หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/ ‘ข้างหน้า’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมาไน - หมาไนทำงานของมันสำเร็จ ได้รับบทเรียนในการทำงานมากขึ้น ส่วนวัวแดงมันเรียนรู้บทเรียนนี้ด้วยชีวิต

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ข้างหน้า’

 

ทํางานอยู่ในป่า ไม่ง่ายนักหรอก แต่ไม่ได้ยากกว่าการทำงานอยู่ในเมือง หรือที่ไหนๆ

ทุกที่มีความยาก-ง่าย แตกต่างกันไปในงานทุกงาน

ผมทำงานและใช้ชีวิตในป่ามานานพอสมควร เมื่อทบทวนเรื่องราวที่ผ่านพบมา ผมเคยมีความรู้สึกว่า ในวิถีนี้ คล้ายจะพบกับสิ่งที่เรียกว่า การ “ผจญภัย” เสมอๆ

ถึงวันนี้ จากคำว่า ผจญภัย ผมเรียกสิ่งที่พบมา ได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

ผมเรียกเรื่องราวต่างๆ แทนคำผจญภัย ว่า บทเรียน

 

อยู่ในป่า บทเรียนที่ทำให้เข้าใกล้กับความเสี่ยง หรืออันตรายสำหรับผม ไม่ใช่สัตว์ป่า ผมยืนยันเสมอมาว่า สัตว์ป่าไม่ใช่สิ่งอันตราย เขี้ยวเล็บของสัตว์ผู้ล่าคือ เครื่องมือการทำงานของพวกมัน มีไว้เพื่อให้ทำงานได้ผล ทักษะต่างๆ ช่วยให้การล่าประสบผล

เหล่านักล่า มีชีวิตอยู่ได้เพราะมีเหยื่อ คือความจริงที่เรารู้

ความจริงอีกประการคือ ชีวิตสัตว์ผู้ล่าจะอยู่ได้ก็เพราะการล่าประสบผลสำเร็จ

ความจริงข้อหลังนี้ เราไม่เห็น

ไม่ได้เห็นว่า เสือตัวหนึ่ง หรือหมาไนฝูงหนึ่งต้องใช้ความพยายามมากเพียงไรในงานของมัน…

 

ใช่ว่าผมจะไม่เคยพบกับการบาดเจ็บเพราะสัตว์ป่า หรือเฉียดกับอาการบาดเจ็บ หลายคนรู้ว่า ผมเคยบาดเจ็บเพราะเขี้ยวเล็บเสือโคร่ง

ผมเรียกเหตุนั้นๆ ว่า อุบัติเหตุ เป็นอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นเพราะผมไม่รักษาระยะห่าง ฝ่าฝืนกฎที่สัตว์ป่าตั้งไว้

ควายป่าวิ่งเข้าชาร์จช้างตัวที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยง ช้างเล็กๆ แอบหลังกอไผ่ และพุ่งเข้าหาทันทีที่ผมก้าวเท้าไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าว

ทุกครั้งที่พบเหตุการณ์เช่นนี้ คล้ายเป็นบทเรียนอันทำให้รู้มากขึ้น

แม้ในขณะที่เรื่องราวการปะทะระหว่างคนกับสัตว์ป่าเกิดขึ้นบ่อย มีคนบาดเจ็บเพราะกระทิงเข้าชาร์จ มีคนโชคร้ายโดนช้างทำร้ายกระทั่งเสียชีวิต

นั่นคือ เรื่องเศร้า คล้ายเป็นโศกนาฏกรรม

มันคือ เรื่องราวที่ยืนยันว่า สัตว์ป่าเผชิญกับปัญหาเพิ่มขึ้น พวกมันสะสมความเครียด ไม่ผิดนักหากนับว่า พวกมันหลายตัวคือ “สัตว์ป่วย”

หลายตัวเลี่ยงไปเมื่อพบเจอคน บางตัวไม่ทำเช่นนั้น

กับสัตว์ป่า ผมรู้ว่าพวกมันไม่อันตราย

แต่กับการเดินทาง หรือขณะเตรียมการเพื่อเฝ้ารอสัตว์ป่า เพื่อให้พวกมันอนุญาตให้พบ

ดูเหมือนว่า ผมต้องพบกับบทเรียนหลายครั้ง

 

มีสิ่งหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจนักว่า เป็นเพราะด้อยทักษะ หรือไม่ระมัดระวังพอ เมื่อต้องทำงานเกี่ยวข้องกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นทะเลกว้าง ทะเลสาบ บึงน้ำ แม่น้ำ ผมจะพบกับอุบัติเหตุแทบทุกครั้ง ตั้งแต่ตกจากหน้าผาตอนปีนขึ้นไปถ่ายนกโจรสลัด พารามอเตอร์ตกทะเลขณะบินถ่ายพะยูน

เรือไม้พลิกคว่ำจมน้ำในอ่างเก็บน้ำบางพระ รวมทั้งตอนล่องแพยางลงมาตามลำน้ำแม่กลอง จากบ้านแม่จัน เขตอุ้มผาง ลงมาสุดแม่น้ำในเขตป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก ผมก็ตกจากแพตอนล่องผ่านแก่งใหญ่แห่งหนึ่ง

อีกครั้ง หลังใช้เวลาอยู่ริมโป่งที่อยู่ไม่ไกลจากลำน้ำ กว่าสิบวัน ผมเดินแบกอุปกรณ์ กล้อง เดินเลาะริมฝั่ง ส่วนภูเงิน ชายหนุ่มผู้มาช่วยงานเอาสัมภาระที่เหลือใส่เรือไม้ลำเล็กล่องไปตามแม่น้ำ เพียงผ่านแก่งแรก เรือพลิกคว่ำ สัมภาระหลายอย่างจมหาย

