ภารกิจลับคิสซิงเจอร์ เบิกทางให้นิกสันเจอเหมา | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีนวันนี้มีที่มาที่ไปที่คดเคี้ยวเลี้ยวลดพอสมควร

การจะมองว่าสองยักษ์ใหญ่นี้จะทำสงครามกันในวันข้างหน้าหรือไม่ต้องมองย้อนกลับไปในอดีต

หลายจังหวะของอดีตคือการพยายามจะสานสัมพันธ์สลับกับการแก่งแย่งอิทธิพลเหนือประชาคมโลก

ในช่วงทศวรรษที่ 1970s คือความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างสหรัฐ, สหภาพโซเวียตและจีน

เมื่อปักกิ่งกับมอสโกที่เคยเป็น “สหายยิ่งยวด” เกิดมีเรื่องระหองระแหงกันเพราะเหมาเจ๋อตุงเริ่มจะระแวงว่าสหภาพโซเวียตทำท่าจะมองตนเป็นศัตรู ผู้นำจีนก็ตัดสินใจยื่นมือให้กับสหรัฐ

สหายกลายเป็นศัตรู และอริเก่าก็ผันเป็นมิตรได้

สัจธรรมแห่งการเมืองระหว่างประเทศว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” ก็กลับมาแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดอีกครั้ง

ความขัดแย้งระหว่างสองยักษ์ในค่ายคอมมิวนิสต์เริ่มต้นจากการนิยามผลประโยชน์ที่ต่างกันในช่วงสงครามเย็นระหว่าง 1945-1991

ในช่วงนั้นการตีความ “ลัทธิมาร์กซ์” ของสองประเทศเริ่มจะสร้างความร้าวฉาน

ผู้นำโซเวียตในช่วงนั้นเริ่มกระบวนการลบอิทธิพลทางความคิดของสตาลินและหันไปหาทาง “อยู่ร่วมกัน” กับโลกตะวันตก

เหมาเจ๋อตุงในยามนั้นยึดมั่นในความผูกพันกับลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเหนียวแน่น

เหมาตีความการปรับเปลี่ยนท่าทีของผู้นำมอสโกเป็น “ทวนกระแสหลัก” ของลัทธิมาร์กซ์-เลนิน

ปักกิ่งเริ่มใช้คำว่า Revisionism กับมอสโก ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแปลเป็น “ลัทธิแก้”

มาจากคำว่า Revise อันหมายถึงการ “แก้ไข” หรือ “ทบทวน”

พูดง่ายๆ คือ จีนกล่าวหาสหายที่สหภาพโซเวียตว่ากำลังจะเดินหนีจากต้นแบบของความเป็นคอมมิวนิสต์ที่ปรมาจารย์อย่างมาร์กซ์และเลนินได้กำหนดเป็นหลักปฏิบัติเอาไว้

นั่นหมายความว่าเหมามองผู้นำมอสโกกำลังจะหนีห่างจาก “คอมมิวนิสต์บริสุทธิ์” และยอมอ่อนข้อต่อ “จักรวรรดิทุนนิยมตะวันตก”

อีกด้านหนึ่งเหมาไม่พอใจที่สหภาพโซเวียตขยับไปใกล้อินเดีย

ขณะเดียวกันนายกฯ ของสหภาพโซเวียตขณะนั้น นิกิต้า ครุสชอฟ ก็เริ่มมองเหมาเจ๋อตุงอย่างเป็นห่วงกังวลว่าผู้นำจีนคนนี้มีความ “ระห่ำ” พอที่จะก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ที่จะทำลายล้างโลกทั้งสองซีกได้

ผลที่ตามมาคือจีนกับสหภาพโซเวียตเริ่มทำสงครามแก่งแย่งอิทธิพลเหนือประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ ทั่วโลก

สําหรับโลกตะวันตกแล้ว การที่ปักกิ่งกับมอสโกแตกแยกกันทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่

นั่นคือสงครามเย็นที่เดิมมีสองฝั่งคือโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์ถูกแปรสภาพเป็นสงครามเย็นสามฝ่าย…เพราะจีนกับสหภาพโซเวียตเกิดปริแตกขึ้นมากลางคัน

