วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/รื้อ ‘ศาลาเฉลิมไทย’ ให้ชื่นชม ‘โลหะปราสาท’

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

รื้อ ‘ศาลาเฉลิมไทย’

ให้ชื่นชม ‘โลหะปราสาท’

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนราชดำเนินมีขนาดใหญ่อย่าง “อเวนิว” (Avenue) ในประเทศทางยุโรป เมื่อ พ.ศ.2442 เพื่อเป็นศรีสง่าแก่พระนคร เฉกเดียวกับถนนควีนส์วอล์ก (Queen’s walk) ในกรีนปาร์ก (Green park) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ดังพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีถึงพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ลงวันที่ 21 มิถุนายน ร.ศ.118 ความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“…เป็นถนนแฟตชันเนปอล สำหรับขี่รถวนไปวนมา ที่สองข้างทางนั้น ต่อไปจะต้องเปนวังเปนออฟฟิชใหญ่ๆ ฤๅบ้านผู้มั่งมี ที่จะตั้งร้านหยุมๆ หยิมๆ ไม่ได้…เมื่อแก้ให้เป็นทางใหญ่สำหรับประชุมคนไปเที่ยวเช่นนี้ คงจะกลับเปนทางคนไปมาเที่ยวเตร่ดีขึ้น นับว่าเป็นราษีของเมืองไทยสักอย่างหนึ่ง…”

ก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ สร้างและปฏิสังขรณ์วัดราชนัดดารามวรวิหาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอพระนางเจ้าโสมนัสรัตนาวดี และทรงมีพระราชดำริให้สร้างพุทธสถานโลหะปราสาทเป็นประธานวัด

…โลหะปราสาทแม้จะมีการสร้างเสริมทะนุบำรุงในยุคต่อมาก็ยังมิได้สำเร็จสมบูรณ์ตามคติเดิม

 

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 พ.ศ.2483 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจะเนรมิตถนนราชดำเนินกลางเป็นเหมือนย่านฌองส์เอลิเซ่ ประเทศฝรั่งเศส จึงมีบัญชาให้สร้างอาคารพาณิชย์ขึ้นสองฝั่งถนนราชดำเนินกลาง และมอบหมายให้นายจิตรเสน อภัยวงศ์ สถาปนิกชาวไทยที่จบจากฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ มีบริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง

แต่เนื่องจากเวลานั้นเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาและสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามยุติ พ.ศ.2488 จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ้นจากอำนาจ ทำให้การก่อสร้างชะงักไปชั่วคราว

พ.ศ.2490 วันที่ 8 พฤศจิกายน เกิดรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงกลับคืนอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2491 จึงให้รื้อฟื้นการสร้างอาคารพาณิชย์สองฝั่งถนนราชดำเนินจนแล้วเสร็จ พ.ศ.2491 แต่ตัวอาคารยังมีโครงสร้างเพียงแค่โครงคอนกรีตที่ยังมิได้ตกแต่ง จึงถูกใช้เป็นโกดังเก็บวัสดุของทางราชการ

ตรงมุมถนนราชดำเนินกลาง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตัดกับถนนมหาไชย เดิมเป็นพื้นที่ของลานโลหะปราสาทและวัดราชนัดดารามวรวิหาร เมื่อมีอาคารศาลาเฉลิมไทย สำหรับให้ประชาชนได้มาพักผ่อน ทำให้บดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาทและวัดราชนัดดารามวรวิหารซึ่งอยู่ด้านหลังหมด

ต่อมามีกลุ่มนักธุรกิจบันเทิงและมหรสพร่วมกันจัดตั้ง บริษัท ศิลป์ไทย จำกัด ได้ติดต่อขอเช่าศาลาเฉลิมไทยจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แล้วจึงได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2491 มอบหมายให้อาจารย์ศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา ออกแบบตกแต่งภายในตัวอาคารศาลาเฉลิมไทยเป็นโรงมหรสพทันสมัยที่สุด มีห้องโถงใหญ่ให้ผู้ชมนั่งพักผ่อนก่อนเข้าชมการแสดง มีภัตตาคารด้านหน้าโรง ภายในบุด้วยวัสดุกันเสียงสั่นสะเทือน ตัวเวทีมีขนาดใหญ่ สามารถเลื่อนและหมุนเปลี่ยนฉากได้ ที่หน้าเวทีมีแท่นเลื่อนขึ้น-ลงด้วยระบบไฮดรอลิก

