้นก็คือ อำนาจปืนไม่ได้อยู่กับนายทหารระดับสูงในกองทัพ

อำนาจที่แท้จริงอยู่กับนายทหารระดับกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับผู้บังคับการกรมและผู้บังคับกองพัน ซึ่งอยู่ในฐานะของการเป็นผู้ควบคุมกำลังพลและกำลังอาวุธของกองทัพบกอย่างแท้จริง

และดูเหมือนว่าข้อมูลของนายทหารระดับกลางผู้คุมกำลังที่ส่งตรงถึงพี่หนั่นก็คือ

“…ไม่ช้า ไม่เกินหนึ่งปีได้ออกแน่ ถ้าเอาพวกเรา (26 มีนาฯ) ออกไปไม่ได้ เขาต้องเข้ามาอยู่กับพวกเราด้วย”

เรียนวิชาทหาร

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองสนใจเรื่องของวิทยาการทหารมาก่อน อาจจะเป็นเพราะเป็นคนที่ต้องทำข้อมูลเรื่องฐานทัพสหรัฐในไทย สำหรับการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาก่อนปี 2519

ผมจึงมีโอกาสอ่านหนังสือเรื่องพวกนี้มาบ้าง แต่ก็มักจะเป็นบทวิเคราะห์ในระดับมหภาค

เช่น เรื่องของยุทธศาสตร์สหรัฐกับการมีฐานทัพในเอเชีย เป็นต้น

แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกับพวกพี่ๆ ที่เป็นทหาร และพี่บางส่วนเอาตำราทหารมาอ่าน ผมจึงถือโอกาสไปขอยืมมาอ่าน

จำได้ว่าพี่สุพจน์เอาตำราพื้นฐานของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกมาอ่าน เพราะพี่ๆ อีกส่วนมียศระดับร้อยเอก ซึ่งก็คงอยู่ในช่วงของการเตรียมตัวสอบเข้าโรงเรียน เสธ.

ผมจึงได้มีโอกาสอ่านตำราเหล่านี้จริงๆ ต้องขอขอบคุณพี่ๆ เหล่านี้ที่ไม่หวงหนังสือและยอมให้ผมอ่าน โดยไม่รู้สึกว่าผมเป็นซ้ายแล้วจะมาอ่านตำราของกองทัพบกได้อย่างไร

ซึ่งว่าที่จริงแล้วก็เป็นเหมือนการศึกษาวิทยาการทหารแบบ “ครูพักลักจำ” เสียมากกว่า

แต่อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโลกทัศน์ของผมกับวิชาทหาร…

พี่ๆ ที่เอาหนังสือทหารเข้ามาเป็นอันว่าเสร็จผมหมด โดยเฉพาะพี่อัศวินที่เอาหนังสือเข้ามาหลายเล่ม พร้อมกันนี้ก็ได้ฟังประสบการณ์การรบจากพี่ๆ โดยเฉพาะเรื่องของสงครามเวียดนามจากประสบการณ์ตรงของทหารไทย

อย่าแปลกใจถ้าจะกล่าวว่า โลกวิชาทหารของผมส่วนหนึ่งเริ่มพัฒนาขึ้นในบางขวาง

การใช้ชีวิตอยู่ในแดนพิเศษอาจจะสุขสบายบ้างในทางกายภาพ

แต่ในทางจิตใจแล้วไม่มีใครตอบได้ว่าอิสรภาพจะเดินทางมาถึงวันไหน

ผมจำได้ว่าพี่หนั่นพูดเสมอว่า “อีกไม่นาน!” แต่ก็ไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อไร

นอกจากตะกร้อ หมากรุก และเรือนกล้วยไม้เป็นทางออกแล้ว อาจารย์พิชัยเริ่มทำโครงการใหม่ คือ การใช้เวลากลางคืนแปลหนังสือของซุนวู

อาจารย์เลือกเอาภาษาอังกฤษที่เป็นงานมาตรฐานที่ใช้อ่านในโลกตะวันตกเป็นต้นฉบับ

งานเรื่อง “ตำราพิชัยสงคราม” หรือ “The Art of War” นี้มีหนังสือแปลมากมาย แต่ต้นฉบับนี้มีส่วนขยายความซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้อ่านที่สนใจ และต่างกับงานที่ออกเป็นภาษาไทยมาก่อนแล้ว

เมื่ออาจารย์เขียนบทแปลแล้ว ผมมีหน้าที่คัดลอกให้เป็นตัวบรรจงเพื่อรวบรวมเป็นต้นฉบับ

ผลที่ได้อย่างมีนัยสำคัญก็คือ ผมได้มีโอกาสอ่านงานของซุนวูพร้อมคำอธิบายอย่างสมบูรณ์

และเป็นการอ่านจากการเขียนทีละคำ เสียดายว่าหนังสือเล่มนี้หมดไปจากตลาดนานแล้วและไม่มีการนำมาตีพิมพ์ใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของคำอธิบายเพิ่ม ไม่ใช่มีเฉพาะคำกล่าวของซุนวูเท่านั้น

เป็นอีกครั้งที่ผมได้อ่านตำรามาตรฐานในวิชายุทธศาสตร์ และเป็นภาษาไทย เพราะผมเองเคยได้ยินชื่อของซุนวูมานาน แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสหยิบงานมาอ่าน จนกระทั่งเมื่อต้องทำหน้าที่เป็นผู้คัดลอกบทแปลดังกล่าว

นอกจากนี้ ก็ยังมีโอกาสได้ฟังพวกพี่ๆ เล่าถึงสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้าน ซึ่งก็เป็นอะไรที่ไม่เคยได้ยินเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเล่าถึงความกังวลของชนชั้นนำและผู้นำทหารหลังโดมิโนล้มลงในอินโดจีนในปี 2518

และเล่าเรื่องการเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงถ้าโดมิโนจะล้มในไทย

หรือถ้าไทยถูกบุกจากกองกำลังภายนอก

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับผมเป็นอย่างมาก

และทั้งยังช่วยกระตุ้นความสนใจของผมในเรื่องทหารและสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ของไทยหลังอินโดจีนแตกเป็นอย่างยิ่ง

และสิ่งเหล่านี้อีกเช่นกันที่ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการวิเคราะห์สถานการณ์ของผมในอีกหลายปีต่อมา!