คุยกับ “วิษณุ เครืองาม” ในบรรยากาศ “ทน” : รัฐบาลก็ต้องทน ประชาชนก็ต้องทน ม็อบก็ต้องทน

ในบรรดานักการเมืองและอดีตข้าราชการที่เข้ามามีตำแหน่งในคณะรัฐบาลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คงไม่มีใครสามารถอยู่ได้หลายยุคหลายสมัยและอยู่ได้ทุกขั้วอำนาจเหมือนศาสตราจารย์ (ศ.) กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี วัย 69 ปี ซึ่งครั้งนี้เป็นรองนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 4 แล้ว

สาเหตุหนึ่งที่รองนายกฯ วิษณุอยู่ในคณะรัฐบาลได้ทั้งในขั้วประชาธิปไตยและเผด็จการทหารนั้น เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายขั้นเทพของประเทศไทย

วันก่อน ดร.วิษณุเป็นประธานเปิดกิจกรรม “TMF Power Fusion” จัดโดย “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม. และได้ปาฐกถาพิเศษ อันมีเนื้อหาน่าสนใจ โดยระบุตอนหนึ่งว่า สื่อมวลชนที่มีโอกาสเข้าถึงเนื้อหาสาระทีละมากๆ นับว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะถ้าเป็นสื่อที่ไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น สื่อที่เท็จหรือที่เรียกว่า “เฟกนิวส์” (fake news) สื่อที่ระรานผู้อื่น หรือแม้แต่ข่าวสารใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดความจงเกลียดจงชัง เกิดความเป็นศัตรู ทั้งหมดนี้เป็นสื่อที่ไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีแต่ทำให้เกิดความแตกร้าว มองหน้ากันไม่ติด

“ในวันนี้การนำเสนอข่าวสารทำให้คนเราเปิดโลกทัศน์ออกไปรวดเร็วว่องไวกว่าในอดีต หากหลงเชื่อเฟกนิวส์เพราะรู้ไม่เท่าทันสื่อ ถ้ามันไม่จริงและเป็นเท็จ จะเกิดผลร้ายมหาศาล เนื่องจากข่าวร้ายมันไปได้เร็ว และคนก็เชื่อ เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การใช้ชีวิตของผู้คนก็จะเปลี่ยนไปจากการรับรู้ข่าวปลอม และเกิดความเสียหายในที่สุด”

“ดังนั้น รัฐจึงมอบหมายให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ เป็นหน่วยงานที่จะช่วยทำให้เกิดสื่อสร้างสรรค์และมีความปลอดภัย”

หลังจากปาฐกถาพิเศษจบ “มติชนสุดสัปดาห์” ได้พูดคุยกับ ดร.วิษณุในประเด็นสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของม็อบราษฎร

: ปัญหาเรื่องม็อบ มีความเป็นห่วงหรืออยากสื่อสารถึงม็อบอย่างไร

ไม่ทราบจะสื่อสารอย่างไร ก็เป็นห่วงและกังวลว่ามันจะเกินเลยความสมควรไป ถ้าหากว่ายังอยู่ในขอบเขตของความสมควร มันก็เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ไม่ว่ากัน ชุมนุมสงบโดยเปิดเผยและไม่มีอาวุธ แต่ว่าวันนี้ชุมนุมก็สงบอยู่ที่ไม่ปะทะกัน แต่คำพูดที่ใช้บนเวทีหรือข้างล่างตะโกนกัน หรือที่ไปพ่นสี มันเป็นเฮทสปีช (Hate Speech) เป็นคำพูดที่หยาบคาย ทำให้คนฟังเกลียดชัง

สอง มันเป็นเฟกนิวส์ มันเป็นข่าวที่เท็จบิดเบือน และประการที่สามคือ ผิดกฎหมาย ที่ว่าผิดกฎหมายในที่นี้คือผิดทั้งกฎหมายดูหมิ่น หมิ่นประมาท หมิ่นทั้งพระบรมเดชานุภาพ อะไรก็ตามซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของวัฒนธรรมของไทยที่ต้องไปทำอย่างนั้น ขออย่าให้เกินเลยอย่างนี้ แล้วคุณจะชุมนุมก็ชุมนุมไปไม่ว่ากัน เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ทั้งหมด แต่ว่าถ้าไปถึงขั้นนั้นก็ต้องดำเนินการ

