ย้อนตำนานม็อบมีเส้น และขบวนการเข็นอภิสิทธิ์ขึ้นนายกฯ : ความฝันของอนุรักษนิยม

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

88 ปีระบอบทหารไทย (23) จากปี 2550-2552

“ประชาธิปไตยแบบจำกัดคือ การขาดฉันทามติระหว่างทหารกับพลเรือนว่า ประชาธิปไตยควรจะไปในทิศทางใด ในขณะที่ทหารกลัวสูญเสีย [อำนาจใน] การควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ ส่วนพลเรือนก็กลัวการ [ใช้อำนาจ] ตอบโต้ของฝ่ายทหาร”

Robert Pinkney (1990)

หลังจากการลงจากอำนาจของรัฐบาลทหารของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ตามมาด้วยการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แล้ว การเมืองไทยก็หวนคืนสู่ระบบรัฐสภาอีกครั้ง

แม้จะเป็นความพยายามของทหารที่จะควบคุมการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองด้วยการปรับแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เช่น การกลับไปใช้เขตการเลือกตั้งใหญ่ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากถึง 3 คน แทนการใช้เขตเล็กแบบ “หนึ่งเขตหนึ่งคน” และวุฒิสมาชิกมาจากการสรรหาไม่ใช่การเลือกตั้งเช่นในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนกติการัฐธรรมนูญใหม่เช่นนี้จะช่วยลดทอนอิทธิพลของพรรคไทยรักไทยเดิมในการเลือกตั้งลงได้ และจะเป็นโอกาสให้พรรคในปีกอนุรักษนิยมได้มีอำนาจมากขึ้นตามกระบวนการทางรัฐสภา

แต่ความคาดหวังดังกล่าวกลับพังทลายลงอย่างสิ้นเชิง

เพราะแม้จะใช้กระบวนการ “ตุลาการธิปไตย” ในการยุบพรรคไทยรักไทยแล้ว และเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคพลังประชาชน” ซึ่งพรรคสามารถเป็นผู้กุมชัยชนะทางการเมืองในสนามเลือกตั้งอีกครั้ง…

ไม่น่าเชื่อว่าพรรคที่ถูกทำรัฐประหารล้มไปกลับเป็นผู้ชนะอีก และนายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปลายเดือนมกราคม 2551

ชัยชนะครั้งนี้ถูกตีความจากฝ่ายอนุรักษนิยมทันทีว่า สิ่งนี้เป็น “ชัยชนะของทักษิณ” และพรรคพลังประชาชนก็คือ “พรรคไทยรักไทย 2”

ดังนั้น จึงคาดเดาได้ไม่ยากนักถึงความผันผวนที่จะเกิดขึ้นกับรัฐบาลสมัครในอนาคต เพราะฝ่ายตรงข้ามคงไม่ยอมที่การเลือกตั้งกลายเป็นชัยชนะอีกครั้งของพรรคไทยรักไทย แต่พวกเขาเพิ่งทำรัฐประหารในปี 2549 และการเลือกตั้งเกิดในปลายปี 2550

ถ้าเช่นนั้นพวกเขาจะล้มรัฐบาลได้อย่างไรโดยไม่ต้องใช้ทหาร

ค้อนและปากกา

น่าสนใจอย่างมากกับการขับเคลื่อนทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษนิยมในการต่อต้านรัฐบาลสมัครที่เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2551 และประกาศการชุมนุมใหญ่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ในเดือนพฤษภาคม 2551

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเปิดการเคลื่อนไหวใหญ่กลับไม่ใช่เรื่องการเมืองภายในโดยตรง

หากเป็นกรณีพิพาทเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาในกรณีปราสาทพระวิหาร ทั้งที่ข้อพิพาทในกรณีนี้สิ้นสุดลงด้วยคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ตั้งแต่กลางปี 2505 แล้ว แต่การใช้กรณีนี้ก็เพื่อเป็นการปลุกกระแสชาตินิยม ที่ฝ่ายขวาไทยถนัดในการใช้เพื่อชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศ

ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาล้วนถูกอธิบายและชี้ขาดจากศาลโลกไปแล้ว แต่ก็ยังใช้ได้ดีโดยมีกัมพูชาเป็นเป้าหมายของความเกลียดชัง คู่ขนานกับการโจมตีรัฐบาลไทย

ในอีกด้านหนึ่งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหัวหอกของปีกอนุรักษนิยม และประสบความสำเร็จในการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ จนนำไปสู่รัฐประหาร 2549 มาแล้ว ได้มุ่งประเด็นการต่อต้านว่า รัฐบาลสมัครเป็น “หุ่นเชิด” ของนายกฯ ทักษิณ

