เศรษฐกิจ/

เศรษฐกิจ

มหากาพย์คดีทุจริตสหกรณ์… ลามถึงเจ้าสัว “อนันต์ อัศวโภคิน” วิกฤตศรัทธากรมส่งเสริมสหกรณ์ มรสุมระลอกใหม่ที่ต้องเผชิญ

ยังคงเป็นประเด็นร้อนให้เห็นรายวัน กับข่าวคราวปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์

อย่างกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดกับสหกรณ์เคหสถานนพเก้า ร่วมใจ จำกัด ที่ต้องปิดตัวลง

สร้างแรงสั่นกระเทือนต่อสหกรณ์เครือข่ายอย่างน้อย 3 แห่ง

ประกอบด้วย สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด และชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย จำกัด ที่นำเงินมาฝากกับสหกรณ์ดังกล่าว รวมกันกว่า 5,513 ล้านบาท

แม้ว่าการล้มของสหกรณ์ครั้งนี้ จะยังตรวจสอบไม่พบปัญหาการทุจริต เช่นสหกรณ์รายอื่นที่ผ่านมา

แต่ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนของสหกรณ์รายนี้ก็คือ การดำเนินการที่ผิดพลาดจากการซื้อที่ดินหลายแปลงในราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน เพื่อมาลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัย

รวมถึงการดำเนินงานที่ส่อไปทางธุรกิจในรูปแบบของบริษัทมากกว่าที่จะเป็นสหกรณ์ เนื่องจากมีลงทุนนอกเขตพื้นที่สหกรณ์ (สหกรณ์เคหสถานนพเก้า จดทะเบียนที่กรุงเทพฯ แต่มีการซื้อที่ดินที่ จ.มหาสารคาม)

และไม่ได้มีจุดหมายเพื่อขายให้แก่สมาชิกสหกรณ์เพียงอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายเพื่อขายให้กับคนนอกมากกว่า

จึงเป็นลักษณะคล้ายกับการใช้สหกรณ์บังหน้าเพื่อประกอบธุรกิจนั่นเอง!!

หนำซ้ำสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ที่นำเงินมาฝากกับสหกรณ์เคหสถานนพเก้า ร่วมใจ จำกัด เพิ่งมีคดีความโด่งดังไปก่อนหน้า

แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์จุฬาฯ โดยตรง แต่เพราะมีชื่ออดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา เป็นผู้ชักชวนเพื่อนอาจารย์นำเงินไปร่วมลงทุนคล้ายแชร์ลูกโซ่ในสหกรณ์ลอตเตอรี่ ซึ่งไม่มีจริง ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นสหกรณ์จุฬาฯ

ซึ่งคดีนี้ รศ.ดร.สวัสดิ์ ได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเพื่อนอาจารย์คิดเป็นกว่า 541 ล้านบาท ยังไม่รู้ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร

ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของระบบสหกรณ์อย่างมาก

และยังต่อเนื่องมาถึงคดีที่ถือเป็นมหากาพย์อย่างคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ที่มีความคืบหน้าล่าสุด

โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายเรียก นายอนันต์ อัศวโภคิน มหาเศรษฐี “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” วัย 67 ปี มารับทราบข้อกล่าวหาความผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน จากการซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 31344 เนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 56.2 ตารางวา ใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี บริเวณใกล้เคียงกับวัดพระธรรมกาย จากบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี2 จำกัด ในราคา 93 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554

สวนทางกับราคาประเมินในท้องตลาดที่สูงถึง 281 ล้านบาท เท่ากับว่าเจ้าสัวอนันต์สามารถซื้อที่ดินดังกล่าวถูกกว่าราคาตลาดถึง 3 เท่า!!

เมื่อตรวจสอบไปยังบริษัทดังกล่าว ได้พบความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งใช้เงินของสหกรณ์ ด้วยการสั่งจ่ายเช็คหลายฉบับ รวมวงเงิน 275 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นทั้งหมด หรือเทกโอเวอร์บริษัท รวมถึงที่ดินดังกล่าว ในนามสหกรณ์ และได้ส่งนอมินีของตนเองไปเป็นกรรมการบริษัทแทน ขณะที่ผู้ที่ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้บุคคลอื่นในราคา 492 ล้านบาท กลับเป็นนายอนันต์

โดยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด สหกรณ์ฯ คลองจั่นกลับไม่ได้เลยแม้แต่บาทเดียว กลายเป็นมูลนิธิคุณยายจันทร์ขนนกยูง มีพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นองค์อุปถัมภ์ ได้รับเงินจำนวน 303 ล้านบาทจากการบริจาคของนายอนันต์

