เทศมองไทย : ปัญหาหนี้สินของคนไทย และรัฐบาลไทย

เจมส์ กิลด์ เผยแพร่ข้อเขียนว่าด้วยปัญหาหนี้สินของไทยไว้ในเดอะ ดิโพลแมต เมื่อ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ชี้ชวนให้ขบคิดว่า ในขณะที่รัฐบาลไทยพยายามปั๊มเม็ดเงินเข้าไปในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19

แต่ทำไมถึงต้องพยายามใคร่ครวญและดำรงความรอบคอบเยือกเย็นทางด้านการคลังเอาไว้?

ที่สำคัญก็คือ ด้วยการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลไทยพลาดโอกาสทองอย่างหนึ่งอย่างใดไปหรือไม่?

น่าสนใจติดตามทีเดียวครับ

 

กิลด์เริ่มต้นบทความไว้ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่าแม้จะเห็นกันได้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจของไทยที่ต้องพึ่งพาการส่งออก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 245,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 กับรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หอบเงินเข้าไทยมากถึง 62,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจของประเทศ “เปราะบาง” อย่างยิ่งต่อวิกฤตการณ์ อย่างเช่นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ทั้งสองอย่างชะงักงัน หายไปจนเกือบหมดสิ้นเพราะโควิดก็ตามที แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ย่ำแย่ถึงขนาดเลวร้ายไปทั้งหมดเสียทีเดียว

เหตุผลของกิลด์ก็คือ ประเทศไทยมีโครงสร้างทางการเงินภาครัฐ กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่อำนวยให้มี “ช่องว่างทางการคลัง” เพื่อต่อกรกับปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดได้ดีกว่าหลายต่อหลายประเทศ

นอกจาก “ไม่เลวร้าย” แล้ว สถานะการคลังของไทยยัง “แข็งแกร่ง” อย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน

 

กิลด์ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2019 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลอยู่ถึง 38,000 ล้านดอลลาร์ โดยครั้งสุดท้ายที่ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็ต้องย้อนกลับไปถึงเมื่อปี 2014 โน่น ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็สะสมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไว้มหาศาล ถึงสิ้นปี 2019 ทุนสำรองที่ไม่ใช่ทองคำซึ่ง ธปท.ถืออยู่ในมือมากถึง 216,000 ล้านดอลลาร์

ประเมินคร่าวๆ ได้ว่า เท่ากับราว 40 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เลยทีเดียว

รัฐบาลไทยรักษาวินัยด้านการคลังอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องมาตลอด กิลด์บอกว่า ระหว่างปี 2013-2019 รัฐบาลไทยขาดดุลงบประมาณแค่ 2 ครั้งเท่านั้น แต่ละครั้งก็อยู่ในสัดส่วนเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ด้วยเหตุนี้ เมื่อสิ้นปี 2019 หนี้ต่างประเทศภาครัฐของไทยถึงได้อยู่เพียงแค่ 33 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ชนิดที่ทุนสำรองของประเทศรองรับได้สบายๆ

เมื่อเกิดวิกฤตระดับโลกอย่างวิกฤตโควิด-19 ขึ้น รัฐบาลไทยถึงได้อยู่ในสถานะที่ “ไม่เลวเลยทีเดียว” ในการรับมือกับสถานการณ์ ภาวะเกินดุลสูง, ทุนสำรองเยอะ, หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ งบประมาณของรัฐบาลก็มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมาชดเชยครอบคลุมได้ ซึ่งหมายความว่าไทยสามารถใช้มาตรการกระตุ้น ให้ความช่วยเหลือได้เร็วและมากได้หากต้องการเช่นนั้น

ซึ่งรัฐบาลไทยก็เห็นความจำเป็น ออกมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่ ใช้เงินทั้งสิ้น 1.98 ล้านล้านบาท 1 ล้านล้านบาทในจำนวนนั้นเป็นการกู้ผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งกิลด์ระบุว่า เป็นเงินไม่ใช่น้อย คิดสัดส่วนเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทีเดียว

 

เจมส์ กิลด์ ตั้งข้อสังเกตประกอบเอาไว้ว่า รัฐบาลไทยดำเนินความพยายามไม่น้อยในการส่งสัญญาณให้กับตลาดเห็นว่า ไทยจะไม่กู้แบบ “บ้าคลั่ง” เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดที่ว่านี้

กิลด์เชื่อว่า เหตุผลที่รัฐบาลไทยทำเช่นนั้นเป็นเพราะต้องการเสถียรภาพของค่าเงินบาท ไม่ต้องการให้ค่าเงินบาทผันผวนไปในทางแข็งค่ามากไปกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากยังคงให้ความสำคัญสูงมากกับการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอยู่นั่นเอง

ข้อกังขาของกิลด์ก็คือ เพราะต้องการเสถียรภาพของค่าเงินบาทที่ว่า “อาจทำให้รัฐบาลไทยพลาดโอกาสทอง” ในการแก้ปัญหา “หนี้” อีกประการที่คุกคามเศรษฐกิจของประเทศอยู่ด้วยไปในตัว นั่นคือ หนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงมากถึงระดับ 83.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเข้าไปแล้วในเวลานี้

ในขณะที่ระดับการออมของไทย ณ ปี 2019 อยู่ที่เพียงแค่ 30.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้นเอง

สิ่งที่เจมส์ กิลด์ เสนอเอาไว้และน่าสนใจมากก็คือ ไทยควรใช้โอกาสของโควิด-19 ที่สามารถกู้เงินได้ในระดับ “ต้นทุนถูก” นี้ เพื่อใช้เป็นเงิน “ปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือน” หรือยกหนี้สินของคนไทยส่วนนี้ออกไปบางส่วนก็ยังดี

“การดำเนินการเช่นนี้จะส่งผลกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งถือเป็นเครื่องจักรในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เด่นชัดและให้ผลต่อการฟื้นตัวได้ทันที” เมื่อวิกฤตโควิดผ่านพ้นไป

แต่รัฐบาลยังคงคาดหวังแต่ว่า การค้าและการท่องเที่ยวเท่านั้นคือสิ่งที่นำประเทศพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ครับ