เมื่อ “หนุ่มเมืองจันท์” ดูซีรีส์เรื่อง The Queen”s Gambit สู่แง่คิดชีวิตในตาราง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ชีวิตในตาราง

ผมเพิ่งดูซีรีส์เรื่อง The Queen”s Gambit หรือชื่อภาษาไทย “เกมกระดานแห่งชีวิต” ทาง Netflix

ซีรีส์เรื่องนี้ดังมาก

นอกจากจำนวนผู้ชมสูงมาก

ยังทำให้ยอดซื้อหมากรุกใน “อีเบย์” เพิ่มขึ้น 250%

The Queen”s Gambit ดังมาเป็นเดือนแล้ว แต่ผมไม่ได้ดูสักที

เหตุผลเพราะความกลัวพลังของ “ซีรีส์”

ผมเคยดูมา 3-4 เรื่อง

เรียบร้อยเลยครับ

นั่งอยู่หน้าจอเกือบทั้งวัน

คิดว่าดูแค่ 2-3 ตอนแล้วค่อยดูวันพรุ่งนี้

แต่พอเจอลูกทิ้งท้ายตอนจบเข้า

ทนไม่ได้ต้องกดดูตอนต่อพร้อมตั้งปณิธานในใจ

“อีกตอนเดียว”

แต่สุดท้ายก็อีกตอน และอีกตอน

The Queen”s Gambit เป็นซีรีส์ที่ใครๆ ก็บอกว่าดี และแนะนำให้ดู

แต่สำหรับผม เสน่ห์ของเรื่องนี้คือ ยาวแค่ 7 ตอนจบ

ยังไงก็ไม่นาน

The Queen”s Gambit เป็นเรื่องของ “เบธ” หรือเอลิซาเบธ ฮาร์มอน เด็กผู้หญิงที่กำพร้าซ้ำแล้วซ้ำอีก

พ่อทิ้ง แม่เสียชีวิต

ต้องเข้าไปอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้าพักใหญ่ก่อนที่จะมีผู้อุปการะ

แต่พ่อบุญธรรมก็ทิ้งครอบครัวไป

และไม่นานแม่บุญธรรมก็เสียชีวิต

“เบธ” ขาดแคลนความรักมาตั้งแต่เล็ก ไม่แปลกที่เธอจะเป็นเด็กที่ยิ้มยาก

เธอรู้จัก “หมากรุก” ครั้งแรกจากภารโรงในโรงเรียน

จากวันนั้นเป็นต้นมา “เบธ” ก็หลงใหลในเกมนี้

เธอมีพรสวรรค์ที่เหนือกว่าคนทั่วไป

มีคนถามว่าทำไมถึงชอบเกมหมากรุก

“เบธ” ตอบว่า เพราะหมากรุกมีอยู่ 64 ตาราง

และเธอควบคุมมันได้

ชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก มีแต่สิ่งที่เธอควบคุมไม่ได้

พ่ายแพ้และพ่ายแพ้

แต่เกมหมากรุก เธอควบคุมได้

และชนะ

อย่าแปลกใจที่ “เบธ” จะลุ่มหลงในเกมนี้

เพราะเธอชนะมากกว่าแพ้

ทุกครั้งที่ดูหนังหรือซีรีส์ ถ้าเจอประโยคไหนเด็ดๆ

ผมจะต้องรีบจด

เพราะอยากเอามาเล่าต่อ

มีตอนหนึ่งที่แม่บุญธรรมคุยกับ “เบธ”

แม่เห็นว่าเธอหมกมุ่นกับเกมหมากรุกมากเกินไปจนไม่สนใจอะไรเลย

“ลูกน่าจะให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่านี้” แม่บอก “หมากรุกไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต”

“แต่มันคือ สิ่งที่หนูรู้ดีที่สุด” เบธเถียง

“ประสบการณ์สอนแม่ว่าสิ่งที่เรารู้ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด”

“แล้วอะไรที่สำคัญ”

“การใช้ชีวิต การเติบโต และใช้ชีวิตให้เต็มที่”

ครับ “ชีวิต” ไม่ใช่ “กระดานหมากรุก” ที่หากเราฉลาดกว่า เก่งกว่า

แล้วเราจะกำหนดเกมได้

“ชีวิต” ไม่ได้อยู่ในตารางแค่ 64 ช่อง

แต่ “ชีวิต” คือ “ชีวิต”

