คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของไทย (1) : แนวคิดภักติ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของไทย (1)
: แนวคิดภักติ

จุดมุ่งหมายในงานเขียนของผมส่วนหนึ่ง คือความพยายามหาว่า ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในบ้านเรา มีสิ่งใดที่ต่าง-เหมือนกับอินเดียบ้าง

หลังๆ มานี้ผมยังสนใจว่าศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งหมายถึงเฉพาะที่เป็นแบบไทย (ไม่นับรวมกลุ่มก้อนฮินดูของชาวอินเดียที่มาตั้งรกรากแล้วมีศาสนสถานตามประเพณีของกลุ่มตนเอง เพราะยังคงอัตลักษณ์และประเพณีแบบอินเดียอยู่) มีสิ่งใดที่ขาดหายไปจากฮินดูในอินเดีย

ผมคิดว่าสิ่งที่ขาดหายไปเหล่านี้อาจมีส่วนก่อรูปให้ศาสนาพราหมณ์ฮินดูของเรามีลักษณะเฉพาะบางอย่าง

ซึ่งลักษณะดังกล่าว เช่น การเน้นที่ความศักดิ์สิทธิ์ ความสำคัญของพราหมณ์และกษัตริย์ การให้ความสำคัญกับพิธีกรรม ฯลฯ ถูกทำให้มีความสำคัญเหนือองค์ประกอบอื่นๆ

แน่นอนว่าคงไม่ใช่เพราะขาดองค์ประกอบบางอย่างของฮินดูแบบอินเดียเพียงอย่างเดียว แต่อิทธิพลของผีและพุทธท้องถิ่นคงมีส่วนมากกว่า

อันที่จริงผมเพิ่งได้คุยกับพราหมณ์พัทลุงมาไม่นาน ท่านเล่าสิ่งที่น่าสนใจบางอย่างให้ฟังว่า พราหมณ์เมืองตรังนั้นที่จริงก็สืบสายไปจากพราหมณ์พัทลุง แต่มีประเพณีหลายอย่างที่ต่างกัน เช่น พราหมณ์ตรังไว้มวยผมและแต่งกายอย่างพราหมณ์กรุงเทพฯ แต่ที่ต่างไปจากพราหมณ์พวกอื่นทั้งหมดคือมีการถือตายายพราหมณ์หรือผีบรรพบุรุษแบบความเชื่อพื้นเมืองด้วย

ระบบความเชื่อผีในภาคใต้ ลูกหลานจะนับถือผีในสายตระกูลของตน เรียกว่าตายายหรือครูหมอ โดยถือว่าเป็นตนเองเป็น “เชื้อ” ตายายส่วนมากมักเกี่ยวกับตำนานทางศิลปะพื้นบ้าน เช่น โนรา หนังตะลุง หากลูกหลานไม่ทำอาชีพเหล่านี้ หรือไม่รับนับถือตายายก็จะได้รับโทษภัยต่างๆ เป็นต้นว่าเจ็บป่วยโดยหาสาเหตุไม่ได้

พราหมณ์ตรังนั้นถือตายายแบบเดียวกับชาวบ้าน บางท่านจึงบวชเป็นพราหมณ์โดยมิได้มุ่งหมายจะเป็นพราหมณ์เพื่อประกอบพิธีกรรม แต่เชื่อว่าตัวเองเป็น “เชื้อ” พราหมณ์ ถ้าหากไม่บวชพราหมณ์เสีย ผีบรรพบุรุษก็จะดลบันดาลให้เจ็บไข้ได้ป่วย เช่นเดียวกับพวกเชื้อโนราหรือหนังตะลุงที่ไม่ยอมรับนับถือผีบรรพบุรุษของตน

อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนดีของการผสมผสานระหว่างผีพื้นบ้านกับพราหมณ์ และทำให้เกิดลักษณะเฉพาะบางอย่าง

ส่วนเรื่องสิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของบ้านเรา ผมคิดว่า สิ่งแรกคือ “แนวคิดเรื่องภักติ” ในศาสนาฮินดูของอินเดีย

แม้ฮินดูจะกล่าวถึงความเชื่อศรัทธาในเทพเจ้ามาตั้งแต่สมัยพระเวท แต่แนวคิดภักติเริ่มชัดเจนในยุคมหาเทพคือหลังพุทธกาลไปเล็กน้อย และปรากฏชัดในคัมภีร์ภควัทคีตา

