ประมวลการเคลื่อนไหว “คณะราษฎร” ตลอดปี 2563 สู่สถานการณ์ท้าทายปี 2564

ย้อนไปเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และ รมว.กลาโหม ลงพื้นที่ จ.ระยอง “ไมค์-ภานุพงศ์ จาดนอก” กับ “นน-ณัฐชนน พยัฆพันธ์” แกนนำกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตยได้มาชูป้ายประท้วงนายกฯ ทำให้ถูกคุมตัวออกนอกพื้นที่

นำมาสู่การนัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือเป็นจุดกำเนิดของ “กลุ่มเยาวชนปลดแอก”

ก่อนที่ต่อมาจะมี 2 เหตุการณ์ที่เป็นจุดตัดสำคัญ คือการชุมนุม 3 สิงหาคม ซึ่ง “ทนายอานนท์ นำภา” จัดกิจกรรม “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” โดยได้พูดถึงแนวทางการปฏิรูปสถาบันอย่างเป็นทางการ

อีกเหตุการณ์คือการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อันเปรียบเป็นการ “ปักหมุด” เรื่องการเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบัน เพราะได้มีการเปิดวิดีโอคอล “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” ที่พูดถึงสถาบันผ่านเวทีใหญ่ครั้งแรกๆ จากนั้น “รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” ก็ได้อ่าน 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน

นี่คือการปูพื้นมาสู่การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 16 สิงหาคม โดยมีการยกระดับชื่อกลุ่มจาก “เยาวชนปลดแอก” เป็น “ประชาชนปลดแอก” กับแนวทางต่อสู้ชุดใหม่ คือ 3 ข้อเรียกร้อง หยุดคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา บนหลัก 2 เงื่อนไขคือ ไม่มีการรัฐประหาร และไม่มีรัฐบาลแห่งชาติ

ภายใต้ 1 ความฝันคือการมีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ความเข้มข้นของการชุมนุมขึ้นสู่จุดสูงสุดระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน ซึ่งมีกลุ่ม “คณะราษฎร 2563” เป็นผู้จัดกิจกรรม โดยได้ทวงคืนพื้นที่สนามหลวงเป็น “สนามราษฎร” รวมทั้ง “ปักหมุดคณะราษฎร 2563” ลงกลางสนามหลวง

ก่อนจะเดินขบวนไปยังทำเนียบองคมนตรีเพื่อยื่น 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน แต่สุดท้ายได้ยื่นผ่าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ที่หน้าศาลฎีกาแทน

จนเข้าสู่การชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาคม ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ได้คงคำสั่งไว้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ทว่าการชุมนุมก็ไม่ได้ลดลงและยิ่งเพิ่มมวลชนมากขึ้น

โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม

ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาเกิดการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ มากมายและถี่ขึ้น โดยข้อเรียกร้องและสิ่งที่ปราศรัยในการชุมนุมก็เน้นไปยังเรื่องการปฏิรูปสถาบันชัดเจน

การชุมนุมในช่วงแรก รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงยังอยู่ใน “สภาวะตั้งรับ” ทำให้ฝั่งผู้ชุมนุมใช้ “ยุทธวิธีแกงเทโพ” หลอกเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในระยะหลังมานี้ฝ่ายความมั่นคงก็เริ่มรู้วิธี “รับมือจับทาง” คนรุ่นใหม่มากขึ้น

นอกจากนี้ การรวมตัวชุมนุมยังเริ่มไปแตะพื้นที่เชิงสัญลักษณ์มากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ผู้ชุมนุมได้เดินขบวนมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อไปยังสำนักพระราชวัง ในการทำกิจกรรมเขียนจดหมายหรือส่งประชาสาส์น ซึ่งสุดท้ายแล้วได้มีการเปิดพื้นที่ให้แค่หน้าศาลฎีกาเท่านั้น

ทว่าจุดเปลี่ยนได้เกิดขึ้นอีกครั้งในการชุมนุมหน้ารัฐสภาวันที่ 17 พฤศจิกายน หลังเจ้าหน้าที่มีการใช้แก๊สน้ำตา-รถน้ำ รวมทั้งเกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มราษฎรและกลุ่มไทยภักดีบริเวณแยกเกียกกาย

ทำให้มีการนัดชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์-หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อเนื่องในวันที่ 18 พฤศจิกายน รวมทั้งมีการพ่น-เขียนข้อความประท้วงตามกำแพงและพื้นถนน

นำมาสู่การออกแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ส่งสัญญาณเตรียมปัดฝุ่นใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกครั้ง จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์ว่า เตรียมบังคับใช้ “กฎหมายทุกฉบับ”

แม้นายกฯ จะหลีกเลี่ยงการกล่าวอ้างถึงสถาบันโดยตรง แต่ก็ระบุว่าคนที่ดูอยู่รับไม่ได้และเขาก็จะไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับคนที่มีพฤติกรรมล่วงละเมิด

แม้ปัญญาชนสยามอย่าง “ส.ศิวรักษ์” จะออกมาเตือนรัฐบาลถึงการนำ ม.112 กลับมาเล่นงานผู้เห็นต่างทางการเมือง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงย้ำถึงการต้องบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ เพราะถ้าละเว้น ตนเองก็อาจโดนดำเนินคดีใน ม.157 ฐานปล่อยปละละเลย