จึงกล่าวได้ว่าการที่ครุสชอฟประกาศทิ้งอุดมการณ์สตาลินในปี 1956 เป็นจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่โยงกับเหตุการณ์ “ภูมิรัฐศาสตร์” ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งเท่ากับ

การก่อสร้างกำแพงเบอร์ลินในปี 1961

วิกฤตการเผชิญหน้าขีปนาวุธคิวบาระหว่างอเมริกากับสหภาพโซเวียตในปี 1962

และการสิ้นสุดของสงครามเวียดนามในปี 1975

เพราะเหตุการณ์สำคัญชุดนี้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของเหมาเจ๋อตุงของจีนที่หันมาจับมือกับริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐในปี 1972

ตัดภาพกลับมาที่ “ภารกิจการทูตลับ” ของคิสซิงเจอร์ที่ถูกส่งมาเจรจารายละเอียดของการมาเยือนจีนโดยประธานาธิบดีนิกสัน

วันที่ 1 กรกฎาคม 1971 คิสซิงเจอร์ออกจากฐานบินกองทัพอากาศแอนดรูส์ที่วอชิงตัน ดี.ซี.

รายงานทางการบอกว่าที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนิกสันจะไปเยือนไซ่ง่อน (โฮจิมินห์ซิตี้วันนี้), กรุงเทพฯ และนิวเดลีก่อนจะไปเยือนอิสลามาบัดของปากีสถาน

แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการหลบเข้าประเทศจีนเพื่อเริ่มกระบวนการเจรจากับเจ้าหน้าที่ปักกิ่ง

ผมจำได้ว่าคิสซิงเจอร์หลบเข้ามาพักที่โรงแรมเอราวัณ (ยุคก่อน) เพราะผมไปนั่งกินข้าวอยู่ที่นั่น เจ้าหน้าที่โรงแรมคนหนึ่งมากระซิบว่าคิสซิงเจอร์เพิ่งเช็กอินที่โรงแรม

ผมตรวจสอบข่าวแล้วรัฐบาลไทยไม่มีกำหนดจะพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างนี้จากวอชิงตัน

ผมเช็กข่าวกับสถานทูตสหรัฐ ก็ไม่ได้รับความกระจ่างแต่ประการใด

เพราะเจ้าหน้าที่สถานทูตก็ไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการมาเยือนของมือขวาของประธานาธิบดีนิกสันด้วยซ้ำไป

เป็นข่าวที่ชวนฉงนยิ่ง

มารู้ว่าเป็น “การหลบซ่อนเข้าออก” ของคิสซิงเจอร์ก็ผ่านมาหลายสัปดาห์เมื่อมีการแถลงข่าวว่าคิสซิงเจอร์ได้หลบเข้าจีนโดยไม่มีการแจ้งกับสาธารณชน

“ภารกิจลับ” ครั้งนั้นมีการสร้างข่าว (ถ้าเป็นวันนี้ก็ต้องเรียก Fake news) ว่าคิสซิงเจอร์เกิดปวดท้องอย่างแรง

ข่าวต่อมาบอกว่าประธานาธิบดีปากีสถานได้ส่งเครื่องบินพิเศษมารับคิสซิงเจอร์ไปพักรักษาตัว ณ จุดพักผ่อนบนยอดเขาที่ปลอดผู้คน

วันที่ 9 กรกฎาคม 1971 แผนลับนั้นกำหนดให้คิสซิงเจอร์และคณะใช้ยานพาหนะทหารของปากีสถานมาถึงสนามบิน Chaklala

นักข่าวอังกฤษคนหนึ่งเห็นคิสซิงเจอร์ ก็รีบส่งข่าวไปที่หัวหน้าข่าวที่ลอนดอน บอกว่าเห็นคิสซิงเจอร์ที่สนามบินทหารของปากีสถาน แต่ไม่รู้ว่ามีกิจกรรมอะไร

บ.ก.ข่าวที่สำนักงานใหญ่ที่ลอนดอนบอกว่านักข่าวคนนั้นคงคิดไปเองว่าเป็นคิสซิงเขอร์ เพราะแกไม่น่าจะไปอยู่แถวนั้น จึงเอาข่าวนั้นทิ้งถังขยะไป

เท่ากับตกข่าวระดับโลกเลยทีเดียว

จากสนามบินกองทัพอากาศแห่งนั้น คิสซิงเจอร์ขึ้นเครื่องบินโบอิ้ง-707 ของปากีสถาน

เครื่องบินลำนั้นเพิ่งร่อนลงจากปักกิ่งเพื่อไปรับ Nancy Tang (แนนซี่ ถัง) ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามมาช่วยงานของคิสซิงเจอร์และคณะอย่างใกล้ชิด

นายกฯ โจวเอินไหลมาพบคิสซิงเจอร์ ณ ที่พักสำหรับแขกพิเศษต่างชาติ

คิสซิงเจอร์ควักเอาเอกสารปึกเบ้อเร่อ นายกฯ โจวมีกระดาษเปล่าแผ่นเดียว

คิสซิงเจอร์อ่านจากบทได้สักสองสามนาทีก็เอ่ยเอื้อนขึ้นว่า

“มีคนมาเยือนดินแดนอันสวยงามแห่งนี้มากมาย สำหรับเรายังเป็นดินแดนแห่งความลี้ลับ…”

นายกฯ โจวยิ้มและพูดแทรกขึ้นมาว่า

“เมื่อท่านมีความคุ้นเคยกับเราแล้ว ก็จะไม่ใช่เรื่องลี้ลับอีกต่อไป…”

บรรยากาศเครียดๆ ตอนแรกก็ค่อยๆ คลายลง

การประชุมวันแรกลากยาวถึง 7 ชั่วโมง กว่าจะจบก็ใกล้เที่ยงคืน

หลังจากนั้น นายกฯ โจวก็กลับไปรายงานผลการพบปะรอบแรกต่อประธานเหมา

ผู้นำจีนทำงานดึกมาก วันรุ่งขึ้นจึงให้คิสซิงเจอร์และคณะไปทัศนศึกษาในกรุงปักกิ่ง

ในการประชุมรอบที่สอง นายกฯ โจวแจกแจง “จุดยืนที่แตกต่าง” ระหว่างจีนกับสหรัฐ

จากนั้นโจวก็ถามว่า

“ในเมื่อเราสองประเทศมีความแตกต่างกันมากมายอย่างนี้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะเชิญประธานาธิบดีนิกสันมาเยือนจีน?” นายกฯ โจวบอกคิสซิงเจอร์

คงจะเป็นการโยนหินถามทางตามสไตล์การทูตแบบจีนเพื่อหยั่งเชิงผู้มาเยือน

คิสซิงเจอร์แสดงอาการแปลกใจ แต่ก็พยายามเปล่งวาจาตอบด้วยเสียงที่ราบเรียบ ไม่พยายามจะแสดงให้เจ้าของบ้านเห็นความหวั่นไหวของตนเอง

“นั่นย่อมเป็นเรื่องที่ฝ่ายจีนจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะเชื้อเชิญประธานาธิบดีสหรัฐมาเยือนจีนหรือไม่”

หลังอาหารเที่ยง นายกฯ โจวแจ้งกับคิสซิงเจอร์ว่า หน้าร้อนของปีต่อไปน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการมาเยือนจีนของนิกสัน

คิสซิงเจอร์ยิ้ม เท่ากับรับรู้ว่านายกฯ โจวไม่ได้จริงจังกับประโยคเมื่อตอนเช้ามากนัก หรืออาจจะเป็นการประเมินความมุ่งมั่นของฝ่ายอเมริกาเท่านั้น

ต่อมาทั้งสองก็ตกลงกำหนดการมาเยือนจีนของนิกสันในฤดูใบไม้ผลิของปีต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกับช่วงของการเลือกตั้งที่สหรัฐ

และแล้วประวัติศาสตร์โลกก็จารึกว่าเครื่องบิน Air Force One ที่นำประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐก็ร่อนลงปักกิ่งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1972 เพื่อเปิดศักราชใหม่แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตของสองมหาอำนาจโลก