เพ็ญสุภา สุขคตะ : ได้เวลายกระดับ ‘สังคมศิวิไลซ์’ โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

เพ็ญสุภา สุขคตะ

การท่องเที่ยวโบราณสถาน
ที่ขาดผู้บรรยายให้ความรู้

สิ่งที่ดิฉันคิดว่าตัวเองสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาขับเคลื่อนให้ “สังคมศิวิไลซ์” คู่ขนานไปกับกระแสการเรียกร้องของเสียงส่วนใหญ่ในสังคม ที่กำลังอยากเห็นเมืองไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศในด้านศิลปวัฒนธรรม คนรุ่นใหม่ฝันอยากให้มีการปฏิรูปการศึกษา ทั้งในและนอกระบบได้นั้น

สิ่งหนึ่งที่ดิฉันสามารถทำได้เลยทันทีโดยไม่ต้องรอของบประมาณจากหน่วยงานไหน หรือต้องรอใครมาเชิญให้เป็นวิทยากร (เพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าตอบแทน) นั่นก็คือ ดิฉันควรเริ่มต้นด้วยการจัดบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชนฟรี ในลักษณะเป็นวิทยาทาน

ดิฉันสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเอง แค่จัดกิจกรรมง่ายๆ ด้วยการถ่ายทอดข้อมูลความรู้จากประสบการณ์ตรงที่สั่งสมมา

เอาโบราณวัตถุหรือโบราณสถานเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นวัดไหน พิพิธภัณฑ์ใด ดิฉันสามารถตั้งโจทย์ให้ผู้ฟังช่วยกันขบคิด วิเคราะห์ ถาม-ตอบ ตอบ-ถาม ได้อย่างไม่น่าเบื่อ

โดยอาศัยพื้นฐานที่ดิฉันเคยถาม-ตอบ ตอบ-ถามตัวเองและผู้รู้มาก่อนแล้วนับร้อยนับพันครั้ง
ซึ่งตัวดิฉันถือว่ามีโอกาสดีกว่าคนอื่นที่ได้อ่าน ค้น สัมมนา พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดกับนักวิชาการแถวหน้าระดับชาติและระดับโลกมาแล้ว แม้ว่าโบราณวัตถุบางชิ้น โบราณสถานบางแห่งยังไม่พบคำตอบแบบ Absolutely 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตามที

ได้เวลาที่ดิฉันควรนำสิ่งที่ตกผลึกทั้งหมดนั้นมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานในลักษณะการบรรยายนำชมฟรีให้กับผู้สนใจไม่ว่าจะเป็นคนในหรือนอกวงการประวัติศาสตร์ ด้วยการใช้ภาษาง่ายๆ ให้คนทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานสามารถเข้าใจและพอจะจดจำได้ ไม่มองโบราณคดีเป็นเรื่องคร่ำครึ

ทำไมดิฉันจึงเห็นว่าสิ่งนี้สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมไทย

สืบเนื่องมาจากทุกครั้งที่ดิฉันพานักศึกษาสาขา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือนักศึกษาสาขาออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ลงพื้นที่ทัศนศึกษาตามวัดวาอารามต่างๆ ในล้านนาคราใดก็ตาม

ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมวัดนั้นๆ พอได้ยินเสียงดิฉันอธิบายชวนชี้ให้นักศึกษาชมจุดต่างๆ ที่เป็นข้อสังเกต พวกเขาต่างนิ่งฟังและขอเดินตามมาร่วมฟังการบรรยายกับคณะเราด้วยทุกครั้ง

ข้อสำคัญ แต่ละท่านมาสารภาพว่า พวกเขาเคยมาวัดนั้นๆ หลายหนแล้ว แต่ไม่ทราบข้อมูลเชิงลึกมาก่อนเลยว่าอะไรเป็นอะไร ควรดูสิ่งใดเป็นจุดเด่นบ้างในแต่ละวัด ไปวัดก็สักแต่ไหว้พระประธาน เดินทักษิณาวัฏรอบพระเจดีย์ แต่พวกเขาไม่เคยรู้ถึงที่มาและความสำคัญของโบราณวัตถุโบราณสถานแต่ละชิ้นเลย