25 พฤศจิกายน คณะราษฎรได้นัดชุมนุมที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ต้องเปลี่ยนแผนไปชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่แทน เพราะพื้นที่โดยรอบสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีการติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนาม รวมทั้งมีการใช้ “ทหารนอกเครื่องแบบ” ดูแลพื้นที่ พร้อมปักป้าย “เขตพระราชฐาน”

ต่อมา 29 พฤศจิกายน ผู้ชุมนุมได้นัดรวมตัวกันหน้า ร.1 ทม.รอ. ก่อนจะเปลี่ยนที่เป็น ร.11 ทม.รอ. แทน หลังมีการใช้ตู้คอนเทนเนอร์-ลวดหนาม ปิดกั้นพื้นที่หน้า ร.1 ทม.รอ. เพราะเป็นพื้นที่ “เขตพระราชฐาน” โดยทั้ง 2 หน่วยถูกโอนจากกองทัพบกมาเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

อีกปรากฏการณ์สำคัญคือ กลุ่มราษฎรได้นัดชุมนุมที่ถนนอักษะ พร้อมจัดกิจกรรมรำลึกถึง “คนเสื้อแดง” เช่น วางโลงศพ วางดอกไม้จันทน์ การเทสีแดงแทนเลือด เป็นต้น

จากนั้นไม่กี่วัน เพจ “เยาวชนปลดแอก” ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ถือเป็นกลุ่มย่อยหนึ่งใน “คณะราษฎร” ได้โพสต์แนวทางการต่อสู้ครั้งใหม่ ด้วยคำว่า “รัฐที่มหาชนเป็นใหญ่-สาธารณรัฐ Republic” ก่อนจะขยายเพิ่มว่า “RESTART THAILAND” หรือ “RT MOVEMENT-ทีมข้อเดียวมูฟเมนท์”

 

พร้อมเปิดสัญลักษณ์คล้าย “ค้อนเคียว” เพื่อเป็นตัวแทนของ “ชนชั้นแรงงาน-เกษตรกร” ซึ่งสอดรับกับแนวทาง “ขยายมวลชน” จาก “คนรุ่นใหม่” ที่ผสานกับ “คนเสื้อแดง” มาสู่ “ภาคแรงงาน-เกษตรกร” นั่นเอง

ย้อนกลับไป 40 กว่าปีก่อน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ชัยชนะเกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวซึ่งออกมาประท้วงการสืบทอดอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อนทุกอย่างจะปิดฉากลงด้วยเหตุการณ์ขวาพิฆาตซ้าย 6 ตุลาคม 2519

ในห้วงเวลานั้นแนวคิด “สังคมนิยมคอมมิวนิสต์” ได้แผ่ขยายเข้ามายังไทย โดยเฉพาะการพูดถึง “แนวคิดจีนแดง-มาร์กซิสต์” ในการต่อสู้ของ “ชนชั้นแรงงาน” กับ “ชนชั้นศักดินา” ทำให้คนหนุ่มสาวยุคนั้นเลือกหนีเข้าป่าเพื่อเคลื่อนไหวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กลายเป็นสงครามประชาชนครั้งใหญ่

การต่อสู้ดังกล่าวคลี่คลายลงด้วยคำสั่งที่ 66/2523 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เปิดโอกาสให้สมาชิก-แนวร่วม พคท. ออกจากป่ามาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” โดยไม่มีการดำเนินคดีย้อนหลัง ยกเว้นบุคคลมีคดีอาญาร้ายแรง

“ส.ศิวรักษ์” ได้กล่าวถึงแนวคิด “สาธารณรัฐ-ค้อนเคียว” ที่กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” โยนออกมา ว่า “ไม่เป็นไร ต่างคนก็ต่างมีความหมายต่างกัน ใครอยากเป็นมหาชนรัฐ ใครอยากเป็นคอมมิวนิสต์ก็ไม่เป็นไร แต่ควรให้โอกาสเขาแสดงออก ดีกว่าให้เขาไปซ่องสุม”

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ฝ่ายกฎหมายกำลังพิจารณาว่าประเด็นนี้เข้ากำหนดกฎเกณฑ์อะไรหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลต้องป้องปรามหยุดยั้งไม่ให้ไปถึงจุดนั้น เพราะฉะนั้น ใครเข้าข่ายกระทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่นจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่าประเทศไทยไม่ใช่สาธารณรัฐ

สถานการณ์ทั้งหมดดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐจะใช้ “ยุทธวิธีรอเวลา” ด้วยการดำเนินคดีตามหลัง เห็นได้ชัดคือกรณี ม.112 ที่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาหลายเดือนจน “สถานการณ์สุกงอม”

ซึ่ง “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์” แกนนำคณะราษฎรจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ไปฟ้องร้องดำเนินคดี ม.112 เป็นเครือข่ายที่ถูกจัดตั้งมา โดยหากย้อนดูประวัติจะพบว่าอยู่ขั้วตรงข้ามกับฝั่งผู้ชุมนุมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป

ล่วงเข้าปี 2564 ต้องจับตาดูการชุมนุมของ “คณะราษฎร” หลังผ่านมาเกือบครึ่งปีกับการจัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรก และเกือบ 1 ปี นับจากเกิด “แฟลชม็อบ” ต้นปี 2563

เพราะหลายสิ่งในสังคมไทยได้ “ขยับเพดานสูงขึ้น” จนยากจะดึงกลับ

ในวันที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม!