วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จีนอพยพยุคโลกาภิวัฒน์

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จีนอพยพใหม่ในไทย (11)
ชาวจีนภายใต้สถานการณ์โลกสองกระแส (ต่อ)

จีนในยุคโลกาภิวัตน์

ตอนที่โลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ในทศวรรษ 1990 นั้น จีนได้เปิดความสัมพันธ์กับนานาประเทศทั่วโลกในระดับปกติแล้วนับร้อยประเทศ จนทำให้เห็นได้ว่านานาประเทศได้ลดความหวาดระแวงจีนลงไปอย่างมากแล้ว และทำให้เห็นด้วยว่าจีนประสบความสำเร็จจากนโยบายเปิดประเทศเป็นอย่างดี

ส่วนความสัมพันธ์กับมหาอำนาจนั้นจีนได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียจนเข้าสู่ระดับปกติ จะมีก็แต่กับสหรัฐที่ยังคงมีความสัมพันธ์ในแบบลุ่มๆ ดอนๆ ความสัมพันธ์กับสหรัฐเช่นนี้มิได้มีสาเหตุจากอุดมการณ์ที่แตกต่างกันดังยุคสงครามเย็น

แต่มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่มีการคาดการณ์กันว่า จีนจะเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกในอนาคต ในขณะที่สหรัฐซึ่งเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวหลังสงครามเย็นยุติลงรู้สึกว่าตนกำลังถูกท้าทายจากจีน

จากเหตุนี้ สหรัฐจึงสร้างแนวคิดภัยคุกคามจีน (China threat) ขึ้นมาโดยระบุว่า จีนเป็นภัยคุกคามทั้งต่อตนและต่อความมั่นคงของโลก แต่จีนปฏิเสธและตอบโต้สหรัฐไปตามสมควร

 

เรื่องภัยคุกคามจีนจะจริงเท็จแค่ไหนอย่างไรย่อมต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป แต่สิ่งที่เราพบได้จากบทบาทของจีนนับแต่ทศวรรษ 1990 เรื่อยมาก็คือ การแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศอย่างจริงจัง

ยิ่งหลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกใน ค.ศ.2001 ด้วยแล้ว บทบาทดังกล่าวก็ยิ่งปรากฏมากขึ้นด้วยการเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศ บทบาทที่เกี่ยวพันกับการค้าเสรีนี้ทำให้เห็นว่า จีนมีความพร้อมที่จะแข่งขันทางการค้าในตลาดโลก

หมายความว่า สินค้าจีนจะต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

ที่สำคัญคือ การค้าเสรีนี้ไม่เพียงสะท้อนผ่านการส่งออกของจีนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนผ่านกลุ่มทุนจีนทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็กที่มุ่งไปทำการค้าการลงทุนยังภูมิภาคหรือประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย

 

ปัจจุบันนี้การค้าการลงทุนของชาวจีนในต่างแดนถือเป็นภาพปกติที่พบเห็นได้โดยทั่วไป และจีนเองก็มีนโยบายส่งเสริมให้พลเมืองของตัวเองมีบทบาทเช่นนั้นด้วย ที่สำคัญ การส่งเสริมนี้ได้ปรากฏชัดยิ่งขึ้นเมื่อจีนใช้นโยบายข้อริเริ่มแถบและทาง (Belt and Road Initiative, BRI)

นโยบายนี้หมายมุ่งที่จะให้มีการพัฒนาเส้นทางการค้าระหว่างประเทศทั้งทางบกและทางทะเล

แต่นโยบายนี้จะสำเร็จได้ดังหวังก็ต่อเมื่อโครงสร้างพื้นฐานของนานาประเทศมีความสมบูรณ์พร้อม ด้วยเหตุนี้ จีนจึงก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank, AIIB) ขึ้นมา

แล้วเชิญชวนให้นานาประเทศเข้ามามีหุ้นส่วนในธนาคารแห่งนี้ ซึ่งมีหลายสิบประเทศที่ตอบรับเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย ยกเว้นญี่ปุ่นและสหรัฐ ธนาคารนี้จะเป็นแหล่งทุนให้แก่นานาประเทศกู้ยืมไปเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศของตน

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า จีนได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นจริงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

กล่าวคือ นับแต่ ค.ศ.1949 เป็นต้นมาเวลาที่จีนมีนโยบายใดในแต่ละช่วง จีนจะสื่อสารนโยบายนั้นให้แก่ชาวโลกหรือมิตรประเทศได้รู้จักตามสมควร แต่กับนโยบายข้อริเริ่มแถบและทางแล้วกลับพบว่า จีนได้ทุ่มเททรัพยากรอย่างมากมายมหาศาลไปกับการสื่อสารนโยบายนี้

จีนไม่เพียงทุ่มเทภายในประเทศเท่านั้น หากนอกประเทศจีนก็ทุ่มเทไม่แพ้กัน และเห็นได้ชัดถึงความพยายามที่จะให้นานาประเทศขานรับและเข้าร่วมในนโยบายนี้ในแทบทุกทาง

ในกรณีของไทยจะเห็นได้จากสาส์นถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ค.ศ.2019 ที่มีใจความตอนหนึ่งว่า “เพื่อสานต่อมิตรภาพดั้งเดิมระหว่างจีน-ไทยกระชับความร่วมมือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”

หรือสาส์นอวยพรนายกรัฐมนตรีหลังได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในตำแหน่งนี้ในปีเดียวกันที่มีใจความตอนหนึ่งว่า “ความร่วมมือกันในโครงการแถบและทางจะบังเกิดผลเป็นที่น่าพอใจ” เป็นต้น

อันเป็นประเพณีการอวยพรที่ไม่มีชาติใดถือปฏิบัติมาก่อน การปฏิบัติเช่นนี้จึงชวนให้น่าสงสัยว่าถึงความเหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะแสดงบทบาทความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศจนโดดเด่น แต่ก็มิได้หมายความว่าจีนจะไม่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศ อันที่จริงจีนมีข้อพิพาทกับญี่ปุ่นในปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์หรือเซ็งกากุ (ในคำเรียกของญี่ปุ่น)

มีปัญหาความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลีที่มีสาเหตุมาจากบทบาทของเกาหลีเหนือ และมีข้อพิพาทกับมาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และเวียดนามในปัญหาหมู่เกาะทะเลจีนใต้

ความขัดแย้งเหล่านี้มักมีสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อีกทั้งยังเป็นการเกี่ยวข้องในเชิงที่เป็นปฏิปักษ์กับจีน

กล่าวเฉพาะปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์และหมู่เกาะในทะเลจีนใต้แล้ว ชาวจีนได้แสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาที่รุนแรงเมื่อข้อพิพาทดังกล่าวปะทุขึ้นมาในบางช่วง ความรุนแรงนี้ถึงขั้นที่มีการปะทะกันด้วยกำลัง หรือทำลายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคู่พิพาท

ปฏิกิริยานี้สะท้อนให้เห็นความรู้สึกชาตินิยมของชาวจีน ประเด็นคำถามจึงมีว่า ความรู้สึกนี้จะถูกแสดงออกอย่างไรหากชาวจีนอยู่นอกประเทศ ไม่ว่าจะในฐานะนักธุรกิจ นักลงทุน หรือชาวจีนอพยพใหม่

 

จะเห็นได้ว่า ในยุคโลกาภิวัตน์นี้จีนจะให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาชาติอย่างมาก และความร่วมมือหนึ่งก็คือ การส่งเสริมให้ชาวจีนทำการค้าการลงทุนต่างประเทศ การส่งเสริมนี้ได้กลายเป็นที่มาของการอพยพของชาวจีนในเวลาต่อมา โดยเฉพาะหลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกใน ค.ศ.2001 ไปแล้ว

จีนอพยพกลุ่มนี้เป็นคนละกลุ่มกับที่ออกจากจีนไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าหลัง ค.ศ.1978

จีนอพยพสองกลุ่มนี้จึงมีประสบการณ์ชีวิตและความรู้สึกนึกคิด หรือโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่แตกต่างกัน และอาจมีช่วงวัยที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

 

ชีวิตที่ต้นทาง

ชาวจีนอพยพใหม่ที่งานศึกษานี้ได้พบปะสนทนามีตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจนถึงวัยชรา และมีถิ่นฐานหรือภูมิลำเนาเดิมจากหลายมณฑลในจีน ซึ่งแตกต่างจากชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต ซึ่งมักมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่สามมณฑลของจีนเป็นส่วนใหญ่คือ กว่างตง (กวางตุ้ง) ฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) และไห่หนัน (ไหหลำ) ความแตกต่างในประเด็นนี้ได้บอกให้รู้ว่า

โลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทำให้ชาวจีนรู้จักประเทศไทย (และประเทศอื่น) ในวงกว้างมากขึ้น

พร้อมกันนั้นแนวโน้มเสรีนิยมในจีนเองก็ยังส่งผลต่อประเด็นเรื่องวัยและเพศของผู้อพยพอีกด้วย กล่าวคือ ในอดีตชาวจีนโพ้นทะเลแทบทั้งหมดมักจะเป็นเพศชายและอยู่ในวัยหนุ่ม แต่ในปัจจุบันเพศหญิงก็เป็นผู้อพยพในสัดส่วนที่ไม่ต่างกับเพศชาย

และเรื่องวัยก็มิใช่อุปสรรคต่อการอพยพอีกต่อไป เพราะชาวจีนที่มีอายุในวัยกลางคนขึ้นไปอาจอพยพเข้ามาด้วยเหตุผลอื่น ที่มิใช่เข้ามาเพื่อเป็นแรงงานดังอดีต แต่อาจเข้ามาเพื่อพักผ่อนหรือใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบในดินแดนที่ตนเลือก

 

จากข้อเท็จจริงข้างต้นได้เป็นที่ปรากฏว่า

หนึ่ง ชาวจีนอพยพใหม่แทบทุกคนสามารถใช้ภาษาจีนกลางในการสื่อสารได้ ไม่เหมือนชาวจีนโพ้นทะเลที่สื่อสารได้เฉพาะภาษาจีนท้องถิ่นเท่านั้น1 ในข้อนี้ย่อมส่งผลดีต่อนักวิจัยที่ใช้ได้แต่ภาษาจีนกลาง

สอง การที่ผู้อพยพมีทั้งเพศชายและเพศหญิง และมีทั้งที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคนขึ้นไปนั้น ทำให้ได้ข้อมูลที่หลากหลายกว่าชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต โดยในบางแง่มุมยังเป็นข้อมูลที่มีความซับซ้อนในเชิงความคิดอีกด้วย

และ สาม ชาวจีนอพยพใหม่เหล่านี้มีชีวิตอยู่ในยุคสมัยใหม่ก็จริง แต่ก็เป็นโลกที่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเป็นด้านหลัก ความรู้สึกนึกคิดหรือชีวทัศน์และโลกทัศน์ของชาวจีนเหล่านี้ย่อมต่างไปจากผู้คนในสังคมอื่น

ถึงแม้จะมีชีวิตร่วมสมัยด้วยกันก็ตาม

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป
———————————————————————————————————-
(1) ภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองใน ค.ศ.1949 ได้สำเร็จแล้ว รัฐบาลจีนได้ประกาศให้ใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาที่เป็นทางการ นโยบายนี้ทำให้โรงเรียนทั่วประเทศจีนจำต้องใช้ภาษาจีนกลางในการเรียนการสอน จนทำให้ชาวจีนทั่วประเทศสามารถใช้ภาษาจีนกลางได้โดยทั่วไป จึงแม้จะพบว่าในบางท้องถิ่นอาจจะพูดโดยมีสำเนียงภาษาถิ่น (พูดเหน่อ) ปนอยู่บ้างก็ตาม