ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์ /RUN ‘อำมหิตผิดมนุษย์’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

RUN

‘อำมหิตผิดมนุษย์’

 

กำกับการแสดง Aneesh Chaganty

นำแสดง Sarah Paulson Kiera Allen Pat Healy

 

นี่เป็นหนังสยองขวัญที่ตั้งใจสร้างตามแบบฉบับของหนังธริลเลอร์แท้ๆ นั่นคือมีสิ่งชั่วร้ายและปองร้ายหมายขวัญตัวละครเอก ซึ่งทำให้ตัวเอกต้องหาทางรอดและพาตัวให้พ้นจากสถานการณ์ที่ยากลำบากของตน

เนื้อหาและเนื้อเรื่องไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องของคนโรคจิตที่วิปริตสุดขั้วเกินกว่าคนปกติธรรมดาจะนึกฝันว่าใครจะทำได้ขนาดนั้น

และเป็นหนังที่เขียนแนะนำหรือวิจารณ์ยากมาก เพราะต้องระวังเต็มที่ไม่ให้ปล่อยองค์ประกอบของพล็อตเล็ดลอดออกไปกลายเป็นสปอยเลอร์

 

เอาเป็นว่า หนังเริ่มด้วยภาพย้อมสีเขียวจางๆ ให้บรรยากาศชวนหดหู่ของความเจ็บป่วยและสภาพจิตที่ไม่แข็งแรงสมบูรณ์ เป็นภาพของผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ๆ (ซาราห์ พอลสัน) ที่จ้องมองทารกแรกเกิดในโรงพยาบาล

ตัวหนังสือบนจอเมื่อหนังเปิดเรื่อง เป็นชื่อโรคต่างๆ ที่เป็นศัพท์ทางการแพทย์ พร้อมความหมายและอาการโรค ดังต่อไปนี้

Arrhythmia ความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าบ้างเร็วบ้าง

Hemochromatosis ภาวะที่มีธาตุเหล็กสะสมมากเกินไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการผื่นคันและคลื่นไส้วิงเวียน

Asthma โรคหอบหืด ทางเดินหายใจอักเสบในปอด ทำให้หอบหรือหายใจลำบาก

Diabetes โรคเบาหวาน ความบกพร่องในตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นๆ ลงๆ

Paralysis อัมพาต ภาวะที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหว มีความรู้สึกเมื่อถูกสัมผัส เดิน หรือวิ่ง

และคำสุดท้าย คือ “วิ่ง” ซึ่งกลายเป็นชื่อหนังเรื่องนี้ โดยหมายถึงการวิ่งหนีจากอะไรบางอย่าง

 

หนังมีตัวละครหลักเพียงสองคน คือ ซาราห์ พอลสัน และเคียรา อัลเลน

ซาราห์ พอลสัน ดูเหมือนจะเชี่ยวชาญบทของคนโรคจิตที่เยือกเย็นและไม่แสดงอาการบ้าคลั่งให้เห็น เพียงกล้ามเนื้อกระตุกเล็กน้อยบนใบหน้าของเธอ เราก็หนาวเยือกไปถึงขั้วหัวใจแล้ว

บทบาทที่เธอแสดงอย่างน่าจดจำ คือ Ratched ในซีรีส์ยอดนิยม ที่สร้างจากตัวละครพยาบาลจอมโหดในหนัง One Flew Over the Cuckoo’s Nest เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ที่มีแจ๊ก นิโคลสัน เล่น รู้สึกว่าชื่อภาษาไทยของหนังจะชื่อ “บ้าก็บ้าวะ” และเป็นเรื่องราวที่เกิดในโรงพยาบาลบ้า ซึ่งมีนางพยาบาลจอมโหดชื่อ มิลเดร็ด แรตเช็ด

บทนี้นำมาขยายต่อเป็นเรื่องราวของแรตเช็ดโดยเฉพาะ และมีสีสันสนุกมากค่ะ นี่ยังไม่จบเลย ต้องคอยติดตามซีซั่นต่อไปในปีหน้า

ซาราห์ พอลสัน น่าจะกลับไปเล่นบทคนปกติได้ยากเสียแล้ว หลังจากถูกจดจำในบทบาทจอมโหดร้ายลึกซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบนี้

และเธอก็แสดงได้ถึงกึ๋นโดนใจคนดูเสียด้วย

 

ส่วนตัวละครตัวนำใน Run อยู่ที่โคลอี้ (เคียรา อัลเลน) ในบทบาทของสาวน้อยวัยสิบเจ็ด ที่ถูกรุมเร้าด้วยโรคร้ายต่างๆ ตามที่ลงรายการไว้ข้างต้น

โคลอี้โตขึ้นมาภายใต้การดูแลของแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตเพื่อลูกสาวคนเดียว ซึ่งต้องกินยาเป็นกระตั้กทุกวัน และกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงจนเดินไม่ได้

เธอลุกจากเตียงนอนได้ ก็ต้องอาศัยรถเข็นพาตัวเองเคลื่อนไหวไปในบ้าน รวมทั้งลงบันไดด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าขับเคลื่อน

ด้วยความพิการทางร่างกายของคนที่ทำไม่ได้แม้แต่การเดิน โคลอี้จำต้อง “วิ่ง” หนีให้พ้นจากสภาพการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ในชีวิต

และในฐานะนักแสดง เคียรา อัลเลน เป็นนักแสดงที่มีข้อจำกัดของการนั่งรถเข็นมาหลายปีแล้ว

บทโคลอี้จึงเป็นบทของเธอจริงๆ และเปิดโอกาสให้เธอได้แสดงฝีไม้ลายมือได้เต็มที่

 

ด้วยข้อจำกัดทางร่างกายและสุขภาพ โคลอี้จึงโตขึ้นมาในบ้านโดยได้รับการศึกษาจากแม่ที่สอนวิชาต่างๆ ให้ลูกเอง ในลักษณะของโฮมสกูล (home school)

ก่อนเราจะได้รู้จักโคลอี้ เราเห็นไดแอน เชอร์แมน (ซาราห์ พอลสัน) ไปเข้ากลุ่มผู้ปกครองที่เลี้ยงดูและให้การศึกษาลูกด้วยตนเอง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปรับทุกข์ในหมู่คนที่มีประสบการณ์ร่วมกัน

ถ้าดูจากหนัง อเมริกามีกลุ่มที่เปิดโอกาสให้แชร์ประสบการณ์ด้านต่างๆ เพื่อเป็นการบำบัดและเยียวยาสุขภาพจิต

และกลุ่มผู้ปกครองแบบโฮมสกูลนี้ก็ถือเป็นข้อบังคับที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไดแอนนั่งอยู่หลังห้องสุด ขณะที่กล่องทิชชูกล่องโตส่งต่อผ่านมือจากผู้เข้าร่วมกลุ่มทีละคนๆ และทิชชูถูกดึงเอาไว้ใช้ซับน้ำตา กล่องทิชชูมาถึงมือไดแอนที่น้ำตาแห้งผาก และเธอแชร์ประสบการณ์ว่าเธอไม่มีปัญหาอะไรเลย

คนที่ไม่ยอมบอกว่ามีปัญหานั่นแหละ มักจะเป็นคนที่มีปัญหาที่สุด

จากนั้นเราก็ได้รู้จักกับสาวน้อยวัยสิบเจ็ดที่ต้องกลืนยาเป็นกำๆ จัดการกับชีวิตของตัวเองได้อย่างดีเลิศ แม้จะต้องเคลื่อนที่ไปในรถติดล้อ เห็นได้ชัดว่าโคลอี้เป็นเด็กฉลาด ช่างคิด ช่างแก้ปัญหา เรียนรู้และปรับตัวได้ดี

ที่สำคัญคือเธอกำลังรอคำตอบรับจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ที่เธอสมัครไว้ และหวังจะก้าวสู่ชีวิตในขั้นต่อไปโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยหรือเกาะแม่กินไปตลอดชีวิต

แต่จดหมายตอบก็ไม่ยอมมาถึงเสียที และคนที่เธอรอคอยอยู่ทุกๆ วัน คือบุรษไปรษณีย์ (แพต ฮีลี) ที่คุ้นเคยเห็นหน้ากันเป็นประจำ

โคลอี้เป็นเด็กช่างสังเกต จึงได้เห็นความผิดปกติบางอย่างในพฤติกรรมของแม่ ซึ่งนำไปสู่การสืบค้น

และค้นพบที่น่ากลัวจนทำให้เธอตัดสินใจ “หนี”

 

จากตอนนำเรื่องช่วงสั้นๆ ที่เราได้เห็นไดแอนตามที่ได้พูดถึงข้างต้น หนังก็เดินเรื่องไปกับโคลอี้ที่ค่อยๆ ระแคะระคาย พยายามสืบค้น และค้นพบเรื่องน่าตระหนก ด้วยความยากลำบากโดยเฉพาะด้วยข้อจำกัดทางร่างกายของโคลอี้

เป็นการเดินเรื่องที่พาให้คนดูลุ้นระทึกไปด้วย อย่างใจจดใจจ่อแบบที่สำนวนฝรั่งเรียกว่า nail-biting หรือกัดเล็บติดตามลุ้นว่าเรื่องจะไปไหนต่อและเจอเข้ากับอะไร

แต่ผู้เขียนไม่ชอบตอนจบที่พลิกตลบอีกทีให้เห็นฉากสุดท้ายที่เป็นความสะใจของความแค้นคั่งที่ต้องเรียกคืนด้วยสิ่งที่เจ็บแสบเสมอกัน

ดูเหมือนจะเป็นการตอกย้ำว่าใครโหดกับเราแค่ไหน เราก็สมควรตอบแทนคืนด้วยความโหดเสมอกันให้สาสมและสะใจโก๋ไปเล้ย…

ถ้าตัดฉากสุดท้ายไป ตัวเอกน่าจะยิ่งน่าเห็นใจยิ่งขึ้น เพราะต้องใช้ชีวิตที่เหลือโดยเก็บเล็กผสมน้อยจากชิ้นส่วนที่ยังเหลืออยู่จากความโหดร้ายที่ถูกกระทำ และเดินหน้าพาตัวเองสู่ชีวิตที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องเก็บความคั่งแค้นแน่นอกไว้ให้เป็นไฟสุมทรวงต่อไปอีก…