การเมือง-มวยปล้ำ-การแสดง : ของขึ้นแล้วสะใจ ? | มนัส สัตยารักษ์

ของขึ้นแล้วสะใจ

เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว กีฬามวยปล้ำจากต่างประเทศที่มาออกอากาศทางทีวีในตลาดบันเทิงบ้านเรา คนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างติดกันงอมแงมเหมือนที่วันนี้ติดกีฬาฟุตบอลนั่นแหละ เพียงแต่ “แรงจูงใจ” ให้เป็นแฟนคลับถึงขั้นเกาะติดอาจจะแตกต่างกันบ้าง

แรงจูงใจของคนดูเกมฟุตบอลน่าจะมาจากความสามารถเฉพาะตัวของนักกีฬาที่ดูราวกับพรสวรรค์หรือศิลปะแขนงหนึ่ง การประสานงานของทีม อัจฉริยะของโค้ชผู้ฝึกสอน พัฒนาและวางแผน ชื่อเสียงของสโมสร การพนันอาชีพ รวมทั้งวัฒนธรรมของชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจลูกหนัง ฯลฯ

และส่วนสำคัญประการหนึ่งก็คือ ความเป็นฮีโร่และร่ำรวยมหาศาลของนักฟุตบอล ทำนองเดียวกับซูเปอร์สตาร์ผู้มีชื่อเสียง

แต่แรงจูงใจของแฟนคลับมวยปล้ำ ส่วนที่สำคัญน่าจะมาจากการต่อสู้ที่คล้ายลักษณะมวยไทยบวกกับยูโดและคาราเต้

และที่สำคัญคือจิตวิทยาของธรรมะกับอธรรม

เมื่อทีวีไทยนำคลิปมวยปล้ำเข้ามาสู่ตลาดทีวีใหม่ๆ ผู้ชมที่บ้านไม่รู้ว่ามันเป็นแค่ “การแสดง” เช่นเดียวกับภาพยนตร์บู๊ที่ใช้วิธีการหรือเทคนิคของสตั๊นต์แมน สร้างภาพและเสียงให้สมจริง ที่สำคัญก็คือการสร้างสคริปต์ ให้มีฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม รวมทั้งให้มีภาพกรรมการบนเวที “โง่” หรือ “เซ่อ” จนไม่เห็นการโกง แหกกฎ เอารัดเอาเปรียบคู่ต่อสู้อย่างสกปรก

ทำให้ผู้ชมเกิดอาการ “ของขึ้น” และได้ “สะใจ” เมื่อฝ่ายที่ตนเชียร์มีโอกาสตอบโต้และแก้เผ็ด

แม้ว่าต่อมาภายหลังได้มีสารคดีเปิดเผยเบื้องหลัง “การแสดงมวยปล้ำ” แฉให้เห็นถึงกลเม็ดหรือเทคนิคการแสดงตลอดจนการสร้างสคริปต์แล้วก็ตาม แต่คนดูส่วนใหญ่ก็ยังคงบันเทิงกับการหลอกลวงนี้ เช่นเดียวกับการดูหนังหรือละครที่ใช้สูตร “ธรรมะและอธรรม” นั่นแหละ

กล่าวอย่างสรุปว่ามวยปล้ำคือ “การแสดง” เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความละม้ายคล้ายคลึงกันกับละครโทรทัศน์ที่ตบตีกันอย่างไร้เหตุผล ภาพยนตร์บู๊บ้าเลือดที่แสดงไปตามบท และ…ม็อบรายวันที่ข้อเรียกร้องทะลุเพดานประกอบด้วยถ้อยคำหยาบ รวมทั้งรัฐบาลที่แกล้งโง่หรือทำเซ่อ ให้ผู้ที่ตนสนับสนุนได้ประโยชน์

เมื่อปัญญาเกิดขึ้น เราก็มีสติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

แต่…รู้ทั้งรู้ว่าเป็นการแสดงจากสคริปต์ที่เขียนไว้ล่วงหน้า หรือเกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วนตามสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่เราก็ยังหลงติดตามไปจนกว่าจะจบ ด้วยเห็นว่ามันเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง แล้วในที่สุดครอบครัวของเราก็เลิกดูมวยปล้ำและเลิกดูละครทีวี

อย่างไรก็ตาม เฉพาะรายการ “มวยปล้ำ” คนทำงานบ้านชาวกะเหรี่ยงร่ำร้องขอดูอย่างขาดไม่ได้ เหตุผลของหล่อนก็คือ หล่อนยังพูดและฟังภาษาไทยไม่ค่อยรู้เรื่อง มวยปล้ำที่ไม่ต้องพูดจึงเป็นความบันเทิงอย่างเดียวที่พอหาได้ เราจึงยกทีวีเครื่องหนึ่งให้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของหล่อนไปเลย แถมเราไม่รบกวนเวลาของรายการมวยปล้ำทางทีวีของหล่อนด้วย

นึกชมตัวเองว่าเป็นคนที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์พอสมควร จึงทำให้ชาวกะเหรี่ยงพยายามเจียดเวลามาทำงานบ้านให้เราสัปดาห์ละครั้งในอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรม

อาจจะมีคำถามว่า เมื่อเลิกดูมวยปล้ำและละครโทรทัศน์เสียแล้ว จะมีอะไรที่เป็นความบันเทิงจากทีวีอีกเล่า?

ขอเรียนว่างานอย่างหนึ่งของเราคือติดตามสารพัดข่าวจากทุกมีเดียเท่าที่จะทำได้ เพื่อกลั่นและกรองหาความจริงที่ไม่ใช่ข่าวปั้นหรือเฟกนิวส์ แล้วด้านหนึ่งเราก็พบว่าข่าวการเมืองไม่ได้เป็นข่าวซีเรียสเสมอไป หลายเรื่องเป็นความบันเทิงอย่างสูงสุดด้วยซ้ำ (ฮา)

ตัวอย่างเช่น

กรณีการตอบโต้กันในห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป.ป.ช. ตัวอย่างที่ยกมาเล่าในวันนี้ก็คือเรื่องการตอบโต้กันระหว่าง ส.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ กับ “เพนกวิน” หรือพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเคลื่อนไหวและแกนนำม็อบราษฎรปลดแอก

เรื่องบันเทิงเกิดจาก ส.ส.ปารีณาถาม “ไมค์” หรือภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำอีกคนหนึ่ง ไม่ค่อยตรงประเด็นที่ กมธ.เรียกมาซักถาม เพนกวินจึงขออนุญาตชี้แจง

“หมายจับออกโดยศาล ใช่ครับ แต่มันจับได้รอบเดียว” เขาพยายามชี้แจงท่ามกลางเสียงปารีณาที่พยายามขัดคำพูดของเพนกวิน

เป็นเหตุให้เพนกวินยืนขึ้นและยกไม้ยกมือตามแบบฉบับของตนเอง จึงถูกปารีณาชี้หน้าสวนว่า “อย่าชี้ดิฉัน กรุณาอย่าชี้ดิฉัน เอานิ้วลงนะคะคุณเพนกวิน ให้ดิฉันถามก่อนแล้วค่อยตอบนะคะ แล้วท่านน่ะอย่าชี้นะคะ เพราะว่ามันไม่ให้เกียรติ แล้วท่านเนี่ย อย่าชี้นะคะ ที่นี่ไม่ใช่ม็อบนะคะ ที่นี่เป็นที่ประชุมกรรมาธิการ”

ถึงจังหวะนี้ เพนกวินชี้และสวนกลับทันควัน “ที่นี่ก็ไม่ใช่เล้าไก่ครับผม”

ปารีณาบูลลี่กลับว่า “ดิฉันเลี้ยงไก่ และดิฉันก็ไม่ชอบเลี้ยงหมูด้วย”

คลิปการตอบโต้ครั้งนี้พาดหัวว่า “ปะทะเดือด” แต่เป็นการปะทะท่ามกลางเสียงหัวเราะขบขันของผู้ที่อยู่ในที่ประชุม ถ้าเรามี “ปัญญา” เราก็จะมีสติเหมือนดูการแสดงมวยปล้ำเหมือนกัน

ผมไม่เป็นพวกใครและไม่มีใครเอาเป็นพวกอยู่แล้ว จึงไม่ขอเชียร์ว่าใครชนะใครแพ้ แต่อย่างน้อยเราก็ได้บันเทิงกับความรู้สึก “สะใจ” กับเขาด้วยเหมือนกัน

พิธีกรรายหนึ่งของข่าว “ปะทะเดือด” หนนี้ สรุปว่า “ประชาชนไม่ได้อะไร”!

มาถึงกรณีที่นางแทมมี่ “ลัดดา” ดักเวิร์ธ ส.ว.อเมริกันเชื้อสายไทย แสดงความเห็นให้รัฐบาลไทยรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนและเยาวชนปลดแอก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไทยเคารพหลักการประชาธิปไตยที่เป็นหัวใจของรัฐบาล รัฐบาลรับฟังทุกคน ไม่เคยดำเนินคดีม็อบที่ชุมนุมโดยสงบ การแสดงความคิดเห็นของแทมมี่ ดักเวิร์ธ เป็นเพียงความเห็นของ ส.ว.คนหนึ่งในรัฐสภาสหรัฐที่อาจจะได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อน ไม่ใช่ความเห็นของ ส.ว.สหรัฐทั้งหมด แต่การชุมนุมในหลายกรณีไม่ได้เป็นไปด้วยความสงบและเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่ลุกลามจนกลายเป็นความรุนแรง รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เหมาะสม ปลอดภัยต่อบุคคลทั่วไป

โฆษกรัฐบาลตอบโต้โดยอ้างถึง “ประชาธิปไตย” เพียงแค่นี้ก็ผะอืดผะอมมากพอแล้ว แต่ดันมีวุฒิสมาชิกแห่งวุฒิสภาไทย 3 ท่านออกมาแถลงข่าว ด้วยท่าทีเคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง (ตามสคริปต์?)

“แต่ละประเทศมีปัญหาแตกต่างกัน ไม่ควรแทรกแซง” ส.ว.ไทยกล่าว

เป็นเหตุให้สื่อโซเชียลพากันคอมเมนต์กระแหนะกระแหนถึงที่มาและหน้าที่ที่แตกต่างกันอย่างมากของวุฒิสมาชิกไทยกับวุฒิสมาชิกสหรัฐ สื่อโซเชียลเห็นว่าวุฒิสมาชิกไทยมีหน้าที่เพียงยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น และการได้ตำแหน่งก็มีเกียรติและศักดิ์ศรีห่างกัน!

วุฒิสมาชิกของสหรัฐมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ของไทยมาจากคณะรัฐประหาร

อดีตดาราคนหนึ่งแนะนำให้แทมมี่หาข้อเท็จจริงก่อนให้สัมภาษณ์เชิงแทรกแซง

ผมอยากจะบอกว่า ผมเกาะติดอยู่กับข่าวแทบทุกสื่อยังตอบไม่ได้ว่าความจริงเป็นอย่างไร และหลายคนที่มีแอ๊กชั่นอยู่กลางม็อบนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาความจริงจากใคร!!