การต่อต้านรัฐบาลขยายตัวอย่างมาก แต่พวกเขาจะล้มรัฐบาลด้วยวิธีการใด เพราะรัฐประหารอีกครั้งจะทำลายภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมาก รวมทั้งภาพของชนชั้นนำและผู้นำทหาร

การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเช่นนี้ยังชี้ให้เห็นถึงพลังทางการเมืองของสื่อมวลชน ดังบทบาทของ “สื่อผู้จัดการ” ที่เปิดการโจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และสามารถก่อกระแสต่อต้านรัฐบาลได้อย่างกว้างขวางด้วย

ดังทฤษฎีที่ว่าสื่อมีบทบาทอย่างสำคัญในการกำหนดวาระทางการเมือง (agenda setting theory) โดยเฉพาะบทบาทของสื่อในการมีอิทธิพลต่อทัศนะและความเชื่อของคนในสังคม

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สื่อเป็นผู้ประกอบสร้าง “ความจริงทางการเมือง”

ซึ่งในบริบทเช่นนี้ สื่อกลายเป็นผู้กำหนดว่า “อะไรคือความจริง” สำหรับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และพวกเขาพร้อมจะเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย

ในท้ายที่สุด จุดการสิ้นสุดของรัฐบาลสมัครกลายเป็น “เรื่องขำขัน ที่หัวเราะไม่ออก” ในทางการเมือง เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ขาดว่า ตัวนายสมัครจัดรายการโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” จึงเข้าข่ายกระทำการผิดรัฐธรรมนูญ ตัวนายกรัฐมนตรีจึงต้องพ้นจากตำแหน่งไป พร้อมกับการสิ้นสุดของคณะรัฐมนตรีด้วยในต้นเดือนกันยายน 2551

ข้อสรุปที่ชัดเจนคือ รัฐบาลล้มได้ด้วยอำนาจขององค์กรอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องเอา “รถถัง” ออกมาบนถนน

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องเหลือเชื่ออย่างยิ่งในการเมือง ที่นายกรัฐมนตรีต้องถูกศาลปลดออกจากตำแหน่ง (ไม่ใช่ด้วยการรัฐประหาร) เพราะเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ อันเป็นบทพิสูจน์ว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมมีอำนาจพิเศษในการล้มรัฐบาลที่ไม่ต้องการด้วยกลไกใหม่ของ “ตุลาการธิปไตย”

และเป็นอีกครั้ง ที่หลังจากยุบพรรคไทยรักไทยและจำกัดสิทธิทางการเมืองของบุคลากรของพรรคแล้ว ตุลาการธิปไตยก็ชี้ขาดให้นายกรัฐมนตรีของกลุ่มการเมืองนี้ต้องลงจากอำนาจ…

บทบาททางการเมืองของสถาบันตุลาการไทยจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

และยังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การโค่นล้มรัฐบาลที่พวกเขาไม่พึงปรารถนานั้น ไม่จำเป็นต้องอาศัย “พลังทหาร” เพื่อนำรถถังออกมาบนถนน หากแต่อาจใช้ “พลังค้อน” ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน ไม่ต่างกับการรัฐประหาร

หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “รัฐประหารโดยตุลาการ” (Judicial Coup) ที่ทำการเปลี่ยนรัฐบาลกระทำด้วยอำนาจศาล

ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลสมัครมีอายุสั้นมากจากมกราคม 2550 และจบลงในเดือนกันยายน 2551 และได้เห็นทั้ง “พลังค้อน” และ “พลังปากกา” โดยไม่จำเป็นต้องใช้ “พลังปืน” ในการเปลี่ยนรัฐบาล

ม็อบมีเส้น!

หลังจากการใช้อำนาจศาลปลดนายกรัฐมนตรีแล้ว คะแนนเสียงข้างมากในรัฐสภายังเป็นของพรรคพลังประชาชน ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2551 และเขามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับทางนายกฯ ทักษิณ รัฐบาลสมชายจึงตกอยู่ในฐานะเดียวกับรัฐบาลสมัคร คือถูกมองว่าเป็นเครือข่ายของสายทักษิณ ซึ่งคาดได้ไม่ยากนักว่า การต่อต้านรัฐบาลจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น และพวกเขาประสบความสําเร็จในการกดดันรัฐบาลสมัครมาแล้ว

ดังนั้น ในเดือนตุลาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ปิดล้อมอาคารรัฐสภา และในเดือนพฤศจิกายน 2551 จึงยกระดับการประท้วงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยการปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง

ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคม กลุ่มได้ปิดท่าอากาศยานภูเก็ตและกระบี่ รวมทั้งปิดรถไฟสายใต้เพื่อกดดันให้นายสมัครลาออกมาแล้ว

และการกระทำดังกล่าวรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ หรือในเดือนเดียวกันก็มีการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่สามารถจัดการการยึดที่ทำการของรัฐบาลได้

