ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ทำไมมนุษย์ก่อนประวัติศาตร์ จึงเขียนภาพไว้บนผนังถ้ำ และเพิงผา?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพเขียนสียุคน้ำแข็งที่ป่าแอมะซอน ประเทศโคลัมเบีย อายุราว 12,600-11,800 ปีมาแล้ว (ภาพจาก : เฟซบุ๊กแฟนเพจ Environman)

ทำไมมนุษย์ก่อนประวัติศาตร์
จึงเขียนภาพไว้บนผนังถ้ำ และเพิงผา?

การค้นพบทางโบราณคดีที่น่าสนใจที่สุดครั้งหนึ่งในโลกของขวบปี พ.ศ.2563 นี้ก็คือ การค้นพบกลุ่มภาพเขียนสีขนาดใหญ่ (ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบในทวีปอเมริกาใต้) บนหน้าผาแห่งหนึ่ง ในเขตป่าทางด้านตะวันตกของป่าแอมะซอน (Amazon, หรือที่คนไทยมักจะออกเสียงผิดว่าอเมซอน) ซึ่งก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ของประเทศโคลอมเบียในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่าการที่กลุ่มภาพเขียนสีนี้มีขนาดใหญ่ก็คือ ภาพเขียนสีเหล่านี้ได้บันทึกภาพสัตว์โลกที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้น ซึ่งก็พบว่ามีรูปของตัวสล็อธยักษ์, ช้างมาสโตดอน รวมไปถึงอูฐและม้าในยุคน้ำแข็ง

ซึ่งก็ทำให้ในเบื้องต้นนั้น ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) แห่งสหราชอาณาจักร กำหนดอายุภาพเขียนสีกลุ่มนี้เอาไว้ที่ 12,600-11,800 ปีมาแล้วเลยทีเดียว

ด้วยทั้งความเก่าแก่ในสถานที่เร้นลับอย่างป่าแอมะซอน, ขนาดของภาพเขียนสีกลุ่มนี้ที่เรียกได้ว่าใหญ่เอามากๆ และความสวยงามของภาพเขียน ทำให้เมื่อมีการเผยแพร่สู่สังคมโลกในวงกว้าง โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามนุษย์ในยุคน้ำแข็งที่ป่าแอมะซอนวาดภาพเขียนสีเหล่านี้ขึ้นมาทำไมกัน?

ผมไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับการวาดภาพเขียนสีในป่าแอมะซอน

แต่ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา มีคำอธิบายที่นิยมแพร่หลายอยู่ในหมู่นักโบราณคดีและสารพัดนักอื่นๆ ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยด้วยว่า ภาพเขียนสีเหล่านี้ถูกใช้ในฐานะเป็น “ของขลัง” สำหรับช่วยในการล่าสัตว์

โดยหยิบยกเอาเหตุผลที่ว่า ในบรรดาภาพเขียนสีทั้งหลายที่พบกระจายอยู่ทั่วทั้งโลกนั้น มีอยู่หลายภาพเลยทีเดียวที่มีร่องรอยของการนำอาวุธอย่างลูกธนูหรือหอกมาปักอยู่บนตัวภาพวาดเหล่านี้มาก่อน

แน่นอนว่านี่คงเป็นพิธีกรรมที่แม่มดหมอผี ประกอบขึ้นมาเพื่อ “ฆ่า” สัตว์ร้ายเหล่านี้

บรรพชน “มนุษย์ถ้ำ” ของพวกเราคงจะคิดว่า ถ้าวาดรูปสัตว์เหล่านี้ให้ดูเหมือนจริงเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เหมือนกับว่า “พลังชีวิต” ของสัตว์ร้ายที่พวกเขากำลังจะออกล่านั้น ได้ถูกโอนถ่ายมาอยู่ที่ภาพเขียนสีได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เพื่อที่เมื่อถึงฤดูกาลล่าแล้ว พวกเขาจะได้เสี่ยงภัยอันตรายน้อยลงอีกนิด เพราะพลังชีวิตของสัตว์ร้ายพวกนี้น้อยลงไปอีกหน่อย

เนื่องจากถูกแม่หมอนำพลังงานบางส่วนไปกักเก็บเอาไว้ในภาพเขียนสีแล้วนั่นเอง

แม้ว่าคำอธิบายข้างต้นจะเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของนักวิชาการ ที่ปะติดปะต่อขึ้นมาจากร่องรอยของอาวุธที่มีอยู่บนตัวภาพวาดเหล่านี้เท่านั้น

แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่อ่อนยวบยาบเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ยังมีความเชื่อในทำนองที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับ “ภาพเหมือน” ปรากฏอยู่ในการเล่นเงาของชาวเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย

ชาวชวาเรียกการเชิดหนัง เล่นเงา ว่า “วาหยัง กุลิต” (wayang kulit) คำว่า “วาหยัง” แปลตรงตัวว่า “เงา” ส่วนคำว่า “กุลิต” หมายถึง “หนัง” ซึ่งในที่นี้หมายถึงหนังควายที่ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับนำมาผลิตเป็นตัวหนังที่ใช้สำหรับเชิด เช่นเดียวกับ “หนังใหญ่” หรือ “หนังตะลุง” ของไทย หรือ “สะแบกธม” ของกัมพูชา

ที่สำคัญคือ ชาวชวามีธรรมเนียมสืบทอดกันมาแต่โบราณ ก่อนหน้าที่ศาสนาอิสลาม (ซึ่งตรากฎห้ามสร้างรูปบุคคลเอาไว้ในพระคัมภีร์หลักของศาสนา) จะเข้าไปมีอิทธิพลอยู่บนเกาะใหญ่ อันรุ่มรวยไปด้วยอารยธรรมแห่งนี้ว่า จะต้องแกะตัวหนังให้ไม่เหมือนมนุษย์ครบทุกกระเบียด รูปร่างของตัวหนังสำหรับการเล่นวาหยัง กุลิต จึงมีเสื้อผ้าหน้าผมไม่เหมือนกับมนุษย์เสียทีเดียว เนื่องจากชาวชวาต้องการแสดงภาพ “เงา” ผีบรรพบุรุษของพวกเขาต่างหาก

ไม่ได้ต้องการแสดงภาพมนุษย์จริงๆ

“ภาพเหมือน” จึงกลายเป็นสิ่งเร้นลับ เพราะสัมพันธ์อยู่กับความเชื่อเรื่อง “ผีบรรพบุรุษ”

และขึ้นชื่อว่าผีแล้ว ย่อมไม่ได้ยังคงชีวิตอยู่บนโลกนี้แน่นอน ภาพเหมือนจึงไม่ได้ดึงเอาพลังชีวิตจากสัตว์ร้ายเท่านั้น แต่ยังดึงจากมนุษย์อย่างพวกเราไปได้ด้วยเหมือนกัน

เรื่องในทำนองเดียวกันในไทยอาจเคยผ่านหูมาจากเรื่องเล่าต่อๆ กันมาโดยไม่รู้ว่าที่แท้แล้วใครเป็นคนเล่าว่า เมื่อแรกที่กล้องถ่ายรูปเข้ามาในประเทศสยาม ในช่วงก่อนปีพุทธศักราช 2400 ไม่นานนัก ผู้คนต่างเกรงกลัวไม่กล้าถ่ายรูป เพราะเชื่อว่าชีวิตจะสั้นลง เนื่องจากถูกสูบเอาพลังชีวิตเข้าไปอยู่ในรูปภาพด้วย

ภาพของสัตว์ที่จะถูกล่า เมื่อถูกวาดผ่านจากมือของแม่หมอ ยิ่งเหมือนจึงยิ่งขลัง พิธีกรรมจึงยิ่งศักดิ์สิทธิ์ และยิ่งแน่นอนด้วยครับว่า ยิ่งวาดเหมือนเท่าไหร่กำลังใจของผู้ล่าก็ยิ่ง “มาเต็ม” จนแทบจะทะลักล้นออกมาเลยทีเดียว

ตัวอย่างที่แตกต่างออกไปอีกนิด แต่เป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับหน้าที่การใช้งานของภาพเขียนสี พบได้ในกลุ่มของชนเผ่าพื้นเมืองออสเตรเลีย ที่เรียกว่าพวกอะบอริจินส์ (Aborigines)

พวกอะบอริจินส์แทบทุกเผ่าให้ความสำคัญกับพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ (initiation rite) ทำนองเดียวกับพิธีโกนจุกในสมัยโบราณของบ้านเรา

ซึ่งโดยปกติแล้วชาวอะบอริจินส์จะให้เด็ก (โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย) เข้าไปอยู่ในมณฑลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอาจจะเป็นสถานที่เร้นลับอันศักดิ์สิทธิ์ของเผ่า หรือในอาณาเขตที่ถูกสร้างไว้อย่างลำลอง เช่น การเอาเชือกมาขึงเพื่อกั้นพื้นที่บางส่วนไว้เป็นมณฑลพิธี

ภายในมณฑลพิธีนั้น เด็กๆ จะได้จะสวมบทบาทอยู่ในปกรณัมท้องถิ่นของเผ่า เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวีรกรรมของบรรพบุรุษของเผ่าตนเอง จนกระทั่งเสร็จสิ้นพิธีกรรมแล้ว เด็กเหล่านี้จึงจะถูกนับว่าเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว

พวกอะบอริจินส์เรียกปกรณัมเหล่านี้รวมๆ กันว่า “Dreamtime” (ซึ่งในที่นี้ผมขออนุญาตแปลออกมาด้วยสำนวนยี่เกว่า “ในห้วงนิทรา”)