นอกจากนี้ คัมภีร์สำคัญที่ทำให้แนวคิดภักติแพร่หลายคือ “ภาควัตปุราณะ” ที่ว่าด้วยเรื่องราวของภควันต์ หรือพระเจ้า (เน้นพระกฤษณะ) รวมทั้งวรรณกรรมเรื่องเล่าอย่างอื่น เช่นปุราณะและรามายณะฉบับต่างๆ แต่ที่สำคัญกว่าคัมภีร์สันสกฤต คือกวีนิพนธ์ภาษาถิ่นอันหลากหลายของนักบุญแห่งขบวนการภักติในยุคกลางของอินเดีย

แนวคิดภักติมีพื้นฐานว่า นอกจากการบำเพ็ญเพียรด้วยปัญญาหรือการกระทำกรรมโดยไม่ยึดติดในผลของมันแล้ว หนทางเข้าถึงความหลุดพ้นหรือโมกษะยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือการรักภักดีอย่างสุดจิตสุดใจแด่พระเจ้า แล้วยอมตนมอบกายถวายชีวิตแด่พระองค์ ก็เป็นวิธีที่จะหลุดพ้นได้เหมือนกัน

การยึดเอาพระเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึกนี้มีศัพท์เรียกว่า “ศรณาคติ” ส่วนการยอมมอบกายถวายชีวิตนั้น เรียกด้วยศัพท์สันสกฤตว่า “ประปัตติ”

บางท่านอาจเถียงว่า อ้าว พราหมณ์ฮินดูแบบไทยก็ต้องกราบไหว้บูชาเทพเจ้าด้วยความเคารพความศรัทธาเหมือนกัน ทำไมถึงกล่าวว่าไม่มีแนวคิดภักติ

การกราบไหว้บูชาด้วยศรัทธานั้น ยังไม่อาจกล่าวว่าเป็นแนวคิดเดียวกันกับภักติได้ แม้ว่าจะคล้ายคลึงเพราะเป็นมิติทางอารมณ์ความรู้สึกเหมือนๆ กัน เพราะแนวคิดเรื่องภักตินั้นมีความซับซ้อนมากกว่าแค่ความรู้สึกศรัทธาหรือเคารพ กล่าวคือ ต้องตั้งอยู่บนความสัมพันธ์บางอย่างที่ลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ซึ่งไม่ใช่ความสัมพันธ์กับ “เทพ” โดยทั่วๆ ไปที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ เน้นอำนาจดลบันดาลและความสัมพันธ์สูง-ต่ำแบบเดียว

ที่สำคัญแนวคิดภักติต้องเกี่ยวพันกับเรื่องความหลุดพ้นด้วย

สังเกตนะครับว่า ผมใช้คำว่า “พระเจ้า” ไม่ใช่เทพเจ้า เนื่องจากในแนวคิดภักติ ไม่ได้เห็นเทพเจ้าเป็นเพียงเทพซึ่งคือ “สิ่ง” หนึ่งที่ดำรงอยู่ที่ต่างจากเราเท่านั้น แต่พระองค์ทรงมีปัญญาและพลังสูงสุด ทั้งยังการสร้าง อภิบาล และหมุนเวียนจักรวาลนี้ ทรงควบคุมทุกสิ่งจากภายใน (อันตรยามี) และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ทรงรักมนุษย์และสิ่งต่างๆ อย่างมากมาย

ใครถือนิกายไหนเขาก็ถือว่าเทพหลักในนิกายตัวเองคือพระเจ้าสูงสุด เทพองค์อื่นอาจเป็นภาคแสดงหรือเป็นบริวารก็ได้ เช่น ไวษณพก็ถือพระวิษณุ พระราม หรือพระกฤษณะเป็นพระเจ้าสูงสุด พวกนับถือพระศิวะก็ถือว่าพระศิวะเป็นพระเจ้าสูงสุด

ความรักที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์ ทำให้มนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์สูง-ต่ำกับเทพแบบเดียวกับความเชื่อไทย แต่สามารถมีความสัมพันธ์แบบคนกับคนด้วยกันได้

ความสัมพันธ์ของมนุษย์ผู้ศรัทธากับพระเจ้าอาจเริ่มต้นแบบทาสกับนาย (ทาสยะ) ยกระดับเป็นศิษย์กับครู เรื่อยไปจนเป็นเพื่อนกัน (สขายะ) หรือเป็น “คนรัก” ก็ยังได้

มีราบาอี (Meera bai) เป็นนักบุญสตรีฮินดูที่มุ่งมาดปรารถนาจะเป็น “คนรัก” ของพระเจ้า เพราะพระเจ้าที่ชื่อพระกฤษณะนั้นช่างหล่อเหลาและเปี่ยมไปด้วยลีลาอันน่าอัศจรรย์ชวนหลงใหล

