บทวิเคราะห์ | กก.สมานฉันท์ เวที “ชวน” ปรองดองกันฝ่ายเดียว? ฝ่ายค้านยืนยันไม่ร่วม

คณะกรรมการสมานฉันท์ของรัฐสภา ภายใต้การนำของนายหัว “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ส่อแววว่าอาจจะได้สมานฉันท์กันเฉพาะฝ่ายของรัฐบาล กับตัวแทนของฝ่ายนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ

เพราะจากโครงสร้างที่สถาบันพระปกเกล้านำเสนอรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์มายังประธานรัฐสภานั้น จะมีจำนวน 21 คน จาก 7 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้แทนรัฐบาล 2 คน ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล 2 คน ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน 2 คน ผู้แทนสมาชิกวุฒิสภา 2 คน

ผู้แทนฝ่ายชุมนุม 2 คน ผู้แทนฝ่ายที่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น 2 คน ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน มาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 3 คน ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 1 คน ที่ประชุมคณะกรรมการอธิบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยมีนายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเลขานุการคณะกรรมการสมานฉันท์

แต่เมื่อมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันชัดเจน โดยให้เหตุผลว่า จะไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ จนกว่ารัฐบาลและคู่กรณีความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้าร่วม และรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง ด้วยการยุติการคุกคาม และยุติการจับกุมคุมขังผู้เห็นต่าง ยกเลิกการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมอย่างขาดหลักแห่งความยุติธรรม

พร้อมกันนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านยังเสนอแนะแนวทางแก้ไขวิกฤตความขัดแย้งครั้งนี้ที่เหมาะสมที่สุด นั่นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญของการแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องทำให้สังคมยอมรับว่ามีความตั้งใจและจริงใจที่จะสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

เพราะความเป็นประชาธิปไตยคือกลไกสำคัญที่ทุกฝ่ายจะยอมรับ และสร้างให้เกิดความเชื่อมั่น และคือหนทางสำคัญในการคลี่คลายทุกปัญหาของสังคมไทย ทั้งนี้ รัฐบาลควรแสดงความจริงใจโดยเร่งหาวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะในประเด็นอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ เป็นประเด็นที่เป็นปัญหาควรจะเร่งแก้ไขให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และยอมรับให้เกิดกระบวนการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเชื่อใจว่าไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจกำหนดกฎกติกาให้เป็นประชาธิปไตย เพื่ออนาคตด้วยมือของประชาชนเอง

เมื่อจุดยืนของฝ่ายค้านยืนกรานหนักแน่นว่าไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมสมานฉันท์ตามโมเดลของประธานรัฐสภา แม้รัฐบาลจะปรับท่าทีเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจต่อการสร้างความปรองดอง ด้วยการส่งชื่อบุคคลเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ ในสัดส่วนของรัฐบาล คือ “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม “เทอดพงษ์ ไชยนันทน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลส่ง “นิโรธ สุนทรเลขา” ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) “สรอรรถ กลิ่นประทุม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.)

ขณะที่สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยมีมติส่งชื่อมาแล้ว 3 คน ได้แก่ “รศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์” ผู้อำนวยการหลักสูตรพัฒนาผู้นำและการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“สมศักดิ์ รุ่งเรือง” อธิการบดีวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก

ส่วนที่ประชุมอธิการบดีมหาเทคโนโลยีราชมงคลเสนอมา 1 คน คือ “วิโรจน์ ลิ้มไขแสง” อธิการบดีมหาเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สำหรับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจะประชุมเลือกผู้แทนในวันที่ 24 ธันวาคมนี้

และ ส.ว.จะสรุปชื่อบุคคลที่จะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์อีกครั้ง

แม้สัดส่วนคณะกรรมการสมานฉันท์ในฝั่งของรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล ส.ว. และผู้ทรงคุณวุฒิ พอจะเห็นแสงสว่างในความหวังที่จะเดินหน้าศึกษาหาแนวทางปรองดอง แต่เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านและตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ถือเป็นตัวแทนของฝั่งคู่ขัดแย้งหลักปฏิเสธชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์

โดยนายชวนระบุว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ หากได้คนมาเข้าร่วมแค่ไหนก็เดินหน้าศึกษาหาแนวทางปรองดองกันแค่นั้น แต่เมื่อไม่ได้คู่ขัดแย้งตัวจริงเข้าร่วมเวที

แม้คณะกรรมการสมานฉันท์ยังเดินหน้าต่อ แต่เสียงสะท้อน ข้อมูลข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์จากกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะประเด็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร เรื่องการปฏิรูปสถาบัน ทางคณะกรรมการสมานฉันท์เท่าที่เหลืออยู่อาจจะได้ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ครบถ้วน และนำไปสู่ผลการศึกษาที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างแท้จริง

เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการปรองดอง คณะกรรมการสมานฉันท์ ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด แต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือการศึกษาหาแนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้กับประเทศ

แต่ผลการศึกษาเรื่องความปรองดองสมานฉันท์ทุกคณะมักได้รูปเล่มรายงานมา 1 ฉบับ แล้วก็จบลงด้วยการเก็บไว้บนหิ้งหรือในลิ้นชัก ไม่มีการนำผลการศึกษามาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

ต่อเรื่องการสร้างความสมานฉันท์ “โภคิน พลกุล” อดีตประธานรัฐสภา จึงเสนอแนวทางไว้อย่างน่ารับฟังว่า “การจะเดินหน้าคณะกรรมการสมานฉันท์ และดึงให้คู่ขัดแย้งเข้ามาร่วมเวทีนั้น คนที่จะมาร่วมพูดกันในเวทีนี้ ต้องพูดคุยได้ทุกเรื่อง ต้องมีความปลอดภัยโดยเฉพาะเรื่องละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

อีกทั้งคนที่จะมาพูดคุยในเวทีดังกล่าว “ต้องตัวเท่ากัน” คือ ฝ่ายรัฐต้องปลดล็อกเกี่ยวกับคดีความที่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีอยู่ ให้สามารถพูดคุยกันได้อย่างอิสระ ไม่ใช่เป็นการพูดคุยไปและเอาผิดไป จนเสียบรรยากาศการสร้างความสมานฉันท์

ที่สำคัญ เรื่องคณะกรรมการสมานฉันท์ ควรต้องมีกฎหมายมารองรับ ไม่ว่าจะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โดยอำนาจของรัฐบาล สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ เมื่อคณะกรรมการสรุปผลการศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ออกมาแล้วก็จะเข้าสู่วังวนเดิม คือถูกเก็บไว้บนหิ้ง ไว้ในลิ้นชักของหน่วยงานที่ทำการศึกษา

แต่ถ้าออกเป็นกฎหมายบังคับว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความสมานฉันท์จะต้องนำผลการศึกษาไปปฏิบัติให้เกิดผล หากละเว้น ไม่กระทำก็จะมีความผิด เมื่อดำเนินการได้เช่นนี้

เชื่อว่าการสร้างความปรองดองสมานฉันท์จะไม่ได้อยู่ในแค่แผ่นกระดาษอีกต่อไป

จังหวะก้าวการสร้างความสมานฉันท์นับจากนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่า รัฐบาลจะเลือกเดินในแนวทางอย่างไร