คำพูดของบุคคลเหล่านี้ ตกค้างทับถมเป็นตะกอนอยู่ในใจของดิฉันมาอย่างยาวนานต่อเนื่องนับสองทศวรรษ ดิฉันตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยยกระดับให้แก่นักท่องเที่ยว หรือแม้แต่ชาวบ้านร้านตลาดก็ตาม เกิดความเข้าใจต่อสิ่งที่ประจักษ์อยู่เบื้องหน้า มากกว่าความเป็นพระอิฐพระปูน หรือกว้างยาวสูง

อยากให้ทุกคนสามารถแยกแยะตำนานออกจากประวัติศาสตร์ สามารถจำแนกอายุของศิลปกรรมที่ได้รับการบูรณะครั้งแล้วครั้งเล่าจนดูใหม่เอี่ยมเรี่ยมเร้นั้นออกจากตำนานอันเก่าคร่ำ

ทำอย่างไรจะช่วยให้พวกเขาชื่นชมงานศิลปสถาปัตยกรรม หรือประติมากรรมอย่างดื่มด่ำในอรรถรส เสพสุนทรียศิลป์ให้สำลัก สมกับคุณค่าที่ตัวศิลปกรรมนั้นมีและเป็นอยู่จริง

มัคคุเทศก์ท้องถิ่น
ผู้ถูกทอดทิ้งไปกับกาลเวลา

ยิ่งดิฉันได้สอบถามไปยังสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือว่ามีงบฯ จัดอบรมเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนผู้สนใจ หรืองบฯ พัฒนาอัพเดตข้อมูลให้แก่มัคคุเทศก์ท้องถิ่นบ้างหรือไม่

ได้คำตอบว่า หลังจากมีการรัฐประหาร 2557 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแทบไม่สนับสนุนให้สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาของแต่ละจังหวัดจัดกิจกรรมอบรมมัคคุเทศก์ในท้องถิ่นอีกเลย

ด้วยทุกอย่างถูกดึงกลับไปรวมศูนย์อยู่ที่กรมการท่องเที่ยวหน่วยงานเดียวเท่านั้น ที่จะมีหน้าที่จัดฝึกอบรม และแน่นอนว่า ไม่สามารถตอบสนองสิ่งที่มัคคุเทศก์ท้องถิ่นเฝ้ารอคอยกันทั่วประเทศ เนื่องจากปีนี้อาจมีนโยบายจัดอบรมให้แก่กลุ่มจังหวัดนู้น ปีหน้ากลุ่มจังหวัดโน้น กว่าจะเวียนมาถึงกลุ่มจังหวัดนี้ที่พวกเราต้องการ ต้องรอกันกี่ปี

ครั้นมีการจัดอบรม หัวข้อบรรยายก็กลับเน้นไปที่ “การเป็นเจ้าบ้านที่ดี” “การท่องเที่ยวในสถานการณ์โควิด” “การเตรียมเป็นสมาร์ตซิตี้” “การท่องเที่ยวในยุคไอที” เป็นต้น

สิ่งที่ขาดหายไปอย่างรุนแรงก็คือ “องค์ความรู้เชิงลึกด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปกรรม” ที่มัคคุเทศก์ต่างโหยหา พวกเขาต้องการรับรู้ความเคลื่อนไหว เช่นว่าขณะนี้กรมศิลปากรขุดค้นพบหลักฐานอะไรใหม่ๆ บ้างไหม หรือโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ที่มีมาแต่เดิม ณ บัดนี้นักวิชาการได้ตีความนัยยะอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ บ้างหรือไม่