แน่นอนว่า “Dreamtime” เป็นคำภาษาอังกฤษ เดิมศัพท์บัญญัติคำนี้จึงเป็นคำที่ฝรั่งแปลมาจากคำว่า “Alcheringa” ในภาษาของพวกอะบอริจินส์ เผ่าอรันทาเหนือ (Northern Arunta) อีกทอดหนึ่ง

โดยคำคำนี้นอกจากจะมีความหมายถึง “ในห้วงนิทรา” ซึ่งก็คือ “ปกรณัม” ที่ว่าด้วยบรรพชนของพวกเขา (เพราะพวกอะบอริจินส์ทุกชนเผ่าไม่นับถือเทพเจ้า มีเพียงจิตวิญญาณของธรรมชาติ และบรรพบุรุษ) แล้ว ก็ยังมีรากมาจากคำว่า “alcheri” หรือ “alchera” ซึ่งหมายถึง “ความฝัน” ในยามที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกเคลิ้มหลับด้วยเช่นกัน

พวกอะบอริจินส์เผ่าอื่นก็มีศัพท์เรียก “ความฝัน” โดยมีความหมายถึง “ในห้วงนิทรา” คู่กันไป ไม่ต่างจากพวกเผ่าอรันทาเหนือ คำว่า “meri” ในภาษาชนเผ่าดิเอริ (Dieri), “djugur” ของเผ่าอะลูริดจา (Aluridja), “bugari” ในเผ่าการาดเจรี (Karadjeri), “Ungud” หรือ “lalun” ของพวกอุนคารินคิน (Ungaringin) ฯลฯ ล้วนแล้วแต่สื่อความหมายแบบเดียวกันนี้ทั้งนั้น

สำหรับชาวอะบอริจินส์แล้ว “ความฝัน” และ “ปกรณัม” จึงเป็นสิ่งเดียวกัน

แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า พวกอะบอริจินส์คิดว่าความฝันเป็นเรื่องไร้สาระนะครับ

ตรงกันข้าม สำหรับพวกเขาแล้ว ความฝันคืออีกโลกหนึ่งที่ขนานคู่อยู่กับโลกของความเป็นจริง
(แน่นอนว่าสำหรับเหล่าอะบอริจินส์แล้ว ในห้วงนิทราก็เป็น “ความจริง” ไม่แพ้โลกที่คนไม่ใช่อะบอริจินส์อย่างพวกเราไปยัดเยียดให้พวกเขาเรียกว่าโลกแห่งความจริง)

ดังนั้น ในห้วงนิทราจึงเป็นสิ่งที่ทั้งคงสภาพเป็นนิรันดร์ และต่อเนื่องมาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของกาลเวลาในอดีต ปัจจุบัน และต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต

บางคนเปรียบเปรยว่า สำหรับพวกอะบอริจินส์แล้ว “ในห้วงนิทรา” เปรียบได้กับ “คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์” ในพระศาสนา ไม่ต่างไปจากคัมภีร์โตราห์ของพวกยิว, อัลกุรอานของชาวมุสลิม, หรือพันธสัญญาใหม่ของคริสเตียน ดังนั้น หากในห้วงนิทราเป็นเหมือนดั่งคัมภีร์เล่มหนาแล้ว ตำนานหรือปกรณัมต่างๆ ก็เปรียบได้กับ “บันทึก” สารพันเรื่องราวที่จดจารเอาไว้ภายในเล่ม

และแน่นอนว่า “ในห้วงนิทรา” นั้นก็ถูกแสดงออกมาผ่าน “ภาพเขียนสี” บนฝาผนังถ้ำ หรือเพิงผา ซึ่งเชื่อกันว่าบางที่ถูกใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ของชาวอะบอริจินส์มาแต่เดิมด้วย (ไม่อย่างนั้นผมคงไม่ต้องเล่ามาเสียยืดยาว)

สำหรับชาวอะบอริจินส์แต่ดั้งเดิมแล้ว สถานที่ที่ถูกขีดเขียนไว้ด้วยภาพเขียนสีจึงมีฐานะประหนึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้สำหรับหลอมรวมตัวเองเข้าไปในห้วงนิทรา หรือใช้ประกอบพิธีกรรมนั่นเอง

ดังนั้น ถึงผมจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ในป่าแอมะซอนมากนัก แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเกี่ยวกับการวาดภาพเขียนสีของมนุษย์ดึกดำบรรพ์หลายๆ แห่งในโลกแล้วก็เชื่อขนมกินได้เลยว่า กลุ่มมนุษย์บรรพชนของมนุษย์อย่างเราๆ ในยุคน้ำแข็งที่ป่าแอมะซอนเมื่อราวๆ 12,000 ปีที่แล้ว คงจะเห็นหน้าผาแห่งนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมด้วยแน่ๆ

หน้าผาที่มีภาพเขียนสีในป่าแอมะซอนแห่งนั้นจึงคงจะเป็นวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิความเชื่อ หรือศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่ง เท่าที่โลกเคยรู้จักมานั่นแหละครับ