: มองว่าทางออกทางการเมืองอยู่ตรงไหน

นึกไม่ออก เรื่องทางออก เพราะเราก็ไม่อยากไปห้ามไปปราม มันจะเหนื่อยกันเองทั้งรัฐบาลและผู้ชุมนุม แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ก็ต้องอยู่กันไปอย่างนี้ เมื่อมันเป็นนอร์ม (Norm) เป็นบรรทัดฐานของสังคมไปแล้ว ก็ต้องทนกันทุกฝ่าย รัฐบาลก็ต้องทน ประชาชนก็ต้องทน ม็อบเขาก็ต้องทน

: พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี พูดคุยเรื่องนี้บ้างไหม

ไม่มี ท่านไม่เคยพูดถึง

: ในฐานะที่อยู่มาหลายสมัย ต้องปรับตัวหรือมีวิธีคิดอย่างไร

ไม่มีอะไร ทุกอย่างต้องระมัดระวังขึ้น

: ในส่วนที่มองกันว่าปรากฏการณ์ทางการเมืองในบ้านเราตอนนี้ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าที่มีความคิดแตกต่างกัน เป็นช่องว่างระหว่างรุ่น

ผมมองเป็นปรากฏการณ์ของสังคมธรรมดา คนรุ่นเก่ารุ่นใหม่จะมีปัญหากันมาโดยตลอด ผมก็ไม่รู้ว่ามีอะไรกดดันเบื้องหลังมากกว่านั้น มันคงมีมากกว่านั้น

: สิ่งที่ม็อบเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบัน มีอะไรจะแนะนำไหม

ไม่มีอะไรแนะนำ ถ้าจะให้แนะนำคือ อย่าพูดเพราะมันผิดกฎหมาย และจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจและจะเกิดการตอบโต้ต่อต้านปะทะกันได้ ทุกคนก็มีแฟนคลับเป็นของตัวเอง

: กรณีผู้ชุมนุมมีการแสดงสัญลักษณ์ค้อนและเคียว

เราก็รู้อยู่แล้วว่าค้อนและเคียวนั้นคือสัญลักษณ์ของอะไร เมื่อเอามาใช้แล้ว จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น ผมยังไม่แน่ใจว่ามันจะผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ในสมัยหนึ่งเครื่องหมายนี้ของนาซี สัญลักษณ์ของนาซี มันเป็นความผิด เมื่อขบวนการนาซีหมดไปแล้วก็ยังเป็นความผิดอยู่แม้ในประเทศเยอรมนี

เรื่องนี้ผมยังไม่แน่ใจว่าค้อนกับเคียวจะผิดกฎหมายอะไรหรือเปล่า เป็นข้อห้ามหรือเปล่า แต่เมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าความหมายคืออะไรก็ไม่ควรจะนำมาใช้ และเมื่อเราไปเห็นใครใช้ เราควรรู้ว่ามันเป็นการสื่อสารที่ไม่ใช่การสื่อสารที่ปลอดภัย และไม่ใช่การสื่อสารที่สร้างสรรค์ เป็นสื่อสารที่ผมไม่อยากเรียกว่าเฟกนิวส์ แต่เป็นสื่อสารที่ทำให้เกิดเฮทสปีชขึ้น

: เวลานี้ในบ้านเรามีเฟกนิวส์ในโซเชียลเยอะมาก จะแก้ไขอย่างไร

เฟกนิวส์มาเป็นฤดูกาล เพราะว่าบางฤดูกาล ประชาชนอาจมีความระแวงอยู่แล้วว่าข่าวไม่เป็นความจริง เพราะฉะนั้น เฟกนิวส์แบบนี้ไม่ค่อยมีอิทธิพลเท่าไหร่

แต่ในยามที่โควิดระบาด คนไม่ค่อยรู้อะไร และไม่รู้ว่าอะไรเป็นเรื่องจริงไม่จริง ดังนั้น ข่าวเข้ามาคนจะบริโภคจะเสพแล้วก็จะแพร่ ตรงนี้ต้องกลับมาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้ข้อมูลข่าวจริงก่อนเพื่อน เพื่อที่ว่าจะได้ไปเคาน์เตอร์ (Counter) ไปต้านข่าวที่มันไม่จริง