สถานการณ์ช่วงโควิดอันยาวนานนี้ มัคคุเทศก์เป็นอาชีพแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบตรงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ต่างก็ต้องผันตัวเองไปประกอบอาชีพอื่นเพื่อหารายได้ประทังชีวิต บางคนต้องทำอาหารส่ง ขายน้ำปั่น ทำสบู่ ขับรถ Grab ฯลฯ

ตอนนี้มัคคุเทศก์เป็นบุคคลกลุ่มแรกๆ ที่รอคอยการเปิดประเทศอย่างใจจดใจจ่อ ในระหว่างที่รอคอยนี้ทุกคนต้องการที่จะ “พัฒนาศักยภาพ” ของตัวเอง ด้วยการฉีดวัคซีนเพิ่มองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์เชิงลึกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อนำไปสู่การแข่งขันกับกระแสท่องเที่ยวแนวใหม่ที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ไม่ต้องการพึ่งพามัคคุเทศก์อีกต่อไป

มัคคุเทศก์ตระหนักรู้ดีว่าในยุค New Normal นี้อาชีพของพวกเขากำลังถูกรุกคืบ แทนที่หรือช่วงชิงพื้นที่ด้วยบุคคลที่เก่งไอที เช่น คนหนุ่ม-สาวบางคนที่มาป้วนเปี้ยนในแวดวงนี้แบบครูพักลักจำ (ยังไม่ได้ผ่านการอบรมไกด์ด้วยซ้ำ) แต่ภาษาอังกฤษดี วันดีคืนดีก็ประกาศในเพจ ว่าจัดบรรยายนำชมวัดต่างๆ ในเชียงใหม่ ด้วยระบบ Zoom ได้โดยไม่ต้องลงพื้นที่

หรือบางคนรับจัดโปรแกรมท่องเที่ยวผ่านการติดต่อกันทางเว็บเพจให้กับลูกค้าที่จะขึ้นมาท่องเที่ยวเมืองเหนือตามเทศกาลต่างๆ โดยคนเหล่านี้รวบรวมเบอร์โทร.รถสี่ล้อแดง รถตู้ โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร ช่วยกำหนดเส้นทาง 1 day trip, 3 days trip ให้กับลูกค้าได้ โดยโหลดเอาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์เชิงลึก และแหล่งศิลปวัฒนธรรมจากเพจต่างๆ เสิร์ฟให้นักท่องเที่ยวดูประกอบกัน

แล้วผู้บริหารเพจรายนั้นก็รอการรับโอนเงินจากลูกค้านักท่องเที่ยวทันทีที่วางโปรแกรมทริปให้เสร็จสรรพ โดยที่ไม่ต้องเห็นหน้าค่าตากันกับลูกค้า ข้อสำคัญคือ โดยที่พวกเขาไม่ต้องผ่านการอบรมไกด์

นี่คือปัญหาที่ดิฉันได้ยินได้ฟังมาตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ว่าสถานการณ์ของมัคคุเทศก์ ณ เวลานี้กำลังยืนอยู่บนปากเหวยิ่งกว่าอาชีพอื่นใด

เพราะไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่า หลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิดในปีหน้าหรืออีกสองปีข้างหน้าแล้ว

บรรยากาศการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์คณะใหญ่ (ตามกฎเกณฑ์คือ นักท่องเที่ยวมาอย่างต่ำ 5 คนต้องใช้มัคคุเทศก์อาชีพ 1 คน) จะยังคงคึกคักเหมือนเมื่อ 10-20 ปีก่อนอยู่อีกหรือไม่

เพราะเทรนด์การท่องเที่ยวยุคนี้เป็นแบบ “อิสรชน” หรือ “ปัจเจกชน”