ไม่ได้มีแค่ “ชนะ” หรือ “พ่ายแพ้”

แต่มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีความรัก

มีตัวเรา มีคนอื่นอีกมากมาย

และมี “โชคชะตา”

สิ่งที่เรารู้ อาจจะสำคัญ

แต่ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด

ผมนึกถึงคำพูดของ “เจียง เจ๋อ หมิน” อดีตผู้นำจีน

เขาบอกว่า “ความรู้” ในโลกนี้มีอยู่ 2 อย่าง

คือ รู้ว่ารู้อะไร

และรู้ว่าไม่รู้อะไร

บางทีสิ่งที่เราไม่รู้ก็เป็นความรู้อย่างหนึ่ง

และ “ชีวิต” ไม่ใช่เกมหมากรุกที่ “เบธ” รู้ดีที่สุด

แต่ยังมีสิ่งอื่นมากมายที่เราไม่รู้

และต้องเรียนรู้

อีกประโยคหนึ่ง ตอนที่เพื่อนชายคุยกับ “เบธ” ถึงวิธีการเดินหมากของเธอ

“เบธ” มีพรสวรรค์ เล่นด้วยสัญชาตญาณเป็นหลัก

และด้วยความเป็นเด็ก หรือเพราะอารมณ์กรุ่นโกรธที่อยู่ในใจมานาน

ทำให้ “เบธ” จะโมโหง่าย

และเมื่อโมโหก็จะขาดความรอบคอบในการเดินหมาก

“พอโมโห เธอก็เห็นแต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า” เพื่อนชายสอน

“ความโกรธ เป็นยาชูกำลัง

กินนิดหน่อยจะทำให้ตื่นตัว

แต่ถ้ากินมากไปมันจะทำให้เราคิดอะไรไม่ออก”

“มาจากไหน” เบธถาม

“ครูประถม 2”

ผมชอบที่เปรียบเทียบว่า “ความโกรธ” คือ “ยาชูกำลัง”

“ความโกรธ” ก็คงเหมือนกับอารมณ์ต่างๆ ของเรา

ไม่ว่าจะรัก เกลียด หรือโกรธ

เป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์

มีนิดหน่อยจะดี

เพราะทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้เราขับเคลื่อนไปข้างหน้า

แต่ถ้ามีมากเกินไป

สมองจะตีบตัน คิดอะไรไม่ออก

อีกช่วงหนึ่ง เป็นการให้สัมภาษณ์ของ “วาซีลี บอร์กอฟ” แชมป์โลกหมากรุกชาวรัสเซีย

คนนี้คือ คนที่ “เบธ” อยากเอาชนะที่สุด

เพราะถ้าชนะ เธอจะเป็นเบอร์ 1 ของโลก

คำสัมภาษณ์ของ “บอร์กอฟ” มีประโยคหนึ่งที่ผมคิดว่าอธิบายเรื่องวิธีคิดของคนที่อยู่บนเวทีการต่อสู้ได้ดี

เขาบอกว่า เวลาที่คุณกำลังต่อสู้ คุณอยากให้หมัดสุดท้ายคือหมัดแรก

“และคนที่ปล่อยหมัดเป็นคุณ”

ผมนึกถึงนักมวยทุกคนที่ไม่อยากใช้เวลาบนเวทีนานเกินไป

เพราะทั้งเหนื่อยและเจ็บ

ความหวังของนักมวยในการปล่อยหมัด คือ อยากให้หมัดแรก เป็นหมัดสุดท้าย

น็อกคู่ต่อสู้ให้เร็วที่สุด

และคนที่ทำเช่นนี้สำเร็จ อย่าให้เป็นคู่ต่อสู้

ขอให้เป็นตัวเรา

“บอร์กอฟ” อายุมากแล้ว

น่าจะมากกว่าพ่อของ “เบธ” อีก

นักข่าวถามว่า เขาจะลงแข่งไปอีกนานเท่าไร

คำตอบของเขาเป็นสัจธรรมมาก

“บอร์กอฟ” บอกว่า เขามั่นใจว่าสู้ได้ทุกคน

“ยกเว้นเวลา”