ชาวบ้านจะนะ จะหนุนหรือค้าน ? มาเริ่มนับหนึ่งออกแบบ จะนะเมืองน่าอยู่ร่วมกัน “ภายใต้สโลแกนทุกคนคือพี่น้องกัน”

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

15 ธันวาคม 2563 หลัง ครม.มีมติตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อออกแบบการพัฒนาจะนะร่วมกัน

กล่าวคือ มติครั้งนี้ แม้มิได้ยกเลิกมติ ครม.ในการดำเนินจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด แต่เปรียบเสมือนชะลอการเดินหน้าดำเนินโครงการดังกล่าวไปก่อน เช่น ชะลอการพิจารณาการแก้ไขผังเมืองและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA, EHIA ไปก่อน จนชาวบ้าน (ในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น) ยอมถอยหนึ่งก้าวกลับบ้านอย่างฮีโร่ เมื่อกลับถึงจะนะ

บทเรียน (ส่วนหนึ่ง)

การต่อสู้ของชาวบ้านจะนะ สู่มติ ครม.

ความเป็นจริงการต่อสู้แบบบ้านๆ ของชาวบ้านครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมระหว่างภาคีเครือข่ายผู้นำศาสนา สถาบันสอนศาสนา นักวิชาการทั้งในและนอกพื้นที่ นักกฎหมาย ประชาสังคมนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ รวมทั้งนำบทเรียนในอดีตการต่อสู้ตลอด 20 ปีตั้งแต่โครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย (โปรดอ่านเพิ่มเติมในประเด็นร้อน!! การต่อสู้ของคนจะนะแบบบ้านๆ สะเทือนอำนาจ รัฐ กทม. และทุนข้ามชาติ/อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ http://spmcnews.com/?p=35756)

วรา จันทร์มณี เขียนเฟซบุ๊กสะท้อนบทเรียนครั้งนี้ว่า “กรณีจะนะ ก่อนอื่นในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมก็ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในกระบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ทั้งการสนับสนุนต่อหน้าและลับหลัง ซึ่งผมมองว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งนับแต่การต่อสู้เรื่องท่อก๊าซเมื่อกว่า 20 ปีก่อน”

การต่อสู้ของชาวบ้านครั้งนี้แบ่งเป็นสองทัพ

หนึ่ง ประท้วงหน้าทำเนียบอันศูนย์รวมการประท้วงรัฐบาลของนักเรียน นักศึกษาและเครือข่ายคณะราษฎรและสื่อทุกสำนักเอาไปเล่น

ทัพที่สอง ประท้วงเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ เช่น ชาวประมงนำเรือปิดอ่าว นักเรียน ครู ผู้บริหาร โรงเรียนสอนศาสนา ผู้นำศาสนาออกแถลงการณ์

นอกจากชาวบ้านที่ค้านยังมีฝ่ายหนุน

นอกจากชาวบ้านที่ค้านโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรม ในทางกลับกันยังมีชาวบ้านฝ่ายหนุนโครงการสองกลุ่ม คือเครือข่ายประชาชนจะนะ อาสาเพื่อพัฒนาถิ่น และกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้เดินโครงการนี้ต่ออย่าหยุดหรือชะลอ

“เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนเครือข่ายประชาชนจะนะ อาสาเพื่อพัฒนาถิ่น นำโดยนางสาวซาปีต๊ะห์ หวังโซะ นำชาวบ้านในพื้นที่ จ.สงขลา ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เนื่องจากจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น”

สอง แกนนำกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ รุดยื่นหนังสือถึงนายกฯ เบี้ยวชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ประชาชนกว่า 20,000 ราย พร้อมบุกทำเนียบ

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 เวลา 11.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายอัฐนนท์ เส็มยามา ประธานกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ พร้อมผู้แทนชาวบ้านใน 3 ตำบลของพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (ตำบลนาทับ ตำบลตลิ่งชัน ตำบลสะกอม) จำนวน 18 คน ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องให้รัฐบาลทบทวนเรื่องการชะลอมติโครงการนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตจะนะ พร้อมยื่นหนังสือรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตจะนะ จำนวน 20,000 คน โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ

นายอัฐนนท์ เส็มยามา ประธานกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ เผยว่า เนื่องจากคณะกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบเป็นกลุ่มลูก-หลานชาวจะนะ ที่รวมตัวกันเพื่อต้องการเรียกร้องผลประโยชน์ให้กับคนในชุมชน อันเนื่องจากการที่รัฐบาลมีมติในการอนุมัติการดำเนินโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะในพื้นที่สงขลา ทางกลุ่มได้มีการปรึกษาหารือ และได้ลงพื้นที่ในการถามความคิดเห็นของชาวบ้านทั้ง 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน ต.สะกอม ที่เป็นพื้นที่ในการสร้างนิคมอุตสาหกรรม และ 2 ตำบลใกล้เคียง คือ ต.จะโหนง ต.บ้านนา มากกว่า 30 เวที ทางกลุ่มมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันกับชาวบ้านจึงได้ข้อสรุปว่า หากการพัฒนาในครั้งนี้ชุมชนได้มีส่วนร่วมด้วยก็พร้อมจะสนับสนุน แต่หากไม่ได้มีส่วนร่วมก็พร้อมจะคัดค้าน เพราะเป็นส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่

