สุจิตต์ วงษ์เทศ/’ราชา’ มาจาก ‘หัวหน้าเผ่า’ อุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว

สุจิตต์ วงษ์เทศ

‘ราชา’ มาจาก ‘หัวหน้าเผ่า’

อุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว

 

“ราชา”, “กษัตริย์” ในภูมิภาคอุษาคเนย์ มีต้นตอรากเหง้าแยกเป็นภาษาและบุคคล ดังนี้

  1. ภาษา มีรากจากภาษาบาลี-สันสกฤต ที่รับจากอินเดียตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1000 หรือมากกว่า 1,500 ปีมาแล้ว
  2. บุคคล มาจากชาวพื้นเมืองดั้งเดิมที่เป็น “หัวหน้าเผ่าพันธุ์” หลังรับวัฒนธรรมอินเดียได้รับยกย่องเป็น “ราชา”, “กษัตริย์” ในชื่อต่างๆ ที่ผูกด้วยภาษาศักดิ์สิทธิ์จากอินเดีย

หลักฐานวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา พบทั่วไปในภูมิภาคอุษาคเนย์และในไทย โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง มีลำดับดังต่อไปนี้

“หัวหน้าเผ่าพันธุ์” มีเครื่องมือสัญลักษณ์เป็นหยักๆ คล้ายจักร อายุมากกว่า 2,000 ปีมาแล้ว (กลาง) ทำจากดินเผา ขุดพบที่อีสาน (ล่าง) ทำจากหิน ขุดพบที่โคกพลับ ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี (ภาพจากหนังสือของกรมศิลปากร)

 

1.ชุมชนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว อยู่บนเส้นคมนาคมทางน้ำทางบกติดต่อได้ทั้งภายในและภายนอก มีคนพื้นเมืองนับถือศาสนาผี โดยผู้หญิงได้รับยกย่องเป็นหัวหน้าพิธีกรรมทางศาสนาผี (เช่น หมอขวัญ) และเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (นักวิชาการทางมานุษยวิทยาบอกว่าตรงกับศัพท์สากลว่า chiefdom)

หัวหน้าเผ่าพันธุ์เป็นเจ้าของทรัพยากรและเทคโนโลยีการเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้น ได้แก่ โลหะต่างๆ เช่น ทองแดง, ทองคำ, ดีบุก, ตะกั่ว, เหล็ก ฯลฯ

น่าเชื่อว่ามีความแตกต่างทางสังคม เพราะมีหลุมฝังศพโคตรตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์อยู่กลางลานชุมชนหมู่บ้าน ในหลุมฝังศพพบโครงกระดูกมีเครื่องประดับและเครื่องมือเครื่องใช้ทำจากโลหะชนิดต่างๆ ส่วนศพคนทั่วไปให้แร้งกากินจึงไม่เคยพบหลุมฝังศพ

 

2.หลังมีการติดต่อค้าขายและรับวัฒนธรรมอินเดีย แล้วรับศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ผสมกลมกลืนศาสนาผีที่มีอยู่ก่อนแล้ว) ผู้ชายได้รับยกย่องเป็นหัวหน้าพิธีกรรมทางศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์

ส่วนผู้หญิงถูกริบอำนาจไม่ได้เป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ แต่ยังคงเป็นหัวหน้าพิธีกรรมทางศาสนาผีสืบเนื่องจนทุกวันนี้ และทางสังคมผู้หญิงถูกเหยียดฐานะต่ำกว่าผู้ชาย

 

3.ต่อมารับภาษาบาลี-สันสกฤตจากอินเดีย ใช้เรียกอย่างยกย่องต่อหัวหน้าเผ่าพันธุ์ตามวัฒนธรรมอินเดียว่า “ราชา” หรือ “กษัตริย์” แล้วรับวัฒนธรรมอินเดียเกี่ยวกับคนชั้นนำมาปฏิบัติ

 

4.หลังจากนั้นบ้านเมืองนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ ดัวยการสร้างพิธีในลัทธิเทวราช เพื่อสถาปนาราชาหรือกษัตริย์เป็น “เทวราชา” ผู้สืบเชื้อสายจากเทวดาบนสวรรค์