ภาพลักษณ์คู่รักที่ได้กลับมาพบกันหลังการรอคอยอันยาวนาน ซึ่งมักปรากฏในบทกวีของมีรา คืออุปมาที่ชัดเจนของการรวมเป็นหนึ่งเดียวระหว่าง “ชีวาตมัน” คือดวงชีวิตแต่ละดวง กับ “ปรมาตมัน” หรือพระเจ้าผู้เป็นอาตมันสูงสุด

ความรู้สึกโหยหาคนรัก คือความโหยหาของจิตวิญญาณที่ต้องการจะได้ใกล้ชิดพระเจ้า ซึ่งเป็นพื้นฐานของความรู้สึกภักดี

ดังนั้น ความหลุดพ้นในแนวคิดภักติจึงอาจมิใช่สภาวะที่หมดจากกิเลสหรือสภาวะที่ตัดขาดจากโลกเยี่ยงนักบวช แต่เป็นการได้เข้าซึมซาบดื่มด่ำในความรักระหว่างพระเจ้ากับวิญญาณของตน และได้อยู่ร่วมกันตลอดไป

การถือเอาว่าความรักภักดีในพระเจ้าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทำให้ขบวนการภักติที่เกิดขึ้นในยุคกลางของอินเดียปฏิเสธแนวคิดเรื่องชนชั้นวรรณะ ปฏิเสธอำนาจของพราหมณ์ผู้รู้ ปฏิเสธพิธีกรรมที่ซับซ้อน เพราะในเมื่อใครก็สามารถเข้าถึงพระเจ้าผ่านความภักดีที่ตัวเองมีแล้ว จะมีใครสามารถอ้างสิทธิ์ในการเข้าถึงพระเจ้าเหนือคนอื่น

เมื่อพิธีกรรมซับซ้อนไม่สำคัญ แนวคิดภักติจึงให้กระทำอะไรง่ายๆ เช่น เอ่ยพระนามสั้นๆ ขับร้องสรรเสริญด้วยบทเพลง เต้นรำ และชุมนุมเล่าตำนานต่างๆ เพราะเชื่อว่ากิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้เข้าถึงภาวะแห่งความภักดีได้มากยิ่งขึ้น

แนวคิดภักติจึงเป็นที่นิยมของชาวบ้านมาก เพราะไม่ยากแต่ก็เปี่ยมด้วยปัญญาญาณและเปิดกว้างสำหรับทุกคน อันที่จริงต้องกล่าวว่า แนวคิดภักติได้กลายเป็นแก่นแกนสำคัญของศาสนาฮินดูในอินเดียตราบจนทุกวันนี้ แพร่หลายไปทั่วอนุทวีปด้วย “ขบวนการภักติ” ที่เกิดขึ้นจากอินเดียใต้แล้วกระจายไปยังภาคเหนือ

อาจกล่าวอีกอย่างได้ว่าขบวนการภักติเป็นขบวนการปฏิรูปศาสนาของชาวบ้าน โดยชาวบ้าน เพื่อชาวบ้าน

ที่จริงศาสนาพราหมณ์ในบ้านเรายังมีร่องรอยของขบวนการภักติปรากฏ เช่น ในบทสวด “มุไร” หรือเปิดประตูศิวาลัยไกรลาสของเราก็มาจากกวีนิพนธ์ของนักบุญขบวนการภักติฝ่ายไศวะสิทธานตะในอินเดียใต้ ทว่าเราใช้บทประพันธ์เหล่านี้ภายใต้วัฒนธรรมของเราเองจนความหมายเดิมเลือนหาย เหลือเพียงความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์เป็นหลัก

คำถามคือ ทำไมศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในบ้านเราจึงเน้นความศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ ผมคิดว่าก็เพราะความศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางการปกครองในแบบจารีต แต่แนวคิดภักติเป็นสิ่งตั้งคำถามกับอำนาจด้วยซ้ำ ไม่แปลกที่ส่วนนี้จะหายไป

ในอินเดีย กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้แนวคิดภักติแพร่หลายคือกลุ่ม “นักบุญ” ของฮินดู ท่านเหล่านี้ไม่ใช่ฤษีหรือนักปราชญ์ แต่เป็นคนธรรมดาๆ ที่มีภูมิหลังหลากหลาย และนี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในบ้านเราเช่นกัน

ท่านเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน

โปรดติดตาม