ผมบอกใครๆ บ่อยๆ ว่า ดูเหมือนสายน้ำไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ จะไม่ชอบผมเอาเสียเลย

ถึงวันนี้ ผมรู้แล้วว่า การบอกอย่างนั้น คือการบอกเพื่อเลี่ยงการพูดถึงความด้อยทักษะของตัวเอง

 

ก่อนเข้ามา “ฝังตัว” อยู่ในป่าทุ่งใหญ่ ผม “นึกว่า” คุ้นเคยพอสมควรกับการขับรถบนหนทางป่า

ป่าทุ่งใหญ่ คือความจริงที่บอกให้รู้ว่า สิ่งที่ “นึกว่า” นั้นไม่จริง

เส้นทาง 80 กิโลเมตรช่วงฤดูแล้ง การเดินทางโดยใช้เวลาราวหนึ่งวันพอเป็นไปได้

แต่ในช่วงฤดูฝน เหตุการณ์ต่างออกไปราวหน้ามือกับหลังมือ

ระยะเวลา 3 วันเป็นเรื่องปกติ และหากต้องใช้เวลา 10 วันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

รถเสีย รถติดหล่ม ดินทับทาง ลำห้วยมีระดับน้ำสูงเกินกว่าจะข้าม และอื่นๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องพบ

รถติด รถพัง ผมพบตลอด แต่รถคว่ำสี่ล้อชี้ฟ้า พบครั้งเดียว เป็นครั้งเดียวที่จำ

 

ก่อนออกเดินทางวันนั้น ฝนตกมาแล้วกว่าหนึ่งสัปดาห์ เมฆดำหนาทึบ เราเดินทางพร้อมกันหลายคัน ในภารกิจนำอุปกรณ์ไปซ่อมแซมหน่วยที่ห่างไปราว 55 กิโลเมตร

เราจะต้องผ่านหล่มลึกๆ หล่มไหนผ่านได้ หล่มไหนต้องเบี่ยง หรือบางหล่มลงไปแล้วไม่ต้องดิ้น หรือปั่นให้รถสึกหรอ แต่ใช้วินซ์หรือรอกไฟฟ้าหน้ารถดึงขึ้นเลย

หล่มแบบนี้ เราพูดกันเล่นๆ ว่า พอถึงก็มอบตัวเลยดีกว่า

 

เราออกเดินทางตั้งแต่เช้า ฝนตกพรำๆ

ข้างหน้าผมมีรถนำสองคัน และคุมท้ายอีกคัน ทุกคันบรรทุกคนและสัมภาระเต็ม ผ่านหล่ม เนินชันมาได้โดยสะดวก กระทั่งเที่ยงเราถึงเนินชันๆ อีกหนึ่งเนิน พ้นเนินนี้ทางจะลาดลง และจะถึงหน่วยพิทักษ์ป่า

รถสองคันข้างหน้าขึ้นไปสุดเนินแล้ว เขาวิทยุบอกให้ผมตามขึ้นไปได้

ผมเร่งเครื่องไต่ขึ้นไปช้าๆ ทางค่อนข้างลื่น ใกล้สุดเนิน มีแนวหินดักอยู่รถสะดุด เครื่องดับ และไหลลงอย่างเร็ว อาจเพราะสัมภาระหนัก เบรกไม่ทำงาน ด้านขวามือ เป็นหุบลึก ผมตัดสินใจหักพวงมาลัยไปทางซ้ายหวังให้ท้ายรถปะทะต้นไม้และหยุด

ล้อหลังด้านซ้ายเกยไปบนก้อนหิน ผลคือ รถพลิกหงายท้อง ตอนรถเอาด้านข้างกระแทกพื้นผมยังรู้สึกตัว หลังจากนั้นก็วูบไป

รู้สึกตัวอีกครั้ง หลายคนกำลังช่วยดึงตัวผมออกจากรถ

ผมออกมายืนมองรถในสภาพสี่ล้อชี้ฟ้า เราใช้เวลาไม่นานในการกู้และพลิกให้รถอยู่ในสภาพแล่นต่อได้

กระจกหน้าร้าว หลังคายุบ ประตูเปิดไม่ออก ผมเดินทางต่อถึงจุดหมาย

เหตุการณ์ผ่านพ้น เสียงหัวเราะเข้ามาแทนที่ ท่าทางแต่ละคนเวลาคับขันตกใจ กลายเป็นเรื่องเล่าอันน่าขัน

ตั้งแต่วันนั้น เนินนี้ถูกเรียกว่า เนินหม่องโจ

สำหรับผม ซึ่งคนในป่าทุ่งใหญ่เรียกว่า หม่องโจ รู้ว่านี่เป็นเนินแห่งความผิดพลาด

ความผิดพลาดนี่แหละ ที่คนไม่ลืม

 

ผมยังอยู่ในป่า ไม่รู้หรอกว่าอีกนานเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าจะได้รับบทเรียนอะไรอีกบ้าง

มีเรื่องที่รู้บ้างคือ เส้นทางที่เดินมายาวนานพอสมควรนี้ ไม่ราบเรียบสักเท่าใด

บนเส้นทางคือ บทเรียนที่สอนให้จำ

ไม่ใช่ให้หันกลับไปมอง

ขับรถบนหนทางในป่า มองไป “ข้างหน้า” คือสิ่งสำคัญ