และส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ตุลาการธิปไตย” พร้อมที่จะช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในทางกฎหมาย

สภาวะที่ “กฎหมายเลือกข้าง” จึงเกิดคำเรียกการชุมนุมเช่นนี้ของ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่า “ม็อบมีเส้น”

เพราะไม่ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ จะประท้วงด้วยความรุนแรงอย่างไร ก็ไม่เป็นความผิดทางกฎหมาย ดังคำกล่าวในรัฐสภาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ว่า “ทุกคนทราบดีว่าพันธมิตรฯ ชุมนุมมา 6 เดือน และใช้เสรีภาพอย่างผิดกฎหมาย ทุกคนก็ทราบดีว่าม็อบนี้เป็นม็อบมีเส้น เพราะหากเป็นม็อบธรรมดา เรื่องจบไปนานแล้ว…”

น่าสนใจว่าผู้นำทหารเองก็มีท่าทีวางเฉยที่จะช่วยเหลือรัฐบาลในการป้องกันการยึดสนามบิน ทั้งที่การยึดสนามบินระหว่างประเทศเช่นนี้ เข้าข่ายของการเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ได้

และสถาบันตุลาการก็มีท่าที “ไม่จริงจัง” อันเป็นสัญญาณของการ “ให้ท้าย” สำหรับกลุ่มพันธมิตรฯ อันทำให้การยึดทำเนียบรัฐบาลและการยึดสนามบินหลักของประเทศสองแห่งได้กลายเป็น “ความถูกต้อง” ทางกฎหมายอย่างไม่น่าเชื่อ

หรือกรณีการยึดรถเมล์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยอาวุธเพื่อบังคับให้รถเมล์และผู้โดยสารไปรัฐสภา ซึ่งเป็นการก่อการร้าย แต่กฎหมายก็มิได้เอาผิดจริงจัง

ภาวะเช่นนี้กลายเป็นข้อครหาของความไม่เท่าเทียมกันในทางกฎหมาย ตลอดรวมถึงท่าทีของบุคคลในระดับสูงในงานศพของฝ่ายพันธมิตรฯ

ถ้าเช่นนั้นจะล้มรัฐบาลสายทักษิณอีกครั้งอย่างไร… ถ้า “ตุลาการธิปไตย” ยุบพรรคไทยรักไทย และปลดนายสมัครมาแล้ว การดำเนินการก็ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย

แล้วในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 จักรกลของการทำลายล้างก็เดินหน้าอีกครั้งด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน (พร้อมกับการยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยด้วย) และส่งผลให้การเป็นนายกรัฐมนตรี 86 วันของนายสมชายสิ้นสุดลง รัฐบาลที่ผ่ายอนุรักษนิยมต่อต้านมักอายุสั้นเสมอ

การใช้อำนาจของ “ตุลาการธิปไตย” ทำให้การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยุติลง เป็นการชุมนุมอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ไทยที่นานถึง 193 วัน และสะท้อนให้เห็นถึงความเป็น “ม็อบมีเส้น” อย่างชัดเจน

ซึ่งเป็นชัยชนะของฝ่ายอนุรักษนิยมอีกครั้งที่สามารถจัดการล้มรัฐบาลที่ไม่ต้องการได้ไม่ยาก และเห็นชัดอีกว่า ผู้นำทหาร “สงวนท่าที” ในการให้ความช่วยเหลือในการควบคุมสถานที่สำคัญจากการบุกยึดของกลุ่มพันธมิตรฯ

แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า ในความเป็นจริงแล้ว ผู้นำกองทัพ “เท” ทั้งรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชายไม่แตกต่างกัน

ซึ่งก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะยืนแนบแน่นกับกลุ่มอนุรักษนิยม

ฝันเป็นจริง

แล้วความฝันของกลุ่มอนุรักษนิยมก็เป็นจริง เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2551

แม้จะมีข้อครหาว่า รัฐบาลชุดนี้ถูกจัดตั้งในค่ายทหารก็ตาม

ไม่ว่าเสียงนินทาลับหลังเช่นนี้จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ชัดเจนว่า ผู้นำทหารให้ความสนับสนุนต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นท่าทีที่แตกจากรัฐบาลสมัครและสมชายอย่างมาก

และรัฐบาลได้รับความสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษนิยม โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมือง เพราะการปลุก “กระแสต่อต้านทักษิณ” ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มพันธมิตรฯ จนกลายเป็นการต่อสู้ระหว่าง “เอาทักษิณ vs ไม่เอาทักษิณ” (pro-Thaksin vs. anti-Thaksin) ที่ไม่รู้จบในการเมืองไทย

แล้วการเมืองไทยในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์จากปี 2552 ก็เดินเข้าสู่วงจรของการประท้วงอีกครั้ง!