ความซับซ้อนของเรื่องนี้ยังมีอีกมากที่โยงไปโยงมาอยู่แค่ตัวละคร คือ นายศุภชัย นายอนันต์ และพระธัมมชโย ที่ดีเอสไอมองว่ากระบวนการดังกล่าวส่อไปในทางทุจริตและโยงใยไปสู่การฟอกเงิน

กระทบถึงวิกฤตศรัทธาต่อระบบสหกรณ์สำหรับผู้ฝากที่อยากเห็นเงินงอกเงยกว่าฝากธนาคาร

จึงเกิดคำถามไม่น้อยว่า ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้น กรมส่งสริมสหกรณ์ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านสหกรณ์โดยตรง ได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง หรืออยู่เฉยๆ รอให้ข่าวคราวเงียบหายไปเอง

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้นิ่งเฉยต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ได้สั่งการให้นายทะเบียนสหกรณ์ประจำเขต ลงพื้นที่ตรวจสอบและรายงานกลับมาที่กรมอย่างเร่งด่วน

และในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เตรียมประกาศใช้เกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์ยูเนี่ยน ที่จัดทำร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

มีสาระสำคัญคือการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทไม่เกิน 3.5% ต่อปี

สามารถทบทวนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยอิงอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากประจำ 12 เดือนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง เฉลี่ยแล้วบวกเพิ่มได้ไม่เกิน 2% การกำหนดอัตราเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วของสมาชิก ไม่เกิน 6% ต่อปี และจ่ายเงินปันผลไม่เกิน 80% ของกำไรสุทธิ

เพื่อป้องกันการระดมเงินจำนวนมากเข้ามาภายในสหกรณ์

และต้องมีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่น้อยกว่า 6% ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืม เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของสหกรณ์ การกำหนดอัตราส่วนหนี้สินต่อหุ้นบวกทุนสำรองไม่เกิน 1.5 เท่า เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เกินตัว และเป็นการคุ้มครองสมาชิก หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถให้ความคุ้มครองหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบการประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ เพื่อดูแลการใช้เกณฑ์กำกับในช่วงแรก โดยเมื่อเกณฑ์กำกับที่ออกมาติดขัดปัญหาอะไร คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ปรับแก้ไขเกณฑ์กำกับ

และในอนาคต จะตั้งหน่วยงานอิสระกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นหน่วยรูปแบบพิเศษ สังกัดภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ลักษณะคล้ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ของกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งออก พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ เพิ่มอำนาจแก่นายทะเบียนสหกรณ์ให้สามารถออกระเบียบต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์ได้นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งเพิ่มบทลงโทษ ในส่วนของคณะกรรมการสหกรณ์ที่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท จากเดิมกำหนดโทษปรับไว้เพียง 10,000 บาท และยังเตรียมออกเกณฑ์กำกับสหกรณ์ประเภทอื่น เริ่มจากสหกรณ์การเกษตรก่อน ตามด้วยสหกรณ์เฉพาะกิจ หรือสหกรณ์บริการ ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

กลไกทั้งหมด โดยเฉพาะเกณฑ์กำกับที่ออกมา มีหัวใจหลักเพื่อสร้างองค์กรสหกรณ์ให้ปลอดภัย ระบบภายในเข้มแข็ง แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มักจะเกิดจากพวกที่น่าเชื่อถือได้ เกณฑ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าปล่อยให้ไปเรียนรู้กันเอง เจ๊งเป็นเจ๊ง ก็ไม่ใช่สิ่งที่กรมอยากให้เป็น

“ขอยืนยันว่า เกณฑ์กำกับที่ออกมา ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้สหกรณ์เล็กลง อยากเห็นการเติบโตของสหกรณ์อย่างสมดุล ความเสี่ยงต้องไม่มี เพราะปัจจุบันสหกรณ์ส่วนใหญ่นิยมพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน ฝากเงิน กู้เงินกันเอง หากสหกรณ์ใดมีปัญหาอาจจะเกิดปัญหาทั้งระบบได้” รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องขึ้นอยู่กับพี่น้องสมาชิกสหกรณ์ทุกคนที่จะคอยช่วยกันสอดส่องดูแลการทำงานหน้าที่ของคณะกรรมการสหกรณ์ จะเป็นการกำกับดูแลที่ตรงจุดที่สุด หากทำได้จริง เชื่อว่าการเดินหน้าสหกรณ์จะบริหารงานได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเมื่อมีประสิทธิภาพขึ้น ย่อมส่งผลให้สหกรณ์มีกำไรเพิ่มขึ้น สามารถนำมาจ่ายเงินปันผลแก่สมาชิกได้เพิ่มขึ้น

ท้ายที่สุดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสมาชิกสหกรณ์ก็จะตามมา