ประชาธิปไตยในความหมายที่สมบูรณ์ ในมุม ‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’

จาคธรรมราชา

“ด้วยได้ทราบข่าวเรื่องการประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ณ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาแห่งนี้

ประเด็นปัญหาก็คือ ทราบข่าวว่าจะมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์องค์ใหม่ ซึ่งขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นถึง 4 เท่าพระองค์จริง ขณะที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระองค์เดิมที่ประดิษฐานอยู่หน้ารัฐสภาเก่านั้นมีขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง ซึ่งดูงามสง่าสมศักดิ์ศรีของรัฐสภาสถาน กระผมและเพื่อนๆ ศิลปินไม่เห็นด้วยกับการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์องค์ใหม่ที่ขยายสัดส่วนใหญ่ใหญ่ขึ้นถึง 4 เท่า และเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์พระองค์เดิมที่เป็นองค์ปฐมต้นแบบมาประดิษฐาน ณ บริเวณหน้ารัฐสภาแห่งใหม่ ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ

1. ขนาดสัดส่วนของพระบรมราชานุสาวรีย์องค์เดิมมีลักษณะสัมพันธ์ทางทัศนวิสัยที่เป็นองค์รวมของความเป็นรัฐสภา คือขนาดของพระบรมรูปให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าขนาดขยายใหญ่ที่ให้ความรู้สึกเกรงขามและห่างเหินกับประชาชน

2. พระบรมราชานุสาวรีย์องค์เดิมอันเป็นองค์ปฐมต้นแบบนั้นถือเป็นดั่งองค์เอกอัครสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงบำเพ็ญจาคธรรมอันยิ่ง คือ ทรงสละพระราชอำนาจเพื่อร่วมสถาปนาอำนาจใหม่คือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยพระบรมราชานุสาวรีย์นี้กำเนิดจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคประชาชนและสมาชิกรัฐสภาสมชื่อราชประชาสมาสัยนั้น ด้วยจาคธรรมอันยิ่งอย่างหาที่สุดมิได้นี้สมควรเทิดพระองค์ท่านเป็นธรรมราชาโดยมีพระบรมรูปอันเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์องค์ปฐมต้นแบบนี้ถือเป็นดั่งองค์เอกอัครสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ สมควรสถิตเสถียรเป็นศรีสง่าไว้หน้ารัฐสภาสถานสืบไป หาควรมีองค์จำลองขึ้นมาแทนที่ไม่

3. เพื่อยืนยันถึงการพิทักษ์สืบทอดและธำรงไว้ซึ่งกตเวทิตาธรรมที่รัฐสภาพึงมีต่อบรรพบุรุษเฉกเช่นหลักการพื้นฐานสำคัญที่รัฐธรรมนูญพึงมีในทุกฉบับเช่นเดียวกับที่พระบรมราชานุสาวรีย์องค์ปฐมต้นแบบซึ่งจะสถิตธำรงอยู่หน้าอาคารรัฐสภาเป็นศรีสง่าสืบไป”

ข้างบนนั้นคือคำอภิปรายช่วงหารือในวุฒิสภาเมื่อเช้าวันอังคารที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมาของเราเอง

มีเรื่องควรขยายความจากคำ “จาคธรรมราชา” ที่นิยามขึ้นเพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงเสียสละครั้งยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ ก็คือการที่พระองค์ทรงสละพระราชอำนาจของพระองค์ ดังบันทึกพระราชหัตถเลขาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 ความว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

วาทะว่า “เสียงอันแท้จริงของราษฎร” นี้ก็สำคัญนัก สมควรจะได้ตีความและทบทวนถึงความหมายให้กระจ่างชัดเจนในยุคสมัยนี้เช่นกัน

ใจความแห่งพระราชดำรัสอันศักดิ์สิทธิ์นี้มีนัยยะที่เป็น “ธรรมสัจจะ” สมควรขยายความคือ

ในทางธรรมนั้น มีคำว่า “จาคะ” คู่กับคำว่า “ทาน” จาคะ หมายถึงการเสียสละ หรือการให้ ส่วน “ทาน” นั้นหมายถึงการให้เช่นกัน กับหมายถึงสิ่งที่ให้ด้วย สองคำนี้มีคำอธิบายที่มุ่งผลต่างกันคือ

จาคะ มุ่งผลประโยชน์ต่อผู้ให้เป็นสำคัญ

ทาน มุ่งผลประโยชน์ต่อผู้รับเป็นสำคัญ

เช่น เรามีใจเสียสละทรัพย์สินหรือสิ่งของให้ใครหรือแก่อะไรก็ตาม แต่สิ่งที่เราให้นั้นไม่ถึงมือผู้รับหรือไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ แต่เรายังรู้สึกยินดี

ความยินดีเต็มใจหรืออิ่มปีติใจนี้แหละคือ “จาคะ” อันเป็นผลประโยชน์ต่อเราโดยตรง

แต่หากสิ่งที่ให้หรือเสียสละไปนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้รับด้วยแล้ว บุญย่อมสำเร็จด้วยผลแห่งจาคะและทานนั้นโดยสมบูรณ์

กลับกัน เราให้โดยไม่เต็มใจ แม้สิ่งที่ให้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับจริง ผลแห่งบุญนี้เกิดแต่ทานเท่านั้น หาได้มีผลแก่จาคะไม่

เพราะฉะนั้นคำว่า “บุญ” จึงเป็นผลจากการกระทำความดี ซึ่งตรงข้ามกับ “บาป” เป็นผลจากการกระทำความชั่ว

ที่เทิดทูนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ว่า ทรงเป็นองค์แห่ง “จาคธรรมราชา” ก็โดยนัยยะแห่งคุณธรรมที่พระองค์ทรงสละพระราชอำนาจ และ “พระราชอำนาจ” นี้ก็เพื่อร่วมสถาปนาอำนาจใหม่คือ “ประชาธิปไตย” นี่เอง

ประชาธิปไตยในความหมายที่สมบูรณ์คือ “อำนาจอันชอบธรรมของประชาชนในการบริหารและจัดการเรื่องที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลักและเป็นใหญ่

อำนาจอันทรงสละนี้ได้สัมฤทธิ์แล้วทั้งจาคะและทาน

คือ ประชาธิปไตยไทยวันนี้

จาคธรรมราชา

๐ องค์เอกอัครสัญลักษณ์

พระทรงศักดิ์และทรงสิทธิ์

จาคธรรมอันสัมฤทธิ์

ประชาธิปไตยไทย

๐ องค์ปฐมบรมรูป

ราชประชาสมาสัย

ธำรงธัมมาธิปไตย

สถิตประทับ ณ รัฐสภา