ทั้งนี้ ยังไม่นับการที่มัคคุเทศก์ต้องต่อสู้แข่งขันกับทัวร์คุณภาพระดับพรีเมียม ที่จัดเชิงวิชาการแบบเจาะลึกด้านศิลปวัฒนธรรม มีการเชิญวิทยากรที่เป็นนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีระดับชาติ อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หรือศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เป็นผู้บรรยายพิเศษ ซึ่งแม้จะเป็นทัวร์ราคาแพง แต่กำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่โหยหาประวัติศาสตร์เชิงลึกจากผู้รู้จริงอย่างถ่องแท้ พวกเขาก็ยินดี เพราะถือว่าคุ้มค่ามากกว่าราคาที่จ่ายไป

ดิฉันตระหนักในปัญหาทั้งหมดทั้งมวล ทั้งในฐานะวิทยากรที่มักได้รับเชิญให้บรรยายนำชมทัวร์กลุ่มพรีเมียมบ้าง ทั้งในฐานะคนที่คลุกคลีตีโมงกับแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนา จึงรับรู้ถึงหัวจิตหัวใจของเพื่อนไกด์ในท้องถิ่นด้วย

สิ่งเดียวที่ดิฉันพอจะช่วยได้ ณ ขณะนี้ก็คือ การถ่ายทอดข้อมูลทางโบราณคดีเชิงลึกให้แก่พวกเขา เพื่อยกระดับองค์ความรู้ของไกด์ท้องถิ่นให้สามารถบรรยายได้รอบด้านมากขึ้น กว้างขึ้น ลึกขึ้น ไกลขึ้น ลบข้อครหาหรือคำปรามาสที่เมื่อก่อนไกด์ในพื้นที่มักได้รับการดูถูกดูแคลนจากนักท่องเที่ยวที่ซื้อทัวร์เป็นกรุ๊ปว่า ชอบพาไปแต่แหล่งช้อปปิ้งเพื่อเอาค่าน้ำ (ทิป/เปอร์เซ็นต์) ที่ได้จากร้านขายของที่ระลึกโดยใช่เหตุ แต่ไม่ค่อยเน้นการบรรยายข้อมูลเชิงลึกในแหล่งท่องเที่ยว

ดิฉันสังเกตเห็นว่าไกด์ท้องถิ่นพยายามปรับตัวที่จะยกระดับคุณภาพของตัวเอง ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด นั่นคือทุกครั้งที่ดิฉันจัดกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่มีการเสวนาเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดี ทั้งๆ ที่ต้องการกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นครูสังคม ครูประวัติศาสตร์ แต่กลุ่มที่ขอลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ล้วนแล้วแต่เป็นมัคคุเทศก์ทั้งสิ้น

ไม่ว่าตอนจัดกิจกรรม “ข้อมูลใหม่ โบราณคดีเชียงใหม่ใต้-เชียงใหม่เหนือ” ที่สบแจ่มและเชียงดาวเมื่อ 18-19 กันยายนที่ผ่านมา

หรือการบรรยายนำชมเส้นทางประวัติศาสตร์ถนนสายต้นยางนา-ขี้เหล็ก ในทริป “มนต์รักยางนา” ของมูลนิธิเขียวสวยหอมเมื่อ 2-3 วันก่อน

พบว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกือบทั้งหมดล้วนแต่เป็นไกด์ที่ตื่นตัวต่อองค์ความรู้เชิงลึก

โบราณวัตถุทรงคุณค่า
แต่ค่านิยมคนไทยไม่เข้ามิวเซียม

ปัญหาที่แก้ไม่ตกในสังคมไทยคือ ไม่มีการปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน ประชาชน เข้าชมพิพิธภัณฑ์กันเป็นกิจวัตร วิถีชีวิต ต่างกับนานาอารยประเทศ ที่คำว่า “Museum” เป็นสิ่งใกล้ตัว วันเสาร์-อาทิตย์ตื่นขึ้นมาปั๊บ ทุกคนในครอบครัวต่างช่วยกันตระเวนหามิวเซียมเมืองต่างๆ เพื่อยืนรอต่อคิวซื้อตั๋วเข้าชม

โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ น่าทึ่ง ทรงคุณค่ามากในสังคมที่ศิวิไลซ์

กรมศิลปากรเองก็มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้คนเข้าชมพิพิธภัณฑ์กันอย่างชนิดที่ว่าแทบจะเปิดให้เข้าฟรี ด้วยไม่เก็บเงินบุคคลเหล่านี้ 1.ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี 2.ผู้ทุพพลภาพ 3.นักเรียน นิสิต นักศึกษา 4.นักบวชทุกศาสนาลัทธิ 5.ข้าราชการในกระทรวงวัฒนธรรม (ดีไม่ดีพ่วงเอากระทรวงศึกษาธิการ ต้นสังกัดเดิมของกรมศิลปากร) เข้ามาอีกด้วย 6.หากมาเป็นหมู่คณะก็ทำเรื่องมาถึง ผอ. ขอยกเว้นค่าธรรมเนียม 7.วันอาทิตย์หากมาเป็นครอบครัว เช่น แม่-ลูก น้า-หลาน สามี-ภรรยา ก็ฟรีอีก 8.เครือข่ายสมาชิก อส.มศ. เครือข่ายสมาชิกเพื่อนพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

เห็นไหมคะว่า แทบจะไม่มีการเก็บค่าตั๋วอยู่แล้ว ก็ยังแทบไม่มีคนเข้าชมแต่อย่างใดเลย

ในวาระส่งท้ายปีเก่า 2563 ต้อนรับปีใหม่ 2564 ที่จะถึงเร็วๆ นี้ ดิฉันจึงดำริจัดกิจกรรมพิเศษขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2563 ด้วยการ “บรรยายนำชมฟรี” เรื่องโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ทั้ง Masterpiece และ Unseen ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยคัดเลือกมาสัก 15-20 ชิ้น แล้วล้อมวงดีเบตกัน

ที่นี่ ดิฉันเคยทำงานเป็นภัณฑารักษ์ เป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ ฝังใจฝังกายกินนอนอยู่ในรั้วนั้นมาช่วงระยะเวลา 10 ปี (ระหว่างปี 2543-2553)

ต้นทุนมหาศาลนี้เอง ที่ทำให้ดิฉันสามารถสร้างองค์ความรู้ผ่านระบบคิดของตัวเอง ด้วยการเพ่งพินิจโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตั้งคำถามหาคำตอบ ว่าใครสร้าง สร้างเพื่อ?

หลายชิ้นไม่ง่ายต่อการตีความ ดิฉันจึงอยากบอกเล่าประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้ฟัง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มัคคุเทศก์ ปราชญ์ชาวบ้าน นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บรรพชิต ประชาชน นักท่องเที่ยว ฯลฯ ว่ามรดกของแผ่นดินแต่ละชิ้นเหล่านี้ล้วนทรงคุณค่ามหาศาล และเฝ้ารอคอยการมาเสพศิลป์จากมหาชน

เรียนเชิญผู้สนใจใคร่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฟังดิฉันอธิบายวิธีการสืบค้นแกะรอยจนกว่าจะได้มาซึ่งองค์ความรู้เฉพาะตัวของโบราณวัตถุศิลปวัตถุแต่ละชิ้นได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เวลา 09.30 น. ค่ะ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

เพียงแต่หากท่านอยากร่วมทำบุญ ขอให้นำสิ่งของสำหรับเด็กติดมือมาคนละชิ้นสองชิ้น เช่น ตุ๊กตา กล่องดินสอสี สมุด กระเป๋า ขนม ลูกโป่ง กระปุกออมสิน ฯลฯ

เพื่อเราจะร่วมนำของเหล่านี้ไปมอบสมทบกิจกรรมวันเด็กให้กับหน่วยงานที่จะจัดในลำพูนต้นปีหน้า