ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 ธันวาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
นี่เพิ่งจะผ่านพ้นวันที่ 5 ธันวาคม มาได้เพียงไม่กี่วัน
วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเราเคยรู้จักกันว่าเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลก่อน บัดนี้ได้เปลี่ยนฐานะเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปแล้ว
ขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นวันพ่อและวันชาติของบ้านเราอยู่เหมือนเดิม
นอกเหนือจากการจัดงานที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินก่อนซึ่งเป็นข่าวสารสาธารณะทั่วไปแล้ว
สำหรับผมซึ่งเป็นนักกฎหมายและเคยรับราชการอยู่ในกระทรวงยุติธรรมอยู่นานถึงเจ็ดปีเต็ม ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับข่าวเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับโอกาสข้างต้น
แต่อาจจะอยู่นอกความสนใจของกระแสหลัก และเป็นเรื่องที่จะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันวันนี้
ข่าวดังกล่าวคือ เรื่องการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ สำหรับผู้ต้องราชทัณฑ์ที่อยู่ในความควบคุมของกรมราชทัณฑ์
ในปีนี้ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพข้างต้น และจะมีผู้ต้องขังได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นจำนวนไม่น้อย
กล่าวเฉพาะที่จะได้รับการปล่อยตัวให้พ้นราชทัณฑ์ออกมาใช้ชีวิตเป็นปกติชน น่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 30,000 คน
คนจำนวนสามหมื่นนี้ไม่ได้เดินออกพ้นประตูเรือนจำมาในวันเดียวกันนะครับ ยังต้องมีกระบวนการอบรมและเตรียมความพร้อมอีกช่วงเวลาหนึ่ง แล้วจึงจะทยอยได้รับอิสรภาพไปตามลำดับ
การอภัยโทษ หรือที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า Pardon นี้ เป็นอำนาจของผู้เป็นประมุขประเทศทั้งหลาย จะใช้อำนาจนี้ลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่ผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอยู่ในเรือนจำ
โดยอาจจะเป็นการอภัยโทษที่ปล่อยตัวให้พ้นจากเรือนจำไปเลยทีเดียว หรือลดหย่อนโทษทัณฑ์ที่จะต้องรับต่อไปลงเป็นสัดส่วนมากน้อยต่างกันแล้วแต่กรณี เจ้าตัวยังไม่ได้ออกจากเรือนจำนะครับ เพียงแต่เวลาที่จะต้องรับโทษต่อไปนั้นหดสั้นลง
แค่นี้ก็ดีใจเหลือหลายแล้ว
คนเราเวลาสูญเสียอิสรภาพไป หนึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งนาทีก็มีความหมายมาก
ถ้าไม่เชื่อก็ลองขอไปนอนเล่นอยู่ในตะรางที่โรงพักสักชั่วโมงหนึ่งจะเข้าใจซึมซาบเลยทีเดียวครับ
การพระราชทานอภัยโทษโดยการตราพระราชกฤษฎีกาเช่นนี้ ย่อมเป็นอานิสงส์สำหรับผู้ต้องราชทัณฑ์จำนวนมาก ไม่เฉพาะรายหนึ่งรายใด บางรายก็ได้พ้นโทษกลับไปอยู่บ้านกับครอบครัว ลูก-เมีย รายที่ยังไม่พ้นโทษก็เหลือวันที่จะถูกจำขังน้อยลง ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
แต่ยังมีการพระราชทานอภัยโทษอีกแบบหนึ่ง คือการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย
นั่นหมายความว่าผู้ต้องราชทัณฑ์คนใดคนหนึ่งก็แล้วแต่ ได้เขียนหนังสือที่ภาษาโบราณเรียกว่า ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
กระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในงานของกรมราชทัณฑ์ มีหน้าที่ต้องถวายความเห็นประกอบพระบรมราชวินิจฉัย
เรื่องราวทั้งหมดจะผ่านการพิจารณาถวายความเห็นเพิ่มเติมจากคณะองคมนตรี แล้วจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา สุดแต่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นประการใด
การพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะรายมักไม่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะ เพราะมิได้มีผลในวงกว้าง หากแต่เป็นเรื่องเฉพาะของผู้ขอพระราชทานพระมหากรุณาแต่ละรายเท่านั้น
แตกต่างจากเรื่องการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่
บ่อยครั้งที่ผมได้รับข้อมูลข่าวสารที่ส่งมาใน LINE จากกลุ่มเพื่อนฝูงต่างๆ บอกว่าในวันนั้นวันนี้จะมีการอภัยโทษ ผู้ต้องขังจำนวนห้าหมื่นหกหมื่นคนจะออกมาจากเรือนจำ ขอให้ชาวบ้านร้านตลาดอย่างเราเก็บผ้าผ่อนท่อนสไบให้จงดี ถ้าทำได้ก็ให้เก็บตัวเงียบอยู่ในบ้านเลยทีเดียว เพราะผู้พ้นโทษเหล่านี้จะออกมาตีชิงวิ่งราว หรือจะออกมาก่อกรรมทำเข็ญในวันในพรุ่งหลังจากพ้นโทษมาแล้วเป็นแน่เทียว