ชาวบ้านจึงได้มีข้อเสนอไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ หรือ ศอ.บต. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นเวทีที่ทางกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบยื่นขอจัดคู่ขนาน เพราะไม่อยากให้ชาวบ้านต้องเผชิญหน้ากันระหว่างผู้เห็นด้วยกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย จึงส่งหนังสือเพื่อขออนุญาตจัดการประชุมในครั้งนี้ โดยการประชุมในครั้งนั้น ทางคณะชุมชนทั้ง 8,000 คนที่มาจาก 5 ตำบลของอำเภอจะนะได้มีข้อเรียกร้องว่า ต้องการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาด 1,100 Mw เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ในชุมชน และเป็นการเยียวยาในส่วนที่ชุมชนต้องเสียไปอันเนื่องจากการพัฒนาครั้งนี้ และทาง ศอ.บต.ได้รับปากว่าจะนำเข้าการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจชายแดนใต้ (กพต.) เพื่อนำเสนอผลการรับฟังของประชาชนในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

และ กพต.ก็รับเรื่องที่ ศอ.บต.ได้นำเสนอไว้ โดยมีมติไว้ว่าให้ประชาชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาด 1,100 Mw (หนังสือที่ นร 5202/3959 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2563) โดยมอบหมายให้ ศอ.บต.ได้เร่งดำเนินการและทั้งทำงานคู่กับสภาพัฒน์ในการเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีส่วนกับการพัฒนา และขั้นตอนนี้ทางชุมชนก็ได้ดำเนินการในการจดทะเบียนกลุ่ม เป็นบริษัท จะนะชุมชนต้นแบบ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้มีสถานะในการดำเนินกิจการขนาดใหญ่ได้ และรองรับสมาชิกมากกว่า 20,000 คนได้ สร้างรายได้ที่มั่นคงแก่คนในชุมชน

ทางกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบจึงเสนอให้ ศอ.บต. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข้อเสนอของสมาคมและภาคประชาชนในพื้นที่ โครงการนี้ควรได้ไปต่อหรือไม่?

การตัดสินใจเชิงนโยบายดังกล่าว ควรขึ้นอยู่กับเหตุผลเชิงประจักษ์และข้อมูลจากการศึกษาผลกระทบโครงการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง (อันเป็นความท้าทายใหญ่)

เนื่องจากการพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นประเด็นที่ซับซ้อนและต้องมีความเข้าใจบริบทเชิงพื้นที่อย่างถูกต้องและรอบด้าน ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นจะรู้ดีที่สุดเกี่ยวกับความต้องการและทิศทางในการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลิตภาพและสร้างความสามารถในการแข่งขันของท้องถิ่น

นอกจากนี้ ภาครัฐควรแสดงความจริงใจและสร้างความโปร่งใสของโครงการ โดยกำหนดให้มีตัวแทนจากทั้งฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายต่อต้าน และภาควิชาการ เข้ามาเป็นคณะทำงานศึกษาผลกระทบโครงการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและเป็นกลางให้มากที่สุด

##คนจะนะโดยเฉพาะคนค้านจะต้องแสดงให้สังคมในและนอกพื้นที่ ว่าพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธว่าบ้านเมืองจะต้องพัฒนาไปข้างหน้า ภายใต้การพัฒนานั้นจะต้องตั้งอยู่บนความถูกชอบธรรม และต้องเคารพวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ (ที่อ้างเช่นกัน)

ข้อเสนอให้รัฐบาลจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทางและโครงการพัฒนาในพื้นที่จะนะและพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ต่อไปก็เป็นสิ่งท้าทายเชิงปฏิบัติ

ในขณะที่สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา มองว่าชัยชนะของชาวบ้านครั้งนี้เป็นเพียงก้าวแรกแต่สำคัญ ซึ่งจะทำอย่างไรให้การดำเนินการหลังจากนี้ร่วมด้วยช่วยกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือสนับสนุนอย่างโปร่งใส เท่าเทียม เป็นธรรม และตรวจสอบได้

ซึ่งสมาคมได้ประกาศจุดยืนสามข้อดังนี้

หนึ่ง ขอบคุณทุกภาคส่วน ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ช่วยแก้ปัญหาร่วมหาทางออกให้ชาวบ้านที่เสียสละร่วมเรียกร้องในครั้งนี้

สอง จะขอติดตามอย่างใกล้ชิดต่อผลของมติ ครม.หลังจากนี้

สาม ขอเชิญทุกภาคส่วนโดยเฉพาะชาวบ้านไม่ว่าจะคัดค้านหรือสนับสนุน นิคมจะนะเมืองอุตสาหกรรม ในการร่วมปรึกษาหารือ ร่วมออกแบบจะนะเมืองน่าอยู่ของพวกเรา

บาบอฮุสนี บินหะยีคอเนาะ ผู้นำศาสนาและตัวแทนเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอำเภอจะนะให้ทัศนะว่า “ชาวบ้านจะนะจะหนุนหรือค้านโครงการนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน ดังนั้น มาเริ่มนับหนึ่งออกแบบจะนะเมืองน่าอยู่ร่วมกัน ภายใต้สโลแกนทุกคนคือพี่น้องกัน หากเรามั่นใจว่าเป็นมุสลิมผู้ศรัทธา อย่าลืมว่าเราจะเป็นประชาชาติตัวอย่างก็ต่อเมื่อเราทำคุณประโยชน์ต่อสังคม”

กล่าวโดยสรุปมันก็ยุติธรรมดีที่ได้เริ่มกระบวนการใหม่ “ไม่ว่าหนุนหรือค้าน : จะนะเมืองอุตสาหกรรม”

เป็นกำลังใจและเข้าใจว่า

“บ้านเมืองจะต้องพัฒนาไปข้างหน้า ซึ่งการพัฒนานั้นจะต้องตั้งอยู่บนความถูกต้องชอบธรรม เท่าเทียม โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีส่วนร่วม เคารพวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และได้รับประโยชน์สูงสุดต่อทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะนะจะชนะร่วมกัน”