ลัทธิเทวราชมีต้นตอจากความเชื่อดั้งเดิมอุษาคเนย์เรื่องขวัญในศาสนาผี เมื่อหัวหน้าเผ่าพันธุ์ตายลง บรรดาทายาทและผู้คนต่างส่งผีขวัญของหัวหน้าฯ ขึ้นฟ้าไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้าเพื่อปกป้องคุ้มครองคนยังมีชีวิตในเผ่าพันธุ์ จากนั้นผสมกลมกลืนกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีมหาเทพอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า โดยยกย่องผีฟ้าพื้นเมืองเป็นเทวดามหาเทพของอินเดีย ทำให้ราชาที่ตายเป็นผีขวัญกลายเป็นเทวดามหาเทพ เช่น พระศิวะ (อีศวร), พระวิษณุ (นารายณ์) เป็นต้น และลูกชายที่เป็นราชาสืบต่อไปเท่ากับสืบเชื้อสายจากเทวราช

 

 

5.บ้านเมืองนับถือศาสนาพุทธเลียนแบบพิธีกรรมลัทธิเทวราช พบตัวอย่างในตำนานขุนบรมว่าขุนบรมเป็นทายาทแถน (คือผีฟ้า ซึ่งเทียบเท่าพระพรหม บางตำนานในล้านนาตั้งชื่อราชาหรือกษัตริย์ว่าพระพรหม ได้แก่ พรหมกุมาร หรือพระเจ้าพรหม) ปกครองเป็นราชาของมนุษย์ เรียก “สมมติราช” สอดคล้องกับโองการแช่งน้ำระบุว่า “สมมติราช” นี้เป็น “เจ้าแผ่นดิน”

ต่อมามีการดัดแปลงลัทธิเทวราช เป็น “พุทธราช” โดยยกย่องราชาหรือกษัตริย์ในพุทธศาสนาเสมอด้วยพระพุทธเจ้า จึงเรียกราชาหรือกษัตริย์ว่า “พระพุทธเจ้าอยู่หัว” หรือ “พระเจ้าอยู่หัว” (บางทีมีนามหมายถึงพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระศรีสรรเพชญ์, พระบรมไตรโลกนาถ) ส่วนตำแหน่งทายาท เรียก “หน่อพระพุทธเจ้า” หรือ “หน่อพุทธางกูร” แล้วกำหนดให้ประชาชาติราษฎรแทนตนเองว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” หมายถึง เป็นข้าทาสของพระพุทธเจ้า ก็คือไพร่ฟ้าข้าทาสของ “ราชา” หรือ “กษัติรย์” นั่นเอง

[ในทางสากล กษัตริย์มีความเป็นมาหลากหลาย พบรายละเอียดจากหนังสือ กษัตริย์คือ (อะ)ไร? : มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน ของ เดวิด เกรเบอร์ และ นิกา ดูบรอฟสกี (เขียน) เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (แปล) พนา กันธา (บรรณาธิการแปล) พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2563]

“ราชา” หรือ “กษัตริย์” มีสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมอินเดีย ราว 1,500 ปีมาแล้ว พบที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี (ซ้าย) สร้อยลูกปัดทองคำพร้อมจี้ และ (ขวา) ตราประทับดินเผาประกอบอักษรจารึก

 

พระสงฆ์และพราหมณ์ทำงานการเมือง

พระสงฆ์ในศาสนาพุทธ และพราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ด้านหนึ่งประกอบพิธีกรรม ส่วนอีกด้านหนึ่งมีหน้าที่ทำงานการเมืองสนองชนชั้นนำ

พระสงฆ์ในศาสนาพุทธ ทำหน้าที่สรรเสริญหัวหน้าเผ่าพันธุ์พื้นเมืองให้มีฐานะสูงส่งเป็นพระราชาในวัฒนธรรมอินเดีย คือ “ธรรมราชา” หรือ “ธรรมาโศกราช” เยี่ยงพระเจ้าอโศก และ “จักรพรรดิราช” เยี่ยงพระอินทร์

พราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทำหน้าที่สรรเสริญหัวหน้าเผ่าพันธุ์พื้นเมืองมีฐานะสูงส่งเป็นกษัตริย์ในวัฒนธรรมอินเดีย แล้วยกย่องให้สูงขึ้นเสมือน “เทวราชา” ในลัทธิเทวราช ได้แก่ มหาเทพเยี่ยงพระอีศวร (ศิวะ), พระนารายณ์ (วิษณุ), พระพรหม (จตุรพักตร์)