ประการที่สองคือ แก้ข่าว ถ้าหากว่าเราแพร่ก่อนไม่ทัน แต่อีกฝ่ายหนึ่งแพร่ข่าวที่เป็นเฟกนิวส์ไปแล้ว ต้องมีหน่วยที่สามารถตรวจสอบ เช็ก และแจ้งประชาชนได้ทันท่วงที โดยเฉพาะข่าวใหญ่ๆ สำคัญๆ คงไม่ถึงกับต้องไปปฏิเสธทุกข่าว แต่ข่าวสำคัญ ข่าวที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ข่าวที่มีผลต่อวิถีชีวิต ข่าวที่มีผลต่อการเมือง การปกครอง ความมั่นคง ข่าวที่มีความเกี่ยวพันกับการที่เราจะทำมาหากิน ประกอบอาชีพ ของแบบนี้ต้องออกจากรัฐก่อน หรือถ้าออกไปไม่ทัน ข่าวเท็จมาก่อน ต้องแก้ข่าวไปให้เร็วที่สุด และเตือนไปให้คนรู้เท่าทันสื่อ

วิธีที่จะรู้เท่าทันสื่อมีหลายวิธีด้วยกัน เป็นศาสตร์เป็นวิชาที่สอนกันได้ด้วยซ้ำไป เอาง่ายๆ ก็ใช้หลักพระพุทธเจ้า มา สมโณ โน ครูติ (อ่านว่า มา สัมมะโนโนคะรูติ) อย่าเชื่อเพราะว่าผู้พูดเป็นครูของเรา มา ตรรก กะ เห ตุ (อ่านว่า มา ตรรกะเหตุ) อย่าเชื่อเพราะว่ามันมีตรรกะ มันมีตรรกะแต่มันผิด ของแบบนี้ถ้าเข้าใจจะยั้งคิด

: ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ ทำอย่างไรให้เกิดสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย

การมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นทำได้ หนึ่ง คือการเข้ามาเป็นหูเป็นตา มาแจ้งเบาะแสให้ทราบว่ามีสื่ออะไรที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่สร้างสรรค์ หรือมีความพยายามทำอะไรที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดความไม่เรียบร้อยทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

ข้อที่สอง ประชาชนที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาช่วยในการผลิตสื่อ เข้ามาขอทุนของกองทุนนี้เพื่อจะไปผลิตสื่อ ตรงนี้เด็กนักเรียน ครูบาอาจารย์ ท่านอาจจะมีสติปัญญา มีเวลาและความสนใจมาก และประการที่สาม การที่ประชาชนอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่ต้องแอ๊กทีฟ (Active) ไม่ต้องพาสซีฟ (Passive) แต่ว่าทำตัวเป็นผู้บริโภคสื่อที่ดี คือผู้ที่ไม่หลงเชื่อคล้อยตามไปง่ายๆ เป็นพวกที่มีสติ เป็นพวกที่มีความยั้งคิด

ข่าวผ่านมาเราก็ให้ผ่านไป แล้วตรวจสอบ ก่อนที่จะร่ำลือกัน หรือไปแชร์หรือไปบอกต่อ เราอยู่ในโลกของสื่อที่มีทั้งข่าวเท็จ มีทั้งข่าวจริง มีทั้งข่าวที่หยาบคายและสุภาพ เพราะฉะนั้น เราต้องทำตัวเป็นผู้บริโภคสื่อที่ดีก็ถือว่าช่วยได้มากที่สุดแล้ว

“สื่อมีเอาไว้ให้เสพ แต่ต้องเสพอย่างคนที่เขารู้เท่าทัน ที่รู้เท่าทันคือมีสติ มีสัมปชัญญะ และก็มีความรอบรู้พอสมควร เพราะว่าถ้าไม่รอบรู้แล้วจะตกเป็นเหยื่อได้ง่าย และอาจจะทำอะไรผิดพลาดไปเยอะแยะไป ที่ผมเป็นห่วงมากหน่อยคือสื่อที่มาในรูปของการโฆษณา และเป็นการโฆษณาที่มันไม่จริง ประเภทที่สองที่เป็นห่วงคือสื่อที่มาในรูปของเฮทสปีช ทำให้เกิดความจงเกลียดจงชังไม่เป็นมิตร เรารู้ว่ากัลยาณมิตรนั้นคือความสนิทสนมกลมเกลียว แต่พอมาเป็นเฮทสปีชมันทำให้คนเกลียด ให้คนระแวง เป็นศัตรูกัน”

“สองอย่างนี้อันตราย”