มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส/มหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไป

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

มหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไป

เมื่อเร็วๆ นี้ มีโอกาสไปมองมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต พบเห็นความใหญ่โต ทั้งพื้นที่และอาคาร โดยเฉพาะอาคารรูปเพชร ที่อยู่ด้านหน้าริมถนน โดดเด่นและสะดุดตายิ่งนัก ไม่นับอาคารสูงและใหญ่อีกมากมายหลายหลัง โดยเฉพาะหอสมุดกลาง

ตอนที่ไปมอง เป็นช่วงเวลาสอบปลายภาคการศึกษา จึงไม่ค่อยเห็นนักศึกษา ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 คงทำให้นักศึกษาเรียนแบบออนไลน์ ที่หอพักหรือบ้านแทน

สภาพมหาวิทยาลัยที่เห็นจึงสงบเงียบ ยิ่งนักศึกษาส่วนใหญ่อยู่กันในห้อง ทั่วทั้งบริเวณจึงไร้ผู้คน

ผังมหาวิทยาลัยยังจัดรถบริการ จึงไม่มีรถจักรยานหรือรถจักรยานยนต์วิ่งวุ่นเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ทราบมาว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปิดวิทยาเขตกล้วยน้ำไทไปแล้ว เพื่อความสะดวกในการบริการการเรียนการสอน จึงย้ายมารวมกันที่รังสิต

อย่างไรก็ตาม สภาพที่เห็น ทำให้นึกภาพมหาวิทยาลัยในอนาคตขึ้นมาได้

 

เมื่อจำนวนนักศึกษาลดลงตามอัตราการเกิดของประชากรไทย ซึ่งเรื่องนี้ปรากฏขึ้นแล้วกับสถาบันการศึกษาเอกชนและสถาบันราชภัฏหรือราชมงคลหลายแห่ง

เมื่อการมามหาวิทยาลัยลดลง ด้วยความคุ้นเคยและความสะดวกในการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะการเรียนการสอนแบบบรรยายในสาขาวิชาต่างๆ การเดินทางมาฟังบรรยายคงไม่มี ส่งผลให้ห้องบรรยายจึงไม่มีความจำเป็น

เมื่อการเรียนการสอน เน้นการทำงานจริงในสถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ห้างร้าน โรงงาน หน่วยงานราชการ ห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่เคยต้องมี ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

เมื่อการเรียนรู้มาจากการทำงานร่วมกันของนักศึกษา ในรายวิชาสัมมนา หรือการระดมความคิดและการทำงานเป็นกลุ่ม จึงมีความต้องการพื้นที่ทำงานร่วมกัน ที่มีบรรยากาศ มีเสียงเพลง และบริการอาหารเครื่องดื่ม ห้องประชุม สัมมนาแบบเดิม ก็จะร้างการใช้สอย

เมื่อระบบการลงทะเบียน การติดต่อสอบถาม ผ่านระบบออนไลน์และคอลเซ็นเตอร์ ห้องธุรการ ห้องภาควิชา คณะวิชา ต่อไปก็จะร้างผู้คน

เมื่อการซักถามถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์ผู้สอน ทำได้สะดวก ทุกเวลา ผ่านทางอินเตอร์เน็ต อาจารย์ก็ไม่จำเป็นต้องประจำทำงานที่มหาวิทยาลัย

อาจารย์สามารถสอนจากบ้าน จากร้านกาแฟ หรือจากที่อื่นๆ ก็ไม่ต้องจัดเตรียมห้องพักอาจารย์อีกต่อไป

 

ด้วยเหตุนี้ พื้นที่และอาคารของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน คงจะร้างและไม่จำเป็นอีกต่อไป ในขณะที่พื้นที่และอาคารแบบใหม่จะเป็นที่ต้องการมากกว่า

อาคารหอพักนักศึกษา ที่เอื้อให้นักศึกษาอยู่อาศัยในพื้นที่กว้างขวางสวยงามและปลอดภัย มีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน

อาคารสันทนาการ ที่เอื้อให้นักศึกษาใช้เวลาว่าง ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ที่ช่วยบำรุงสุขภาพ และมีกิจกรรมร่วมกับเพื่อนนักศึกษา

อาคารอเนกประสงค์ ที่เอื้อให้นักศึกษามีพื้นที่สำหรับการทำงานแบบกลุ่ม ทำกิจกรรมด้วยกัน โดยพื้นที่จะต้องปรับขยายรองรับตามจำนวนคนได้ ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับกิจกรรมได้

ในขณะเดียวกัน แนวคิดให้นักศึกษาเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพแต่ละสาขาในสถานที่จริง ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สำนักงาน โรงพยาบาล ร้านอาหาร ศูนย์การค้า โรงงาน ฯลฯ นั่นคือ อาคารสถานที่ต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน

ถ้าจะให้นักศึกษาเรียนรู้จากการใช้ชีวิต เพื่อเรียนรู้ความเป็นไปได้ในสังคม ในสถานที่จริง คือ อาคารพักอาศัย ที่มีอยู่มากมายในชุมชนเช่นกัน

ดังนั้น อาคารสถานที่ วิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัย อาจไม่จำเป็น เมื่อมหาวิทยาลัย และชุมชน ผสมผสานกลายเป็นเนื้อเดียวกัน

 

มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ก็จะให้บทเรียน องค์ความรู้แบบเมืองใหญ่ มหาวิทยาลัยในภูมิภาค ก็จะให้องค์ความรู้อีกแบบคือเมืองเล็ก แม้แต่มหาวิทยาลัยในชนบท ก็จะให้บทเรียนและองค์ความรู้แบบพื้นถิ่นอย่างแท้จริง

การศึกษาหาความรู้ของมนุษย์ ที่เคยเริ่มจากการเข้าหาฤๅษี ครู นักปราชญ์ ตามอาศรมต่างๆ มาเป็นอาคารสถานที่ที่รวมผู้รู้ไว้ด้วยกัน จนเป็นมหาวิทยาลัยที่แยกการเรียนรู้ออกจากสังคม ทำให้นักศึกษากลายเป็นชนชั้นที่แปลกแยกออกไป

ทุกวันนี้ นักเรียน-นักศึกษารุ่นใหม่ อยากมีส่วนร่วมกับสังคมอยู่แล้ว สถานศึกษาก็ไม่ควรจะเป็นพื้นที่เฉพาะ

หากเป็นอาคารสถานที่ทั่วไปในชุมชน