นี่เป็นทัศนคติของพวกเรากันเองจำนวนไม่น้อย ที่เชื่อว่าถ้าใครทำผิดแล้วครั้งหนึ่ง โอกาสจะกลับมาเป็นมนุษย์มนาปกติไม่มีเหลืออยู่เลย
วิธีคิดแบบนี้ดูเหมือนผมจะเคยพูดในที่นี้แล้วครั้งหนึ่งว่า เป็นการผลักไสให้การกระทำความผิดซ้ำเกิดขึ้น เพราะสังคมของเราไม่เปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษมาแล้วได้มีที่ยืนหรือกลับมาเดินถนนได้เหมือนคนปกติอีกเลย
ปัญหาหรือวิธีคิดแบบนี้ต้องว่ากันอีกยาวครับกว่าจะตกผลึกและสามารถแก้ไขได้
ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่เราได้ยินผ่านสื่อสาธารณะอยู่บ่อยครั้ง และมีคนมาถามผมอยู่เหมือนกันว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับการอภัยโทษหรือไม่ นั่นคือคำว่า นิรโทษกรรม ซึ่งภาษาฝรั่งใช้ว่า Amnesty
การที่จะนิรโทษกรรมนี้ เป็นเรื่องใหญ่โตและสลักสำคัญกว่าการอภัยโทษ ถ้าจะนิรโทษกรรมก็ถึงขนาดต้องทำเป็นพระราชบัญญัติผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเลยทีเดียวครับ
ในขณะที่การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจทางฝ่ายบริหาร ที่ตราพระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาเพียงชั้นคณะรัฐมนตรีสำหรับกรณีพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป และทำเป็นพระราชหัตถเลขาที่มีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการสำหรับกรณีพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย
การอภัยโทษมีผลให้โทษที่ใครก็ตามกำลังรับอยู่สิ้นสุดลงหรือลดหย่อนผ่อนปรนลง แต่ไม่ได้มีผลไปลบล้างความผิดที่ได้เกิดขึ้นแล้วในอดีต
ความผิดยังอยู่ที่เดิม เรื่องนั้นยังเป็นความผิดอยู่ต่อไป เพียงแต่มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องโทษเท่านั้น
แตกต่างกันอย่างยิ่งกับเรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งโดยผลแห่งกฎหมายแล้ว เท่ากับว่ากฎหมายที่ให้มีการนิรโทษกรรมได้ย้อนกลับไปลบล้างการกระทำที่เป็นความผิด หรือแม้กำลังโต้เถียงกันอยู่ว่าผิดหรือถูก กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ถ้ามีคดีความกำลังจับกุมฟ้องร้องกันอยู่ ก็เลิกแล้วต่อกัน ปล่อยตัวกลับไปนอนบ้านได้ ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ถ้ากำลังรับโทษอยู่ โทษนั้นก็เป็นอันสิ้นสุดลง กลับบ้านได้เหมือนกัน และในกรณีที่พ้นโทษเดินออกจากคุกไปแล้วก็ถือเสมือนหนึ่งมาไม่เคยติดคุกติดตะรางมาก่อน
การนิรโทษกรรมมีฤทธิ์มีเดชถึงขนาดนี้เลยทีเดียว
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมบ้านเรามีหลายครั้งและเท่าที่ผมจำได้ ทั้งหมดจะเป็นกรณีทางการเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทําความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516 ในยุคที่อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ก็เคยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่หลีกเลี่ยงหลบหนีการเกณฑ์ทหารในกรณีสงครามเวียดนาม หรือการนิรโทษกรรมผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพราะจับอย่างไรก็ไม่หมด และคนเหล่านั้นจะได้มาช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ดีกว่าวิ่งเล่นเป็นทอมกับเจอรี่อยู่ตาปีตาชาติ
แต่ก็นั่นแหละครับ เรื่องของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ว่าบ้านเราหรือในต่างประเทศ มักจะมีเหตุผลทางการเมืองเป็นข้อตัดสินใจอย่างสำคัญว่าควรเขียนกฎหมายอย่างไร ใครควรเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากกฎหมายชนิดนี้ คำถามแบบนี้เถียงกันได้ไม่รู้จบ
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเวลาที่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ที่ทำการยึดอำนาจหรือที่เรียกว่ารัฐประหารเป็นผลสำเร็จ แล้วมาเขียนกฎหมายด้วยสภาที่ตัวเองแต่งตั้ง ให้ไปลบล้างผลแห่งการกระทำผิดกฎหมายอาญาฐานกบฏในราชอาณาจักร จึงเป็นเรื่องที่เราได้ยินอยู่เสมอ
เรื่องอย่างนี้ต่างคนต่างมุมมองก็เห็นไปต่างกัน
ผมไม่อยู่ในฐานะจะเป็นกรรมการตัดสินได้หรอกครับ
วันนี้สวมวิญญาณเป็นอาจารย์กาญจนา นาคสกุล แห่งรายการ “ภาษาไทยวันละคำ” ที่มีชื่อเสียงเมื่อหลายสิบปีก่อน
มาเสนอภาษาไทยวันละสองคำ
คือคำว่า “อภัยโทษ” และ “นิรโทษกรรม”
เข้าใจดีแล้วใช่ไหมนักเรียน อิอิ