เมื่อมีการเตรียมการเสร็จสมบูรณ์ ศาลาเฉลิมไทยจึงเปิดโรงเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ด้วยละครเวทีเรื่อง “ราชันย์ผู้พิชิต” จากบทประพันธ์ของ “อิงอร” – ศักดิ์เกษม หุตาคม โดย “ครูแก้ว” – แก้ว อัจฉริยกุล เป็นผู้กำกับการแสดง

ศาลาเฉลิมไทยเป็นโรงละครระยะหนึ่งจึงเปลี่ยนมาเป็นโรงภาพยนตร์ ฉายเรื่องแรกเป็นภาพยนตร์ฝรั่งเรื่อง “รุ้งสวรรค์”

โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยเคยจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “คลีโอพัตรา” นานนับเดือน รวมทั้งภาพยนตร์เรื่อง “แผ่นดินของเรา” แสดงโดยเจมส์ ดีน เป็นที่ติดใจของวัยรุ่นขณะนั้น แต่เสียชีวิตก่อนที่ภาพยนตร์จะถ่ายทำเสร็จ เป็นที่เสียดายของผู้ชมมากถึงกับต้องกลับมาชมอีกหลายรอบ

 

โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยตั้งอยู่บนพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ บดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาท เป็นเหตุให้ต้องรื้อถอนโดยมติของคณะรัฐมนตรีเมือง พ.ศ.2530 เพื่อให้พื้นที่เปิดโล่งมองเห็นโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร จากด้านถนนราชดำเนินนอก ถนนหลานหลวง จากด้านถนนราชดำเนินกลางไปสะพานผ่านฟ้าฯ มองเห็นป้อมพระกาฬ ภูเขาทอง และเป็นพื้นที่สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์อนุสรณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบริเวณลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์ สร้างศาลาทรงไทยสำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยปิดฉากการฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง “เพราะฉันรักเธอ” รอบสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2532 จากนั้น เพื่ออำลาศาลาเฉลิมไทยที่ต้องรื้อถอนโดยจัดแสดงละครเวทีเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” จากบทประพันธ์ของ “เสด็จพระองค์ชายใหญ่” พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล

การรื้อถอนศาลาเฉลิมไทย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องฉายและตัวอักษรชื่อโรงทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2532 เป็นการปิดตำนานโรงละครและโรงภาพยนตร์ที่มีผู้คนจดจำและเอ่ยอ้างถึงอยู่นาน ถึงขนาดป้ายชื่อยังมีผู้ค้าของเก่าซื้อไปเก็บไว้ที่บ้านริมคลองบางขุนเทียนอยู่นาน

หากนับห้วงเวลาตั้งแต่เปิดการแสดงละครเวทีเรื่องราชันย์ผู้พิชิต จนปิดโรงด้วยละครเวทีเรื่องพันท้ายนรสิงห์ นับเป็นเวลานานถึง 40 ปี ไม่น้อยทีเดียว

 

โลหะปราสาทที่ต้นถนนราชดำเนินกลางเป็นองค์แรกและองค์เดียวของไทย และถือเป็นองค์ที่ 3 ของโลก ได้รับการปรับปรุงหลายครั้ง

ปี 2539 พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิก ได้ออกแบบวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมควัน จึงออกมาเป็นสีดำ กรมศิลปากรร่วมกับทางวัดและคณะกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์ให้แล้วเสร็จเป็นสีทองในปี 2560 นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกรโยธา นายประพิศ แก้วสุริยา เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

ระหว่าง พ.ศ.2538-2539 รัฐบาลฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บุษบก วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2538

การจัดบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ.2555 กรมศิลปากรกับทางวัดและคณะกรรมการจัดโครงการบูรณะโลหะปราสาทจัดปิดทองคำเปลวบนยอดทั้ง 37 ยอด

ดำเนินการจากชั้นบนลงมา แล้วเสร็จปี 2560